รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ.
2411 - 23 ตุลาคม พ.ศ.
2453
453 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2411
2411 - กำเนิดทหารสองโหล
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เป็นวันบรมราชาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงประกาศให้วันนี้เป็น “วันตั้งกรมทหารมหาดเล็ก”) โดยกรมทหารมหาดเล็กมีกำเนิดเริ่มต้นมาจาก “ทหารสองโหล”และ “ทหารมหาดเล็กไล่กา” ดังนี้
“ทหารสองโหล” - พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 5
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระบาท-สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2411 ในระยะแรกที่ยังมิได้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ที่มุขพระเฉลียงด้านตะวันออกตอนทิศใต้ มีการกั้นพระฉากห้องที่บรรทม จวบจนเมื่อมีพระราชพิธีเฉลิมพระราช-มณเฑียรแล้วจึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระฉากก็ยังคงกั้นและมีอยู่ตามเดิม สำหรับที่ประทับพักเป็นที่รโหฐาน ในพระฉากนั้น เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กข้าหลวงเดิมได้เฝ้ารักษามาแต่เดิม มหาดเล็กเหล่านี้เป็นตำแหน่งขุนนางฝ่ายพลเรือน
ต่อมาจึงมีพระราชดำริให้มหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เฝ้าพระฉากทำหน้าที่เป็นทหารมหาดเล็กขึ้น 1 หมู่ ประกอบด้วยทหารมหาดเล็ก 24 คน จึงเรียกว่า “ทหารสองโหล” (ถือปืนชไนเดอร์) มีผู้บังคับหมู่ 1 คน ชื่อนายเจียม ซึ่งเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม ภายหลังได้เป็นพระพรหมประสาทศิลป
เมื่อแรกจัดตั้งนั้น “ทหารสองโหล” ยังไม่มีหน้าที่รักษาการณ์อันใด และไม่มีเวรผลัดเปลี่ยนประจำการแต่อย่างใด เพราะเดิมเป็นมหาดเล็กรับใช้พระมหากษัตริย์ ยังไม่เคยฝึกหัดวิชาทหาร ต่อมาจึงให้นายดาบเล็กจากกรมทหารหน้านายหนึ่งมาเป็นครูฝึกหัดทหารแบบยุโรปให้กับมหาดเล็ก 24 คน เหมือนกับทหารหน้า จึงเป็น “หมู่ทหารมหาดเล็กสองโหล” ขึ้นมาจริงจัง 1 หมู่ ถึงเวลาก็ไปฝึกหัดทหาร เสร็จแล้วก็มาถวายงานเป็นมหาดเล็กเวรเหมือนมหาดเล็กเดิม เนื่องจากทหารสองโหลชุดนี้เดิมเป็น “มหาดเล็ก” ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กทำหน้าที่เป็นทหารด้วย จึงเรียกว่า “ทหารมหาดเล็ก”
เมื่อมหาดเล็กทั้ง
24 คนได้รับการฝึกหัดทหารแบบยุโรปสำเร็จแล้ว
ได้เข้าแถวยืนรับเสด็จในเวลาเสด็จออกพระชาลาพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
และต่อมาจึงมีหน้าที่ตามเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย
แต่ยังไม่มีระเบียบแน่นอน เป็นเพียงการจัดตั้งมหาดเล็กจำนวน 24
คนขึ้นเป็นทหารที่ได้รับการฝึกตามแบบกรมทหารหน้าตามแบบทหารยุโรปขึ้น 1
หมู่เท่านั้น ในเบื้องต้นยังไม่มีสถานที่ตั้งของทหารสองโหล
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตึก 2
ชั้นที่อยู่ริมถนนฝั่งใต้หน้าพระราชวังสราญรมย์
อยู่บริเวณรั้วและประตูพระราชอุทยานสราญรมย์ทิศเหนือ (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว)
“ทหารมหาดเล็ก” ในสมัยรัชกาลที่ 5
นั้นมีมูลเหตุที่มาจาก “ทหารมหาดเล็กไล่กา” ในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังนี้
454 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
“ทหารมหาดเล็กไล่กา” - พ.ศ. 2404 รัชกาลที่ 4
พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหารตามยุทธวิธีแบบใหม่เช่นเดียวกับกรมทหารหน้า คือ สำหรับไล่กาที่บินมารบกวนข้าวสุกในเวลาทรงบาตร และตั้งแถวยืนรับเสด็จในที่นั้นทุกเวลาเช้า ทหารมหาดเล็กไล่กาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเป็นการฝึกอบรมสำหรับเด็ก ไม่ใช่ตำแหน่งเป็นข้าราชการทหารมหาดเล็กจริง ๆ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงพระนิพนธ์อยู่ในหนังสือ ตำนานกรมทหารบกราบที่ 1 ความว่า
…มูลเหตุจักเกิดขึ้นนั้น เดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นในปี 2411 นั้น เสด็จออกทอดพระเนตรกรมและกองทหารบกเกณฑ์หัดอย่างยุโรป ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล และที่มีอยู่ในครั้งรัชกาลที่ 4 เรียกว่า “ทหารหน้า” ฝึกหัดยุทธวิธีอย่างซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น ถวาย ณ ท้องสนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์อยู่เนือง ๆ กระทำให้เกิดมีพระราชนิยมในการทหารยิ่งขึ้น
ลำดับนั้นมีบุตรในราชตระกูล
และข้าราชการที่ยังมีอายุย่อมเยาว์เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังหลายคนด้วยกัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเด็กพวกนั้นรวมกันฝึกหัดขึ้นเป็นทหารตามยุทธวิธีอย่างใหม่ในสมัยนั้น
ทหารเด็ก ๆพวกนั้นเรียกว่า “ทหารมหาดเล็กไล่กา”
คือสำหรับไล่กาที่บินมารบกวนข้าวสุกในเวลาทรงบาตร
และตั้งแถวยืนรับเสด็จในที่นั้นทุกเวลาเช้า มีจำนวนในขั้นแรกประมาณสัก 12 คน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช แต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์อยู่นั้น กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการแต่เมื่อดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าเทวันอุไทยวงศ์ ทั้งสองพระองค์ซึ่งในเวลานั้นยังทรงพระเยาว์รุ่นราวคราวเดียวกัน
เป็นนายทหารมหาดเล็กไล่กาพวกนั้นอันมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันทุกคน
และผู้เป็นทหารมหาดเล็กพวกนี้ล้วนเป็นเด็กไว้ผมจุกโดยมาก
อันควรนับว่าเป็นแต่ชั้นการเล่น ๆ หรือจะนับว่าเป็นแต่ชั้นนักเรียนทหาร
ก็ดีถึงกระนั้น ทหารพวกนี้ก็ได้มีนามว่า “ทหารมหาดเล็ก”
เป็นครั้งแรก และเป็นเหตุให้เกิดมีกรมทหารมหาดเล็กที่จริงจัง
สืบเชื้อนามเป็นหลักฐานต่อมา…
455 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2413
2413 - 1 เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองสิงคโปร์ และเมืองเบตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย
วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2413 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 17 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสิงคโปร์ และเมืองเบตาเวีย ในประเทศอินโดนีเซีย ทอดพระเนตรกิจการของโรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าที่รักษาคนเจ็บป่วย ยังมิได้กำหนดใช้คำว่าโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลทหาร รวมถึงพิพิธภัณฑ์การแพทย์ ที่ใช้ในจดหมายเหตุฯ ว่า โรงหมอที่ไว้กระดูกคนตายและโรคในตัวศพ สรุปได้ ดังนี้
ณ เมืองสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในการปกครองของประเทศอังกฤษ พระองค์ทอดพระเนตรกิจการด้านไปรษณีย์และโทรเลข โรงเรียนสอนหนังสือเด็ก ที่รักษาคนเสียจริตแลคนป่วยไข้ คุกขังนักโทษการดับเพลิง การค้าขาย
ณ เมืองเบตาเวีย (ปัตตาเวีย)
ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของฮอลันดา (ประเทศเนเธอร์แลนด์) เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรรถราง
โรงทำปืน ตึกสำหรับรักษาทหารเจ็บป่วย การฝึกหัดทหาร การทหาร โรงเรียนสอนเด็ก
โรงเลี้ยงเด็กกำพร้ายากจน หอคองคอเดีย (สโมสรทหาร) การละเล่นดอกไม้เพลิง ตึกทำปืนไรเฟิล โรงเรียนสอนวิชาต่าง ๆ
โรงเรียนแยกธาตุและไฟฟ้า โรงเรียนทหาร ตึกรักษาคนไข้ โรงหมอที่ไว้กระดูกคนตายและโรคในตัวศพ
ศาลหลวงและศาลกรมเมือง โรงประทีปลม ตึกเก็บภาษีสวนสัตว์ ตึกมิวเซียมที่ไว้ของโบราณ
โรงทำดินปืน ตึกรักษาคนบ้าและคนไข้
2413 - 2 กำเนิดกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเมืองสิงคโปร์และเมืองเบตาเวียแล้ว ทรงเริ่มทดลองจัดราชการอย่างใหม่แบบตะวันตกขึ้นใน “ทหารสองโหล” (ทรงทดลองจัดตั้งระบบราชการแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก) ทรงยกกอง “ทหารสองโหล” ตั้งเป็น “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” โดยเพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็ก จากการคัดเลือกมหาดเล็กที่เป็นข้าราชการหนุ่ม ๆ จำนวน 72 คนมารวมกับทหารมหาดเล็ก 2 โหล ตั้งเป็นกองทหารกองหนึ่ง เรียกว่า “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ด้วยพระองค์เอง และมีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) จางวางมหาดเล็ก เป็นนายพันโท ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองฯ
เมื่อแรกจัดตั้ง “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” นั้น พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) ขอตัวนายเจิม บุตรชายที่ทำงานในสังกัดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มาเป็นทหารมหาดเล็กอาสาสมัครคนแรก
การจัดการกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นี้
กำหนดเรียกตำแหน่งทหารแบบอังกฤษ
เสมือนเป็นการทดสอบระบบจัดราชการอย่างใหม่โดยนำระบบราชการแบบตะวันตกมาปรับใช้
456 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบนายทหารมหาดเล็ก
457 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ทรงตั้งตำแหน่งยศอย่างอังกฤษและตำแหน่งยศอย่างไทยไปพร้อมกัน โดยเรียกทับศัพท์ตำแหน่งยศภาษาอังกฤษเป็นหลักในราชการ ตัวอย่างยศของทหาร เมื่อ พ.ศ. 2413 มีดังนี้ คอลอเนล (Colonel) - นายพันเอก, ลุตแตเนล คอลอเนล (Lieutenant Colonel) - นายพันโท, แอดยุแตนด์ (Adjutant) - ปลัดกองทหาร, ซายันต์ เมเยอร์ (Sergeant Major) - จ่านายสิบ, และซายันต์ (Sergeant) - นายสิบเอก ฯลฯ โรงทหารของกองทหารมหาดเล็กอยู่ที่โรงละครใหญ่หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่อยู่ของทหาร และสถานที่บัญชาการอยู่ที่ทิมพลชั้นเดียว ริมประตูพิมานไชยศรีฝั่งตะวันตก ต่อมารื้อทิมพลสร้างเป็นตึกแถว ใช้เป็นโรงทหารมหาดเล็ก (เมื่อไม่ได้เป็นโรงทหารมหาดเล็กแล้ว เป็นโรงเรียนราชกุมาร และต่อมาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผนกรัฏฐประศาสน์)
พ.ศ.
2414
2414 - 1 สถาปนา “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” ขึ้นเป็น
“กอมปนีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์”
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งยศทหารเพิ่มเติม เช่น กอปอรัล (Corporal) - นายสิบโท เป็นต้น โดยมี ตำแหน่งแพทย์ประจำกองทหาร แบบกองทหารประเทศตะวันตก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมในระบบราชการทหารแบบเก่าไม่มีตำแหน่งแพทย์ประจำกองทหาร และแต่งตั้งหม่อมเจ้าสายในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเป็น เซอเยน (Surgeon) แพทย์ทหารประจำกรมทหารมหาดเล็ก นับเป็น “แพทย์ทหาร” พระองค์แรก
นายเจิม แสง-ชูโต บุตรของพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้เลื่อนเป็นหลวงศัลยุทธสรกรร ตำแหน่งนายกอมปนีที่ 6 แห่งกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
2414 - 2 ประกาศเรื่องโรงเรียน
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2414 มีพระบรมราชโองการ “ประกาศเรื่องโรงเรียน”
...ให้ประกาศแก่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ
แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งได้นำบุตรทูลเกล้าฯ
ถวายให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในกรมมหาดเลกบ้าง ในกรมทหาร
มหาดเลกรักษาพระองค์บ้าง มีเปนอันมาก...บันดาที่เข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่นั้น
ที่ยังไม่รู้หนังสือไทย แลขนบธรรมเนียมราชการโดยมาก
ที่รู้อยู่บ้างแต่ยังใช้อักษรเอกโทแลตัวสกดผิด ๆ ไม่ถูกต้องตามแบบอย่างก็มีอยู่มาก
แลการรู้หนังสือนี้ก็เปนคุณสำคัญข้อใหญ่ เปนเหตุจะให้ได้รู้วิชาแลขนบธรรมเนียมต่าง
ๆ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงสอนขึ้นไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้ว
458 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
จัดคนในกรมอาลักษณ์ ตั้งให้เปนขุนนางพนักงานสำหรับเปนครูสอนหนังสือไทย แลคิดเลข ขนบธรรมเนียมราชการ...ครูนั้นจะให้สอนโดยอาการเรียบร้อย ไม่ให้ด่าตีหยาบคาย...ถ้าท่านทั้งปวงได้ทราบหมายประกาศนี้แล้ว จงมีใจยินดีหมั่นตักเตือนบุตรหลานของท่านทั้งปวงให้เข้ามาฝึกหัดหนังสือไทย ถ้าเล่าเรียนได้ชำนาญในการหนังสือแล้ว ความดีงามความเจริญก็จะมีแก่บุตรหลานของท่านทั้งปวง...
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกบุตรหลาน ราชตระกูลและขุนนาง มาฝึกหัดเรียนรู้ในโรงเรียนของหลวงแบบตะวันตก 2 แห่งเป็นครั้งแรก ซึ่งการจัดการโรงเรียนในระยะแรกนี้เป็นหน้าที่ของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จนกระทั่งการโรงเรียนเจริญก้าวหน้าจึงแยกออกจากกรมทหารมหาดเล็กและตั้งเป็นกรมศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2430 ได้แก่
1. โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ด้วยภาษาอังกฤษ อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็ก มีครูฝรั่งชื่อฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์ซัน โดยครูฝรั่งแต่งเครื่องยศทหารมหาดเล็ก แต่เปิดได้เพียงปีเดียวก็เลิกไป เพราะไม่มีผู้สมัครเรียน
2. โรงเรียนสอนภาษาไทย เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ด้วยภาษาไทย อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็กเช่นกัน มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเป็นครู ในเบื้องต้นมีผู้สมัคร 10 คน ต่อมาภายหลังมีพระบรม-วงศานุวงศ์ บุตรหลานราชตระกูล ขุนนาง มาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้กันมาก เมื่อเรียนจบแล้วก็มักเข้ารับราชการที่กรมทหารมหาดเล็กหรือกรมอื่น ๆ
หมายเหตุ
ผู้เรียบเรียงมีความเข้าใจว่า โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็กนั้น เป็นชื่อเรียกโรงเรียนสอนภาษาไทยที่ผนวกการสอนวิชาทหารในกรมทหารมหาดเล็ก หากนักเรียนศึกษาเฉพาะวิชาสามัญ (หรือวิชาพลเรือน) จากโรงเรียนสอนภาษาไทยอย่างเดียว เมื่อจบการศึกษาแล้วจะเข้ารับราชการฝ่ายพลเรือน
โรงเรียนสอนภาษาไทยซึ่งเป็นโรงเรียนหลวงแบบตะวันตกที่เหลืออยู่แห่งเดียวในตอนต้นรัชกาลที่
5 ระหว่าง พ.ศ.2414 - 2428 จึงมีหลายชื่อ ได้แก่
หลักสูตรวิชาพลเรือน (หรือวิชาสามัญ) บ้างเรียกว่าโรงเรียนสอนภาษาไทย
โรงเรียนพระยาศรีสุนทรโวหาร โรงพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งหมายถึงโรงเรียนเดียวกัน
และหากเป็นหลักสูตรวิชาทหารที่สอนร่วมกับกรมทหารต่าง ๆ จะเรียกตามชื่อกรมทหาร เช่น
โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก โรงเรียนคะเด็ดทหารหน้า
459 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
บรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไม่ทราบปีและสถานที่ถ่าย
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภ 002 หวญ 5/34
460 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เสด็จประพาสอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2414
461 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2414 - 3 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย
วันที่ 16
ธันวาคม พ.ศ. 2414
เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดียและพม่า โดยผ่านมะละกาและปีนัง
เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงสยามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.
2415 รวมระยะเวลา 47 วัน
พ.ศ.
2415
2415 - 1 หมอเทียนฮี้เข้ารับราชการ
กลุ่มมิชชันนารีอเมริกันส่งนายเทียนฮี้ไปเรียนวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษา ได้คุณวุฒิ M.D. - Doctor of Medicine จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ. 2414 เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ หมอเฮาส์ มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นครูและเป็นผู้จัดส่งหมอเทียนฮี้ไปเรียนแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงพาไปพบพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง บิดาของเจิม ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ซึ่งเป็นนายพันโท ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกรมมหาดเล็ก แจ้งว่าหมอเทียนฮี้ได้เรียนวิชาแพทย์อย่างฝรั่ง รู้จนถึงการตัดผ่า ซึ่งยังไม่มีหมอไทยได้เล่าเรียนในเวลานั้น จะเป็นประโยชน์แก่ราชการกรมทหารมหาดเล็กที่ตั้งใหม่ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) เห็นชอบด้วย จึงนำหมอเทียนฮี้เข้าถวายตัวทำราชการ ในเวลานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ นายแพทย์ในกรมทหารมหาดเล็ก [เซอเยน Surgeon] จึงตั้งหมอเทียนฮี้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยนายแพทย์ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กตั้งแต่ พ.ศ. 2415 เป็นต้นมา (หมอเทียนฮี้ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสารสินสวามิภักดิ์)
หมอเทียนฮี้ (พระยาสารสินสวามิภักดิ์)และครอบครัว
462 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2416
2416 - 1 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
ต่อมายก “กอมปนีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” ขึ้นเป็น “กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์” มีตำแหน่ง “นายแพทย์” ในกรมทหารมหาดเล็ก แต่ยังไม่มีการตั้งราชทินนามประจำตำแหน่ง เพราะหม่อมเจ้าสายรับราชการในตำแหน่ง “นายแพทย์” และให้นายทหารในกรมทหารมหาดเล็กมีตำแหน่งเป็น ราชองครักษ์ ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในปีนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และปอดบวม พระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงสิทธิสาร หมอกาแวน (นายแพทย์ชาวอังกฤษ) ซึ่งเป็นหมอหลวงประจำพระองค์มารักษา และหลวงสรยุทธสรกรร (เจิม) บุตรชายได้เชิญหมอเทียนฮี้ ซึ่งเป็นหมอประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาเป็นผู้ช่วยหมอกาแวน แต่ไม่สามารถรักษาได้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) ถึงแก่กรรมในปีนี้ และให้เปลี่ยนชื่อหลวงสรยุทธสรกรร เป็นหลวงศัลยุทธวิธีกรร (เนื่องจากมีสำเนียงซ้ำกับ
จมื่นสราภัยสฤษดิการ (เจิม) ในปี พ.ศ. 2416 หลังเป็นอุปทูตไปกรุงปัตตาเวีย
ที่มา : สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแคริบเบียนศึกษา
แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (KITLV)
463 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หลวงสรรพยุทธสรกรร) และเลื่อนยศหลวงศัลยุทธวิธีกรร (เจิม) เป็น “จมื่นสราภัยสฤษดิการ” ตำแหน่ง Lieutenant (นายพันโท) แห่งกอมปนีที่ 6
โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษซึ่งอยู่ที่ตึกแถวสองชั้นด้านตะวันออก ริมประตูพิมานไชยศรี เลิกกิจการไป เปลี่ยนเป็นตึกบัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก
2416 - 2 ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2416 ประกาศตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อจัดวางหลักเกณฑ์ระบบการจัดเก็บภาษีอากร ควบคุมเจ้าพนักงานภาษีอากรให้จัดส่งเงินรายได้แผ่นดินให้ตรงตามกำหนดเวลา ถ้าผู้ใดละเมิดจะถูกลงโทษ และประกาศตั้งเก็บภาษีศุลกากรร้อยชักสามในเขตกรุงเทพฯ
2416 - 3 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 โดยจัดขึ้นภายหลังเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตน-ศาสดาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้วจึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 และเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมจากการหมอบเฝ้าเป็นการยืนเฝ้าตามตำแหน่ง ไม่ใช้ธรรมเนียมหมอบคลานอีกต่อไป โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ และมีพระบรมราชโองการประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันบรมราชาภิเษก ความตอนหนึ่งว่า
...เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะให้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป...ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กัน
อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้นก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่าง หลายประการ
จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง
แต่การที่จะจัดผลัดเปลี่ยนธรรมเนียมจะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้
จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไป ตามเวลาที่ควรแก่กาลที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป...เพราะฉะนั้นจึงจะต้องละพระราชประเพณีเดิม
ที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย...ให้พึงรู้ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เลิกหมอบคลาน ให้ยืนให้เดินนั้น
เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่า จะไม่มีการกดขี่แก่กัน ในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป
เมืองใดประเทศใดผู้ที่เปนใหญ่ มิได้ทำการกดขี่แก่ผู้น้อย
เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเปนแน่...
464 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2
พ.ศ.
2417
2417 - 1 ตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินขึ้น เรียกว่า เคาน์ซิล โดยมีพระราชประสงค์ว่า
...การเคาน์ซิลที่ทรงตั้งขึ้นไว้นี้ มีคุณ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง ยอมให้มีอำนาทที่จะยุดหน่วง ขัดขวางพระเจ้าแผ่นดินได้ คือการใด ๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริห์เปนการไม่ถูกต้องยุติธรรม ราษฎรจะได้รับความเดือดร้อน...เปนที่ฝ่ายข้างเคาน์ซิลจะขัดอำนาจพระเจ้าแผ่นดิน...คนซึ่งเปนราชการก็ดี มิได้เปนราชการก็ดี เคาน์ซิลก็ต้องมีอำนาจที่จะขัดขวางปฤกษาการบังคับการ ตามซึ่งเหนชอบโดยยุติธรรม อย่าให้คด ๆ โกง ๆ
465 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ต่อเจ้าแผ่นดินได้เหมือนกัน...ไม่เปนคุณแก่แผ่นดิน ไม่เนรคุณแก่พระเจ้าแผ่นดิน ไม่เปนคุณแก่ราษฎรทั่วไป ก็จะต้องคัดค้านว่ากล่าวได้เตมอำนาททีเดียว ซึ่งว่ามานี้เปนอำนาทเคาน์ซิลทั้งสองประการ...
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตค คือ การตั้งที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จ.ศ. 1236 และพระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล คือ การตั้งที่ปฤกษาในพระองค์ (หรือสภาองคมนตรีในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ขึ้นอีกสภาหนึ่ง ทำงานร่วมกับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (ต่อมาเป็นสภาเสนาบดีหรือคณะรัฐมนตรี)
...บ้านเมืองเราทุกวันนี้ ซึ่งในตาแลเหนว่ามีตึกขึ้นมาก มีถนนขึ้นมากนั้น เหนว่าเปนการเจริญในตา ก็แต่ถ้าจะคิดไปโดยจริง ๆ การใด ธรรมเนียมใดซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ยังเปนการเดือดร้อนแก่ราษฎรเปนอันมากอยู่ ก็มีหลายอย่างหลายประการ ก็ซึ่งตั้งเคาน์ซิลขึ้นไว้นี้ ก็เพราะประสงค์จะให้ช่วยอุดหนุนในการเรื่องนี้ ให้สำเรจไปได้ทีละสิ่งทีละคราว จนบ้านเมืองเปนความเจริญเข้า ราษฎรได้มีความศุขมากเมื่อเวลาไร เวลานั้นจะเปนชื่อเสียงปรากฏติดแผ่นดินอยู่ไม่รู้หาย...บ้านเมืองก็คงเจริญขึ้นเปนแน่...
นับเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมที่เป็นการว่าราชการโดยพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 นี้เป็นต้นไป การปฏิรูประบบราชการเป็นแบบใหม่ตามอย่างตะวันตกจึงดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว
พ.ศ.
2418
2418 - 1 ตั้งกองทหารช่าง
เพิ่มกองทหารช่าง 1 กองในกรมทหารมหาดเล็ก ทหารช่างมีหน้าที่ทำแผนที่แบบยุโรปมีนายอาลาบาสเตอร์เป็นที่ปรึกษา และเพิ่มตำแหน่ง “นายสัตวแพทย์” ในกองทหารม้า นับเป็นจุดกำเนิดของกองทหารช่าง กรมแผนที่ทหาร และสัตวแพทย์
พ.ศ.
2419
2419 - 1 ขยายกองทหารม้า
เนื่องจากมีจำนวนทหารเพิ่มมากขึ้น
จึงรื้อคลังเชือกเก่าที่ตั้งอยู่ ณ ศาลาว่าการต่างประเทศในพระบรมมหาราชวัง
ทำเป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น สำหรับโรงทหารมหาดเล็ก และขยายกองทหารม้า
466 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2420
2420 - 1 ตรา “พระราชบัญญัติเป็นข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็ก จ.ศ. 1239”
ต่อมามีการตรา “พระราชบัญญัติเป็นข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็ก จ.ศ. 1239” กฎหมายการปกครองอย่างใหม่ขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาราชการทหารที่ทรงทดลองจัดในกรมทหารมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. 2413 ข้อบังคับนี้เป็นกฎหมายสำหรับจัดระบบราชการทหารแบบใหม่ กำหนดกรอบการปฏิบัติของทหารแต่ละคนให้ทำตามกฎหมาย มีการแบ่งโครงสร้างการบังคับบัญชาแบบประเทศตะวันตก แบ่งกรมทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อยหลายประเภท เช่น กองร้อยทหารราบ กองทหารม้า กองทหารช่าง กองแตรวง กองกลางและผู้ช่วยรบ มีตำแหน่งเจ้าพนักงานใช้จ่าย (เหรัญญิก) ตำแหน่งเจ้าพนักงานยุทธภัณฑ์ ตำแหน่งแพทย์มี 2 ตำแหน่งคือ “เซอเยน” (Surgeon) 1 ตำแหน่ง และ “ฮอสปิเติลซายัน” (Hospital Sergeant) 1 ตำแหน่ง มีหน้าที่ตรวจรักษาทหารป่วย และผลัดเปลี่ยนเวรกันนอนโรง (หมายถึงโรงทหาร) คนละ 7 วัน ความย่อ “พระราชบัญญัติเป็นข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็ก” ที่เกี่ยวกับงานด้านการแพทย์ มีดังนี้
...มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า ทรงพระราชดำริห์ด้วยกรมทหารมหาดเลกรักษาพระองค์ซึ่งได้จัดขึ้นไว้ให้มีเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เครื่องแต่งตัวดีกว่ากรมทหารอื่น ๆ ทั้งปวง เพราะทรงพระราชดำริหเหนว่า ทหารมหาดเลกนี้ สำหรับแห่เสดจสำหรับตามเสดจพระราชดำเนินในที่ใกล้พระองค์ แลอยู่เวรรักษาพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง จึ่งได้จัดบุตรข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและบุตรมหาดเลกให้เปนทหารรับราชการเรียบร้อยได้มาช้านาน บัดนี้การร่วงโรยลงหาได้เหมือนแต่ก่อนไม่ เปนเหตุเพราะนายทหารถือเปรียบแก่งแย่งกันไป การบังคับบัญชาก็ไม่เปนสิทธิขาดออฟฟิเซอแลทหารเลวก็ไม่ใคร่จะมาอยู่เวร เปนแต่รับเงินเดือนอยู่ป่วยการโดยมาก ไม่มีประโยชนอะไรเปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศเปนอันมาก ทรงพระดำริห์เหนอยู่ว่า ออฟฟิเซอซึ่งเปนคนดีมีใจรักษาใคร่ต่อราชการก็มีอยู่หลายนาย ที่ทรงทราบก็มีโดยมาก ที่ยังไม่ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก็ยังมีอยู่บ้าง ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ก็เหนว่าไม่ควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริห์ซึ่งจะจัดการในกรมทหารมหาดเลกต่อไป ในการชั้นต้นนี้ก่อน ให้ออฟฟิเซอผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงรีบจัดการ และประพฤติตามกระแสพระราชดำริห ซึ่งจะว่าต่อไปข้างท้ายนี้ทุกประการ...
ทหารป่วยเจบ
ข้อ 22 บันดาทหารซึ่งเข้าเวรป่วยไข้
ฤๅถึงเวรแล้ว บอกป่วยจะเข้ามารับราชการไม่ได้
ให้ผู้รับพระบรมราชโองการจัดหมอคนหนึ่ง แลนอนกอมิชันออฟฟิเซอ นาย 1 ไปตรวจอาการ มาแจ้งความต่อผู้รับ
467 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระบรมราชโองการ ถ้าทหารปรัยเวศ ฤๅนอนกอมิชันออฟฟิเซอ ป่วยไข้ไปประการใด ถ้ามีหมอรักษาอยู่แล้วก็แล้วไป ถ้าไม่มีหมอรักษา ให้ผู้รับพระบรมราชโองการ แลนายกัมปนีช่วยเปนธุระขวนขวายที่จะให้ได้หมอรักษา ถ้าเจ็บอยู่กับบ้าน อย่าให้ หมอในโรงไปอยู่ เปนแต่ให้ไปตรวจเปนเวลา ถ้าเจ็บใน โรงหมอในโรงพิทักษรักษาให้จงดี ถ้าเปนกอมิชันออฟฟิเซอ ให้นำอาการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หาหมอไปช่วย พิทักษรักษาตามสมควรที่จะต้องการ ถ้าออฟฟิเซอก็ดี ทหารปรัยเวศ ก็ดี ไม่ป่วยแกล้งบอกว่าป่วยบิดเบือนต่อราชการ ควรจะทำโทษ ฤๅนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ทำโทษ ฤๅนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาตามสมควร...
พ.ศ.
2422
2422 - 1 จมื่นสราภัยสฤษดิการ (เจิม แสง-ชูโต)
เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “จมื่นไวยวรนาถ”
หนังสือ ประวัติการของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี บรรยายว่า สีหน้าทั้งสามท่านเศร้าหมองขณะกำลังเผชิญปัญหาทหารทั้งกองทัพป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เพราะขุนนางเมืองพิชัยไม่รับผิดชอบ ทำให้เหลือยาควินินเพียงขวดเดียวสำหรับคนป่วยนับพันคน
ซ้าย - หมอเทียนฮี้
ขวา - จมื่นไวยวรนาถ (เจิม)
ยืน - พันตรีนายจ่ายวด (ศุข ชูโต)
ที่ค่ายเมืองซ่อน ในสงครามปราบฮ่อ
468 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2423
2423 - 1 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ สิ้นพระชนม์
เกิดกรณีอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มขณะเสด็จแปรพระราชฐานไปบางปะอิน สมเด็จ-พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ พระยามหามนตรี (อ่ำ) ผู้บังคับการกรมทหารหน้าต้องโทษรับพระราชอาญา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิต (โต) กับจมื่นไวยวรนาถ (เจิม) เป็นผู้บัญชาการที่ 1 และ 2 ช่วยกันจัดราชการกรมทหารหน้าแทนพระยามหามนตรี จมื่นไวยวรนารถจึงเรียกประชุมนายทหารกรมทหารหน้าทั้งหมดเพื่อจัดราชการ พบการฉ้อราษฎร์บังหลวงของพระยามหามนตรี (อ่ำ) และนายทหารอื่นอีก 6 คน จึงถอดออกจากราชการและชดใช้เงินคืนจำนวน 194 ชั่ง 17 บาท
นอกจากนี้ ระบบจัดการแบบภายใต้กฎหมายจารีต (กฎหมายตราสามดวง) ยังไม่มีกฎข้อบังคับสำหรับกรมทหารหน้าและทหารนคราภิบาลที่มีหน้าที่ลาดตระเวนเป็นยามรักษาการณ์ตามถนนมาก่อน ทั้งสองท่านจึง คิดทำกฎข้อบังคับสำหรับกรมทหารหน้าและทหารฝ่ายนคราภิบาล (กรุงเทพฯ) ขึ้น และขอรับพระราชทานคนในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาช่วยราชการ 7 คน ต่อมา จมื่นไวยวรนารถเห็นว่าจำนวนทหารหน้าไม่เพียงพอต่อความพร้อมในการสงคราม จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาประกาศรับสมัครทหารไปทั่วพระราชอาณาจักร มีคนสมัครกว่า 5,000 คน ประจวบกับต้องใช้กำลังคนในการพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ และงานสมโภชพระนครครบ 100 ปี (พ.ศ. 2425) จึงได้ใช้ทหารอาสาสมัครเหล่านี้พอดี
2423 - 2 พระราชบัญญัติทหารหน้า
มีพระบรมราชโองการให้ตรา “พระราชบัญญัติทหารหน้า”
ขึ้น โดยยุบรวม 4 กรมย่อยในกรมทหารหน้า ได้แก่ กองทหารอย่างยุโรป
กองทหารมหาดไทย กองทหารกลาโหม และกองทหารเกณฑ์หัด รวมไว้ในกรมทหารหน้ากรมเดียว
และปฏิรูประบบบริหารจัดการใหม่ ให้แบ่งเป็นหมวด หมวดละ 100 - 200 คน ในแต่ละหมวดมีตำแหน่งคณารักษ์ คณานุรักษ์ สมุหบาญชีรองสมุหบาญชี
นายหมวด รองหมวด ผู้ช่วยหมวด และให้สิบเหล่ารวมเป็นหนึ่งแสนยากร (หรือกองพัน) ในหนึ่งแสนยากรให้มีแสนยาธิบดี
แสนยานุบดี พลารักษ์ ถือกฎหมาย ถือบาญชี เก็บเงิน เก็บสรรพยุทธ ตระลาการ สารวัด
เป็นต้น ที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติทหารหน้าฉบับแรก พ.ศ.
2423 นี้ กำหนดให้มี “ตำแหน่งหมอ 2 คน”
ในแต่ละกองพัน
469 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตาราง “กำหนดตำแหน่งยศ ศักดินาในกรมทหารหน้า” แนบท้ายพระราชบัญญัติทหารหน้า พ.ศ. 2423
2423 - 3 สั่งเครื่องโทรเลขมาจากอังกฤษ
วันที่ 14 มีนาคม
พ.ศ. 2423
...พระยาสยามธุรพาห์ กงสุลฝ่ายสยาม ณ กรุงลอนดอน ส่งบาญชีแลเครื่องสายโทรเลขเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร เปนจำนวน สายลวด 319 ขด ยาว 140 ไมล์ อินสเลเตอ ใหญ่ 560 อินสเลเตอ เลก 280 สายเคเบิล 1500 ฟุต รวมค่าจ้างเช่าระวาง ค่าธรรมเนียม เปนเงิน 173 ชั่ง 14 ตำลึง 1 สลึง 424 ไพ...
พ.ศ.
2425
2425 - 1 สร้างโรงทหารหน้า
จมื่นไวยวรนาถเป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้าเพียงผู้เดียว โดยเห็นว่าจะต้องทำที่อยู่ให้แข็งแรง จะได้ปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะมีคนมาสมัครเป็นทหารจำนวนถึงห้าพันคน จึงสำรวจพื้นที่ที่เหมาะจะสร้างเป็นโรงทหาร พบว่า ฉางหลวงเก่าสำหรับเก็บข้าวเป็นเสบียงยามเกิดศึกสงคราม 7 ฉาง และวังเจ้านายเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมหลายวัง อยู่ระหว่างศาลหลักเมืองและสะพานช้างโรงสี กว้าง 3 เส้น 10 วา ยาว 5 เส้น เหมาะที่จะทำเป็นโรงทหารหน้าได้ ให้ทหารอยู่ได้ 4 หมู่เป็นกองทัพน้อย เพื่อจะได้รักษาความสงบในพระนคร จึงให้นายโยอาคิม แกรซี สถาปนิกออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น ค่าก่อสร้างราว 5,000 ชั่ง หรือ 400,000 บาท (ปัจจุบันคืออาคารว่าการกระทรวงกลาโหม ถนนสนามไชย ข้างศาลหลักเมือง) ตามแบบแปลนระบุว่า ...อาคารด้านขวา ชั้นล่างเก็บปืนใหญ่ ชั้นบนเป็นที่อยู่ของทหารปืนใหญ่...โรงใหญ่ข้างขวาแบ่งเป็น ห้องนายแพทย์ทหาร และโรงพยาบาลทหาร...
จากการสืบค้นครั้งนี้ ไม่พบเอกสารจดหมายเหตุใด ๆ ที่กล่าวถึง “โรงพยาบาลทหารหน้า ณ ถนนตรีเพชร” และพบว่ายังไม่มีการตัดถนนตรีเพชรแต่อย่างใด
โรงทหารหน้าสร้างระหว่าง
พ.ศ. 2425 - 2427
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 18
กรกฎาคม พ.ศ. 2427 สันนิษฐานว่า
จมื่นไวยวรนาถ
470 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
471 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ขอพระราชทานโอนหมอเทียนฮี้จากกรมทหารมหาดเล็กมารับราชการที่โรงพยาบาลทหารหน้า แต่การโรงพยาบาลทหารหน้ายังไม่ทันจะมั่นคงก็เกิดสงครามปราบฮ่ออีกในปี พ.ศ. 2428 ต้องยกทัพฝ่ายเหนือขึ้นไปปราบฮ่อและมีหมอเทียนฮี้ติดตามไปด้วย การโรงพยาบาลทหารหน้าจึงระงับไป
2425 - 2 จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์
วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2425 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงรับผิดชอบแผนกการศึกษาของกรมทหารมหาดเล็ก ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาให้กับกุลบุตร ส่วนพระสงฆ์นั้น มีการฟื้นฟูโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเจริญขึ้น จึงย้ายออกไปจัดตั้งเป็นมหาธาตุวิทยาลัย ณ วัดมหาธาตุ พระองค์มีหนังสือกราบบังคมทูลเรื่องการสอนหนังสือธรรมะและอาหารสำหรับให้พระและสามเณรฉัน ความว่า
...ด้วยการสอนหนังสือพระสงฆ์ที่ศาลาน่าวัดพระศรีรัตน์ศาสดารามทุกวันนี้ร่วงโรยมาช้านาน โดยเหตุไม่มีผู้เปนธุระสั่งสอนแขงแรง และสำรับโรงวิเสศหามาเลวนัก แลไม่ภอที่พระสงฆ์สามเณรจะฉันด้วย การนี้ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแล้ว ข้าพระพุทธจะขอรับพระราชทานสนองพระเดชพระคุณให้หาสำรับที่โรงครัวทหารแทนสำรับโรงวิเสศ...
พระตำหนักสวนกุหลาบ
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภ 002 หวญ 44113
472 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2426
2426 - 1 ตั้งกองทำแผนที่
และย้ายโรงเรียนสอนภาษาไทยไปที่พระตำหนักสวนกุหลาบ
ตั้ง “กองทำแผนที่” โดยแยกจากกองทหารช่างในกรมทหารมหาดเล็ก ส่วนโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษได้เลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2416 เหลือเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาไทยที่ยังคงสอนอยู่ ณ โรงละคร เรียกขานว่า โรงเรียนพระยาศรีสุนทรโวหาร ซึ่งได้รับความนิยม มีผู้มาเรียนมาก สถานที่เดิมจึงคับแคบ ต่อมาได้รับพระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ราว พ.ศ. 2428 เมื่อย้ายไปที่ใหม่แล้ว จึงเรียก โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และเมื่อตึกโรงทหารใหญ่ ณ คลังเชือก แล้วเสร็จ จึงให้ย้ายกองทหารทั้งหมดในกรมทหารมหาดเล็กมาอยู่รวมกัน
2426 - 2 จ้าง “หมอรักษาชาวยุโรป” ทำงานในกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2426 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
ด้วยทุกวันนี้ คนยุโรปซึ่งจะมาเปนพนักงานโทรเลขมีมาก แลต้องมักทำสัญญาให้กับคนยุโรปนั้น ๆ ว่า ถ้าป่วยไข้ เงินค่าหมอรักษาแลค่ายาทั้งปวง คอเวอนเมนต์สยามต้องออกให้ดังที่ได้ทำสัญญา ให้เสมียนฝรั่งเศสที่แล้วมานี้เปนต้น แลยังเสมียนชาวอังกฤษจะเข้ามาอีกต่อไป ก็คงจะเอา
กรมไปรษณีย์โทรเลขกลาง
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
47M00028
473 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สัญญาดังนี้ แลคนยุโรปที่เปนพนักงานโทรเลขอยู่แต่เดิม ก็ร้องเคลมถึงการป่วยไข้จะต้องเสียเงินหลวงดังนี้เหมือนกัน...ก็เปนทางที่จะให้เกิดเสียพระราชทรัพย์อันไม่สมควรจะต้องเสียมาก เพราะเขาอ้างเซอติวิเกตของหมอที่ตรวจแลรักษานั้นเปนหลักถาน...ฝ่ายหมอที่ต้องเรียกมาตรวจเปนเวลาเปนครั้งคราวนั้น ก็ต้องเรียกค่าจ้างรักษาแรง เปนต้นว่ามาเยี่ยมครั้งหนึ่งเปนเงินห้าเหรียญเข้าไปแล้ว...ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าว่า ในเรื่องหมอเรื่องยาในกรมโทรเลขนี้คงจะมีมากไม่มีที่สิ้นสุด...ครั้นคิดจะหาหมอจ้างหมอไว้สำหรับกรมไปรษณียและกรมโทรเลข เปนต้นว่า กรมทหาร ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังเหนว่าการที่จะต้องทำนั้น ยังน้อยนัก ไม่สมประโยชน์จนถึงมีหมอไว้สำหรับกรม...จะขอพระบรมราชานุญาต 2 อย่างดังนี้
อย่าง 1 ถ้าคนยุโรปที่เปนพนักงานไปรษณียแลโทรเลขจะป่วยไข้ลง ขอรับพระราชทานหมอหลวงคนยุโรป ที่เขาเชื่อถือถึงที่จะต้องไม่มีความต่อไป มีหมอกาวัน เปนต้น มาเยี่ยมมารักษาแลให้เซอติวิเกตว่า ผู้นั้นได้เปนโรคอย่างนั้นจริงตลอดทั่วไปทุกคน
อย่าง 1 ขอรับพระราชทานทำสัญญาเหมาจ้าง จ้างหมอเชลยศักคนยุโรปที่เปนที่เชื่อถือของคนยุโรปได้ กรมไปรษณียแลโทรเลขจะให้เงินเดือนเปนปี...เจ็บไข้มากน้อยเท่าใดต้องรักษาสิ้น ไม่ต้องเรียกเงินรักษารายตัวแลค่าเยี่ยมอื่น ๆ แลหมอนั้นต้องให้เซอติวิเกต ว่าคนนั้นป่วยไข้อย่างนั้น ๆ จริง...
พ.ศ.
2427
2427 - 1 “กรณี ร.ศ. 103” ความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงเรื่องราชการแผ่นดิน
วันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) บรรดาเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงเรื่องราชการแผ่นดิน โดยอ้างถึงสาเหตุอันตรายต่อกรุงสยาม ทางที่จะป้องกันอันตราย ความเจริญของประเทศยุโรปและความไม่เจริญของเอเชีย ซึ่งการปกครองของกรุงสยามเป็นช่องที่ยุโรปจะได้เบียดเบียนโดยอ้างถึงประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ และเสนอให้เปลี่ยนจากระบบ Absolute Monarchy เป็นระบบ Constitutional Monarchy พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบในเรื่องนี้ ความตอนหนึ่งว่า
...การซึ่ง เราขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อน
จนมีเหตุบ่อย ๆ...แต่เวลาหนึ่งสองปีนี้ดูเป็นโอกาสดีขึ้นมาก
ที่ควรจัดการต่อไปอีกได้ เรานี้ได้คิดอยู่เปนนิจที่จะจัดการตามเวลาที่จะเปนได้...ความต้องการของเมืองเรานั้นต้องการอันใด ที่ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดต่อราชการ
จะรู้แน่ได้โดยยาก...ความต้องการของเมืองเราในเวลานี้
ที่เป็นที่ต้องการ
474 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สำคัญนั้น คือ คอเวอนเมนต์รีฟอม จำเป็นที่จะให้พนักงานของข้าราชการแผ่นดินทุก ๆ กรมทำการได้เต็มหน้าที่ และให้ประชุมปรึกษาหารือกัน ทำการเดินให้ถึงกันโดยง่ายโดยเร็ว...ในการจัดตำแหน่งเสนาบดี...สำรับเก่าให้กลับทำการอย่างใหม่ได้จริงนั้นไม่ยาก แต่เพียงเคยเป็นออปโปสิชั่น มาเสียแต่ก่อน...เป็นการเหลือกำลังที่จะทำไปได้ก็มี...การที่จะเปลี่ยนแปลงท่านในสำรับเก่านี้จะทำการได้หรือไม่ เมื่อทำการไม่ได้แล้วก็มีช่องเดียวแต่จะต้องรีไซน์ การที่มินิสเตอร์ จะรีไซน์พร้อมกันมาก ๆ ไม่เคยมีในเมืองไทยเลย...เราจึงขอบอกท่านทั้งปวงว่า การเรื่องนี้เรากำลังได้คิดจะจัดอยู่ทีเดียว เมื่อท่านทั้งปวงช่วยคิดแล้ว จงคิดการเรื่องนี้เถิด...เลือกเอาภาระที่สมควรแก่บ้านเมือง...
คอเวอนเมนต์รีฟอม นี่แหละเป็นต้นเหตุที่จะจัดการทั้งปวงได้สำเร็จโดยตลอด ถ้าการเรื่องนี้ยังไม่เป็นการเรียบร้อยได้แล้ว การอื่น ๆ ยากนักที่จะตลอดไปได้...
นับแต่เหตุการณ์นี้ จึงทรงยกระดับการจัดการอย่างใหม่ขึ้น เป็นการแก้ไขระบบบริหารราชการแผ่นดิน มีพระดำรัสแถลงพระบรมราชาธิบายการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน มีความสำคัญบางตอนดังนี้
...ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติ
รับหน้าที่อันใหญ่ยิ่งมาจนถึงบัดนี้ก็กว่าสิบเก้าปีแล้ว
ในพนักงานที่จะบำรุงรักษาแผ่นดิน...ส่วนตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าได้รับความหนักมาจำเดิมตั้งแต่ได้นั่งในเสวตรฉัตรจนถึงบัดนี้
แต่ความหนักนั้นเปลี่ยนไปต่าง ๆ ไม่เหมือนกันใน สามสมัย คือ แรก ๆ แลกลาง ๆ
แลบัดนี้ เพราะได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญเช่นนี้มาช้านาน ได้รู้ทางราชการทั่ว
ถึงทดลองมาแล้ว จึ่งเห็นว่า การปกครองในบ้านเมืองเรา
ซึ่งเปนไปในประจุบันนี้ยังไม่เปนวิธีการปกครองที่จะให้การทั้งปวงเปนไปสดวกได้แต่เดิมมาแล้ว
ครั้นเมื่อล่วงมาถึงประจุบันนี้ บ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า
การปกครองอย่างเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที
จึ่งได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครอง ให้สมกับเวลา
ให้เปนทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง ได้คิดแลได้พูดมาช้านานแต่กาลหาตลอดไปได้ไม่
ด้วยมีเหตุขัดขวางต่าง ๆ เปนอันมาก แลการที่จะจัดนั้นก็เปนการหนัก
ต้องอาไศรยกำลังสติปัญญาแลความซื่อตรงความจงรักภักดีของท่านทั้งปวง
ผู้ซึ่งจะรับตำแหน่งจัดการทั้งปวงนั้นเต็มความอุสาห วางเปนแบบแผนลงไว้ได้แล้ว
การทั้งปวงจึ่งจะเป็นไปได้สดวกตามความประสงค์...
475 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ในพระดำรัสแถลงพระบรมราชาธิบายการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน มีเรื่องของ กรมหมอ หรือ กรมแพทยาโรงพระโอสถ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลในราชสำนัก ความว่า
...อนึ่งกรมหมอนั้น แต่เดิมเปนหมอสำรับว่าความพวกหนึ่ง มีเจ้ากรมซ้ายขวา ปลัดทูลฉลองซ้ายขวา ปลัดนั่งศาลซ้ายขวา อีกพวกหนึ่งเปนหมอโรงพระโอสถ แต่พวกแรกนั้นเลิกเสีย ไม่ได้ว่าความตามที่ว่ามาแล้ว แต่ยังคงแบ่งเป็น 2 พวกอยู่ พวกหนึ่งเรียกว่า หมอศาลา พวกหนึ่งเรียกว่า หมอโรงใน คำซึ่งเรียกว่าหมอศาลานั้น จะใช้สำหรับหมอที่ว่าความมาแต่เดิม เป็นพวกหมอนั่งศาล ฤๅจะเปนพวกนอกสำหรับจ่ายยารักษาพระบรมวงศานุวงษ์ข้าราชการตามที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก ก็ไม่ได้ความแน่ แต่ หมอโรงใน คือโรงพระโอสถนั้น คงเป็นหมอสำหรับเจ้าแผ่นดิน แต่ถึงจะอย่างไร ๆ ในการที่ใช้อยู่ประจุบันนี้ไม่ได้เลือกว่า หมอศาลาแลโรงพระโอสถ ใช้ปนกันไปหมดตามแต่ที่ต้องการ ถ้าจะคิดอีกอย่างหนึ่งว่า จะมี โรงหมอสำหรับรักษาราษฎร ทั้งปวง จะใช้หมอศาลา ก็ไม่ปรากฏว่ามีโรงหมอเช่นนั้นแต่ก่อนมาเลย พึ่งมามีขึ้นแต่โรงหมอที่ท่าพระ สำหรับรับคนในพระบรมมหาราชวังป่วยเจ็บ แต่ภายหลังก็กลายเปนเรือนหมออยู่ไม่ได้คงตามที่ตั้งเดิม แลมีโรงรักษาคนเจ็บที่โรงธรรมวัดสุทัศน์ ก็เปนการย่อ ๆ เล็กน้อยแล้วเลิกไป พึ่งจะเกิดโรงพยาบาลซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในเร็ว ๆ นี้ การโรงพยาบาลนี้คิดจะให้แพร่หลายไปทั่วพระราช-อาณาเขตร์ ก็คงจะต้องเป็นการใหญ่ จะต้องใช้หมอประจำโรงพยาบาลนั้นมาก...
2427 - 2 ร่วมแสดง Health Exhibition ณ ประเทศอังกฤษ
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า “สิ่งของที่จะส่งไปใช้ในการ Health Exhibition ได้จัดเรียบเรียงไว้เรียบร้อยแล้ว” ซึ่งงานดังกล่าว จัดขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ
2427 - 3 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงทหารหน้า
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงทหารหน้าที่สร้างใหม่แล้วเสร็จ ค่าก่อสร้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,000 ชั่ง(560,000 บาท) เครื่องตกแต่งและเครื่องประกอบเป็นเงินประมาณ 125 ชั่ง (10,000 บาท)
2427 - 4 จุดเริ่มต้นการปกครองแบบเทศาภิบาล (Territory Method)
ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าเมืองเชียงใหม่กับคนพม่าในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาทำป่าไม้ในล้านนา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงส่งข้าหลวงไปประจำเมืองเชียงใหม่เพื่อชำระคดีความ
และใน พ.ศ. 2427 ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ เพื่อปกครองแทนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เดิม การ
476 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ส่งข้าหลวงไปจากส่วนกลางเพื่อปกครองหัวเมืองถือเป็น จุดเริ่มต้นของการปกครองแบบเทศาภิบาล (Territory Method)
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 มีพระราชหัตถเลขา ที่ 542/45 เล่ม 9 สั่งราชการแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เสนาบดีกรมมหาดไทย ผู้รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรไปสำเร็จราชการ ณ เมืองเชียงใหม่ และให้พระเจ้าเชียงใหม่ปฏิบัติตาม ดังนี้
ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
...ขอให้ท่านทรงศุภอักษรชี้แจงการถึงเจ้านครเชียงใหม่ว่า หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นใหม่กับอังกฤษครั้งนี้ มีข้อเปลี่ยนแปลกไปกว่าเดิมบ้าง... ข้าราชการทั้งในกรุงแลที่เมืองเชียงใหม่ที่ยังไม่ทราบข้อความตามหนังสือสัญญาใหม่ชัด กลัวจะประพฤติราชการหนัก ๆ เบา ๆ ตึง ๆ หย่อน ๆ ไป ก็จะเสียอำนาจบ้านเมืองเหนว่า กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเข้าใจในการหนังสือสัญญาครั้งนี้ แลทราบกฎหมายแบบอย่างกระบวนถ้อยความมาก ควรจะขึ้นมาชี้แจงการให้พระเจ้านครเชียงใหม่ทราบ แลจัดการวางแบบอย่างศาลต่างประเทศที่เมืองเชียงใหม่ไว้ให้เรียบร้อยสืบไป ถ้ากรมหมื่นพิชิตปรีชากรชี้แจงการอย่างไร ให้พระเจ้านครเชียงใหม่เชื่อฟัง แลมีข้อความขัดข้องประการใด ก็ให้ปฤกษาหาฤๅกรมหมื่นพิชิตปรีชากรฯ จะขึ้นไปทางเมืองตาก เมืองเถิน พักอยู่ ณ เมืองนครเชียงใหม่ แล้วจะออกไปเมืองมาลแมน เมืองร่างกุ้ง กลับมาโดยทางทะเลขอให้ทรงทำตราถึงพระยาราชสัมภาภกร แลพระยาสุจริตรักษาแลตราอื่น ๆ ให้ตลอดตามที่จะต้องการ ให้ได้ขึ้นไปเสียในเรว ๆ นี้ให้จงได้
ทูลมา ณ วันที่ 2 ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแมเบญจศก ศักราช 1245
สยามินทร์
หมายเหตุ
การปกครองแบบเทศาภิบาล (Territory Method) เป็นการปกครองแบบตะวันตกตามแบบประเทศเยอรมนี มีหัวใจสำคัญคือ รวมเมืองหลาย ๆ เมืองให้เป็น 1 มณฑล แต่ละมณฑลมีขุนนางเทศาภิบาลเป็นผู้มีอำนาจ สามารถสั่งราชการผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมือง) ของมณฑลที่ปกครองได้ โดยขุนนางเทศาภิบาลขึ้นตรงต่อเสนาบดีมหาดไทย ขุนนางเทศาภิบาลเทียบเท่าตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน
ในระบบการปกครองแบบเก่า
ผู้ว่าราชการเมือง
(เจ้าเมือง) ปกครองแต่ละเมืองขึ้นตรงต่อเสนาบดีมหาดไทย
เนื่องจากจำนวนเมืองมีมาก เสนาบดีมหาดไทยจึงสั่งราชการกำกับแต่ละเมืองได้ยาก
การจัดรวมเมืองเป็นมณฑลและให้อำนาจสั่งราชการกับขุนนางเทศาภิบาล
ทำให้การควบคุมกำกับผู้ว่าราชการเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
477 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2427 - 5 สารบาญชีสำหรับส่งไปรษณีย์ จ.ศ. 1246 และทำป้ายเลขที่บ้าน
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2427 มีประกาศจัดทำสารบาญชีสำหรับส่งไปรษณีย์ คือ การจัดทะเบียนบ้านและติดเลขที่บ้าน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่า
แต่เดิมได้ทรงพระราชดำริว่า ธรรมดาถ้าการค้าขายเจริญขึ้นในประเทศใดแล้ว ประเทศนั้นยอมจัดการตั้งไปรสนีย์แลโทรเลข เพื่อเปนการบำรุงรักษาช่วยอุดหนุนทาง ซึ่งเปนการติดต่อชักจูง ให้สินค้าแลการค้าขายไปมาได้โดยสะดวกเปนทางเจริญแก่บ้านเมืองนั้น ๆ...จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการสายโทรเลขบอกข่าวธุระไปมาโดยทางไฟฟ้าตามสายลวดที่ไปถึงซึ่งกันแลกัน...สายโทรเลขนั้น เจ้าพนักงานก็ได้จัดการทำตั้งแต่กรุงเทพฯ ออกไปตามระยะหัวเมืองฝ่ายตวันออก ต่อกับสายโทรเลขของฝรั่งเศสเมืองเขมรแล้วสายหนึ่ง อีกสายหนึ่งตั้งแต่กรุงเทพฯ ออกไปตามระยะหัวเมืองฝ่ายตวันตก ต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษ ณ เมืองทวายสายหนึ่ง เพื่อจะได้บอกคำโทรเลขไปมาทลุทั่วทุกประเทศ แลการต่อไปก็หวังพระราชหฤไทยจะให้ตั้งสายโทรเลขไปยังหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตรทั่วไป เพื่อจะได้บอกข่าวราชการ
...ส่วนการไปรสนีย์ คือ การรับส่งหนังสือของผู้ที่มีใจปรารถนาจะใช้การส่งหนังสือไปมาถึงกัน เพื่อกิจธุระทั้งปวงจะได้สำเรจประโยชน์โดยสะดวก
ไปรษณีย์โทรเลขกลาง
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
47 M00027
478 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โดยเรวนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานฉลองจัดการไปบ้างแล้ว แต่การไปรสนีย์ที่จะต้องส่งหนังสือไปมานั้น ผู้ที่มีความประสงค์จะมีหนังสือถึงผู้โน้นผู้นี้นั้น มักไม่ใคร่ทราบตำบลบ้านของผู้ที่ได้รับหนังสือแน่นอนแลไม่ใคร่จะทราบผลประโยชน์ของผู้นั้น ๆ ตลอดทั่วไป มีเรื่องการค้าขายเปนต้น ฝ่ายเจ้าพนักงานไปรสนีย์จะต้องส่งหนังสือไปยังผู้ที่จะได้รับนั้น ก็มักเปนการคลาดเคลื่อนต้องกันหาตำบลบ้านให้ทราบชัดเสียก่อนเปนการลำบากช้าเสียเวลา...จึ่งได้ทรงพระราชดำริหว่า ควรจะต้องมีบาญชีสารบาญตำบลแลเจ้าของที่อยู่ตามสมควรให้ได้ มีว่าบ้านในตำบลนั้นมีเลขหมายที่เท่านั้น แล้วจึ่งตีป้ายหมายเลขเรียงเปนลำดับกำกับบ้านเปนตำบล ๆ แล้วจะได้ลงในบาญชีสารบาญว่า นายนั่นบุตรคนนั้นมีการค้าขายทำมาหากินสิ่งนั้นอย่างนั้นฤๅขึ้นอยู่กับผู้นี้ผู้นั้นอยู่ในบ้านหมายเลขที่เท่านั้น กรอกถนนตำบลบ้านคลองบางนั้น ๆ แต่ที่พอจะมีประโยชน์ตามสมควร ส่วนซึ่งเกี่ยวในตำแหน่งราชการนั้น ก็ควรจัดลงตำแหน่งตามหมวดกรมไว้ แลให้มีที่หมายแลเลขที่สังเกตตำบลวัง ตำบลบ้านให้ปรากฏชัด จะเปนการมีประโยชนหลายอย่างด้วย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานคิดทำการติดป้ายเลขหมายบ้านทำบาญชี สารบาญ ในจังหวัดกรุงเทพฯ เปนครั้งแรกพอเปนตัวอย่างก่อน
บัดนี้การสารบาญชีในแขวงกรุงเทพฯ นั้น ก็สำเร็จพอจะมีประโยชนสำหรับใช้ราชการในกรมไปรสนีย์แลโทรเลข...จึ่งทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมหลวงภาณุพันธุวงษวรเดช ซึ่งสำเรจราชการกรมไปรษนีย์แลโทรเลข ทรงคิดจัดการรวบรวมหนังสือสารบาญชี ซึ่งเจ้าพนักงานกรมไปรสนีย์ได้ทำขึ้นไว้นั้น ตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกแล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายให้แก่ผู้มีความประสงค์จะต้องการตั้งแต่วันนี้เปนต้นไปแล้ว จะได้เกบไว้เปนแบบฉบับสำหรับแผ่นดินสืบต่อไปเบื้องน่าตามสมควร...
พ.ศ.
2428
2428 - 1 ประกาศเก็บภาษีร้อยชักสามทุกเมือง
วันที่ 12
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 มีประกาศ “ตั้งเก็บภาษีขาเข้า
‘ร้อยชักสาม’ และขาออก เบ็ดเสร็จขึ้นทุกเมือง เจ้าพนักงานในกรุงเทพได้จัดเป็นแบบอย่างซึ่งผู้ว่าราชการเมืองจะได้จัดตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตรวจตรารักษาการเก็บภาษีขาเข้าขาออกในหัวเมืองนั้น
ๆ ทำตามแบบอย่างธรรมเนียมเจ้าพนักงานในกรุงเทพ” (การเก็บภาษีร้อยชักสามในกรุงเทพฯ
มีตั้งแต่ พ.ศ. 2417)
479 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2428 - 2 กำเนิดโรงเรียนสามัญศึกษา - การจัดการโรงเรียนและจัดทำหนังสือแบบเรียน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร มีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานจัดการโรงเรียน จำนวน 17 หน้า ซึ่งได้ขอคำปรึกษากับ “กอมมิตตี” แล้ว โดยทรงแบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
1) โรงเรียนสามัญสำหรับราษฎร ตั้งในพระอารามหลวงทุกแห่ง อาศัยศาลาเป็นโรงเรียน มีพระสงฆ์เป็นครูและช่วยควบคุมดูแล กำหนดว่าจะมีประมาณ 30 แห่ง และไม่เก็บค่าเล่าเรียน
2) โรงเรียนวิเสศ สำหรับบุตรข้าราชการและพ่อค้าพลเรือน ที่อาจจะรังเกียจการส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนวัด กำหนดว่าจะมี 2 แห่ง ในพระนครและนอกพระนคร เป็นทำนองคล้ายกับโรงเรียนนันทอุทยานและโรงเรียนพระยาศรีสุนทร มีการเก็บค่าเรียนปีละ 15 บาท แต่ถ้าเรียนภาษาอังกฤษด้วย เก็บ 30 บาท
3) โรงเรียนใหญ่สำหรับสอนวิชาชั้นสูง สำหรับผู้เรียนวิชาชั้นต้นแล้วทุกประเภท (ยุนิเวอสีตี้) ได้แก่ โรงเรียนสุนันทาลัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 โรงเรียนหนังสือไทยมีนักเรียนหลวงและนักเรียนสมัคร ค่าใช้จ่ายปีละ 10 ตำลึง แต่หากสำเร็จแล้วจะเข้ารับราชการ จะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ส่วนที่ 2 โรงเรียนธรรมแลโรงเรียนบอกพระคัมภีร์ ส่วนที่ 3 คือ โรงพิมพ์และหอสมุด
2428 - 3 สอบไล่หนังสือครั้งแรกในสยาม ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลนักเรียน ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มีพระราช-ดำรัสในที่ประชุม ความตอนหนึ่งว่า
ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนสุนันทาลัย พ.ศ. 2432
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภ 002 หวญ 5/28
480 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...ฉันมีความยินดีมากที่ได้มาเปนผู้ให้รางวัลแก่เดกนักเรียนซึ่งได้ไล่หนังสือเปนครั้งแรกในเมืองไทย...วิชาหนังสือในเวลานี้เปนเวลากำลังต้องการ...ผู้ซึ่งจะเปนข้าราชการ ไม่รู้หนังสือแล้ว เกือบจะเปนอันใช้ไม่ได้ทีเดียว...ความปรารถนาที่ฉันได้จัดโรงเรียนสวนกุหลาบนี้ขึ้น...หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ที่เปนคนดี ๆ ก็มีมาก แต่ไม่มีช่องที่จะได้ฝึกหัดทดลองให้รู้ดีชั่ว เพราะเป็นเจ้าเสียไม่ได้เป็นขุนนาง จึ่งคิดหาโอกาสที่จะให้เรียนหนังสือได้ ไล่วิชาเหมือนหนึ่งได้ถวายตัวเช่นข้าราชการ...เพราะเหตุว่าลูกฉันก็มีมาก ต่อไปก็คงจะต้องมีหลานเหลน เปนหม่อมเจ้า หม่อมราชวงษต่อ ๆ ลงไปเหมือนกับท่านแต่ก่อนเหมือนกันใช่ว่าจะเปนพระองค์เจ้าไปได้หมดเมื่อไร...เพราะฉันได้ตั้งใจไว้ว่า ตั้งแต่ลูกฉันลงไปจะต้องเข้าในโรงเรียนนี้ ฝึกซ้อมวิชาเหมือนกับลูกหลานเจ้านายทั้งปวงทุกคน...
แต่โรงเรียนนี้มีชื่อไม่เพราะอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนทหาร จะทำให้เปนที่เข้าใจกันไปว่าผู้ที่มาเรียนหนังสือนี้ จะต้องเป็นทหารไปนานฤๅตลอดชีวิตร...จึ่งขอชี้แจงให้ทราบว่า การทหารนั้นเป็นการสำคัญที่จะได้ป้องกันรักษาบ้านเมือง ถ้าไม่มีทแกล้วทหารให้แขงแรงก็จะรักษาบ้านเมืองยาก จึ่งเป็นการจำเปนที่จะต้องจัดการทหารให้แขงแรงขึ้น แต่มิใช่จะต้องการแต่ทหารเดี๋ยวนี้ต้องการคนที่ใช้ราชการพลเรือนให้เปนผู้มีความรู้แลเป็นผู้มีปัญญาใช้การได้จริง...เมื่อผู้ใดมีปัญญามีความรู้สมควรจะรับราชการในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด ก็คงจะได้รับการตามคุณวิชาของผู้นั้น...เมื่อได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้เป็นการสงเคราะห์แด่ตระกูลเจ้านายดั่งนี้ ใช่ว่าจะละลืมตระกูลข้าราชการและราษฎรเสียเมื่อไร โรงเรียนที่มีอยู่แล้ว แลที่จะได้คิดจัดการโดยอุสาหฺเตมกำลังที่จะให้เปนการเรียบร้อยพร้อมเพรียงเหมือนอย่างโรงเรียนนี้ แลจะคิดให้แพร่หลายกว้างขวาง เปนที่คนเรียนได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งได้กำลังคิดจัดอยู่ บัดนี้เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเปนต้น ลงไปตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้นจึ่งขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้...
2428 - 4 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีลาออกจากเสนาบดีว่าการต่างประเทศ
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีกราบบังคมทูลขอลาออกจากเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ด้วยเหตุผล ดังนี้
1) เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศเป็นคนสำคัญของราชการบ้านเมือง
ผู้ซึ่งจะเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศนั้น
ต้องเป็นผู้มีสติปัญญาคิดราชการรอบรู้ราชการในบ้านเมืองทุกสิ่งทุกอย่างและรู้การต่างประเทศ
จึงจะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้
481 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2) ราชการต่างประเทศทุกวันนี้ก็แข็งแรงกว่าแต่ก่อนมาก ด้วยชาวต่างประเทศถือว่า คอเวอนเมนต์ไทยถือธรรมเนียมซิวิไลมากแล้ว ขอทรงพระกรุณา
3) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเร่งทรงพระราชดำริห์จัดราชการบ้านเมืองที่เป็นการรุกเร้ากับใจคนต่างประเทศเสียให้เรียบร้อยโดยเร็ว จะได้ไม่เป็นช่องทางที่คนต่างประเทศจะเข้ามาแทรกแซงในราชการบ้านเมืองได้
4) ราชการซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเป็นพนักงานรับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่นั้น ก็มีแต่เสื่อมทรามไปไม่เป็นการเจริญขึ้น เพราะปัญญาและความรู้ไม่พอกับราชการ ทั้งโรคภัยก็เบียดเบียน
5) ข้าพระพุทธเจ้า...ไม่ได้คิดในส่วนตัวข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานแต่ให้ราชการบ้านเมืองมีความเจริญขึ้นอย่างเดียว...
หมายเหตุ
ทั้งนี้ ผู้เรียบเรียงพบว่าการลาออกของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีมีเหตุมาจากในพระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้ที่ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นในการจัดเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ซึ่งมีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงตัวอย่างเสนาบดีที่เป็น “สำรับเก่า” หรือเป็นข้าราชการรุ่นเก่าที่จะต้องทำงานในระบบการปกครองอย่างใหม่ ดังนี้
...ในการที่จะจัดตำแหน่งเสนาบดี ให้รับการได้จริงทุกสิ่งทุกอย่างในสำรับเก่า
ที่เปนอยู่บัดนี้ ให้กลับทำการอย่างใหม่ได้จริงนั้นไม่ยาก
แต่เพียงที่เคยเปนออปโปสิชั่นกันมาเสียแต่ก่อน ที่จำเปนจะต้องเหนไม่ต้องกัน ฤๅแกล้งบิดพลิ้วจะให้เสียนั้นอย่างเดียวเลย
เปนการที่เหลือกำลังจะทำไปได้ก็มี เหมือนอย่างเมื่อเรว ๆ นี้
กงสุลฝรั่งเสศมีหนังสือมา เรื่องประกาศห้ามไม่ให้บันทุกกำลังศึกเข้าไปในเมืองจีน
เราจึ่งได้มีคำสั่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ให้ทำคำประกาศ แลให้แปลหนังสือที่ประเทศทั้งปวงได้ตกลงกันอย่างไร
ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ให้ลูกค้าทั้งปวงทราบ ได้สั่งการโดยละเอียดถ้วนถี่แล้ว
ครั้นเมื่อร่างประกาศมาให้เราดู มีข้อความเพิ่มเติมลงไปอีก
ว่าเมืองไทยเรามีแต่เข้าเปนสินค้า
เข้าไม่เปนอาวุธ ไม่ต้องห้ามดังนี้ ที่เติมลงนี้ก็ประสงค์จะให้ดีเท่านั้น
ใช่จะแกล้งอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่หาได้ดูในหนังสือฉบับที่ให้แปลนั้นเองไม่
ว่าเขาจะกำหนดห้ามอันใด จะประกาศให้ทราบ แลไม่มีกำหนดว่าจะห้ามอันใดบ้าง
แลมีหนังสือพิมพ์ข่าวโทรเลข ในเวลานั้นลงออกอึงไปว่า
ฝรั่งเสศจะห้ามแต่เข้าอย่างเดียว ก็ไม่รู้เสีย การวางมือไปไม่ได้อย่างนี้
ท่านเสนาบดีกรมนี้ก็นับว่าเปนผู้มีปัญญายังชั่วกว่ากรมอื่น ๆ ยังเปนดังนี้
จะป่วยกล่าวไปไยถึงกรมอื่น ๆ เล่า เพราะเหตุอันนี้ เราจึงต้องรับภาระอันหนัก
โดยมิได้หยากจะขวนขวายไปรับเอามาเลย ดังเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น
ถึงตัวท่านเสนาบดีเองเล่า เราก็เชื่อเปนแน่ว่าได้รู้ตัวเหมือนกัน
ว่ากำลังตัวเองไม่พอที่จะรับแก่การประจุบันนี้ได้...
482 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2428 - 5 กิจการทหารมหาดเล็ก
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก ไปราชการเมืองพิไชย พระองค์เจ้าดิศวรกุมารจึงมีหนังสือกราบบังคมทูล มีใจความสำคัญ ดังนี้
1) ขอรับพระราชทานออฟฟิเซอร์ (officers) ในกรมทหารมหาดเล็ก 6 คนเป็นผู้ติดตาม โดยมีขุนวรสุนทโรสถ
2) ตำแหน่งฮอศปิแตนซายัน (Hospital Sergeant) หรือนายสิบพยาบาล
3) ขอพระราชทานให้จมื่นวิชิตไชยสักดาวุธเป็นผู้รักษาราชการของ “การทหารมหาดเล็ก”
4) ขอพระราชทานให้พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นผู้รักษาราชการของ “การโรงเรียนต่าง ๆ”
แสดงให้เห็นว่ากรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แบ่งหน้าที่เป็น 4 ประเภท คือ การทหารมหาดเล็ก (รวมตำแหน่งแพทย์ทหาร) การทำแผนที่ การโรงเรียน และการพิพิธภัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า “ไม่ต้องอไร เพราะการที่จะไปตกลงงดแล้ว” จึงไม่ได้เดินทางไปราชการยังเมืองพิไชย
2428 - 6
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ
ดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศ
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความว่า
...บัดนี้ฉันจึ่งมอบตำแหน่งเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศนี้ ให้เธอเปนผู้บังคับบัญชาการสิทธิขาดในตำแหน่งนั้น โดยเตมอำนาจตำแหน่งไม่มีที่ยกที่เว้น ขอให้เธอรับตำแหน่งนี้ รักษาราชการโดยความซื่อตรงต่อตัวฉันแลแผ่นดินบ้านเมือง รักษาการให้เตมสติปัญญาความคิด ให้ราชการทั้งปวงเรียบร้อย บ้านเมืองอยู่เยน เปนศุขสืบไป...
หมายเหตุ
การต่างประเทศเป็น “งานราชการประเภทเดียว”
ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ
รับสนองพระบรมราชโองการปฏิรูปราชการต่างประเทศเพียงลำพังพระองค์เดียว
ไม่ต้องใช้รายงานจัดราชการหรือกอมมิตตี (คณะกรรมการ) จัดการแบบราชการกระทรวงอื่น ๆ ทรงพระปรีชาสามารถด้านการต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ทรงรับราชการเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2428 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2466
เป็นเวลาถึง 38 ปี ไม่ได้ย้ายไปว่าราชการกระทรวงอื่นใดเลย
483 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2428 - 7 จัดให้มีออฟฟิซราชการครั้งแรก
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2428 มีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ให้มี “ออฟฟิซ (office) ราชการ”
ถึง ดิศวรกุมาร
ด้วยเจ้าพระยาภาณุวงษมหาโกษาธิบดี ขอลาออกจากราชการตำแหน่งผู้ว่าการต่างประเทศ ฉันได้มอบราชการให้กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ บังคับบัญชาต่อไป แต่ “ออฟฟิซราชการ” นั้น ไปตั้งที่บ้านอย่างแต่ก่อนเหนไม่เป็นแบบราชการ ชักให้เสนาบดีที่ถือไรต์ที่จะนั่งอยู่ในแต่ออฟฟิซไม่เข้าวังผิดด้วยแบบอย่างมาแต่ก่อน ราชการไม่ใคร่ได้ประชุมพบปะกัน ก็มักจะให้มีเหตุต่าง ๆ มีการช้าเหลือเกินไปเปนต้น แลราชการมักตกหล่นสูญหายเสียโดยมาก จึ่งคิดจะให้ออฟฟิซตั้งอยู่ในที่แห่งเดียว เปนมั่นคงสำหรับแผ่นดินสืบไป แต่ในเวลานี้ยังไม่มีที่ใดสมควรเปนออฟฟิซได้ ให้เธอมอบวังสราญรมย์ให้กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เปนออฟฟิซว่าการต่างประเทศไปกว่าจะได้ทำออฟฟิซในพระบรมมหาราชวังขึ้นแล้วเสร็จ
สยามินทร์
หมายเหตุ
ในอดีต สถานที่ว่าราชการของแต่ละกรมกองจะย้ายไปตามวังเจ้านายหรือบ้านขุนนางผู้รับผิดชอบ เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการปกครองประเทศ จึงทรงแก้ไขด้วยการเวนคืนวังเจ้านายซึ่งเป็นที่หลวง หรือจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งเป็นสถานที่ว่าราชการส่วนกลางจนครบทุกส่วนราชการ
2428 - 8 ขอพระราชทานตำแหน่งขุนนางการโรงเรียนในกรมทหารมหาดเล็ก
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร มีหนังสือจาก “ออฟฟิซ กรมทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวัง” กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัญญาบัตรให้หม่อมราชวงศ์วิญ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือเป็นหลวงตำแหน่งวิเสศ รับราชการในการโรงเรียน โดยฝากไว้ในกรมทหารมหาดเล็กก่อน
2428 - 9 งบประมาณสำหรับการโรงเรียนและกรมทำแผนที่
พระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร มีหนังสือจากออฟฟิศกรมทหารมหาดเล็ก
กราบบังคมทูลถวายบัญชีแสดงงบประมาณรายจ่ายประจำเดือน “เอศติเมดเงินประจำเดือนสำหรับการโรงเรียน
และเอศติเมดเงินประจำเดือนสำหรับกรมทำแผนที่” ซึ่งกรมทหารมหาดเล็กรับผิดชอบจัดการอยู่
484 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...ในส่วนเอศทิเมดสำหรับโรงเรียน
น่าที่ 1 ในจำนวนพนักงานจัดการนั้น ส่วนพระยาศรีสุนทรโวหาร เดิมได้รับพระราชทานในอัตราอาจาริยใหญ่โรงเรียนสอนหนังสือไทย เดือนละชั่งหนึ่ง บัดนี้เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า โรงเรียนที่ได้จัดเปนชั้นเปนส่วนแลมีเพิ่มเติมขึ้นเปนอันมาก ควรที่พระยาศรีสุนทรโวหารจะต้องเปนธุระในที่จะช่วยจัดการทั่วไป จึ่งจะเปนประโยชน์แก่การเล่าเรียน
ตำแหน่งสมุห์บัญชี...แลตำแหน่งนักการ คืออินสะเป็คเตอ 4 คนนั้นมีธุระสำหรับจะต้องเที่ยวตรวจตราธรรมเนียมแลความเรียบร้อยตามโรงเรียนทั้งปวงทั้งหัวเมืองแลในกรุงแลต้องทำรีโปดด้วย ในชั้นต้นขอรับพระราชทานตั้งแต่ 2 คนก่อน…ตำแหน่งเสมียนสำหรับการจรนั้น มีที่ต้องการเปน 2 อย่าง ๆ หนึ่ง คนที่เอามาฝึกหัดสำหรับจะได้จ่ายออกไปเปนครูตามโรงเรียนต่าง ๆ เพราะในเวลานี้ โรงเรียนสูงสำหรับสายครูยังไม่มี ถ้ามีแล้วก็ไม่ต้องใช้ อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเวลามีหนังสือที่จะต้องคัดมากเหมือนกันในคราวเกณฑ์แต่งหนังสือเรียนแลเกณฑ์แปลธรรมบทเปนต้น...ในส่วน โรงเรียนพระยาศรีสุนทรโวหาร แล โรงเรียนสวนนันทอุทยาน นั้น เอสทิเมดกะเปนแก่เงินที่ใช้อยู่ในเวลานี้ ถ้า “โรงเรียนสราญรมย์” ตั้งขึ้นแล้ว 2 โรงนี้รวมกันเป็นโรงเดียว เอศติเมดจะต้องทำใหม่...โรงเรียนตามวัดนั้น ใน เอศติเมดกะเต็มที่เผื่อไว้ทีเดียว แต่เงินที่เบิกอยู่โดยปรกติน้อยกว่านี้มาก...
ในส่วนเงินเอสติเมดกรมทำแผนที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ กะทำตามแบบใหม่ซึ่งพระวิภาคภูวดลได้เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นั้น เงินเพิ่มในเวลาไปราชการแลเงินค่าเดินทางของพระวิภาคภูวดลแลพนักงานแผนที่ซึ่งไปราชการนั้น กะไว้ตลอดปี เพราะไม่ทราบเกล้าฯ แน่ว่า พระวิภาคภูวดลจะกลับมาถึงในเดือนใด ถ้ามาถึงเดือนใด ก็จะเบิกเพียงเดือนนั้น...
2428 - 10 พระราชหัตถเลขาคำสั่งพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ4 พระองค์ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปรุ่นแรก จำนวน 8 หน้า มีใจความสำคัญโดยย่อ ดังนี้
ทรงให้ระมัดระวังในการปฏิบัติ อย่าให้ไปอวดอ้างเรื่องการเป็นเจ้านายในต่างประเทศ
เนื่องจากใช้เงินพระคลังข้างที่
คือ เงินสิทธิ์ขาดส่วนพระองค์ ไม่ใช่เงินสำหรับราชการแผ่นดิน เรียนชั้นต้น 5 ปี
เรียนชั้นหลัง 5 ปี รวมเป็นเงินพระองค์ละ 3,600 ปอนด์
ทรงให้การเล่าเรียนวิชาเป็นทรัพย์มรดกแก่พระราชโอรสโดยเสมอกัน
ตามแต่สติปัญญาของแต่ละพระองค์
485 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
พระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษา
ณ ต่างประเทศ
และให้กลับมารับราชการให้คุ้มกับเงินแผ่นดินที่ลงไป มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเอง ก็เปนเงินส่วนในแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เปนส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยการในตัว ที่ทำการกุศลแลสงเคราะห์บุตรภรรยา เปนต้น เหนว่าการสงเคราะห์ด้วยเล่าเรียนนี้เปนดีกว่าอย่างอื่น ๆ จึงได้เอาเงินรายนี้ใช้เปนการมีบุญคุณต่อแผ่นดิน” รวมทั้งพระราชทานคำสอน ให้มีความเพียร ไม่ให้เกะกะกลัวเกรงข่มเหงผู้อื่น ใช้สอยเงินทองอย่างเขม็ดเขม่ อย่าสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น
2428 - 11 ตั้งศาลาว่าการต่างประเทศ (กรมท่า) ในพระบรมมหาราชวัง
วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กราบบังคมทูลเรื่องการซ่อมคลังเชือก ก่อสร้างตึกเพิ่มทำเป็นโรงทหารมหาดเล็ก และรื้อที่คลังและโรงม้าเดิมของทหารมหาดเล็กทำเป็นออฟฟิศกรมท่า ในส่วนคลัง เมื่อโรงทหารใหม่เสร็จแล้วจะย้ายของเข้าไว้ในนั้นได้ ยังอยู่แต่โรงม้าที่จำเป็นต้องคิดหาที่ โดยเห็นว่า ที่มุมท้องสนามหลวง ตรงหน้าประตูวิเศษไชยศรี ริมคลังเชือกบาทและโรงงานของสมเด็จกรมพระนั้น เป็นที่รกร้างโสโครกอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง น่าจะใช้ทำโรงม้าทหารมหาดเล็กได้ พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาตอบว่า “การเรื่องนี้ให้สวัส พูดกับเทว ดูทีเถิด ฉันไม่แน่ใจว่าที่ว่าการต่างประเทศอยู่ที่นี่ จะงามจะง่าย หฤๅจะเอาที่สนามหลวง จะงามจะง่ายกว่ากัน”
486 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2428 - 12 หนังสือกราบบังคมทูลเรื่องการฝึกหัดวิชาหมอ
ต้นกำเนิด “การแพทย์แผนปัจจุบัน”
ฉบับแรก
วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลเรื่องการทหารและการโรงเรียนที่กรมทหารมหาดเล็กรับผิดชอบรวมถึงการฝึกหัดวิชาหมอและวิชาเซอเยอรี และโรงรักษาคนไข้ ดังนี้
...2. อนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการมีรับสั่งแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า กรมทำแผนที่ควรจะมีคนยีโลเยอ ที่ชำนานในการตรวจแร่ธาตุต่าง ๆ ได้สักคน 1 สำหรับจะได้ให้รับราชการทางยีโอโลยิเกลเซอเว ให้เปนประโยชน์อีกทางหนึ่ง เพราะการเซอเวตรวจแร่ทุกอย่างนี้มักจะเปนที่พูดจาว่ากล่าวของคนที่ว่ามาตรวจการนักปราชต่าง ๆ เช่น มิศเอตร์ลุคซากี อยู่เนือง ๆ...
3. อนึ่งหมอวิลลิศที่สำนักราชทูตอังกฤษ ได้ขึ้นมารับพระราชทานอาหารเย็นกับข้าพระพุทธเจ้าวันหนึ่ง ได้พูดจากันถึง เรื่องฝึกหัดวิชาหมอ หมอวิลลิศแจ้งความว่า เมื่ออยู่ที่เมืองยี่ปุ่นได้เคยฝึกหัดคนยี่ปุ่นรู้ไปเปนหลายคน ข้าพเจ้าจึ่งถามว่า หมอวิลลิศเข้ามาอยู่ในเมือง คิดจะหัดคนไทยบ้างฤๅไม่ หมอบอกว่าถ้ามีโอกาสก็จะรับหัดได้บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ ปฤกษากับพระวิภาคภูวดล พร้อมกับเหนด้วยเกล้าฯ ว่า วิชาหมอเปนวิชาสำคัญ ควรจะให้แพร่หลายไปในพื้นบ้านพื้นเมือง แต่ที่จะคิดอ่าน การฝึกหัดวิชาหมอแท้ ก่อนที่ได้มี โรงรักษาคนไข้ ตั้งขึ้นนั้นก็ไม่ได้ แต่เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า วิชาหมอในส่วนหนึ่งคือเซอยอรี ที่จะตัดผ่ารักษาบาดแผลเข้าเฝือกเหล่านี้เปนของที่จะเรียนได้ง่าย และเปนที่ต้องการในราชการเหมือนดังทัพฮ่อ ฤๅไปทำแผนที่ป่าฎงดังนี้มาก ถ้าได้คิดอ่านให้มีขึ้นได้ก็คงจะเปนประโยชน์แก่ราชการมาก ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งให้ พระวิภาคภูวดลพูดจาปฤกษากับหมอวิลลิศ ในความเหนอันนี้ หมอวิลลิศก็เหนชอบด้วย ว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าจะจัดคนให้สัก 8 คน หมอวิลลิศจะรับฝึกสอนวิชาเยอรีให้แก่คนเหล่านั้นในเวลาตั้งแต่บ่าย 2 โมง จนบ่าย 4 โมง ทุก ๆ วันแลจะสอนให้เปล่า ๆ ไม่คิดเอาค่าฝึกสอนด้วย การเปนดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าได้ฝึกหัดคนไทยให้เข้าใจในวิชานี้ได้หลายคน ก็จะเปนประโยชน์ดังที่คิดนั้นได้มาก...
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า
“ออกไม่ใคร่เชื่อว่าจะสอนสำหรับเปล่าทำไม แต่ที่สอนไว้นั้นดีมาก”
487 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก
เรื่องหมอวิลลิศคิดจะหัดวิชาหมอให้คนไทย
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หนังสือกราบบังคมทูล มร 5 นก/54
488 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2428 - 13 รายงานโรงเรียน ฉบับที่ 1
วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลรายงานโรงเรียน ฉบับที่ 1 ความย่อดังนี้
...จำนวนโรงเรียนที่มีอยู่แล้วก่อนเดือนเจ็ด มี 9 แห่ง โรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง 2 โรงเรียนนันทอุทยาน 1 โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเทพมหานคร 4 โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเก่า 1 โรงเรียนในพระอารามเมืองสมุทรปราการ 1
ในเดือนเจ็ดได้ตั้งโรงเรียนขึ้นอีก 10 แห่ง คือ โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเทพมหานคร 7 แห่ง โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเก่า 3 แห่ง รวมเก่าใหม่เป็นโรงเรียน 19 แห่ง
ในเดือนแปดได้จัดตั้งเพิ่มอีก...รวมเป็นโรงเรียนหลวงที่ได้ฝึกสอนกุลบุตร 23 แห่ง...มีนักเรียนในโรงเรียนแขวงกรุงเทพ 1022 คน แขวงกรุงเก่า 253 คน แขวงนครเขื่อนขัณฑ์ 26 คน แขวงเมืองสมุทรปราการ 62 คน รวมทั้งสิ้น 1363 คน...
2428 - 14 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต
วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ ทรงหารือกับมิสเตอร์เฟรนช์ ผู้ว่าการแทนราชทูตอังกฤษและกงสุลเยเนราลเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ และสอบถามเกี่ยวกับพระอาการกรมพระราชวังบวรฯ ว่า
...อาการกรมพระราชวังบวรฯ ประชวรครั้งนี้ได้ความแน่ชัดว่าหนักหนาอยู่แล้ว แล หมอวิลลิส ที่รักษาก็ว่าจะเชิญให้เสด็จกลับขึ้นมาอยู่วังในพรุ่งนี้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ควรที่จะให้เสด็จกลับมา จึ่งจะสมควรแก่ประเพณีราชการบ้านเมือง...
วันที่ 28
สิงหาคม พ.ศ. 2428
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต หลังการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ
พระเมรุท้องสนามหลวง วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2429โดยให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในฐานะพระมหาอุปราช
(วังหน้า) และทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ดังนั้นทั้งพระราชวังบวร
ขุนนางวังหน้า ไพร่ขึ้นวังหน้าทั้งหมด ก็ย้ายกลับมาขึ้นวังหลวง และดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง
รื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลงให้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ใน พ.ศ. 2430 ขุนนางวังหน้าอยู่ในกำกับของวังหลวง
489 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
เนื่องจากได้มีการยุบสถานที่ตั้งกรมหมอวังหน้าในเขตพระราชวังบวรชั้นนอกไปและเปลี่ยนเป็นที่ของ “โรงทหารรักษาพระองค์” ของวังหลวงแทน ดังนั้นขุนนางกรมหมอวังหน้าซึ่งย้ายไปขึ้นกับวังหลวงตามธรรมเนียม เจ้าพระยามหินธรศักดิธำรง สมุหพระสุรัสวดี กรมพระสุรัสวดี มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระเบียบ การควบคุมกำลังคน และการสักเลกมากกว่าเดิม รวมทั้งการเกณฑ์ไพร่มาทำราชการ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ...บัดนี้กรมพระราชวังบวรฯ ทิวงคต ราชการในกรมพระราชวังบวรฯ ก็ตกมาเด็ดขาดอยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น...
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางกรมหมอวังหน้าย้ายไปทำงานตามหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ย้ายไปเป็นแพทย์ทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2430 ไปทำงานที่โรงพยาบาลใหญ่ ณ วังหลัง (โรงพยาบาลศิริราช) เมื่อ พ.ศ. 2431 หรือไปทำงานที่โรงเรียนแพทยากร เมื่อ พ.ศ. 2433 เป็นต้น
ส่วนกรมหมอหลวง (กรมแพทยาโรงพระโอสถ) ยังคงปฏิบัติราชการเหมือนเดิม แต่ไม่โปรดให้รับขุนนางใหม่เพิ่มเติม จนกระทั่งขุนนางเก่า ๆ ถึงแก่กรรมจึงค่อย ๆ หมดไปและยุบเลิกกรมหมอหลวงไปโดยปริยายในภายหลัง โดยในปี พ.ศ. 2435 ที่มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการทั้งประเทศ มีกรมราชการแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังคงมีกรมราชการแบบเก่า (ตามกฎหมายตราสามดวง) ตกค้างอยู่ เช่น กรมช่างสิบหมู่ กรมมหาดเล็ก กรมหมอหลวง แต่กรมแบบเก่าทั้งหมดต้องย้ายไปอยู่ภายใต้ระบบราชการแบบตะวันตกที่จัดแบ่งเป็นกระทรวงต่าง ๆ ขึ้นใหม่
2428 - 15 ตั้งกรมแผนที่ทหาร
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428 นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร จัดการตั้งกองแผนที่ทหาร เป็น กรมแผนที่ทหาร ในกรมทหารมหาดเล็กตามพระบรมราชโองการ
2428 - 16 หมอเทียนฮี้ขนปัสตันสำหรับทหารม้า 1 หีบจากสิงคโปร์
วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ กราบบังคมทูล ดังนี้
...ด้วยเจ้าพนักงานกรมศุลกากร มีหนังสือมาลงวันที่ 4 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้หมอชิเทียนฮี้บันทุกปัสตันบันจุแล้วสำหรับทหารม้าหีบหนึ่งจากสิงคโปร์ เพื่อประโยชน์ของคอเวอนเมนต์สยาม...
วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขาตอบ
ถึงกรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ
ด้วยจดหมายเธอส่งหนังสือกรมศุลกากร
ว่าด้วย หมอเทียนฮี้ ขออนุญาตบรรทุกปัสตันบรรจุแล้วหีบหนึ่งนั้น
ได้สอบถามเจ้าหมื่นไวยได้ความ
490 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ว่าเปนของเจ้าหมื่นไวยวรนาถ สั่งมาสำหรับตัวที่จะขึ้นไปราชการทัพนั้น อนุญาตเถิด
สยามินทร์
2428 - 17 หมอเฮงรี เอศโกลสตอน ขอรับราชการเป็นแพทย์ทหาร
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2428 ดอกเตอร์เฮงรี เอศโกลสตอน มีหนังสือทูลมายัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ ความว่า
...ด้วยแม้ว่าในกองทับซึ่งจะยกขึ้นไปเหนือ ครั้งมีตำแหน่งหมอว่างอยู่ ฤๅมีการที่แห่งใด ข้าพเจ้าขอถวายตัวรับราชการในตำแหน่งหมอนั้น แลซึ่งข้าพเจ้าขอรับราชการนั้น ข้าพเจ้าขอทูลให้ทรงทราบว่า ข้าพเจ้าเป็นเมมเบอร์ ในจำพวกแพทย์ ซึ่งเรียกว่า รอยัลกอลิชออฟเซอเยอน (The Royal College of Surgeons) ในอังกฤษ แลข้าพเจ้าได้รับดิโปลมา ลงวันเดือนนอแวมเบอร์คฤกษศักราช 1851 แลข้าพเจ้าได้รับราชการในกองทัพอเมริกันเมื่อครั้งมีสงครามครั้งหลังนั้น แลได้รับตราตั้งเป็นเซอเยอน แลมีตำแหน่งสมอเมเยอ แลเมื่อออกจากราชการนั้น ก็ได้รับหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานให้ออกจากราชการโดยความชอบ ภายหลังข้าพเจ้าก็ได้ไปการทัพเมืองอบิซีเนียด้วย
วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2428 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการทูลพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ว่า
...ด้วยดอกเตอร์เฮงรี เอศโกลสตอน มีหนังสือมาว่า จะขอรับราชการในตำแหน่งหมอ ซึ่งจะยกทัพไปเมืองเหนือครั้งนี้...ขอให้เธอนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามเวลาที่สมควร...
2428 - 18 ติดไฟฟ้าในโรงทหารหน้า
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2428 จมื่นไวยวรนาถกราบบังคมทูลเรื่องการติดไฟฟ้าในโรงทหารหน้า ความว่า
...เดิมโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดทหารขึ้นอยู่โรงทหารน่า
ในชั้นต้นที่จะจัดทหารขึ้นอยู่โรงนั้น...ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้คิดกำหนดดวงไฟที่จะใช้
เหนควรต้องใช้ถึง 450 ดวง มาคิดค่าโคมแลค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ก็เหนเปลืองมาก
ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าจะใช้ไฟฟ้า โสหุ้ยก็คงน้อยลงได้...ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้สั่งไปทางตาลิกราฟ (telegraph) ให้ส่งไฟฟ้าเข้ามาสำหรับที่จะใช้ในโรง
ให้ทันกับการขึ้นโรงทหารน่า...ข้าพระพุทธเจ้าเหน
491 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ด้วยเกล้าฯ ว่า การที่จะจุดไฟบนพระที่นั่งทุกวันนี้ ก็ต้องใช้ผู้หญิงเปนผู้จุด การที่จุดนั้นก็เปนการลำบาก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้คิดกะไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วนั้น โคมดวงใหญ่ 1 ดวง มีแรง 12000 เทียนไข มีอยู่ 4 ดวง คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะใช้ที่โรงทหารทั้ง 2 ดวง อีก 2 ดวงจะใช้ในที่ออกขุนนางทั้งสองข้าง ข้างละดวง กับโคมติดฝา อย่างกลาง อย่างเลก มีแรง 10/20 ดวงเทียนไข มีอยู่ 180 ดวง กับโคมติดฝาโตะต่าง ๆ มีแรงโคมละ 20/30/40 ดวงเทียนไข มีอยู่ 6 ดวง
...ไฟฟ้าซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณามาแล้วนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองจุดในการแดนซิงวังสราญรมย์แล้ว เหนใช้ได้ดีกับของที่มีสำหรับเครื่องไฟฟ้านั้นมีพร้อมแล้วทุกอย่าง...
2428 - 19 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประสูติ
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสองค์ที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ประสูติ ค่ำคืนนั้นมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก ชาววังจึงขนานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ว่า ทูลกระหม่อมดาวร่วง
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
492 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2429
พ.ศ. 2429 - 1 รายงานโรงเรียน ฉบับที่ 2 และตั้งโรงเรียนแผนที่ทหาร
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2429 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลรายงานโรงเรียน ฉบับที่ 2 มีความย่อดังนี้
...(1) …รายงานฉบับนี้จึงรวมได้ 5 เดือนในคราวเดียวกัน
(2) การโรงเรียนในระหว่าง 5 เดือนนี้ก็เรียบร้อยเจริญขึ้นโดยปรกติ จำนวนนักเรียนก็มากขึ้นเสมอทุก ๆ เดือน...
(3) โรงเรียนในกรุงเทพฯ มีอยู่หลายแห่งแล้ว ที่จะตั้งขึ้นใหม่ต่อไปในจังหวัดกรุงเทพฯ โดยจะตั้งอีกน้อยแห่งก็ได้ แต่ตามหัวเมือง ข้าพระพุทธเจ้ากำลังคิดอ่านที่จะตั้งโรงเรียนให้ตลอดออกไปตามกระแสพระราชดำริห์ ข้าพระพุทธเจ้าได้พบพูดจาชี้แจงกับพระสงฆ์เจ้าคณะบางหัวเมือง ยินดีที่จะรับจัดการตามพระราชประสงค์...
(4) อนึ่งเมื่อเดือน 12 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเปนพนักงานสอบซ้อมวิชาอาจาริย์ซึ่งได้รับพระราชทานสอนวิชาหนังสือไทยในโรงเรียนหลวงทุกแห่ง...จำนวนอาจาริย์ที่เข้าไล่หนังสือ อาจาริย์ใหญ่ 25 คน อาจาริย์รองในโรงเรียนใหญ่ 11 คน อาจาริย์รองในโรงเรียนตามพระอารามเข้าไล่ 2 คน รวมทั้งสิ้นด้วยกัน 38 คน...
(5) โรงเรียนได้ตั้งขึ้นใหม่ ในกรมแผนที่ทหารแห่ง 1 สำหรับฝึกสอนนักเรียนที่จะรับราชการในกรมแผนที่ วิชาที่ฝึกสอนนั้นคือ หัดเลขอย่างสูงสำหรับใช้ในการวัดแดด วัดดาว เปนต้นอย่างหนึ่ง หัดเขียนอย่าง 1 หัดวิชาหนังสือไทยอย่าง 1 หัดทำแผนที่ด้วยอย่าง 1 กำหนดอัตรานักเรียนเต็มที่รับได้เพียง 50 คน แลต้องสอบซ้อมวิชาก่อนพอสมควรแล้วจึ่งจะยอมให้เข้าเรียน แลไม่ได้รับฝึกหัดนักเรียนในสำนักนี้อื่นนอกจากผู้ที่จะเข้ารับราชการในกรมทำแผนที่ การฝึกสอนในโรงเรียนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจดูเหนสอนโดยถ้วนถี่ละเอียดลออมากต่อไปคงจะเปนประโยชน์แก่ราชการเปนอันมาก...
2429 - 2 มิสเตอร์อิแยแวลซ์ขอตั้งบริษัทติดตั้งจำหน่ายไฟฟ้าในสยาม
วันที่ 10 มีนาคม
พ.ศ. 2429
การใช้ไฟฟ้ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก
โดยเฉพาะความเจริญของเทคโนโลยีการแพทย์แผนปัจจุบันแบบประเทศตะวันตก ในปี พ.ศ.
2429 มีชาวต่างประเทศที่อยู่ในสิงคโปร์มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความตอนหนึ่งว่า
493 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...ที่ขอพระเจ้าแผ่นดินสยามโปรดให้คอลเซเซอล แก่ข้าพเจ้าให้ได้รับทำไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ และที่ใกล้เคียง แลพวกกำมิศชั่นเนอร์ เมืองสิงคโปร์ได้ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ข้าพเจ้าแลได้ให้อำนาจสมควรแก่ข้าพเจ้าได้ตั้งโคมไฟฟ้าตามถนนหลวงแลในบ้านราษฎรที่เมืองสิงคโปร์...จะทำการต่อไปถึงเมืองปีนัง...ข้าพเจ้าขอจะทำการกำปะนีต่อไปกรุงเทพฯ ถ้าท่านโปรดและเห็นด้วยการเรื่องนี้ตามสมควร ขอสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้พระราชทานหนังสือสัญญาอนุญาตให้ข้าพเจ้า แลข้อความในหนังสือสัญญาอนุญาตนั้นจะมีความว่าดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความเหมือนกับคอมมิศชันเนอที่เมืองสิงคโปร์ยอมให้แก่ข้าพเจ้าคือ
ข้อ 1 ให้อำนาจได้ที่ดินแลได้สร้างตึกในที่นั้นตามสมควร จะได้ตั้งเครื่องจักและของอื่น ๆ ซึ่งต้องการใช้ทำเครื่องไฟฟ้า
ข้อ 2 ว่าได้ตั้งเครื่องจักแลที่สำหรับได้ทำไฟฟ้าแลได้จำหน่ายไฟฟ้านั้น เพื่อจะได้จุดไฟฟ้าในที่หลวง ที่ไปรเวศ ที่ถนน และที่อื่น ๆ แลในที่กลางแจ้ง
ข้อ 3 ว่าให้ข้าพเจ้าได้ตั้งเสาแลได้ติดตั้งสายลวดที่พ้นคนเดินตลอดในเมืองแลที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ ทุกถนนหนทาง ฤๅที่อื่น ๆ ที่เหนสมควรเพื่อจะได้จำหน่ายไฟฟ้านั้น แลขุดถนนหนทางแลที่อื่น ๆ ทุกแห่งเหนสมควรว่าจะต้องฝังลวดใต้ดิน...
…แลการที่ใช้ไฟฟ้าบัดนี้เป็นการถือเป็นแน่แล้ว ได้เห็นแต่การที่ได้ทำดีขึ้นมากในเครื่องจักที่จะบังเกิดไฟฟ้า แลการจำหน่ายไฟฟ้านั้น ก็ได้ทำเป็นที่หวังใจเหมือนกับไฟก๊าศ...แลในเดี๋ยวนี้ก็ได้ถูกกว่าไฟก๊าศ แลแสงไฟฟ้ายังสว่างยิ่งกว่าไฟก๊าศ 50 ส่วน แลบัดนี้ใช้กันที่เมืองอังกฤษแลเมืองอเมริกา ในทุกประเทศในคอนติเนนยุโรป...
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2429 มิสเตอร์อิแยแวลซ์มีหนังสือทูลกรมหมื่นเทวะวงษ-วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ เรื่องแมมโมแรนดำ (Memorandum) รายละเอียดราคาไฟฟ้า เพื่อให้พิจารณา ความว่า
...ข้อ 2 ...กุมปนี จะฝังแลตั้งเครื่องซึ่งจะต้องการใช้นั้น คือสายตะกั่วแลสายลวด แลจะตั้งเสาทั้งสิ้นที่ต้องการจุดไฟฟ้าตามถนนนั้น ของกุมปนีเองเสียค่าใช้จ่ายแลราคา แลกุมปนีจะให้โคมทั้งหมดสำหรับจุดไฟฟ้าตามถนนแลจะรักษาโคมนั้นด้วย
ข้อ 3 ...ตอนแรกซึ่งจะจุดไฟฟ้า...จะจับตั้งแต่ประตูวังแลตลอดไปในเมือง
แลถนนเจริญกรุงไปจนถึงโอเรียนต้นโฮเตล แลในงวดแรกนั้นจะใช้โคม 100 หนึ่ง
แล้วจะทวีขึ้นไปคราว ๆ ตามจะเห็นควร
494 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ข้อ 4 ...โคมใบหนึ่งจุดไฟร้อนกล้าสว่างเท่ากับโคมเทียน 50 เล่ม ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น ประมาณเดือนหนึ่งจุด 27 คืน กลางเดือนจะไม่เลิกจุด ราคาจุดไฟฟ้านั้นทั้งหมดโคมหนึ่งจะเป็นเงินเดือนละ 2.50 เหรียญ (ไฟก๊าศที่เมืองสิงคโปร์จุดละ 2.70 เหรียญ)
ข้อ 5 ว่าไฟฟ้าซึ่งจุดตามบ้านไปรเวศนั้น จะกำหนดราคาจุดหนึ่งก็ยาก เพราะต้องจุดตามแต่การ แต่จุดไฟฟ้าราคาถูกกับไฟก๊าด แลแสงไฟฟ้าก็สว่างกว่าหลายส่วน...ตามราคาไฟก๊าดจุดที่เมืองสิงคโปร์ที่เมืองฮ่องกงและเมืองเซี่ยงไฮ้ แลเมืองอื่น ๆ คิดราคาพันพุกสี่เหลี่ยมเป็นเงิน 3 เหรียญ คงเป็นเงินเดือนละ 3.15 เหรียญ ถ้าจะจุดไฟฟ้าแล้วจะเป็นราคาแต่เดือนละ 2.47 เหรียญ และแสงไฟเท่าจุดเทียนยี่สิบสี่เล่มและไฟก๊าดที่จุดนั้นแสงไฟสว่างเท่าจุดเทียนเก้าเล่ม...
การนำไฟฟ้ามาใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับเครื่องตรวจโรคต่าง ๆ จาก Memorandum ของมิสเตอร์อิแยแวลซ์ช่วยทำให้เข้าใจสภาพบ้านเมืองของกรุงเทพมหานครว่า ในปี พ.ศ. 2429 ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ กำลังจะนำเข้ามาใช้ แทนการจุดโคมไฟที่ใช้น้ำมันก๊าดและการจุดเทียน และประเทศใกล้เคียงเริ่มนำไฟฟ้ามาใช้ก่อนหน้าไม่นานเช่นกัน
2429 - 3 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษประกาศพระราชบัญญัติ
“สยามออเดออินเคาน์ซิล” (Siam Order in Council)
กฎหมายอังกฤษฉบับนี้มีอำนาจควบคุมคนในบังคับอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศสยาม
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2429 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษเสด็จประทับพร้อมด้วยปรีวิเคาน์ซิล มีพระราชเสาวนีย์ดำรัสให้ตั้งพระราชบัญญัติ “สยามออเดออินเคาน์ซิล” ดังคำปรารภว่า
...ด้วยสมเดจพระนางเจ้ามีอำนาจบังคับบัญชาในพระราชอานาเขตรสมเดจพระเจ้าแผ่นดินสยาม เพราะดังนั้นบัตนี้สมเดจพระนางเจ้าโดยอำนาจเพื่อการนี้ตามที่กำหนดไว้ในลักษณเฟรนยูริศติกเชอนแอกต์ที่ทำไว้ระหว่าง ปีคฤกตศักราช 1843 และ 1878 ในปีที่ 20 และ 21 ของพระนางเจ้า บท 75 แลอำนาจอื่น ๆ ที่มีอยู่ในพระองค์ก็ได้ทรงพระราชดำริหปฤกษาพร้อมด้วยปรีวิเคาน์ซิน มีพระราชเสาวนีดำหรัศให้ตราเป็นพระราชบัญญัติดังนี้...
2429 - 4 การผลิตน้ำประปาในสยาม
วันที่ 7 เมษายน
พ.ศ. 2429
มิสเตอร์แกรซีคิดจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค
โดยมีหนังสือกราบบังคมทูลและเอกสารแนบท้ายอธิบายความสำคัญของการใช้น้ำสะอาดในกรุงเทพฯ
ดังนี้
495 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...น้ำที่ใช้อยู่ในเดี๋ยวนี้สำหรับการบ้านเมืองและการอื่น ๆ เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ เหมือนอหิวาตกโรค โรคบิด เปนไข้ไตฟอย ซึ่งมีอยู่เนือง ๆ แลเปนพยานชัดแจ้งอยู่ว่า เมื่อเกิดไข้อันน่ากลัวอย่างใดขึ้นแล้วที่เมืองนี้ มักจะเป็นขึ้นแก่ราษฎรในกรุงเทพก่อน แลที่ใกล้เคียง แล้วก็แผ่ไปตลอดเมือง แลโรคเหล่านี้มักจะเปนขึ้นในฤดูแล้ง เมื่อน้ำในลำแม่น้ำกร่อยไปมาก...
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2429 มิสเตอร์แกรซีกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความว่า
...ด้วยข้าพเจ้าได้ยินคนร้องมากต่อมากว่า น้ำกร่อยในลำแม่น้ำแลราษฎรที่ต้องใช้น้ำนั้นได้ความไข้ชั่วร้ายเปนอันมาก แลข้าพเจ้ามีความวิตกด้วยว่า ถ้าช้านานไป การที่จะต้องเซอเวที่ ถ้าไม่ได้เซอเว โดยก่อนรดูฝน แลน้ำได้ท่วมที่นั้นแล้ว ก็จะเปนการลำบากมาก ข้าพเจ้าจึงขอเสดจได้โปรดกำหนดเวลาวันหนึ่งตามที่เสดจเหนสมควร จะได้นำเรื่อง...ไปถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม...
คำแปล หนังสือของมิสเตอร์แกรซี
เดือนเอปริล คฤษตศักราช 1886
...ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลด้วยการสำคัญใหญ่อย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องในความเจริญผาศุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ในกรุงเทพฯ นี้ คือการที่จะจัดให้มีน้ำบริสุทใช้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเหนว่าเปนการสำคัญรีบร้อนใช่แต่ในประโยชน์กรุงเทพฯ แห่งเดียว แต่ทั่วไปในพระราช-อาณาเขตรซึ่งมีความเจริญโดยอาไศรยความเจริญแห่งกรุงเทพฯ
เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้ตริตรองในความเรื่องนี้แล้ว ก็ได้ปฤกษา ดอกเตอวิลิศ ขอความเห็นดอกเตอร์วิลิศจึ่งได้เขียนหนังสือชี้แจงความเหนมาตามที่ข้าพระพุทธเจ้าคัดสำเนาถวายมาด้วยนี้ แลตามความเหนดอกเตอวิลิศ แลการที่ได้ชัณสูตรน้ำก็ปรากฎชัดว่าน้ำที่ใช้ในกรุงเทพนี้เปนที่น่ากลัวจะเปนอันตรายแก่ความเจริญแห่งราษฎร แลเปนที่ให้บังเกิดโรคไภย...
…เหนว่าในกรุงเทพฯ
นี้ไม่ควรจะทำให้เปนการใหญ่ที่จะลงทุนมากไป...ควรจะขุดเป็นคลองน้ำใส
สำหรับใช้การสิ่งนี้อย่างเดียว คลองนั้น ควรจะขุดมาถึงตำบลแห่งหนึ่งแห่งใด
ที่ดินไม่เคมแลไม่มีของโสโครก แลในที่นั้นให้ทำเป็นสระใหญ่
แลมีเครื่องกรองให้ใสบริสุทธิ์ แล้วให้มีเครื่องสูบน้ำเข้าไปในท่อทำด้วยอิฐปูน
ให้สูงพ้นน้ำขึ้นท่วมได้ ท่อนั้นให้ไขน้ำเข้ามาในกรุงเทพฯ แลที่นั้น ให้ทำสระน้ำใหญ่
ขังน้ำนั้นไว้ แล้วมีเครื่องสูบขึ้นไว้ในถังสูงพอ
496 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เจ้าพนักงานการประปา ไม่ทราบปีที่ถ่ายภาพ
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สมควรที่จะให้น้ำเดินตามท่อทั่วไป แลขึ้นถึงหลังคาตึกที่สูง ถังนั้นให้แบ่งเปนสองส่วนก็ได้ ส่วนหนึ่งให้ใส่น้ำสะอาด ส่วนหนึ่งใส่น้ำสำหรับใช้รดถนน ดับไฟ ล้างบ้านและทำการอื่น ๆ...
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ มีหนังสือกราบบังคมทูล ความว่า มิสเตอร์แกรซีคิดจะขอพระราชทานพระราชานุญาตที่คิดจะทำการสูบน้ำให้คนใช้น้ำใสสะอาด พร้อมแนบหนังสือสัญญาข้อตกลงมา ชื่อ “เมมโมเรนดัม ขอพระบรมราชานุญาตขุดสระแลคลองขังน้ำ” คล้ายกับที่พระยาโชฎึกทำอยู่แต่ไม่ได้ผล ทรงถวายความเห็นว่า การเรื่องน้ำใสสะอาดเป็นเรื่องที่ดีของบ้านเมืองอย่างสำคัญนัก เมื่อทรงพระกรุณาโปรดประการใด จะได้ดำเนินการตามกระแสพระราชดำริให้ตลอด
การใช้น้ำสะอาดในการบริโภคของประชาชน สมัยนี้เรียกว่า “น้ำบริสุทธิ์” เป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันโรคระบาดและใช้ในงานต่าง ๆ ของโรงพยาบาลแบบตะวันตก การจัดให้มีระบบทำให้น้ำสะอาดโดยการขุดคลองกักเก็บน้ำแยก ป้องกันการปนเปื้อนสิ่งสกปรก และมีระบบกรองน้ำ คือการผลิตน้ำประปาในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีของอังกฤษที่เข้ามาทางสิงคโปร์เช่นเดียวกับเรื่องไฟฟ้า มิสเตอร์แกรซีเป็นสถาปนิกหลวงคนสำคัญ และหมอวิลลิศแห่งสถานทูตอังกฤษถือเป็นบุคคลสำคัญที่เสนอแนะในการผลิตน้ำสะอาด รวมทั้งการเสนอให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลแบบตะวันตก
497 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2429 - 5 ปฏิรูปการคลัง จัดราชการพระคลังมหาสมบัติ
วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2429 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กราบบังคมทูลถวายรายงานจัดราชการพระคลังมหาสมบัติ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโร-ประการ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ถวายรายงาน รวมทั้งความเห็นของพระยาภาสกรวงศ์ เกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดราชการพระคลังมหาสมบัติ เป็นรายงานจัดราชการ 15 แผ่น และร่างพระราชบัญญัติ 9 แผ่น
2429 - 6 พระบรมราชโองการในการจัดน้ำแจกราษฎร
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2429 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี รับพระบรมราชโองการในการจัดน้ำแจกราษฎร เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ทำให้น้ำทะเลหนุนขึ้นมา เป็นผลให้น้ำกร่อย ไม่สามารถใช้บริโภคได้ จึงจัดคนตั้งเป็นกองตักน้ำ ไปตักน้ำที่นนทบุรี ใส่เรือน้ำได้มากกว่า 20 ลำ มาแจกจ่ายราษฎรที่ประสบปัญหากว่า 46 ตำบล
2429 - 7 สถาปนาพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
2429 - 8 พระราชทานสิ่งของและยาแก่กองทัพปราบฮ่อ
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2429 พระราชทานสิ่งของแก่กองทัพที่นำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม และกองทัพจมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ในการไปปราบฮ่อ โดยมีแนบบาญชีรายสิ่งของและยาที่พระราชทาน จำนวน 3 แผ่น
ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานลายพระราชหัตถเลขา ฉบับ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าปฤกษาพร้อมกันด้วยสิ่งของ คือ เสื้อผ้าแลยาสำหรับรักษาไข้เจ็บเปนต้น ซึ่งจะส่งขึ้นไปพระราชทานกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม และกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถ
(1) ว่าของที่ตระเตรียมขึ้นไปจะพออยู่เพียงเท่าใด จะควรต้องส่งเพิ่มเติมขึ้นไปอีกบ้างฤๅอย่างไร
(2) จะควรส่งเมื่อใด พาหนะที่จะขนส่งอย่างใด ให้ข้าพระพุทธเจ้าปฤกษากันคิดกะการให้ตลอดนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ประชุมปฤกษาพร้อมกัน เหนด้วยเกล้าฯ ว่า
...เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของออฟฟิเซอร์...
498 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ยารักษาไข้เจ็บ นั้นเปนของที่ต้องใช้เปนอันมากอยู่เสมอ แลได้ทราบเกล้าฯ ว่า ดูเหมือนที่ตระเตรียมขึ้นไปจะไม่ใคร่พอทั้ง 2 กอง จึงเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ยาบางอย่าง คือ ยาควินินอย่าง 1 ยาคลอรอดินอย่าง 1 ยาเมล็ดบันจุแก้ไข้ของหมอกาแวนอย่าง 1 ดีเกลืออย่าง 1 เหล่านี้เปนของสำคัญควรจะต้องส่งขึ้นไป แต่ประมาณยาที่จะต้องส่งอย่างละมากน้อยเท่าใดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้หมอเกาแวนคิดกะที่จะใช้ให้พอในคน 4000 คน ตลอด 6 เดือน แจ้งอยู่ในบัญชีที่กะนั้นแล้ว เกลือ นั้นข้าพระพุทธเจ้าพระยาศรีสิงหเทพ ทราบเกล้าฯ ว่ายังมีอยู่ที่เมืองพิไชย เมืองพิศณุโลกย์มาก เหนพอจะจ่ายใช้ในราชการได้
...ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า ถ้าจัดการเช่นนี้ พระราช-ประสงค์ที่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของแลยารักษาไข้ให้เปนกำลังราชการ แก่ผู้ไปราชการทัพในทางกันดานทั้ง 2 กอง คงจะสำเร็จตลอดไปได้ทุกประการ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า
อดิศรอุดมเดช
ดำรงราชานุภาพ
นริศรานุวัตติวงศ์
พระยาศรีสิงหเทพ
หลวงนายสิทธิ
หมายเหตุ
การพระราชทานยารักษาโรค เสื้อผ้า สิ่งของแก่กองทัพทหารปราบฮ่อในครั้งนี้ ได้กลายเป็นรูปแบบการดำเนินการของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามตลอดสมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบในหนังสือกราบบังคมทูลของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) (วันก่อตั้งสภากาชาดไทย) ความว่า “แต่เมื่อยังไม่ถึงการสงคราม จะยังไม่เปนการจำเปนต้องออกเงินจ้างคน ส่งแต่เพียงยาแลผ้าซึ่ง เคยได้ทำมาครั้งทัพฮ่อ แต่ก่อนก็เห็นจะพอ”
2429 - 9 ปฏิรูปกฎหมายศาล “พระราชบัญญัติสำหรับศาลยุติธรรม”
วันที่ 24
พฤษภาคม พ.ศ. 2429
พระยาศรีสุนทรโวหารกราบบังคมทูลเรื่องการพิมพ์พระกระแสพระบรมราชโองการ
ซึ่งให้กอมมิตตีตรวจตราข้อพระราชบัญญัติสำหรับศาลยุติธรรม
กับหนังสือพระราชบัญญัติทั้ง 4 ลักษณะ แจกส่งไปยังพระบรมวงศานุวงษ 18 พระองค์
ข้าราชการ 51 นาย รวม 69 และเชิญประชุมพร้อมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.
2429 “...จึ่งตกลงพร้อมกันว่า
การเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ศุขทุกข์แลความเจริญพินาศของราษฎรซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตร
ย่อมอาไศรยในการเรื่องนี้เปนต้นเหตุที่จะให้เปนผลดีฤๅชั่วสืบไป...”
499 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2429 - 10 หมอแมคฟาร์แลนด์ กรมทหารมหาดเล็ก แผนกการโรงเรียน ขอขึ้นเงินเดือน
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2429 หมอเอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ (Samuel Gamble McFarland) กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก ความย่อว่า ได้รับราชการในรัฐบาลสยามมา 8 ปีเต็มแล้ว ขอขึ้นเงินเดือน และขอเงินค่าจ้างแปลหนังสือเรื่องวิทยาการต่าง ๆ ที่หมอแมคฟาร์แลนด์ไปจัดการว่าคนอื่นจ้างให้แปลอีกที เพราะหนังสือแปลทั้งหมดทำเสร็จแล้ว
วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2429 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือกราบบังคมทูล ความว่า หมอแมคฟาร์แลนด์ขอขึ้นเงินเดือน จากปีละ 60 ชั่งเป็นปีละ 100 ชั่ง โดยทรงเห็นว่าหมอแมคฟาร์แลนด์มีคุณวิเศษกว่าผู้อื่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ การแปลหนังสือได้ อาศัยใช้แปลตำราเรียนอยู่เสมอ
หมายเหตุ
ศาสนาจารย์เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ (Samuel Gamble McFarland) มิชชันนารีในคณะเพรสไบทีเรียน เดินทางมาถึงสยามในปี พ.ศ. 2403 ดำเนินการเผยแพร่ศาสนาโดยใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีถึง 17 ปี และใช้เวลาในการศึกษาภาษาไทย จนสามารถจัดทำพจนานุกรมขึ้นเองได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2408 English and Siamese Vocabulary ฉบับพิมพ์ครั้งแรกได้บรรจุคำเอาไว้จำนวน 7,500 คำ โดยท่านได้จัดพิมพ์ขึ้นเองที่โรงพิมพ์ของท่านที่จังหวัดเพชรบุรี และตั้งโรงเรียนขึ้นด้วย ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้มาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ “โรงเรียนสวนอนันต์” ณ สวนนันทอุทยานฝั่งธนบุรี ที่ทางรัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2421 ท่านเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2440 ท่านเป็นบิดาของพระอาจวิทยาคม หรือนายแพทย์ยอร์ช แมคฟาร์แลนด์
ศาสนาจารย์เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์
2429 - 11 ปฏิรูปการปกครอง กรมพระนครบาล
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2429 ประกาศเปลี่ยนอธิบดีกรมพระนครบาล
...ในเวลานี้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิซึ่งเปนผู้บังคับการกรมพระนครบาล จัดการปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่สงบเรียบร้อย... จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิออกจากตำแหน่งผู้บังคับการกรมพระนครบาล...ทรงพระราชดำริห์ว่าเวลานี้ กำลังคิดที่จะจัดการศาลสถิตยยุติธรรมอยู่ ครั้นจะตั้งตำแหน่งขึ้นตามเดิม ก็จะเปนที่จัดการภายหลังยาก ด้วยถ้อยความจะเกี่ยวพันธกัน แลเวลานี้ ความในกรม
500 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระนครบาลก็ได้ยกเข้ามาชำระในพระบรมมหาราชวังรวมกับกรมพระตำรวจ ซึ่งเปนกองจับโจรผู้ร้ายมาชำระ...จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ 1 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองคเจ้าสวัสดิโสภณ 1 พระยาเทพประชุน ผู้ว่าที่เกษตราธิบดี 1 พระยาธรรมสารนิติวิชิตรภักดี 1 ทั้งสี่นี้เปนผู้มีอำนาจปฤกษาพร้อมกันบังคับการสิทธิขาด ในตำแหน่งที่เสนาบดีกรมพระนครบาล...ถ้าผู้ใดมีความเกี่ยวข้องในตำแหน่งกรมพระนครบาลนั้นก็ให้ไปแจ้งความต่อกอมมิตตีทั้งสี่ ซึ่งกล่าวมาแล้วทุกประการ...
2429 - 12 หนังสือกราบบังคมทูลเรื่องการฝึกหัดวิชาหมอของหมอวิลลิศ
ต้นกำเนิด “การแพทย์แผนปัจจุบัน”
ฉบับที่สอง
วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2429 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลเรื่องการฝึกหัดวิชาหมอของหมอวิลลิศ ดังนี้
...ด้วยหมอวิลเลียม วิลลิศ ซึ่งเป็น หมอรับราชการ ณ สำนักราชทูตอังกฤษ ขึ้นมาหาข้าพระพุทธเจ้า แล้วมอบจดหมายขอให้ข้าพระพุทธเจ้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฉบับ 1 ใจความว่า หมอวิลลิศจะยอมรับฝึกสอนผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเคาเวอนเมนต์สยามจะจัดให้เล่าเรียนวิชาหมอให้ชำนิชำนาญ...(ต้นฉบับเลือน)... พระราชทานเป็นเงินเดือนค่าฝึกสอนตามสมควร เนื้อความแจ้งอยู่ในต้นจดหมายของหมอวิลลิศซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอดผนึกทูลเกล้าฯ ถวายแล้วนั้น
การเรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า
ซึ่งจะได้ฝึกหัดให้ไทยชำนิชำนาญวิชาหมอฝรั่งนั้น เป็นการประกอบด้วยประโยชนเป็นอันมากโดยไม่ต้องสงไสยเลย
เว้นแต่จะฝึกหัดตามเช่นหมอวิลลิศรับนี้ ฤๅจะฝึกหัดได้ด้วยอย่างอื่นประการใดนั้น
ไม่เป็นกำหนด สักแต่ว่าได้ฝึกหัดแล้วคงเป็นคุณอย่างยิ่ง...
501 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
502 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หนังสือกราบบังคมทูลของหมอวิลเลียม วิลลิศ
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มร 5 นก/77
503 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
จดหมายแนบ - หมอวิลเลียม วิลลิศ
16 December 1886
For many reasons it appears to the under signed desirable that His Majesty’s Government should afford facilities to the young Doctors of Siam to gain an insight into the essentials of modern Medical and Surgical Science.
Everyone knows that competent surgeons form an indis-pensable element of a really efficient Army or Navy.
In these days of machinery and traveling by stream everyone from high to low is liable to accident, and life or limb may depend upon the surgical and medical skill available.
Of a truth it may be said that the more a Country advances in knowledge and civilization the more need is there for carefully trained Surgeons and Physicians.
Young men of this country about the age twenty, and as far as possible with some knowledge of English should be induced to undertake the study of modern Surgical and Medical Science in the hope of future has usable and profitable employment in the service of their Country.
The undersigned begs to offer his services as a Teacher of Medical and Surgical Science at a salary of Two hundred Dollars a month.
He would give instruction for two hours daily. He is object would be to impart as much practical knowledge as possible and his pupils useful doctors with all possible speed.
Should the Siamese Authorities see fit to gage the services of the Undersigned as a Fear of Medical and Surgical Science, it would be of to them at anytime to discontinue the services, the undersigned by giving him three months’ notice of their intention to annual his engagement.
All questions of detail such as the number of Pupils, the place of instruction, the most suitable hours for tuition could be discussed and arranged.
The Undersigned
begs to say that he had an extensive
504 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
experience as a teacher of medical and surgical science, and that he possesses the highest qualifications in the different Department of his Profession.
(Signed) William Willis
Doctor of Medicine of the University of Edinburgh
Fellow of the Royal College of Surgeons of England
Member of the Royal College of Physicians of London
Licentiable of the Society of Apothecaries of London
Licentiable in Midwifery, Rotunda Dublin
พ.ศ.
2430
2430 - 1 “สำเนาความที่จะจัดการทหาร” และ “รายงานจัดการแก้ไขการทหาร”
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัตติวงศ์ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และหลวงประสิทธิ ได้เข้าชื่อกันถวายหนังสือกราบบังคมทูลเรื่องแก้ไขการจัดการทหารให้เป็นแบบแผนตามแบบประเทศอื่น โดยทูลเกล้าฯ ถวาย “สำเนาความที่จะจัดการทหาร” ยาว 5 หน้า ว่าด้วยโครงสร้างกรมทหารแบบตะวันตก ชื่อตำแหน่งยศทหารเป็นภาษาอังกฤษและวิธีการแบ่งโครงสร้างข้าราชการเป็นแบบตะวันตก “สำเนาความที่จะจัดการทหาร” เป็นเอกสารหนึ่งในการจัดตั้งกรมยุทธนาธิการ
...ตั้งแต่กรมทหารทั้งปวงประนีประนอมพร้อมใจกัน จัดการประชุมสโมสรสันนิบาตใหญ่ที่โรงทหารน่า เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นการสำเร็จเรียบร้อยได้ดังประสงค์ เพราะความพร้อมเพรียงกันครั้งนั้นมา เป็นเหตุให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงชื่นชมยินดี แลมั่นหมายใจว่า เพราะอานุภาพพระบารมีเป็นเหตุให้กรมทหารทั้งปวงปรองดองกันได้ฉนี้แล้ว แต่นี้ไปราชการทหารซึ่งได้ร่วงโรยแลขัดข้องมา เพราะเหตุที่เสื่อมความสามัคคีต่อกันเป็นต้นนั้น คงจะกลับเรียบร้อยด้วยความปรองดอง...
ความขัดข้องฤๅความไม่เจริญของราชการทหาร ดั่งได้เป็นมาแล้วช้านาน...ในชั้นต้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศ กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความเสื่อมเสียของราชการทหารที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ก่อน
ราชการทหารอย่างเช่นเป็นอยู่ในเวลานี้
ถ้ากำหนดโดยเป็นกำลังของประเทศก็เห็นได้ว่าอ่อนแอมาก ไม่พอทั้งที่จะรับรองต่อสู้ฤๅกระทำการรบ
505 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พุ่งกับราชศัตรู...ความอ่อนแอซึ่งเป็นข้อสำคัญนั้น คือที่ไม่มีขนบธรรมเนียมอันเป็นหลักถานที่จะบังคับบัญชาการทหารเท่านี้เป็นต้นเค้าของความเสื่อมเสียอ่อนแอทั้งปวงที่เป็นมา จนถึงทหารฝึกหัดวิธีรบพุ่งก็เป็นกรมละอย่างกัน ๆ เข้ากันไม่ได้ กฎหมายธรรมเนียมที่บังคับบัญชาก็เป็นกรมละอย่างกัน ๆ เข้าใจกันไม่ได้ ผู้บังคับการกรมทหารต่างกรมต่างก็คิดอ่านจัดการในกรมนั้นตามที่ตนเห็นชอบเห็นควรอย่างไร จนแตกร้าวไม่ปรองดองกันได้...ความเสื่อมเสียนอกไปจากเหล่านี้ยังมีอีกหลายประการ แม้จะพรรณนาก็คงจะยืดยาวเหลือเกิน...
การซึ่งจะจัดทหารให้เรียบร้อยต้องตามแบบแผนอันสมควรนั้น เป็นความแน่แท้ที่จะสำเร็จโดยพลันไม่ได้ เพราะวิชาแลแบบแผนการทหาร ซึ่งประเทศอื่นได้ตั้งขึ้นไว้แล้วเป็นเอนกประการ ต้องอาไศรยจัดการเป็นส่วน ๆ ควรแก่ท่ามกลาง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ อย่างนี้ว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง จึงได้ปฤกษากันเรียบเรียงข้อความซึ่งสมควรจะจัดการทหารต่อไปอย่างไร ตามความเห็นซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเห็นชอบตกลงพร้อมกันขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศนำขึ้นทูลเกล้าถวาย แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประการใด...
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2430 พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกราบบังคมทูลถวายรายงานจัดการทหารเพิ่มเติมอีก 4 หน้า เพื่อกำหนดตำแหน่งและหน้าที่ต่าง ๆ ของคอมมานอินชีฟและเยเนราลสตาฟ โดยจัดการทหารบกให้เรียบร้อยและเป็นแบบอย่างขึ้นก่อน
2430 - 2 รายงานกิจการโรงพยาบาลมิชชันนารี เมืองเพชรบุรี
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 คณะมิชชันนารีอเมริกันมีหนังสือกราบทูลรายงานกิจการโรงพยาบาลมิชชันนารี เมืองเพชรบุรี ดังนี้
ข้าพเจ้าพวกหมออะเมริกันที่มาอาไศรยอยู่
ณ เมืองเพชรบุรี ขอคำนับแจ้งความมายังพระองค์เจ้า กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ทรงทราบ
แลขอโปรดช่วยนำหนังสือนี้กราบถวายบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบด้วยว่า
พวกครูอะเมริกันที่มาอาไศรยอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี ได้สร้าง ตึกยา ไว้สำหรับรักษาโรคต่างต่างแห่งชาวราษฎรทั้งหลาย
แลมีหมอยามาแต่อะเมริกามาอยู่ดูแลการนี้ฯ เมื่อปีกลาย คฤษตกศักราช 1886 (พ.ศ. 2429) นับคนเจ็บที่มาหาให้รักษาได้
2396 คน เปนผู้หญิง 678 คน เปนผู้ชาย 806 คน เปนจีน 374 คน เปนลาว 106 คน เปนพระ
140 รูป เปนกะเหรี่ยง 18 คน ที่บาดแผลถูกปืนถูกฟัน ต้องผ่าแลไม่ต้องผ่า
ลางที่มีแขนขาหักเปน 119 คน ปลูกฝีเด็ก 500 คน ไปรักษาเขาที่บ้าน 134 คน
ที่มารักษาตัวแล
506 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
รับประทานอยู่ที่ตึกยา 21 คน ให้ยาไป 2885 คน ไปเยี่ยมไข้ 607 หน แต่ที่ได้ไปเยี่ยมฤๅที่เขามาอยู่ที่ตึกก็มิได้เอาค่ารักษา ที่เปนคนมีก็เอาค่ายาแต่ทุน ถ้าจนก็ไม่เอาค่ายา...พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี...(เอกสารชำรุด)...เรี่ยไรในการนี้ รวมเปนเงินเก้าชั่ง แลเงินนี้ได้ส่งไปซื้อยาเมืองนอกมาไว้สำหรับตึกยา แลพวกหมอได้มีความขอบใจที่ท่านทั้งหลายได้ใส่ในการนี้ พวกหมอเหนว่า ในปีนี้การนี้ได้จำเริญ และมีคนมาอาไศรยอยู่ที่ตึกยามากกว่าแต่ก่อน จึ่งคิดว่าควรจะสร้างตึกยาให้ใหญ่กว่าเก่า เพื่อจะสมแก่การ อนึ่งหมอยาได้แปลตำรา...อังกฤษออกไว้ แลได้เลือกคนไว้ให้เรียน...
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมไพโรจน์ จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 ซึ่งในการนี้ มีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีและหมอที่เพชรบุรีเข้าเฝ้า... มิสเตอร์กันลับ มิศเตอกุเปอ มิศเตอทอมซัน หมออีเดิน เข้าเฝ้าทูลลองธุลีพระบาท...เรื่องตั้งโรงสอนหนังสือแล โรงรักษาคนไข้...
2430 - 3 ส่งข้าหลวงไปในการเอกษหิบิเชน เมืองฮานอย
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2430 ด้วยซาเยเดอแฟ ทูตฝรั่งเศสในกรุงสยามแจ้งความต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศว่า ฝรั่งเศสจะมีการเอกษหิบิเชนในเมืองฮานอย... จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระชลธารพินิจจัย ขุนประชาบดีกิจ เป็นข้าหลวงไปช่วยการเอกษหิบิเชนเมืองฮานอย เมื่อวันพุธ แรม 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน (ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2430) มีบันทึกว่า...ไปดูงาน โรงทหาร โรงปืนใหญ่...โรงหมอมีคนป่วยอยู่มาก ที่โรงหมอมีสวนแลถนนเปนที่สบาย...
หนังสือกราบบังคมทูลของพระชลธารพินิจจัย ขุนประชาบดีกิจ กล่าวว่า...ที่เชิงเขาด้านตะวันตก (เมืองแบดนิน) ทำเปนฮอสปิเตลสำหรับรักษาทหารที่ป่วยไข้ มีทหารฝรั่งเศส ทหารญวน ซึ่งป่วยอยู่ในโรงหมอนั้น 200 คน รอบด้านมีบ้านเรือนราษฎรอยู่ประมาณ 500 เรือน...
2430 - 4 ตั้งกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2430 และ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชหัตถเลขา ร. ที่ 1061/48 เมื่อ ณ วันอังคาร แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 และ ร. ที่ 1/49 เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนยังเป็นอัฐศก ให้จัดตั้งกอมมิตตีจัดการตั้งโรงพยาบาลให้มีขึ้นสำหรับพระนคร ตามกระแสพระราชดำริโดยตรง
วันที่ 22 มีนาคม
พ.ศ. 2430
มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“ว่าด้วยกอมมิตีผู้จัดการโรงพยาบาล” ดังความต่อไปนี้
507 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาแด่อาณาประชาราษฎร ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักร แลชนที่ได้เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่ในสยามประเทศ พระองค์ได้ทรงพระราชดำริหที่จะแก้อันตรายอันใหญ่ยิ่งของชนทั้งปวง คือ พยาธิ แห่งคนจนอนาถาหาญาติที่จะอุปการะมิได้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาล มีหมอผู้ชำนาญในการโรค แลผู้พยาบาลแลอาหารเลี้ยงแก่คนที่ป่วยไข้นั้นมาช้านานแล้ว แต่พระราชกิจจานุกิจอื่น ๆ มีมาก การจึ่งมิได้จัดตั้งขึ้น แต่ถึงดังนั้นก็ได้ทรงพระราชดำริหในการเรื่องนี้เสมอ บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการ ผู้ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นกอมมิตตีผู้จัดการโรงพยาบาลรักษาคนป่วยไข้ ให้เปนทานแก่อาณาประชาราษฎร ไม่เลือกว่าผู้ใดจะรักษาโรคให้ทั่วกัน ผู้ที่ได้รับพระบรม-ราชานุญาตให้เปนกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล คือ
1) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ
2) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
3) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
4) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
5) พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
6) พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์
7) พระยาโชฎึกราชเศรษฐี
8) หลวงสิทธินายเวร
9) ดอกเตอร์ปีเตอร์ กาแวน
พระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ ณ วันที่ 3 เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 เปนวันที่ 6706 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วนี้
ได้ประชุมกันในพระบรม-มหาราชวัง คิดการที่จะได้จัดการโรงพยาบาลนี้
ตกลงเปนจะตั้งขึ้นในฝั่งตวันตกลำน้ำที่วังกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง
คือวังหลัง เพราะในที่นั้น เวลาบัดนี้ก็เปนที่รกร้างว่างเปล่า
แลเป็นที่อุดมด้วยต้นไม้ที่อาไศรยร่มเยน
และสรรพ์ทั้งปวงสมควรที่จะเป็นที่ป้องกันความไข้เจบ แลเป็นที่สุขสบายของคนป่วยไข้ได้
การที่จะจัดทำนั้น บัดนี้ได้ลงมือถากถางร้างอยู่แล้ว การที่จะเปิดรับคนป่วยไข้
คงจะได้เปิดในปีกุนนพศกนี้
508 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
509 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
510 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 5 ประชุมกอมมิตตีจัดการโรงพยาธิบาล ครั้งที่ 1 30 มีนาคม พ.ศ.
2430
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีจัดการโรงพยาธิบาล ประชุม ครั้งที่ 1 ดังรายงานต่อไปนี้
April, 87
263 ร. ที่ 110 ไม่ต้องตอบ
รายงานการประชุม ครั้งที่ 1
ผู้ของกอมมิตตี จัดการโรงพยาธิบาล เมื่อ ณ วัน 4 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีกุญยังเป็นอัฐศก จุลศักราช 1248 - 9 เวลาบ่าย 4 โมง จน 5 โมง 45 มินิต เลิก
ผู้ซึ่งมาประชุม
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ 1
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 1
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 1
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงษ์ 1
พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ 1
พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ 1
พระยาโชฎึกราชเสรฐี 1
หลวงสิทธิ์ นายเวน 1
หมอเกาแวน 1
ข้อความซึ่งได้กล่าวในที่ประชุม
ที่ 1
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เห็นสมควรที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ
จะเป็นแชแมนของกอมมิตตี
หลวงนายสิทธิ์รับรอง ตกลงพร้อมกัน
ที่ 2
ประเทศตำบลใดสมควรจะตั้งโรงพยาธิบาลใหญ่
ตกลงพร้อมกันว่า ที่วังหลังเปนดีกว่าที่อื่น แต่ที่วังหลังอยู่ห่างตลิ่ง มีบ้านเรือนตั้งปิดหมด จะต้องจัดซื้อที่ราษฎรตามลำน้ำยาวสักเส้นหนึ่ง พอทำท่าขึ้นที่โรงพยาธิบาล แต่ข้อที่จะซื้อที่นี้ตกลงจะรอไว้กำหนดแน่ ต่อเมื่อได้เห็นแผนที่ ซึ่งพนักงานกำลังทำอยู่นั้นแล้วมา
ที่ 3
โรงพยาธิบาลที่จะตั้งขึ้นนี้ ควรรักษาให้เป็นทานต่อไป ฤาควรจะเรียกค่ารักษาพยาบาล
หมอเกาแวนเห็นว่า
ควรรักษาให้เป็นทานทั่วไป พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ทรงรับรอง
แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า คนไข้มาอยู่รักษา คงต้องกินอาหารที่โรงพยาธิบาล
เพราะเหตุนั้น ถ้าคนใดภอเสียให้ได้ ควรจะเรียกบ้างตามสมควร ข้อนี้กอมมิตตีไม่เห็นด้วยหลายคน
เพราะเหตุว่า
511 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ถ้าจะเลือกเรียกบ้างไม่เรียกบ้างเช่นนั้น ยากที่จะกำหนดว่าคนใดควรเสียฤๅไม่ ฤๅควรเสียมากเสียน้อย ฤๅไม่ต้องเสียอย่างใด คงจะเกิดความลำบากยุ่งยากเปนมั่นคง อีกประการหนึ่ง ถ้ากิตติศรับท์ปรากฎว่าโรงพยาธิบาลเรียกเงินค่ารักษาพยาบาล จะชักให้ราษฎรครั่นคร้ามแลเข้าใจผิดไป น่าที่จะไม่ใคร่มีผู้นิยมยินดี หมอเกาแวนจึ่งว่า ควรจัดเป็นการรักษาให้ทาน แต่ให้มีหีบเรี่ยรายตั้งไว้ในโรงพยาธิบาลแห่งหนึ่ง สำหรับผู้ซึ่งจะศรัทธาช่วยเหลือบ้างตามชอบใจ ไม่เป็นการกะเกณฑ์เลย ถ้าผู้ใดที่เขามีพอจะเสียได้บ้าง เขาก็จะเห็นจะมีแก่ใจเข้าเรี่ยรายบ้างอยู่เอง ถึงเขาจะไม่ช่วยเลย ก็ช่างเขา ไม่ควรจะให้เป็นการกะเกณฑ์เป็นอันขาด อย่างนี้ตกลงเห็นชอบพร้อมกัน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขอถอนคำที่กล่าวไว้ ยอมให้หมอเกาแวนเป็นถูก
ที่ 4
เงินที่สำหรับจะใช้ตั้งต้นจัดการโรงพยาธิบาลจะได้มาจากไหน
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเห็นว่า เงินสำหรับซื้อสิ่งของเพิ่มเติมในหอมิวเซียมเบิกอยู่เดือนละ 10 ชั่งเสมอ เงินรายนี้ไม่ได้จ่ายใช้ซื้อของเพิ่มเติมมิวเซียมมานานแล้ว เป็นแต่เอาไปจ่ายขาดรองราชการต่าง ๆ บ้าง จ่ายขาดตัวในราชการต่าง ๆ บ้าง มีจำนวนอยู่ในบาญชีโดยเลอียด เงินซึ่งเอาไปจ่ายขาดรองราชการนั้น ก็จัดว่ามีตัวเงินอยู่ เพราะถ้าฎีกาตกเมื่อใด ก็คงจะได้ตัวเงินคืนมา คิดรวบรวมดูตัวเงินมิวเซียมที่จะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 ชั่ง ฤๅ 150 ชั่ง แลเงินซึ่งจะเบิกเดือนละ 10 ชั่งนั้นอีก เห็นว่าควรระงับการหาของเพิ่มเติมเข้ามิวเซียมเสียสักคราวหนึ่ง
ขอรับพระราชทานยกเงินมิวเซียมซึ่งมีอยู่
100 ชั่ง ฤๅ 150 ชั่งนั้นไปเปนทุนลงมือสร้างโรงพยาธิบาลในคราวแรก แลเงินเดือนละ 10
ชั่งนั้น ก็ย้ายไปเปนเงินค่าใช้สอยของการโรงพยาธิบาล
อย่างนี้เห็นว่าดีกว่าอย่างอื่น ที่เงินแผ่นดินก็จะยังไม่ต้องเบิกเพิ่มเติม
การก็พอจะให้ทำขึ้นได้ ตกลงเห็นชอบพร้อมกันอย่างนี้ แต่กลัวว่าที่จะใช้เดือนละ 10
ชั่ง ถ้ารวมทั้งเงินเดือนแลคนพยาบาลด้วยจะไม่พอ ตั้งแต่แรก ๆ ตั้งเช่นนั้น
โต้ตอบกันนาน จึ่งตกลงชั้นหนึ่งว่า เมื่อโรงพยาธิบาลตั้งขึ้นเช่นนี้
ทหารซึ่งป่วยเจ็บคงจะส่งไปรักษาที่โรงพยาธิบาลทุกคน เมื่อเป็นเช่นนั้น
ค่ายาที่เบิกรักษาทหารอยู่ตามกรมแลเงินเดือนหมอทหาร ค่าการรักษาพยาบาลทหารต่าง ๆ
คงลดลงได้ ถ้าคิดรวมจำนวนเงินที่ลดลงเหล่านี้
ไปเพิ่มที่โรงพยาธิบาลจะพอคุ้มดอกกระมัง ความข้อนี้เห็นพร้อมกันว่า
เงินที่จะลดได้ในกรมทหารจะประมาณว่ามากน้อยเท่าใดในเวลานี้ก็ยังไม่ได้
เมื่อประมาณยังไม่ได้ ก็จะกำหนดเงินเพิ่มทางโน้นยังไม่ได้ เพราะฉนั้น ควรเอา
เปนตกลงไว้ก่อนว่าจะใช้เดือนละ 10 ชั่ง ถ้าไม่พอจึ่งจะคิดอ่านต่อไป
512 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ที่
5 จะควรลงมือทำโรงพยาธิบาลอย่างไรก่อน
เห็นพร้อมกันว่า ควรจะทำอย่างถูก ๆ คือ ทำเปนเรือนหลังคาจาก ฝาไม้ไผ่ สัก 2 - 3 หลัง พอจับตั้งเป็นเค้าโรงพยาธิบาลไปก่อน เมื่อการเจริญขึ้น เห็นว่าจะตั้งเปนการใหญ่ได้แน่แล้วเมื่อใด จึ่งค่อยคิดอ่านทำตึกแลการอื่น ๆ เต็มที่ การปลูกสร้างที่ควรจะทำในชั้นต้นนั้น คือ รั้วรอบบริเวณ อย่าง 1
โรงคนไข้ผู้ชาย สำหรับไข้ติดกันได้ หลัง 1 ไข้ไม่ติดกัน หลัง 1
โรงคนไข้ผู้หญิง สำหรับไข้ติดกันได้ หลัง 1 ไข้ไม่ติดกัน หลัง 1
เรือน 2 ชั้น ๆ บนสำหรับหมออยู่ ชั้นล่างเป็นที่ประสมยาแลตรวจคนไข้ หลัง 1
เรือนคนพยาบาล หลัง 1
เว็จ หลัง 1 โรงไว้ศพแลผ่าศพ หลัง 1
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับคิดตัวอย่างวางแผนที่ แลประมาณราคาเรือนโรงแลการก่อสร้างนี้ให้ทันคอมมิตตีตรวจในคราวประชุมน่า
ที่ 6 คอมมิตตีจะประชุมกันเมื่อใดอีก
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ขอให้ประชุม วัน 6 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุญยังเป็นอัฐศก เวลาบ่าย 4 โมง จริง ๆ คอมมิตตีตกลงแลยอมรับสัญญาที่จะมา 4 โมงจริง ๆ ด้วยกันทุกคน แต่พระยาโชฎึกราชเสรฐีขอลาว่าจะออกไปราชการเมืองสมุทรสาคร จะมาประชุมในคราว วัน 6 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 นั้นไม่ได้
หมดข้อความที่ได้ประชุมครั้งที่ 1
เลิกประชุมเวลา บ่าย 5 โมง 45 มินิต
ศิริธัชสังกาศ
ดำรงราชานุภาพ
ศรีเสาวภางค์
วัฒนานุวงษ์
สายสนิทวงษ์
ปฤษฎางค์
พระยาโชฎึกราชเสรฐี
หลวงนายสิทธิ์
หมอเกาแวน
513 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 6 ประชุมกอมมิตตีจัดการโรงพยาธิบาล ครั้งที่ 2
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2430 มีการประชุมคณะกอมมิตตีจัดการโรงพยาธิบาล ดังปรากฏรายงานประชุม ณ วันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนยังเป็นอัฐศก 1249 เนื้อหาการประชุมสรุปได้ดังนี้ (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับได้ในภาค 3)
ที่ 1 ...กรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้อ่านจดหมายข้อความของการประชุมวันที่ 1 เหนว่าถูกถ้วนพร้อมกันแล้ว กอมมิตตีเซนชื่อด้วยกันแล้วให้นำรายงานนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ที่ 2 ...กอมมิตตีสมมุติให้พระเจ้าน้องยาเธอศรีเสาวภางค์เปนสิเกตเตอรีของแชแมน...
ที่ 3 การสร้างโรงพยาธิบาลจะเปนการเหมา
ที่ 4 ...พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาถึงที่ประชุม นำแผนที่ตัวอย่างโรงพยาธิบาล...ได้ให้มิสเตอร์ครูนิตคิดประมาณราคาเรือนโรงพยาธิบาลซึ่งกะไว้ในแผนที่นั้น ประมาณสองร้อยสามสิบชั่ง พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ว่า เดิมจะทำการก่อสร้าง 2 ครั้ง คือ ชั้นต้นเป็นการทดลองทำโรงพยาธิบาลชั้นแรก เพื่อเป็นการทดลองชั้นหนึ่งก่อน เมื่อเห็นว่าตั้งติดแน่แล้ว จึงจะจัดให้เป็นการถาวรต่อไปนั้น พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เห็นว่า การโรงพยาธิบาลเป็นการสำคัญซึ่งจำเป็นจะต้องมีจงได้ จึงควรก่อสร้างในชั้นเดียวไป ไม่ต้องรื้อทิ้ง ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปแก้ไขแผนที่โรงพยาธิบาลให้บริบูรณ์ในคราวนี้ทีเดียว เมื่อแผนที่กะระยะที่จะปลูกอย่างไรตกลงแล้ว การชั้นต้นจะปลูกกี่หลังก่อนตรงไหนก่อนก็ปลูกลงตามแผนที่นั้น เมื่อการเจริญขึ้นก็ปลูกหลังอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป กอมมิตตีเห็นชอบตามความเห็นของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จึงให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ บุตรของมิสเตอร์ครูนิต และมิสเตอร์ฟรันโดไปช่วยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทำแผนที่ใหม่ รวม 3 คน
ที่ 5 ...พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์เห็นว่า ที่จะตั้งโรงพยาธิบาลนี้ก็เป็นการดีมีประโยชน์ตอนรักษาโรคอย่างเดียว เห็นควรว่าจะคิดการป้องกันโรคด้วยอีกส่วนหนึ่ง
...ตั้งธรรมเนียมตรวจหญิงหาเงิน
ถ้าคนใดเจ็บบังคับให้หยุดหาเงินรักษาตัวจนกว่าจะหายก่อนนี่อย่างหนึ่ง
ไข้ซึ่งไม่หายได้แลที่มักติดผู้อื่น คือ “โรคมะเรง แลกุดถัง”
เปนต้น
ซึ่งคนไข้เหล่านั้นมักเที่ยวพักอยู่ตามศาลเจ้าแลเที่ยวเดินพลุกพล่านอยู่ตามถนน
ควรจะมีที่รักษาคนไข้พวกนี้ด้วยอีกแห่งใดแห่งหนึ่ง
อย่าให้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับราษฎรทั้งปวงนี้อย่างหนึ่ง
บ้าเที่ยวเดินอยู่ตามถนนมักทำความอุจาดแลบางทีก็ทำอันตรายให้แก่ผู้อื่น เพราะไม่มีญาติพี่น้องฤๅเหลือกำลังญาติพี่น้องที่จะกักขังไว้ได้
พวกนี้ ควรมีโรงที่รักษาด้วยแห่งหนึ่ง กรมหมื่นดำรงราชานุภาพว่า
ความที่พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์กล่าวนี้เปนการชอบยิ่งนักทุกอย่าง
แต่เหนว่าการชั้นต้นที่จะปลูกสร้างตั้งโรงพยาธิบาลนั้นควรคิดก่อน การชั้นที่พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ว่านี้เปนการชั้นหลัง
ควรคิดตามต่อเนื่องเมื่อได้ทำชั้นที่หนึ่งตลอดแล้ว
ไม่เปนการควรคิดพร้อมกันในเวลานี้ กอมมิตตีเหนชอบ...กรมหมื่นดำรงราชานุภาพยื่นจำนวนเงินมิวเซียมซึ่งมีอยู่จะใช้มาเปนทุนตั้งการโรงพยาธิบาลได้นั้น
243 ชั่ง กำหนดประชุมที่ 3 ในวัน 7 แรม 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุญนพศก...
514 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 7 “พระราชบัญญัติสำหรับตั้งกรมทหาร จ.ศ. 1248”
เพื่อจัดตั้งกรมยุทธนาธิการ
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2430 พระราชบัญญัติสำหรับตั้งกรมทหาร จ.ศ. 1248 มีคำปรารภว่า
...ราชการทหารบกทหารเรือซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นแต่ก่อนแล้วนั้น ยังแยกย้ายกันอยู่เปนหลายหมู่หลายกรม ผู้ที่บังคับบัญชาการในกรมทหารต่าง ๆ นั้นก็ ต่างคนต่างจัดไป โดยน้ำใจของตนที่เหนว่าจะเปนคุณต่อราชการจริง แต่การที่จัดไปนั้นไม่ได้ปฤกษาหาฤๅกันทุกหมู่ทุกกรม ก็แปลกแตกต่างกันไป ไม่ลงเปนแบบแผนได้ เงินแผ่นดินที่ใช้ในการทหารต่าง ๆ นี้ จึ่งไม่มีกำหนดเปนอัตราแน่ได้...ใช่ว่าจะเปนแต่ใช้เงินทองอย่างเดียวเมื่อใด สรรพการฝึกหัดการบังคับบัญชาแลเครื่องสาตราวุธที่ใช้อยู่ก็ไม่ลงเปนแบบแผน การที่เปนอยู่ดังนี้ เปนที่น่ากลัวว่า ถ้ามีเหตุการที่จะต้องใช้กำลังทหารทั่วไปแล้ว จะเกิดเหตุยุ่งใหญ่ จะไม่เปนการดี มีแต่ความพินาศจะพึงเปนมา การที่เปนอยู่เช่นนี้ไม่สมควรจะเปนจะมีอยู่ในราชการบ้านเมืองที่นับว่าเปนเมืองเอกราชได้ ผิดจากธรรมเนียมที่ใช้ในทุกประเทศ...ควรจัดให้เปนแบบแผนสำหรับกรมทหารให้เรียบร้อยเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน...เหมือนอย่างประเทศที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขความเสียในทุกวันนี้ให้หมดสิ้นไป...
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหาร เมื่อวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนยังเป็นอัฐศก จุลศักราช 1248 ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2430 เพื่อปฏิรูปให้เป็นระบบจัดการแบบใหม่ โดยทรงรวมกรมทหารอย่างใหม่ต่าง ๆ ทหารบก 7 กรม (ข้อความในวงเล็บคือคำที่ใช้ในปัจจุบัน) ได้แก่
1. กรมทหารมหาดเล็ก
2. กรมทหารรักษาพระองค์ (กรมทหารบกราบที่ 2)
3. กรมทหารล้อมวัง (กรมทหารบกราบที่ 11)
4. กรมทหารหน้า (กรมทหารบกราบที่ 4)
5. กรมทหารฝีพาย (กรมทหารบกราบที่ 2)
6. กรมทหารปืนใหญ่ (กรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์)
7. กรมทหารช้าง (ปัจจุบันเลิกแล้ว)
และกรมทหารเรือ 2 กรม คือ
1. กรมทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี (คือกรมทหารปืนกลแคตเตอลิงในกรมแสงยกเลิกไปเป็นทหารเรือ)
2. กรมอรสุมพล
(กองเรือรบ) รวมขึ้นเป็น “กรมยุทธนาธิการ”
515 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
และรวมมหาดเล็กของฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) เข้ามาเป็นทหารในกรมยุทธนาธิการด้วย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็น “ผู้บังคับบัญชาการทั่วไป” เรียกภาษาอังกฤษว่า คอมมานเดอ อิน ชิฟ แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ จึงให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงษ์วรเดช รักษาราชการแทนไปก่อน และมี “ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาการทั่วไป” 4 ตำแหน่ง คือ
1) เจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยบัญชาการทหารบก (แอดชุแตนด์ เยนเนอราล)
2) เจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการใช้จ่าย (เปมาสเตอเยเนอราล)
3) เจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ (ควอดเตอมาสเตอเยเนราล)
4) เจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (สิเกรตารีตูธีเนวีฯ)
ในพระราชบัญญัติสำหรับตั้งกรมทหาร จ.ศ. 1248 มีการกำหนดตำแหน่งใหม่ เฉพาะระดับบัญชาการกลาง 5 ตำแหน่ง คือ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 1 ตำแหน่งและผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 4 ตำแหน่ง กฎหมายนี้ทำให้กำเนิดอำนาจบังคับบัญชาที่เป็นศูนย์กลางของกรมทหารที่จัดการแบบใหม่ 7 กรมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ส่วนตำแหน่งแพทย์ประจำกองทหารยังคงมีเฉพาะตำแหน่ง “แพทย์ประจำกองทหาร” คือ Surgeon (แพทย์ทหาร) และ Hospital Sergeant (นายสิบเอกพยาบาล) อยู่ในบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาของกองทหารนั้น ๆ
หมายเหตุ
“กรมยุทธนาธิการ” คือ กรมทหารบกทหารเรือที่จัดราชการแบบใหม่ตามระบบตะวันตก จัดเป็นกรมขนาดใหญ่เทียบเท่ากระทรวง ในขณะเดียวกัน กรมทหารอื่น ๆ ที่ยังคงเหลือทั้งหมดยังคงเป็นกรมทหารแบบเก่าในสังกัดกรมกลาโหมภายใต้กฎหมายตราสามดวง และอยู่ในบังคับบัญชาของสมุหพระกลาโหม ในระยะนี้ประเทศไทยจึงมีระบบราชการทหารซ้อนกัน 2 ระบบ คือ กรมทหารในระบบราชการแบบเก่า (กฎหมายตราสามดวง) คือ กรมกลาโหม พ.ศ. 2430 และกรมทหารในระบบราชการแบบใหม่ (แบบตะวันตก) คือ กรมยุทธนาธิการ พ.ศ. 2430
2430 - 8 ย้ายโรงทหารมหาดเล็กไปรวมที่ศาลายุทธนาธิการ
โรงทหารมหาดเล็กที่ตึกใหญ่คลังเชือกเก่าย้ายออกไป ส่วนหนึ่งไปรวมอยู่ที่ศาลายุทธนาธิการ อีกส่วนหนึ่งคือ กองกำลังรักษาพระองค์ ให้อยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ตึก 2 ชั้น ด้านทิศตะวันออก
2430 - 9 เสนอตั้ง “กรมศึกษาธิการ” เพื่อจัดการศึกษาแบบตะวันตกครั้งแรกของไทย
วันที่ 8 เมษายน
พ.ศ. 2430
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กรมทหารมหาดเล็ก มีหนังสือกราบบังคมทูล
ความว่า
516 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...การโรงเรียนทั้งปวง แต่แรกเมื่อทรงพระราชดำริห์ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดการขึ้นนั้น ต้องจัดการอาไศรยอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ต้องให้กรมทหารมหาดเล็กเบิกเงินให้ แลต้องใช้คนในกรมทหารมหาดเล็กมาเป็นพนักงานจัดการโรงเรียน จนอย่างที่สุด ถึงต้องขอแรงหม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ์ ในกรมทหารมหาดเล็ก 11 - 12 คน ไปเป็นนักเรียนตั้งเค้าของโรงเรียนสวนกุหลาบอยู่ช้านาน ถึงได้ถอนกลับมา...
โดยที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก็ค่อยคิดจัดการเล่าเรียนทั้งปวงให้เป็นไปในทางโดยลำพังของการนั้นขึ้นทุกที ๆ จนบัดนี้ การเล่าเรียนก็เป็นแพนกหนึ่งต่างหากจากราชการอื่น ๆ ทุกอย่างแล้ว เว้นแต่บางอย่างเหล่านี้ คือ ตำแหน่งขุนนางที่รับราชการอยู่ในออฟฟิศที่จัดการเล่าเรียน ยังต้องฝากสังกัด อยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก (คือ ขุนวรการโกศล เป็นต้นนั้น) บ้าง ต้องฝากไว้ในกรมอาลักษณ์ (คือขุนวิทยา-นุกูลกระวี เป็นต้นนั้น) บ้าง แลที่ยังลอย ๆ (คือเปรียญแลอาจาริย์ทั้งปวง) ก็มีมาก แลเป็นคนที่ยืมมาแต่ทหารมหาดเล็กยังไม่ขาดกรม (คือหลวงสุรยุทธโยธาหาญ แลหม่อมเจ้าอัทยา เป็นต้น) ก็มีบ้าง โดยใจความก็ผู้ซึ่งรับราชการอยู่ในออฟฟิศการเล่าเรียน ยังสังกัดกระจัดกระจายอยู่นั้น...ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในเวลานี้ เพราะเหตุที่การศึกษาจำเป็นจะต้องแยกจากที่เกี่ยวข้องกับการทหารนั้น อย่าง 1 แลเพราะการศึกษาได้มีความเจริญแพร่หลายพอเป็นหลักฐานได้นั้น อย่าง 1 สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระราชกำหนดให้การศึกษาเป็นกรมหนึ่ง ได้อยู่แล้ว
กรมศึกษาในประเทศอื่น ๆ ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าฯ อยู่นั้น แตกต่างกันเป็นหลายอย่าง บางประเทศก็เป็นมินิศตีรบ้าง บางประเทศก็เป็นคอมมิตตี มีไวศเปรศิเดนต์ของเคาซิลเป็นหัวน่าบ้าง บางประเทศก็เป็นคอมมิศชั่น มีชิฟคอมมิชันเนอเป็นหัวน่าบ้าง ที่ทราบเกล้าอยู่ 3 อย่างเช่นนี้…
2430 - 10 ประชุมกอมมิตตีผู้จัดการโรงพยาบาล ครั้งที่ 3
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2430 กอมมิตตีผู้จัดการโรงพยาบาลมีหนังสือกราบบังคมทูล หลังจากประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง ว่า “การนั้นคงจะจัดให้ได้เปิดในเดือน 10 ปีกุนนพศก (ตรงกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2430) แลเห็นว่าการนั้นคงเจริญแน่” และคณะกรรมการได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สรุปได้ดังนี้ (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
1) ขอรับพระราชทานเงินสำหรับมิวเซียม เดือนละ 10 ชั่ง เป็นเงินสำหรับโรงพยาบาลต่อไป
2) ในวังหลังซึ่งจะทำเป็นที่โรงพยาบาลนั้นเป็นที่ไกลน้ำ
มีบ้านเรือนราษฎรบังอยู่ตลอด
จึงขอรับพระราชทานเงินในมิวเซียมที่มีอยู่แล้วไปซื้อที่ดินท่าน้ำ ความยาว 1 เส้น
ความกว้างจากแม่น้ำถึงวังหลัง 14 วา (28 เมตร)
517 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
3) เรือนหมออยู่และสำหรับไว้ยาและสอนวิชาแพทย์นั้น จะต้องเป็นเรือนใหญ่ ขอพระราชทานเรือนหลวงในคลองผดุงกรุงเกษม ที่ให้กรมหลวงเทวะวงษวโรประการทำขึ้นพระราชทาน มิสเตอปัลเครฟ กงซุลเยเนราลอังกฤษ มาปลูกเป็นเรือนใหญ่ของโรงพยาบาลจะดีมาก เพราะทำขึ้นยังไม่ทันได้อยู่ มิสเตอปัลเครฟก็ย้ายออกไปเสียแล้ว
4) โรงหมอท่าพระนั้น ทราบว่าจะรื้อ จึงขอรับพระราชทานเครื่องไม้ในโรงหมอท่าพระ ไปใช้ในการโรงพยาธิบาล
2430 - 11 ประชุมกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ครั้งที่ 4
วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2430 กอมมิตตีโรงพยาบาลประชุมเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีกุนนพศก ศักราช 1249 (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
คราว 4
ข้อความที่ได้ประชุม
1. พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ได้อ่านสำเนาที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายขอพระบรมราชานุญาต 4 ข้อ และพระราชหัตถ์ทรงตอบแล้ว กอมมิตตีทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่าเรื่องที่จะต้องการเรือนหลังใหญ่ในคลองผดุงนั้น ให้กรมหมื่นศิริธัชสังกาศไปทูลหาฤๅกรมหลวงเทวะวงษ...เรื่องโรงหมอท่าพระนั้นมอบให้พระองค์ปฤษฎางค์ไปหาฤๅกับกรมพระนครบาล ส่วนหมอที่อาไศรยอยู่ที่โรงหมอร้องว่าไม่มีที่จะอยู่ ตกลงกันว่าที่ตึกแถวของหลวงข้างวัดพระเชตุพน มีแต่คนเล็กน้อยอาไศรยอยู่ จะมอบให้พระองค์สายสนิทวงษ์ไปพูดกับกรมหมื่นประจักษศิลปาคมให้ย้ายหมอที่ไม่มีบ้านไปอยู่ในที่นั้น
2. ส่วนที่ ๆ จะซื้อเป็นท่าน้ำของโรงพยาบาล...
3. มิสเตอคูลนิชได้นำแปลนโรงพยาบาลแลที่ต่าง ๆ ในการโรงพยาธิบาลนั้นมาให้ดู ตกลงว่าเปนอันใช้ได้ แต่ในชั้นแรกนี้จะคิดถากถางพื้นที่ลงมือทำโรงพยาธิบาลสำหรับคนไข้หลังใหญ่เล็ก 8 หลัง เรือนสำหรับหมออยู่หลังหนึ่ง ครัวหลังหนึ่ง ที่ ๆ จะต้องทำ กว้าง 640 ฟุต ยาว 480 ฟุต
4. พระองค์เจ้าวัฒนานุวงษ์
ซึ่งรับไปหาช่างที่จะเหมาทำโรงเรือนต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วนี้
ได้มาหลายรายแต่ราคาแรงไปบ้าง มีผู้ที่จะรับราคาต่ำกว่าคนคือ หม่อมราชวงษ์สนิท
มีราคาดังต่อไปนี้ โรงคนไข้หลังใหญ่ (3) หลัง
เครื่องไม้จริงฝาไม้จริงเสาไม้จริงตามตัวอย่างของมิสเตอร์ฟรันโดเหมาเสร็จเป็นเงิน
7200 บาท โรงคนไข้หลังเล็กเหมือนเครื่องหลังใหญ่ทั้งสิ้น (3)
หลัง เหมาเสร็จ 2880 บาท
เรือนที่จะรื้อมาจากคลองผดุงมาเป็นเรือนหมออยู่
ต้องซ่อมสิ่งที่ชำรุดแลต่อพื้นชั้นล่างเหมาเสร็จ 289 บาท ครัวไฟสำหรับทำกับเข้า
640 บาท สะพานน้ำไม้จริง กว้าง 8 ศอก ยาวพอลงน้ำได้ เหมาเสร็จ 70 บาท
รั้วปีกไม้รอบโรงแลเรือนทั้งปวงเหมาเสร็จ 1220 บาท
518 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ถนนตามเรือนแลโรงทั้งปวง เหมาทั้งค่าแรงแลสิ่งของ 1032 บาท รวมเสร็จเป็นเงิน 164 ชั่ง 64 บาท เป็นราคาต่ำที่สุดกว่าช่างทั้งปวง จึ่งตกลงพร้อมกันว่าจะให้หม่อมราชวงษ์สนิทรับทำ การที่จะตรวจช่างทำการนั้น ได้มอบให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์แลหลวงนายสิทธิเปนผู้ไปตรวจตราเสมอ
5. ส่วนเงินที่จะลงทุนในชั้นแรก...จะต้องขอพระบรมราชานุญาตยืมเงินพระคลังมาใช้ก่อน
6. ได้อ่านสำเนาถ้อยคำที่ได้ประชุมกันชั้นก่อน กอมมิตตีทั้งปวงได้เซ็นชื่อแล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเวลาบ่าย 5 โมง 20 มินิต...การประชุมต่อไปยังไม่กำหนด ต่อเมื่อได้ไปดูที่ท่าน้ำแล้วจึ่งจะนัดต่อไป...
2430 - 12 รายงานการจัดการศึกษา
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลเรื่องการจัดการศึกษา โดยแนบตาราง 3 แผ่น เกณฑ์แต่งแลเรียบเรียงแบบเรียน ประกอบด้วย ชื่อหนังสือที่แต่ง 39 เล่ม วิธีเรียบเรียง และผู้ที่จะแต่ง ความว่า...ด้วยการศึกษาซึ่งจะได้ในปีกุนพศกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้กำหนดไว้ว่าจะจัด...จะจัดการ เรียบเรียงแบบเรียน อย่าง 1 จะจัดการ ตั้งโรงเรียนสอนวิชาชั้นสูง อย่าง 1 จะจัดการ ขยายโรงเรียนสอนวิชาอย่างราษฎร อย่าง 1...
2430 - 13 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 5
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีโรงพยาบาลประชุม ณ วัน 4 ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีกุนนพศก ศักราช 1249 ความว่า (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
1) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ โปรโปดว่า กรมหมื่นศิริธัชสังกาศแชแมนจะเสด็จออกไปเมืองสิงคโปร์ ขอให้หมอกาวันเปนผู้แทนแชแมนไปกว่ากรมหมื่นศิริธัชสังกาศจะกลับมาจากเมืองสิงคโปร์...
2) สิเกรตารีอ่านถ้อยคำที่ได้ปฤกษากันในคราวประชุมที่ กอมมิตตีตกลงว่าถูกต้องแล้ว
3) ได้ปฤกษาเรื่องเงินที่จะให้หม่อมราชวงษ์สนิทไปทำเรือนโรงซึ่งจะเปน
โรงพยาบาล เงิน 164 ชั่ง 64 บาท กับเงินค่าที่ดินซึ่งจะทำเปนท่าน้ำโรงพยาบาล 5
เจ้าของ คิดเป็นตรางคืบ…รวมทั้ง 5 ราย เงิน 28 ชั่ง 26 บาท
55 สตางค์ กับเงินที่จะให้เปนค่ารื้อเรือนแก่หม่อมเจ้าหม่อมราช-วงษซึ่งอยู่ในวังหลัง หลังละ 1 ชั่ง 40 บาท เปนยืมประมาณ 20 ราย เงิน 30
ชั่ง รวมทั้ง 3 อย่างเงิน 223 ชั่ง 10 บาท 55 สตางค์ เปนการจำเปนที่จะต้องใช้
ส่วนเงินมิวเซียมก็ต้องใช้รองราชการเสียโดยมาก จะรอคอยเมื่อฎีกาตกก็จะเนิ่นนานช้าเกินเวลา
จึ่งตกลงกันว่า ต้องขอพระราชทาน
519 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ยืมเงินพระคลังมหาสมบัติมาใช้ให้หม่อมราชวงษ์สนิทไปทำการ เงิน 164 ชั่ง 64 บาท ค่าที่ท่าน้ำเงิน 28 ชั่ง 26 บาท 55 สตางค์ แลค่ารื้อเรือนหม่อมเจ้าหม่อมราชวงษคิดเพียง 10 ราย เงิน 15 ชั่ง รวมเงินที่จะขอพระราชทานยืมพระคลังมหาสมบัติเงิน 209 ชั่ง 10 บาท กับรายเงินมิวเซียมซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ยกมาเปนเงินบำรุงโรงพยาบาลนี้จะต้องขอพระบรมราชานุญาตให้ทรงสั่งพระคลังมหาสมบัติให้กรมหมื่นศิริธัชสังกาศเปนผู้เบิกเงินรายนี้เดือนละ 10 ชั่ง แลทรงสั่งกรมมิวเซียมให้ส่งเงินที่มีตัวแล้วต่อกอมมิตตีโรงพยาบาล เมื่อกอมมิตตีได้รับมาแล้ว เงินรายที่เอาไปรองราชการในกรมทหารมหาดเล็กฎีกาตกมาก็จะได้หักใช้เงินพระคลังซึ่งยืมมา จึ่งตกลงกันให้สิเกรตารีร่างหนังสือขอพระบรมราชานุญาต ทั้ง 3 ข้อ...
2430 - 14 กอมมิตตีผู้จัดการโรงพยาบาลถวายรายงานหลังการประชุม ครั้งที่ 5
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีผู้จัดการโรงพยาบาลกราบบังคมทูลการ 4 ข้อที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ความสรุปได้ดังนี้ (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
1. ยกเงินสำหรับมิวเซียมที่เบิกมาแล้วไม่ได้ใช้จำนวน 243 ชั่ง และเงินรายเดือนมิวเซียม เดือนละ 10 ชั่ง ให้กอมมิตตีโรงพยาบาลเบิกต่อไป
2. จัดซื้อที่ริมน้ำหน้าพระราชวังหลังเพื่อทำเป็นท่าน้ำโรงพยาบาล
3. ที่ดินในพระราชวังหลังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า บางแห่งก็เป็นตำหนักเก่า ๆ มีหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ในพระราชวังหลังอาศัยอยู่ มีคนอื่นบุกรุกเข้าไปอาศัยปลูกอยู่บ้าง กอมมิตตีจึงให้เงินหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ไปปลูกบ้านใหม่ที่ฉางเกลือริมพระราชวังหลัง ส่วนคนบุกรุกให้ย้ายออกไป
4. เงินมิวเซียม 243 ชั่งนั้น กรมทหารมหาดเล็กใช้ไปบ้างแล้ว เหลือไม่พอใช้ ตั้งฎีกาเบิกจากหอรัษฎากรพิพัฒน์แล้วยังไม่ได้ จึงขอรับพระราชทานยืมเงินพระคลังมหาสมบัติมาใช้ก่อน เมื่อเบิกได้แล้วจะหักคืนที่เหลือไว้เป็นทุนโรงพยาบาลต่อไป จำนวนเงินที่จะรับพระราชทานยืมนั้น คือค่าสิ่งของโรงพยาบาลที่จะทำขึ้น 8 หลัง เป็นเงิน 165 ชั่ง 64 บาท ค่าที่ดินท่าน้ำ เป็นเงิน 24 ชั่ง 26 บาท 55 สลึง ให้หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ย้ายออกไป เป็นเงิน 15 ชั่ง รวมทั้งหมดเป็นเงิน 208 ชั่ง 10 บาท
2430 - 15 ตั้ง “กรมศึกษาธิการ”
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ประกาศตั้งกรมศึกษาธิการแยกออกจากกรมทหารมหาดเล็ก
...มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
การเล่าเรียนวิชาเปนการสำคัญของราชการบ้านเมือง
แต่ก่อนมายังหาได้จัดตั้งขึ้นเปนแบบแผนให้แพร่หลาย
แลยังหาได้มีเจ้าพนักงานสำหรับบังคับบัญชาราชการฝ่ายการเล่าเรียนทั้งปวงไม่...ผู้ซึ่งรับราชการในตำแหน่งการเล่า
520 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เรียนทั้งปวงเหล่านั้นก็เปนข้าราชการ รับราชการแผ่นดินสนองพระเดชพระคุณได้ส่วนหนึ่ง เหมือนกับข้าราชการกรมอื่น ๆ แต่ยังหาได้มีตำแหน่งในราชการไม่ เพราะราชการฝ่ายการเล่าเรียนยังไม่ได้สังกัดขึ้นเปนกรมหนึ่งเหมือนกับประเทศอื่น ๆ บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานซึ่งสำหรับจัดการเล่าเรียนทั้งปวงรวมเปนกรมหนึ่ง เรียกว่า กรมศึกษาธิการ...เปนกรมหนึ่งในราชการฝ่ายพลเรือนเหมือนกับกรมอื่น ๆ สืบไป
2430 - 16 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ พระชนมายุ 1 ปี 6 เดือน ปรากฏความในราชกิจจานุเบกษาว่า
ข่าวสิ้นพระชนมสมเดจพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
สมเดจพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ เสดจประสูตร ณ วันศุกร์ เดือนสิบสอง แรมหกค่ำ ปีรกา สัปตศก ศักราช 1247 ตรงกับวันที่ 27 โนเวมเบอปีคฤสตศักราช 1885 ได้เสดจประสูติในพระที่นั่งหมู่เดียวกับที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลาค่ำวันนั้น มีมหัศจรรยบนอากาศคือเปนดวงดาวเล็ก ๆ ฤๅบางทีมีเปนสายต่อจากดวงเล็ก ร่วงลงมาโดยรอบทิศวนุทิศ ตั้งแต่เวลาค่ำแล้วไปจนดึกยังมิได้สูญ...ครั้นเมื่อแรม 8 ค่ำ 9 ค่ำ เดือนหก ปีกุนนพศก ทรงพระประชวน มีอาการทรงพระอาเจียนบ่อย ๆ แลพระกายซูบลงต่อลำดับมาก็มีบังคลเหลวไปเนือง ๆ ครั้นวันพฤหัสบดี เดือนเจด ขึ้นห้าค่ำ เวลาเช้า ไม่ทรงสบายเสาะแสะพระบังคลไปวันละหลายครั้ง หมอจ๋ายซึ่งเปนหมอประจำพระองค์ถวายพระโอสถ...วันอังคาร เดือนเจด ขึ้นสิบค่ำ พระอาการซุดมาก พระกำลังน้อยทรงอ่อนเปลี้ยไป ได้ประชุมหมอในโรงพระโอสถ แลหมอเชลยศักดิพร้อมกัน แล้วพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ หลวงกุมารแพทย หมอกรุงเชลยศักดิถวายพระโอสถ พระอาการไม่คลาย กลับกำเริบหนักไป จนเวลา 7 ทุ่ม 24 นาที สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ เปนที่ทรงพระโทมนัสอาไลยของพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว แลพระมารดาเปนอันมาก...
2430 - 17 รายงานกรมยุทธนาธิการ ฉบับที่ 1
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2430 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมหมื่นภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้แทนผู้บัญชาการทหารทั่วไป กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลถวายรายงานจัดราชการทหารในกรมยุทธนาธิการจำนวน 21 หน้า รายงานฉบับนี้มีความสำคัญ เป็นรายงานอธิบายที่มาต่าง ๆ ดังนี้
1. จุดเริ่มต้นการจัดการทหารแบบตะวันตกในระดับประเทศ
521 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2. เป็นจุดเริ่มต้นของการแยก “ทหารบก” ออกจาก “ทหารเรือ” ตามกองทัพแบบตะวันตก
3. ที่มาการจัดตั้งโรงเรียนทหารสราญรมย์พร้อมเหตุผลอธิบาย
4. ที่มากำเนิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรมทหารหน้า
5. ที่มาการจัดตั้งกรมอู่ทหารเรือ
6. แสดงการแก้ไขจัดระเบียบกรมทหารต่าง ๆ ให้เสมอกัน ก่อนการรวมเป็นระบบราชการแบบเดียวกันเพื่อจัดตั้งโครงสร้างกระทรวงแบบตะวันตก
ดังข้อสำคัญคัดไว้บางส่วน ดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานทำรายงานกรมยุทธนาธิการ เป็นฉบับที่ 1 นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท
ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าบังคับบัญชาจัดการทหารบกทหารเรือ โดยกระแสร์พระราชดำริห์แลพระราชบัญญัติ...ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ปฤกษาพร้อมด้วยเจ้าพนักงานใหญ่สำหรับบัญชาการทั้ง 4 กระทรวง ในที่ประชุมศาลายุทธนาธิการ ได้ตรวจการทหารบกทหารเรือที่เป็นอยู่อย่างไร แลได้คิดอ่านแก้ไขจัดการทหารสนองพระเดชพระคุณ ในส่วนซึ่งจะให้เรียบร้อยเจริญขึ้นในภายน่า
อนึ่ง ราชการประจำของกรมทหารที่มีขึ้นในระหว่างนี้อย่างไร ก็ได้บังคับบัญชาไปโดยสมควรแก่ราชการทุกอย่าง
ข้อ 1 การเดิมที่เป็นอยู่ของกรมทหารบกทหารเรือทั้งปวง ตามซึ่งได้ตรวจทราบความแล้วนั้น
ส่วนของทหารบก ความเสียซึ่งเป็นส่วนสำคัญมีอยู่ 2 อย่าง คือ
(1) ที่ต้องใช้เงินแผ่นดินเปลืองมากเหลือเกิน เพราะ...[เนื้อความอธิบายสาเหตุ 5 ข้อ]...
(2) การในกรมทหารยังยุ่งเหยิงอยู่ทุกกรม
(ก) เพราะน่าที่ราชการทหารยังก้าวก่ายกับพลเรือนบ้าง ก้าวก่ายในทหารด้วยกันเองบ้าง ไม่ได้ทำการเป็นน่าที่แต่ซึ่งสมควรจะรับผิดชอบ แลที่จะพึงรับการให้เรียบร้อยได้นั้น อย่าง 1
(ข) เพราะการทหารไม่มีแบบแผนบังคับให้จัดการอย่างไร การจะดีจะเสียอาไศรยอยู่แต่กับผู้บังคับบัญชาจะเห็นอย่างไร อย่าง 1
ฝ่ายการทหารเรือนั้น ความเสื่อมเสียมีอยู่ยิ่งกว่าทหารบกเป็นอันมาก ที่เป็นส่วนสำคัญนั้นคือ
(1) ที่ต้องใช้เงินแผ่นดินเปลืองมากเหลือเกินนั้น อย่าง 1
(2)
ที่เรือรบเรือใหญ่น้อยทั้งปวง (เว้นแต่อยู่ในพนักงานกรมแสงรักษา)
522 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ชำรุดเป็นอย่างยิ่งบ้าง ชำรุดพอแก้ไขได้บ้าง แต่อยู่ในจะใช้ราชการตามสมควรของเรือเหล่านั้นไม่ได้เลย...
...ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฤกษาเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า ควรต้องคิดจัดการเป็นสองส่วน คือ จัดการพอเยียวยาแก้ไขกรมทหารบกทหารเรือที่มีอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ให้หมดความเสื่อมเสีย และเรียบร้อยแขงแรงขึ้นส่วน 1 จัดการใหม่ซึ่งสำหรับจะเป็นแบบแผนใช้ทั่วไปภายน่าส่วน 1
ในส่วนที่จะจัดการเยียวยาความเสื่อมเสียของทหารบกพอให้เรียบร้อยขึ้นเป็นตอนต้นในชั้นนี้ ได้ประมาณไว้ 6 อย่างก่อน คือ
อย่างที่ 1 น่าที่ของกรมทหารยังก้าวก่ายกันอยู่มาก แลบางกรมต้องรับราชการมาก บางกรมก็มีราชการน้อย ไม่เสมอกัน จะต้องกะน่าที่ราชการให้เปนส่วนเป็นแผนก ควรแก่น่าที่ของกรมใดก็ให้เปนน่าที่ของกรมนั้น มิให้น่าที่ก้าวก่ายกัน...
อย่างที่ 2
อัตราจำนวนออฟฟิศเซอร์
ซึ่งวางไว้เปนแบบแผนว่าราชการกรมหนึ่งควรมีออฟฟิศเซอร์ตำแหน่งใดบ้างนั้น
แต่ก่อนมาจนบัดนี้ ก็เปนแก่อันเข้าใจว่าควรมีตำแหน่งนั้น ๆ
ก็แต่จำนวนออฟฟิศเซอร์ที่มีอยู่จริง มากเกินอัตราแบบแผนที่ควรจะมี
เป็นเหตุให้เปลืองเงินแผ่นดินมากอยู่ทุกหมวดทุกกรม เพราะเหตุไม่มีข้อบังคับตรวจตรา
ผู้บังคับการกรมทหารเห็นสมควรจะมีออฟฟิศเซอร์ตำแหน่งใดขึ้น
ฤๅเห็นผู้ใดสมควรจะเปนออฟฟิศเซอร์ ก็ตั้งออฟฟิศเซอร์ขึ้นใหม่บ้าง
ตั้งตำแหน่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในกรมนั้นบ้าง เงินเดือนก็เพิ่มขึ้นด้วยทุกที
ใช่แต่เท่านั้น การตั้งออฟฟิศเซอร์ซึ่งตกอยู่แก่ความชอบใจของผู้บังคับการแล้วแต่เห็นผู้ใดสมควรเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว
ก็ตั้งขึ้นเปนออฟฟิศเซอร์รับพระราชทานเงินเดือนได้นี้อีกอย่างหนึ่ง
ก็เป็นเหตุให้ออฟฟิศเซอร์ทั้งมีมากเกินสมควร
แลเป็นคนไม่มีคุณวุฒิสมควรแก่ตำแหน่งในราชการด้วย อีกอย่างหนึ่งในส่วนจำนวนทหารไปบวก
ก็ไม่มีอัตรากำหนดจึ่งว่ากรมนั้น ๆ ต้องมีเท่านั้น ๆ
กรมใดมีทหารไปบวกมากก็เรียกว่ากรม...[อักษรเลือน]...หนึ่ง บางกรมที่มีทหารไปบวกน้อยก็เรียกกรมหนึ่งเหมือนกัน
แม้นับว่าเอาแต่โดยชื่อกรมก็ดูเหมือนตัวทหารจะมีรับราชการมาก แต่ที่จริงถ้าตรวจดูตัวทหารที่มีประจำอยู่
จะรวมจำนวนทหารนับเป็นกรมกำหนดด้วยตัวคนมากแลน้อยแล้ว ก็จะมีอยู่พอเพียงสัก 2
- 3 กรมเท่านั้น ใช่แต่เท่านั้น ตัวทหารที่มีอยู่ทั้งน้อยอยู่แล้ว
ถ้าจะเลือกคัดจัดคนที่ฉกรรจ์ มีอายุแลกำลังกายสมควรแก่ราชการทหารได้
ในคนเหล่านั้นก็จะยิ่งได้ตัวทหารก็ลดน้อยลงไปอีกเปนอันมาก
ซึ่งจะแก้ไขความเสื่อมเสียข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในชั้นต้น
(โดยได้ทราบบาญชีออฟฟิศเซอร์ทหารทุกกรมแล้ว) จะวางอัตราตำแหน่งออฟฟิศเซอร์ซึ่งสมควรจะมีในกรมหนึ่ง
ๆ ให้เปนแบบแผนใช้เหมือนกันตลอดทุกกรม ตัวออฟฟิศเซอร์ที่มีอยู่เหลือ
523 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
จากอัตราใหม่ที่จะละนี้ ก็จะเฉลี่ยวนไปรับราชการในทหารกรมอื่น ๆ ที่ยังขาดอัตราอยู่ ฤๅเอาไว้ตั้งตามกรมทหารที่จะเพิ่มขึ้นใหม่ ฤๅในระหว่างนั้นถ้าออฟฟิศเซอร์ซึ่งเหลืออัตรา จะต้องย้ายไปกรมอื่น จะไม่สมัคย้ายไปจะลาออกจากตำแหน่งก็ดี ฤๅจะขออยู่ในตำแหน่งยศแต่ไม่รับเงินเดือนก็ดี ก็จะอนุญาตให้ทั้ง 2 อย่าง ถ้ากรมไหนจำนวนคนยังมีน้อย ก็จะต้องหาเพิ่มเติมให้จนพอแก่อัตรา ถ้าได้คนใหม่มากเหลืออัตรา ก็จะคิดผ่อนคัดคนเก่าที่ชราฤๅกำลังกายไม่สมควรจะเป็นทหารออกเสีย
แลการตั้งออฟฟิศเซอร์ต่อไปภายน่า เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะต้องคิดตั้งโรงเรียนคะเด็ดขึ้นฝึกหัดวิชาสำหรับออฟฟิศเซอร์ ถ้าคะเด็ดคนใดมีความรู้สอบวิชาได้ตามที่จะกำหนด จึงจะเป็นออฟฟิศเซอร์รับราชการทหารได้ แลผู้ซึ่งจะรับราชการเปนออฟฟิศเซอร์ (ตั้งแต่ตั้งโรงเรียนไปแล้ว) จะเปนได้เมื่อเปนผู้มีความรู้วิชาการทหารเปนคุณสมบัติเท่านั้นอย่างเดียว
ข้อ 3 วิธีฝึกทหารซึ่งยังต่างกันเป็นหลายลัทธิ เพราะไม่ได้มีแบบแผนเปนอันเดียวกันมาแต่เดิม นั้น แต่แรกข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเปนการแปลกแปลงกันอยู่มากที่จะให้ลงเปนแบบแผนเดียวกันคงจะต้องช้านาน ครั้นเมื่อได้มาตรวจตราดูจึงเห็นว่าลัทธิที่ยังผิดกันอยู่นั้น ไม่ห่างไกลกันถึงที่คาดคะเนเลย นี่ก็เปนการที่จะถึงแก้ไขได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าจะให้แก้ไขใช้เป็นแบบเดียวกันโดยเร็ว
ข้อ 4 การบังคับบัญชา และขนบธรรมเนียมสำหรับกรมทหาร ซึ่งยังไม่เรียบร้อยอยู่ทุกหมวดทุกกรมในบัดนี้ เปนเพราะไม่มีข้อบังคับบัญชาถือเรกุเลชัน (Regulation) เปนแบบแผนสำหรับกรม การ จะดี จะเสีย จะคง จะเปลี่ยนแปลงอย่างใด อาไศรยด้วยความชอบใจแลเห็นสมควรของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น...
ข้อ 5 การเลี้ยงทหารอย่างหนึ่งนี้ ก็เปนการหยุกหยิกไม่เรียบร้อยทุกกรมเสอมาจนบัดนี้...
ข้อ 6 ความที่เสียชื่อเสียงของทหาร เพราะเหตุที่มักเกิดวิวาทตีฟันและกับราษฎรเนือง ๆ มาแต่ก่อนนี้อีกอย่างหนึ่ง...
ในส่วนการทหารเรือในชั้นต้นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะจัดแต่ 7 อย่างก่อน
ข้อ 1
ทหารเรือแลการที่จัดทหารดังที่เปนมาแล้ว เหมือนกับมีทหารเรือเปน 2 แพนกเสมอกัน คือ
กรมแสงแพนก 1 กรมอรสุมพลแพนก 1 ราชการค์เปน 2 แยก 2
ย้ายจึงเปนเหตุให้เปลืองเงินแผ่นดินเกินสมควรมาก ถ้ายังจัดแยกให้เปน 2
แยกอยู่เช่นนี้ ต่อไปตราบใดก็จะไม่สมควรเปลืองพระราช-ทรัพย์เหลือเกินอยู่ตราบนั้น
อนึ่ง การในส่วนกรมอรสุมพลที่เปนอยู่ในเวลานี้ทั้งเสื่อมทราม
แลทั้งอยู่ในแบบแผนอันต้องเปลืองเงินแผ่นดินมาก ถึงจะ
524 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
จัดการทำนุบำรุงให้ดีขึ้น...ทหารบกก็จะจัดให้เป็นแบบแผนมีตัวทหารให้พอแก่ราชการแล้ว ควรต้องยกราชการทหารบกในน่าที่ทหารกรมแสงเสียไปเป็นทหารเรือทั้งกรม เฉลี่ยคนไปรักษาเรือ...ขึ้นกรมอรสุมพลอยู่แต่ก่อนให้พอ...คนลูกจ้างซึ่งกรมอรสุมพลใช้อยู่
ข้อ 2 ทหารมรีน ซึ่งมีอยู่เปนกรมหนึ่ง...แต่ก่อนมา เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าไม่มีประโยชน์อันใดมีแต่เปลืองเงินอยู่ข้างเดียว ทหารที่จะใช้เรือรบ ถ้าได้หัดกลาสีเปนทหารเรือดีกว่าที่จะมีมรีนต่างหากอย่างนี้มาก...การเรือรบในส่วนที่กรมแสงจัดการอยู่ จึงคิดด้วยเกล้าฯ ว่าควรเลิกทหารมรีนสมทบลงเป็นตัวกลาสีประจำเรือรบเหมือนกับทหารกรมแสงที่ยกไปนั้น
ข้อ 3 เรือใหญ่น้อยซึ่งอยู่ในกรมอรสุมพล มีจำนวน (ยกเว้นเรือราญรุกไพรีซึ่งผุอยู่ในอู่) อยู่ 7 ลำ ในแต่ส่วนค่ารักษาเรือ 7 ลำนี้ประมาณเดือนละ 56 ชั่ง คิดเฉลี่ยเสมอภาคลำหนึ่งต้องเสียเงินค่ารักษาอยู่ในเดือนละ 14 ชั่ง...[อธิบายรายชื่อเรือและสภาพเรือ]
ข้อ 4 เรือไฟใหญ่น้อยสำหรับราชการต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ในกรมอรสุมพล มีจำนวนเรือ 13 ลำ เรือใหญ่ 6 ลำ ขนาดกลาง 2 ลำ ขนาดเล็ก 4 ลำ...[อธิบายสภาพเรือแต่ละขนาด]
ข้อ 5 เรือไฟน้อยใหญ่ซึ่งขึ้นอยู่ในกรมแสงมาแต่ก่อน มีจำนวนเรือไฟใหญ่ 5 ลำ เรือใบใหญ่ 4 ลำ เรือขนาดกลาง 11 ลำ เรือขนาดเล็ก 7 ลำ รวม 27 ลำ...[อธิบายสภาพเรือและค่าบำรุงรักษา]
ข้อ 6 เรือไฟขนาดกลางขนาดเล็กของหลวง ซึ่งเบิกอยู่ตามกรมทหารต่าง ๆ มีจำนวนกรมทหารมหาดเล็ก 3 ลำ ทหารน่า 3 ลำ กรมราชการฝีพาย 1 กรมทหารล้อมพระราชวัง 3 ลำ รวม 10 ลำ เรือเหล่านี้ก็สำหรับราชการทหาร มีการบันทุกทหารไปตามเสด็จเปนต้น ที่ต่างกรมต่างมีเรือไปสำหรับกรมเช่นนี้ ก็เพราะแต่ก่อนการทหารยังไม่รวบรวมกันได้ จึงเป็นเหตุให้เปลืองเงินแผ่นดินเพราะค่าสัวหุ้ยมีเรือไฟแยกย้ายกันเช่นนั้นเปนอันมาก เมื่อการทหารรวบรวมกันได้เช่นนี้ การทหารที่จะต้องใช้เรือไฟก็หมดความลำบากอย่างแต่ก่อน เมื่อมีราชการอย่างใดก็เปนน่าที่ผู้บัญชาการทหารเรือต้องจัดทัพเรือให้พอแก่ราชการทหารบก เพราะฉนั้นไม่ควรมีเรือไฟแยกย้ายกันตามกรมทหารดังเปนมานั้นอีกต่อไป
ข้อ 7 เมื่อได้ตรวจเรือใหญ่น้อยทั้งปวง ตกลงเปนความเห็นจะจัดการอย่างนั้นแล้ว ก็มีอยู่เปน 3 อย่าง คือ เรือที่ไม่เสียก็คงรักษาไว้ในราชการอย่าง 1 เรือที่ชำรุดขอการซ่อมแซมได้ก็จะซ่อมแซมไว้อย่าง 1 เรือที่ไม่ควรซ่อมแซมก็จะไม่ซ่อมแซมอย่าง 1...[อธิบายวิธีจัดการเรือ]...
ในส่วนราชการทหารบกทหารเรือ
ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้จัดการไปแล้ว ในระหว่างตั้งแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ข้าพระพุทธเจ้าบังคับบัญชาการ
525 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ทหารมาจนบัดนี้ คือ
(1) ได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับการทหารทุกกรม ยื่นบาญชีออฟฟิศเซอร์ แลเสมียนพนักงานในกรมนั้น ๆ บาญชี 1 บาญชีอัตราเบิกเงินเดือนในกรมนั้นบาญชี 1...[อักษรเลือน]...ตำแหน่งที่อยู่แลพื้นที่ขึ้นอยู่ในกรมทหารนั้น ๆ ฉบับ 1
(2) ได้สั่งให้ทหารน่าไปอยู่ยามรักษาวังสราญรมย์เปลี่ยนทหารกรมล้อมวัง แลให้ทหารรักษาพระองค์ไปรักษาพระราชวังบวรเปลี่ยนทหารล้อมวัง ให้ทหารล้อมวังรับน่าที่อยู่ยามในพระบรมมหาราชวังชั้นนอกแทนทหารรักษาพระองค์ทุกแห่ง ถอนทหารรักษาพระองค์ออกไว้สำหรับให้กระบวนเสด็จแลกระบวนพระประเทียบ แลให้รักษาพระราชวังบวรด้วย ให้ทหารปืนใหญ่รับรักษาปืนกรุบแทนกรมทหารมหาดเล็ก ให้กรมทหารมหาดเล็กรับรักษายามในพระบรมมหาราชวังชั้นกลางแทนทหารรักษาพระองค์ทุกแห่ง เลิกน่าที่ทหารน่าที่จะต้องแห่กระบวนเสด็จ ให้ทหารรักษาพระองค์แทน ส่วนทหารน่าให้มีน่าที่โปลิส (Police) ซึ่งเคยรักษาท้องที่อยู่นั้น จัดการให้แขงแรงขึ้น แลให้มีน่าที่สำหรับจ่ายไปราชการหัวเมืองด้วย กำหนดราชการทหารให้เปนน่าที่แทนสลับกันได้จัดไปแล้วเพียงเท่านี้ แล จะจัดต่อไปให้มีราชการเสมอทั่วถึงแลไม่ก้าวก่ายกัน
(3) ได้สั่งให้ทหารน่า ทหารล้อมวัง ทหารรักษาพระองค์ ช่วยกันรื้อไม้เมรุ ขนขึ้นไปส่งที่จะทำโรงทหารที่พระราชวังบวร ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุน-นริศรานุวัตติวงศ์ แต่เมื่อยังบังคับบัญชากรมทหารรักษาพระองค์อยู่นั้น แลให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัตนานุวงษ์เป็นแม่กองคุมทหารรักษาพระองค์ทำโรงทหาร
(4) ได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารทุกกรม ส่งตระลาการมาชำระเร่งหมู่ทหารพร้อมกัน ณ ศาลายุทธนาธิการ แลทหารซึ่งจะลาอุปสมบทแต่ปีนี้ต่อไปด้วย ให้มารับใบอนุญาต ณ ศาลายุทธนาธิการ อนึ่ง การเบิกเงินเดือนแลเบิกเงินราชการของกรมต่าง ๆ...[อธิบายกระบวนการเบิกเงิน]
(5) โรงม้ากรมทหารมหาดเล็กชำรุดมาก ...
(6) ตามโรงจีนรับจำนำ มีของทหารแลเครื่องแต่งตัวทหารอยู่เปนอันมาก
(7) ...[เรื่องทหารรักษาพระองค์]...
(8)
แต่ก่อนมาที่เชิงตะพานช้างโรงสี ถนนบำรุงเมือง
มักเปนที่เกิดฉกชิงวิ่งแลวิวาทแทงกันเนือง ๆ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ
ว่าท้องที่ตำบลนั้น เปนที่ใกล้พระราชฐาน เป็นที่ในน่าที่ของกรมทหารน่ารักษา
เปนช่องให้เกิดการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ แลเสียชื่อเสียงทหารอยู่
จึงได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับการกรมทหารน่าจัดคอมมิศชันออฟฟิศเซอร์นาย 1
นอนคอมมิศชันออฟฟิศเซอร์ 2 นาย เปนเวรกันตรวจตราในเวลาผู้คน
526 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ชุกชุม แลกำกับทหารรักษาท้องที่ ให้คอยจับโจรผู้ร้ายโดยแขงแรง แลให้บัญญัติแก่กรมทหารน่า แต่เวลาย่ำค่ำไปแล้วให้เรียกทหารกลับเข้าโรงทหารอย่าให้เที่ยวเสพสุกประพฤติเปนโจรผู้ร้ายได้เปนอันขาด ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจัดการอย่างนี้ การฉกชิงวิ่งราวแลวิวาทในท้องที่นั้น คงจะสงบ...ฤๅเบาบางลงได้ ถ้าเปนการได้สำเหร็จได้ดังคิด ก็จะจัดการรักษาท้องที่ที่อื่น ๆ ดังนี้ต่อไป ในส่วนการทหารเรือ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้มีคำสั่งจัดการไปแล้วนั้น
(1) ได้เรียกบาญชี เช่นกับทหารบกทุกอย่าง
(2) ได้สั่งให้ถอนน่าที่ทหารกรมแสงให้พ้นจากการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในทหารบก...
(3) ให้รวมทหารกรมแสงกับกรมอรสุมพลเข้าเป็นกรมทหารเรือเดียวกัน การเบิกเงินให้กรมแสงเปนผู้ทำบาญชีมายื่นกรมยุทธนาธิการแห่งเดียว เลิกธรรมเนียมเบิกเบี้ยเลี้ยงแลธรรมเนียมจัดชื้อสิ่งของต่าง ๆ...ให้เบิกให้ซื้อเปนอย่างเดียวแห่งเดียวกัน แลการซ่อมแซมเรือและช่างทำเรือก็ให้ทำแห่งเดียวกัน ให้คงคนที่จะรับเงินเดือนไว้แต่พอแก่ราชการ
(4) ได้มีคำสั่งให้เลิกทหารมรีน ส่งตัวทหารมาเปนกลาสี เหมือนกับทหารกรมแสง ที่จะได้รักษาซ่อมแซมเรือทั้งปวง
(5) เรือรบซึ่งท้องเรือชำรุดบ้างเล็กน้อย คือ เรือสุริยมณฑลลำ 1 เรือหารหักสัตรูลำ 1 เรือยงยศอโยชฌิยาลำ 1...
(6) ได้มีคำสั่งขอแรงกรมทหารช้างให้ไปรื้อเรือราญรุกไพรีซึ่งผุจมอยู่ในอู่ที่จะได้คิดอู่หลวงขึ้นสำหรับซ่อมแซมเรือต่อไป การรื้อเกือบจะสำเร็จแล้ว
(7) ราชการต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เรือไปหมีมาประการใด เปนต้นคือการไปส่งสายโทรเลข แลไปรับพวกทำแผนที่ที่บางตะพานแลอื่น ๆ ข้าพระพุทธเจ้าได้บังคับจัดการไปตามสมควรให้ได้ราชการทุกอย่าง ราชการทหารบกทหารเรือที่ข้าพระพุทธเจ้าได้บังคับจัดการไปแล้วเช่นนี้
อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีเปนอันมาก ด้วยได้เห็นผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รับราชการในกรมยุทธนาธิการทำราชการตามน่าที่ของตน โดยความเต็มใจเต็มกำลัง มิได้เบื่อหน่ายย่อท้อพ้อล้วนทุกคน แลผู้บังคับการกรมทหาร ต่างก็เอาใจใส่ในน่าที่ราชการและสั่งบังคับบัญชาโดยเรียบร้อยด้วยกันทุกกรม ถ้าการต่อไปสดวกได้เช่นเปนมาในระหว่างนี้แล้ว ราชการทหารบกทหารเรือคงจะสำเร็จเรียบร้อยได้ดั่งพระราชประสงค์เปนมั่นคง
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ภาณุรังสี
527 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 18 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 6
วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ประชุมคณะกรรมการกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 6
...เวลาบ่าย 4 โมง 26 นาที เปิดประชุม
1. อ่านพระราชหัตถเลขาถึงกอมมิตตีโรงพยาบาล เรื่อง หมอเฮ อเมริกัน จะขอตั้งโรงคนไข้ แลเตมใจรับราชการในโรงพยาบาลไม่เอาเงินเดือน โปรดให้กอมมิตตีตอบหมอเฮ แลอ่านหนังสือเจ้าพนักงานไปรเวตสิเกรตารีตอบหนังสือที่ถวายขอพระบรมราชานุญาตยืมเงินพระคลัง 208 ชั่ง 10 บาท แลขอยกเงินมิวเซียมมาเปนเงินโรงพยาบาลนั้น โปรดพระราชทานพระบรม-ราชานุญาตแลมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพนักงานทั้งปวงแล้ว
2. เห็นควรจะให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเปนผู้ยืมแลเปนผู้ที่จะหักใช้คืนพระคลังซึ่งจะเปนการเรียบร้อยดี ส่วนเงินโรงพยาบาลเดือนละ 10 ชั่ง ให้กรมหมื่นศิริธัชสังกาศเป็นผู้เบิก
3. เรื่องหมอเฮ คนอเมริกันนั้น หมอกาวันได้แจ้งความว่า...เตมใจที่จะรับราชการในโรงพยาบาลหลวงไม่คิดที่จะเอาเงินเดือน แต่ขอจะมีอำนาจที่จะสอนสาสนาคฤสเซียนแก่คนไข้โรงพยาบาลได้...แต่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเหนว่าเปนการสำคัญมากด้วยโรงพยาบาลพึ่งจะตั้งขึ้น คนยังไม่มีน้ำใจเชื่อถือ เมื่อมีการปรากฏว่าเปนที่สอนสาสนาฝรั่งอย่างนี้ น่าที่จะทำให้คนเปนอันมากที่มีใจเป็นโบราณฤๅที่ไม่ชอบสาสนาฝรั่งก็จะรังเกียจ...ตกลงกันให้หมอกาวันตอบหมอเฮไปว่า...คอมมิตตียังกำลังจัดการอยู่โดยแขงแรง ไม่สามารถจะรับธุระของหมอเฮได้...
4. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ แลพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ปฤกษาเรื่องเอสติเมตเครื่องใช้สอยในโรงพยาบาล มีเตียงแลผ้าที่จะใช้แลเครื่องต่าง ๆ เปนการไม่ตกลงกัน กรมหมื่นดำรงราชานุภาพรับไปคิดการในเรื่องนี้ หลวงนายสิทธิรับที่จะให้โครงเหล็กสำหรับทำเตียงคนไข้...
2430 - 19 การพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2430 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ความตอนหนึ่งว่า
ข่าวพระเมรุท้องสนามหลวง
...การพระเมรุครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้า-น้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังสีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดชเปนแม่กอง
พระยาราชสงคราม (ทัด) เปนนายช่าง
กรมพระตำรวจแลกรมอื่น ๆ เปนนายงานทำพระเมรุ 9 ยอด องค์กลางสูงแต่พื้นดินขาดยอด 18
วา...ในราชวัตร
528 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ทึบเข้ามาแต่ก่อนซึ่งเคยมีส้างล้อมรอบพระเมรุนั้น โปรดให้พระบรมวงษานุวงษทำเรือนรูปต่าง ๆ กันมา ตั้งแทนสร้างสำหรับพระสงฆ์ที่ได้มาในการนิมนต แลเจ้ามาที่จะได้พักเหมือนสร้าง [ส้าง] รอบพระเมรุ แลเรือนทั้งปวงในการพระเมรุครั้งนี้ เมื่อเสรจการแล้วจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่โรงพยาบาล ซึ่งจะได้เปิดรักษาคนไข้เปนสาธารณทานทั่วไปในเร็ว ๆ นี้ด้วย...
2430 - 20 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 7
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2430 คณะกรรมการกอมมิตตีโรงพยาบาลประชุมปรึกษาการโรงพยาบาล ครั้งที่ 7 เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ศักราช 1249 ดังนี้ (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
...1. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้เชิญกระแสพระบรมราชโองการมาแจ้งความกับกอมมิตตีว่า ในการพระเมรุสมเดจพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ครั้งนี้ บันดาเรือนแลโต๊ะตู้ต่าง ๆ ซึ่งเคยทรงบริจาคเปนสังเฆก ถวายพระสงฆในการเช่นนี้นั้น จะโปรดเกล้าฯ ยกมาพระราชทานแก่โรงพยาบาล ซึ่งจะเปนสาตรณ์ประโยชน์แก่เอนกชนทั่วไป ไม่พระราชทานแก่พระสงฆเหมือนกาลก่อน ๆ ด้วยเคยทรงบริจาคพระราชทานพระสงฆมาเปนเอนกประการแล้ว ให้กอมมิตตีที่ปฤกษาพร้อมกันว่าจะต้องการสิ่งใดเท่าใด จะได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการทำให้ครบตามประสงค์ กอมมิตตีได้ปฤกษาพร้อมกันแล้วได้กำหนดไว้ว่าควรจะมีเตียงนอนที่เปนอย่างกลาง 4 อัน โต๊ะเรียนหนังสือ 4 อัน โต๊ะเหลี่ยม 4 อัน เก้าอี้ยาวพื้นไม้ไม่มีกำหนดแล้วแต่จะมีได้เท่าใด เก้าอี้สั้นรูปต่าง ๆ พื้นไม้ไม่มีกำหนด ตู้ใหญ่อย่างตู้ห้างสำหรับใส่เครื่องยาไม่มีกำหนด ตู้ลิ้นใส่เสื้อผ้าไม่มีกำหนด ชั้นสำหรับตั้งผ้าไม่มีกำหนด โต๊ะเล็กตั้งหัวนอนอย่างต่ำ ๆ ข้างล่างเปนตู้ไม่มีกำหนด ที่สำหรับบดยา 2 อัน โคมแขวนแลติดฝาต่าง ๆ ไม่มีกำหนด เรือ 6 แจว 2 ลำ 4 แจว 2 ลำ 2 แจว 2 ลำ รวมสิ่งของเหล่านี้เปนแต่ประมาณไว้ครั้งหนึ่งก่อน ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ ประการใด
2. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ แจ้งความว่าหม่อมราชวงษสนิทได้รับเงินล่วงน่าไปแล้ว 40 ชั่ง แลมาแจ้งความว่า เรือนที่คลองผดุงซึ่งเดิมรับไปซ่อมแซม 3 ชั่ง หมายว่ามีพื้นแลมีฝา บัดนี้ไปตรวจดูพื้นก็ขาดฝาก็ไม่มี ถ้ากอมมิตตีโปรดยอมอนุญาตให้อีก 4 ชั่ง เปน 7 ชั่ง แล้วเปนรับทำได้ กอมมิตตีเหนพร้อมกันว่าเปนการสมควรอยู่แล้ว เปนอันยอมอนุญาต...
3. หลวงนายสิทธิ์แจ้งความว่า
กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ให้แจ้งความแก่กอมมิตตีว่า หม่อมราชวงษสนิทไปขอให้ไล่ที่ซึ่งจะทำโรงพยาบาล
529 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
งานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ท่าน้ำโรงศิริราชพยาบาล
530 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ท่านไม่ทรงทราบว่าเหตุไรเปนประการใด จึ่งตกลงกันให้แชแมนมีจดหมายเล่าความที่จะซื้อที่แลขออำเภอไปด้วยจะได้เปนพยานแลเปนผู้ไล่...
2430 - 21 ขอซื้อที่ทำเป็นท่าน้ำโรงพยาบาล ณ วังหลัง
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีโรงพยาบาลกราบบังคมทูลเรื่องการเจรจาจัดซื้อที่ดินบ้าน 3 ราย คือ ที่ดินบ้านของ ม.ร.ว.พัน (บิดา) หม่อมป้อม หม่อมบัว (บุตร) รายหนึ่ง ที่ดินบ้านของบุตรของอำแดงนาก รายหนึ่ง และที่ดินบ้านของ ม.ร.ว.อ่วม รายหนึ่ง
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีโรงพยาบาลดำเนินการจัดซื้อที่ดินอำแดงนากและเวนคืนที่ดินของกรมพระราชวังหลังจาก ม.ร.ว.พันและ ม.ร.ว.อ่วม เพื่อทำเป็นท่าน้ำของโรงพยาบาล ณ วังหลัง
2430 - 22 หนังสือกราบบังคมทูลเรื่องการแก้ไขธรรมเนียมราชการ
วันที่ 14 มิถุนายน - 16 กันยายน พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องเธอ กรมหลวงเทวะวงษ-วโรประการเสด็จยังประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมงานฉลองสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และทอดพระเนตรวิธีการจัดตั้งคณะรัฐบาลและการจัดตั้งกระทรวงแบบอังกฤษ
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 หลังจากกลับจากยุโรป มีหนังสือกราบบังคมทูลเรื่อง “การแก้ไขธรรมเนียมราชการ” ดังความสำคัญบางตอนว่า
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสอันนี้ กราบบังคมทูลพระกรุณาข้อราชการที่จะจัดการแก้ไขธรรมเนียมราชการอันหนึ่ง ซึ่งเปนการสำคัญที่ได้ทรงพระราชดำริห์ให้มาแต่ก่อนแล้ว ยังหาเปนการสำเรจไม่ เพราะมีเหตุขัดขวางอยู่ตามกาลเวลาที่ล่วงมาแล้ว
บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า เหตุขัดขวางทั้งปวงนั้น เบาบางลงไปเกือบจะไม่มีแล้วก็ว่าได้ แลข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมลาไปราชการเสียช้านาน ครั้นกลับมาถึงก็ได้ทราบเกล้าฯ เหตุการณ์หลายอย่างซึ่งเหนเปนการจำเปนจะต้องจัดการเรื่องนี้ขึ้น
เหตุนั้น คือ
เปนต้นข้อสำคัญอธิบดีกรมต่าง ๆ แก่งแย่งในราชการ ไม่เป็นใจปรองดองพร้อมกันในราชการ
ราชการที่ควรจะสำเรจแล้วไป ก็เปนการขัดข้องทำให้เปนที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทบ่อย
ๆ...การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งให้กอมมิตตีไปชำระสะสางความรกร้างในกรมนครบาลนั้น ก็เบาบางเรียบร้อยลงมากแล้ว...อีกประการหนึ่งกรมยุทธนาธิการก็เหนเปนการตกลงที่ว่า
ราชการที่ได้จัดทำขึ้นนั้น ยังมีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกรมอื่น ๆ รวมใจความทั้งสองแห่งว่า
ถ้าไม่มี Cabinet Council
แล้วคงจะทำราชการให้ดีขึ้นไม่ได้...
531 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กรุงเทพฯ
ในอดีต
หมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า คณะเสนาบดีเจ้ากระทรวงแบบเก่านั้นพ้นสมัย ไม่เหมาะกับการงานในขณะนั้น จึงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรประการ เสนาบดีศาลาว่าการต่างประเทศ (ในขณะนั้นยังไม่ตั้งกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งจะเสด็จไปร่วมงานฉลองสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียครบ 50 พรรษา ให้ไปพิจารณาแบบคณะเสนาบดีในยุโรปว่าทำกันอย่างไร กรมหลวงเทวะวงศวโรประการจึงทรงกราบบังคมทูลรายงานวิธีการกำหนดตำแหน่งเสนาบดี มีการพิจารณาที่จะตั้งกรมใหญ่ ขึ้นอีก 6 กรม มีเสนาบดีที่มีศักดิ์เสมอกัน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะตั้งกรมใหญ่เพิ่มอีก 6 กรมในทันที การจะไม่เรียบร้อย ด้วยผู้ดำรงตำแหน่งยังไม่คุ้นเคยกับงาน จึงให้ทดลองธรรมเนียมราชการอย่างใหม่ คือ ทำแบบ Cabinet Council ในปี พ.ศ. 2431 ทรงเป็นประธานในที่ประชุม นำการปรึกษาราชการและบัญชาการแก่เสนาบดีกรมใหญ่ต่าง ๆ ทั้งกรมแบบเก่า (กรมจตุสดมภ์ 4 กรมมหาดไทย 1 กรมกลาโหม 1) และกรมแบบใหม่ (เช่น กรมยุทธนาธิการ กรมศึกษาธิการ เป็นต้น) ทรงนำในการปรึกษาข้อราชการและบัญชางานแก่เสนาบดีต่าง ๆ ทั้งนี้ รูปแบบการประชุมทรงว่าราชการพัฒนามาจากการทรงงานกับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่ทรงทดลองจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417 ปัจจุบันคือคณะรัฐมนตรี - Cabinet Council
2430 - 23 ตั้งกอมมิตตีตกแต่งพระนคร
รักษาความสะอาดของกรุงเทพฯ
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกอมมิตตีตกแต่งพระนครเพื่อจัดการแก้ไขความเสื่อมโทรมของกรุงเทพฯ ความสะอาดพระอารามหลวงและสถานที่ต่าง ๆ ถนน สะพาน คลอง แม่น้ำ หมู่บ้าน ตึกแถว สวนและโรงร้าน ตลาด กำแพงและประตูพระนคร ท่าน้ำ
532 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 24 โอนย้ายหมอวังหน้ามารับตำแหน่งแพทย์ทหารบก
วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระราชทานสัญญาบัตรทหาร 15 นาย โดยมีหมอในสังกัดกรมทหารบก 1 นาย คือ หลวงวิเสศโอสถ กรมหมอฝ่ายพระราชวังบวร เป็นเซอเยิน (surgeon) กอมปนีออฟฟิซเซอ กรมทหารบก 1
2430 - 25 ส่งราชทูตดูงานการทหาร การจัดการศึกษาและโรงเรียนแพทย์
ณ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรี และพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศมหาวราภรณ์แห่งเครื่องราชอิสริยยศอย่างสูงสุดช้างเผือกสยาม ไปยังพระเจ้ามุตสุหิโต เมกาโดราชาธิราช ณ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2430 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพมีคำสั่งแจ้งความมายัง ขุนวรการโกศลที่จะไปตรวจการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ว่า
...ด้วยในคราวซึ่งราชทูตจะออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรการโกศลเป็นพนักงานออกไปตรวจการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น...
(5) โรงเรียนสอนการต่าง ๆ โรงเรียนชั้นนี้คือ โรงเรียนสอนวิชาหมอ 1 วิชากฎหมาย 1 การไร่นา 1 การค้าขาย 1 ต้องตรวจดูให้รู้ว่า
(ก) จัดการอย่างไร
(ข) นักเรียนคนชนิดไร
(ค) เรียนรู้แล้วไปไหน
(ง) โรงเรียนเหล่านี้มีประโยชน์แก่เคาเวอแมนอย่างไรบ้าง
(จ) ธรรมเนียมจัดการในโรงเรียนอย่างไร
หมายเหตุ
การศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้
นำมาประยุกต์ใช้กับระบบจัดการทหารในกรมยุทธนาธิการและระบบจัดการศึกษาในกรมศึกษาธิการในช่วงระหว่าง
พ.ศ. 2430 - 2435 และหลังจากที่พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสด็จพระดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ.
2434 - 2435
และได้รับที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปชาวเบลเยียมคือมิสเตอร์โรลังยัคมินส์
(เจ้าพระยาอภัยราชา) แล้ว
สันนิษฐานว่าการจัดการระบบราชการต่าง ๆ ได้ปรับเป็นแบบยุโรปและระบบจัดการทหารปรับไปใช้แบบเยอรมนี
533 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2430 - 26 เริ่มจัดการปกครองแบบเค้าสนามหลวงที่เมืองนครเชียงใหม่
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2430 นายแย้ม มหาดเล็ก ผู้ช่วยราชการตำแหน่งเมืองนครเชียงใหม่ มีหนังสือ ที่ 1107 กราบบังคมทูลเรื่องข้อพระราชบัญญัติจัดการปกครองที่เมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงจัดไว้บ้างแล้ว 4 กรม คือ มหาดไทย ทหาร ยุติธรรม คลัง ยังขาด 2 กรม คือ กรมวังและกรมนา
2430 - 27 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 11 22 พฤศจิกายน พ.ศ.
2430
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 11 สรุปข้อตกลงกัน 5 เรื่อง (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
1. เรื่องการจัดซื้อที่ดินซึ่งเป็นท่าน้ำโรงพยาบาล
2. ค่าย้ายเรือนของหม่อมหลวงเชยในวังหลัง
3. ค่าย้ายเรือนของหม่อมราชวงศ์จินดา หม่อมราชวงศ์คล้อย
4. เครื่องในตึกศิริราชได้กะตกลงหมดทุกห้อง มอบให้หลวงนายสิทธิไปเลือกตัวอย่างตามสมุดภาพของเหล่านั้น จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
5. ตึกพระอรรคชายาและตึกวิกตอเรีย ซึ่งได้ตกลงให้มิสเตอร์แกรซีทำนั้น ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงษ์ ผู้แทนที่สะเกตรี มีจดหมายสั่งมิสเตอร์แกรซีให้ไปลงมือทำ
2430 - 28 หม่อมเจ้าในพระราชวังหลังถวายฎีการ้องทุกข์
วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2430 หม่อมเจ้าชายหนูน้อยในกรมพระราชวังหลัง อายุ 90 ปี และหม่อมเจ้าหญิงเสงี่ยม อายุ 75 ปี หม่อมเจ้าหญิงสอาด หม่อมเจ้าชายปฤดา หม่อมเจ้าชายถาวร ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ตั้งบ้านเรือนในวังกรมพระราชวังหลัง ทำเรื่องราวร้องทุกข์ว่า เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พนักงานมาเชิญ “พระอัฎฐิ” กรมพระราชวังหลังไปไว้ในพระบรมมหาราชวัง แต่ “พระอัฎฐิ” บางส่วนที่เหลือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงเสงี่ยมเป็นผู้รักษา ต่อมา ณ วัน 3 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1 ปีกุน นพศก (วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพรับสั่งให้ขุนขจรภักดีอำเภอมาไล่ที่วังหม่อมเจ้าชายหนูน้อย กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหลวงเสนีบริรักษ์ จึงได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะย้ายเรือนได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2430 ความว่า
...โรงหมอเปนที่จะจัดให้เปนประโยชน์แก่คนทั้งปวงทั่วไป
กอมมิตตีโรงพยาบาลได้จัดการยอมให้ผู้ที่เป็นเชื้อวงษ์กรมพระราชวังหลัง
ไปปลูกเรือนอยู่ในบริเวณฉางเกลือเก่า ไม่ต้องซื้อหา
เย่าเรือนอันใดก็ยอมให้รื้อไปแลจ่ายเงินให้รายละชั่งสิบตำลึงทั่วกันแล้ว
เห็นว่าไม่ควรจะขัดขวางให้การที่เปนประโยชน์เสียไป...
534 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2430 กอมมิตตีจัดการตั้งโรงพยาบาล กราบบังคมทูลเรื่อง การย้ายหม่อมเจ้าชายหนูน้อยในกรมพระราชวังหลัง และหม่อมเจ้าในกรมหลวงเสนีบริรักษ์อีก 4 องค์ ได้จัดการให้ย้ายไปอยู่ที่ฉางเกลือ ตำหนักและเรือนเก่ายกให้เป็นสิทธิ์ย้ายไปปลูกในที่ใหม่ได้ จ่ายค่าย้ายเรือนให้รายละ 30 ตำลึง
พ.ศ.
2431
2431 - 1 พระยาภาสกรวงศ์กราบทูล เรื่องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่น
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2431 พระยาภาสกรวงศ์กราบทูลเสนาบดีว่าการต่างประเทศ 1. เรื่องเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ามิกโทราชาธิราชแห่งประเทศญี่ปุ่น และการได้รับความรับรองอย่างนับถือทางพระราชไมตรีอันสนิท 2. เรื่องเครื่องราชอิสริยยศต่าง ๆ 3. เรื่องพระราชสาส์น 4. เรื่องสำเนาพระราชดำรัสตอบพร้อมคำแปล ฯลฯ
2431 - 2 รายงานการดูงานโรงเรียน รวมโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล
ณ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431 ขุนวรการโกศลถวายรายงานกราบทูล พระเจ้า-น้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการเรื่องการโรงเรียนต่าง ๆ ทุกประเภท รวมทั้งรายละเอียดของ โรงเรียนหมอ โรงหมอและฮอสปิเทลสำหรับรักษาคนไข้เป็นโรงใหญ่ โรงหมอที่ 2 เป็นโรงเล็ก
2431 - 3 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 12 ตั้งโรงเทพศิรินทรพยาบาล
“โรงพยาบาลช่วงแห่งแรก”
และทำ “แพพยาบาล”
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431 ประชุมกอมมิตตีโรงพยาบาล ครั้งที่ 12 มีการจัดตั้งโรงพยาบาลเทพศิรินทร์เป็นโรงช่วง (หมายถึงโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ให้การรักษาแบบจำเป็นพื้นฐานในพื้นที่ชุมชน) (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
การซึ่งได้ปฤกษาในเวลาวันนี้ คือ
1. เรื่องเรือนในบริเวณพระเมรุ
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานในโรงพยาบาล...ส่วนโรงเรือนที่จะรับพระราชทานไปใช้การโรงพยาบาล 10 หลัง...เรือนใหญ่ของกรมสมเดจพระสุดารัตนราช-ประยูรนั้น
กว้างขวางพอเปนโรงพยาบาลอีกแห่ง 1 เปน โรงช่วง ได้ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ได้แจ้งความว่า
จะขอพระราชทานไปหลัง 1 กับจะขอเรือนเล็กที่กำหนดแล้วนี้หลัง 1 รวม 2 หลัง
ไปปลูกในที่ใกล้วัดเทพศิรินทร ริมคลองผดุงกรุงเกษม จะปลูกโรงเพิ่มเติมอีกเปน
535 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ส่วนของท่านเอง แล้วจะตั้งเปนโรงพยาบาลขึ้นตำบล 1 ส่วนค่าใช้สอยแลหมอคนพยาบาลก็เปนส่วนท่านจะออกเงินทำไป ถ้าไม่มีกำลังพอแล้ว ซึ่งจะให้เปนส่วนโรงพยาบาลใหญ่เปนธุระต่อไป...
2. เงินที่พระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ ทรงกำหนดว่าจะทำแพพยาบาลทูลเกล้าฯ ถวายในการพระเมรุ...รวม 20 ชั่งนั้น จะได้ให้หม่อมราชวงษสนิททำแพสำหรับใช้เปนโรงพยาบาลที่จะได้ไปใช้ที่หัวเมืองมีลำน้ำ คือ กรุงเก่า เปนต้น คงจะได้เปิดไปใช้การในเดือน 8 ปีชวด สัมฤทธิศกนี้ เปนแน่
3. เฟอนิเชอต่าง ๆ ซึ่งสร้างขึ้นเปนของสังเคดตั้งในการพระเมรุครั้งนี้ เปนของมากเหลือที่จะใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งจะเปิดในเร็ว ๆ นี้เปนอันมาก จะต้องเก็บไว้สำหรับตึกศิริราชซึ่งกำลังลงมือทำอยู่ ของนั้นได้มอบให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพรักษาฝากไว้ที่ศาลายุทธนาธิการกว่าตึกนั้นจะสำเร็จ...
4. ส่วนผู้บัญชาการโรงพยาบาลนั้น ควรจะมีเวลากำหนดฉลองพระเดชพระคุณเพียง 3 ปี ต้องเปลี่ยนใหญ่ แต่ถ้าผู้ใดจัดการเรียบร้อยดี ก็เพิ่มอีก 3 ปี...แลผู้เปนอธิบดีโรงพยาบาลนั้น ถ้าโรงพยาบาลจะแผ่ออกไปในหัวเมืองใดในพระราชอาณาเขตรก็ต้องเปนธุระที่จะตรวจตราบังคับดูแลโรงพยาบาลนั้น ๆ ตลอดไป ถ้าเมืองใดควรจะตั้งขึ้น ก็เปนธุระที่คิดจะจัดการ แลต้องเปนผู้ตรวจตราสิ่งที่เปนอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดโรคแก่ชนทั้งปวง เปนต้นว่า มีของโสโครกมั่วสุม อยู่ในที่ใกล้ที่อยู่ของคนเปนอันมาก...เปนน่าที่ที่จะตักเตือนเจ้าของกรมเจ้าของน่าที่ให้จัดการแก้ไขอันตรายที่จะเกิดโรคนั้นด้วย
5. หมอเกาแวนเหนว่าควรจะมีกอมมิตตีสำหรับตรวจการโรงพยาบาลแลตรวจบาญชีเงินใช้สอยตลอดโดยลเอียด ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 หน...
2431 - 4 รายงานการสืบราชการทหาร ณ ประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องแพทย์ทหาร
พ.ศ. 2431 พระวรเดชศักดาวุธ คอลอแนล และหลวงฤทธิณรงรอน เมเยอ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงษวรเดช ผู้แทนผู้บัญชาการทหารทั่วไป กรมยุทธนาธิการ เพื่อถวายรายงานการสืบราชการทหารเมืองญี่ปุ่น ที่ไปพร้อมกับพระยาภาสกรวงศ์ ราชทูต จำนวน 46 แผ่น มีความย่อเฉพาะด้านการแพทย์ โดยเขียนเป็นลักษณะถาม - ตอบ ดังนี้
...27 การรักษาพยาบาลทหารเจบไข้จัดอย่างไร คือว่า มีโรงพยาบาล อยู่ติดกับโรงทหารทุก ๆ แห่ง ฤๅ มีโรงพยาบาลใหญ่สำหรับทหารต่างหาก หมอ แลยาที่ใช้อย่างไร
27
การที่รักษาทหารป่วยไข้นั้น ตั้งโรงหมอใหญ่สำหรับรักษาทหารแห่งหนึ่ง
ถ้าทหารป่วยไข้เลกน้อย หมอที่ประจำโรงทหารเบิกยาจากโรงหมอใหญ่ไปจ่าย
ถ้าทหารป่วยมาก ส่งไปรักษาที่โรงหมอใหญ่ คนที่เปนหมอนั้น เลือกเอาคนทหาร
ยาที่ใช้นั้นยาญี่ปุ่นบ้างยาฝรั่งบ้าง...
536 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หนึ่งในของที่ระลึกในงานพระเมรุ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2431 - 5 การพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย และ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2431
2431 - 6 ความเห็นเรื่องโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และยุนิเวอสิตี
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือ ที่ 4/49 กราบบังคมทูลถวายความเห็นเรื่องจัดการศึกษาสำหรับผู้ซึ่งจะเป็นอาจารย์ก่อน เรียกว่า นอมัลสกูล (Normal school) “ถ้าได้จัดขึ้นได้คงจะเป็นทางที่มีโรงเรียนใหญ่ คือ ปับบลิคสกูล (Public school) แล ยุนิเวอสิตี (University) ในภายหลัง” โรงเรียนนอมัลสกูลในชั้นต้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
ฝ่ายวิชานักปราชญ์ ส่วน 1 : สอน 9 วิชา Geography-Physical Geography - Mathematic - Astronomy - Zoology - Botany - Geology - Physic - Chemistry ครูสอนคือ มิสเตอเฮนรี นิโคลเล เดิมเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนแผนที่
ฝ่ายวิชาหนังสือ ส่วน 1 : สอน 3 ภาษา ไทย - บาฬี - อังกฤษ ครูสอนคือนายแพ / นายเทษ
ฝ่ายวิชากฎหมาย ส่วน 1 : สอนกระบวนพระราชกำหนดกฎหมาย และลักษณะพิจารณาความ วิชา Political Economy ครูสอนคือนายเปล่ง
...ถ้าได้ตั้งขึ้นตรวจตราให้สอนโดยแขงแรงสักปี 1
นักเรียนคงจะมีความรู้พอเป็นอาจารย์ได้ (ถึงยังไม่ได้ดี
ไปสอนครึ่งวันมาเรียนต่อครึ่งวันก็ใช้ได้)...แลที่จะเรียนเข้ายุนิเวอสิตี้ในชั้นนี้กว่าจะเรียบร้อยคงอยู่ในอีกสัก
3 ปี ต่อนั้นไปก็คงจะมียุนิเวอสิตี้ได้ดังประเทศญี่ปุ่น...
2431 - 7 เปิดโรงพยาบาลที่วังหลัง
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องบอกเปิดโรงพยาบาล
537 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
บอกเปิดโรงพยาบาล
โรงพยาบาลซึ่งพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้กอมมิตตีปฤกษากันจัดการขึ้นเปนมหาทานแก่อเนกชนนิกรที่อาไศรยอยู่ในพระราชอาณาเขตรกรุงสยามนั้น บัดนี้ได้จัดการทั้งปวงแล้วเสรจภอสมควรที่จะเปิดรักษาโรคในชั้นแรกนี้ได้แล้ว ได้จัดให้มีเรือนหมอเรือนคนป่วยไข้อยู่ มีหมอรักษาโรคแลคนพยาบาลพร้อมแล้ว โรงพยาบาลนั้นได้ตั้งอยู่ที่พระราชวังหลังริมแม่น้ำฝั่งตวันตก มีปริเวณที่อาไศรยสอาดเรียบร้อยภอสมควรกับการชั้นแรก กำหนดจะได้เปิดรับรักษาโรคต่าง ๆ ไม่ว่าโรคอย่างใด ในวัน 5 เดือน 6 แรมค่ำ 1 ปีชวด สัมฤทธิศก 1250 ถ้าผู้ใดป่วยไข้จะมาอยู่ในโรงพยาบาลนี้ ฤๅผู้คนข้าทาสป่วยเจบจะมาส่งยังโรงพยาบาลนี้ ก็จะรับรักษาให้ ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมอันใด...
โรงพยาบาลนี้ เปนส่วนพระราชกุศล ทรงสละพระราชทรัพยให้ตั้งขึ้นเปนทาน ในการรักษาโรคแลป้องกันความทุกขยากของชนทั้งหลายที่จะเกิดจากพยาธิ มิให้หมอฤาคนพยาบาลเรียกค่ายาค่ารักษาแก่คนไข้เลยเปนอันขาด ยกไว้แต่ผู้ที่มีสัทธาในส่วนพระราชกุศลนี้ ฤามีจิตรกรุณาต่อเพื่อนมนุศยด้วยกัน จะออกเงินเข้าในส่วนพระราชกุศลมหาทานนี้ได้ไม่ห้ามปราม...
2431 - 8 ตั้งโรงเรียนทหารบก (สราญรมย์)
วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ มีหนังสือ ที่ 67/40 กราบบังคมทูลถวายรายงาน ราชการในกรมศึกษาธิการ ฉบับที่ 10 ความตอนหนึ่งว่า
...(3) ฝ่ายการที่จัดตั้งขนบธรรมเนียมที่ฝึกสอนแลวิธีสอน แบบสอนซึ่งจัดแบ่งเป็นพวก เป็นชั้นแลสอนวิชาหลาย ๆ อย่าง ตามที่ได้จัดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ก็คงได้ใช้ตามแบบนั้นตลอดมา แลเห็นประโยชน์ของแบบวิธีเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้เล่าเรียนมีความรู้กว้างขวางขึ้นได้
อนึ่งในระหว่างนั้น
กำลังข้าพระพุทธเจ้าต้องเกี่ยวข้องติดราชการฝ่ายทหารติดพันอยู่ด้วย
ได้ตกลงในฝ่ายยุทธนาธิการว่า ควรจะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสอนวิชาเด็กนักเรียนที่เป็นทหารขึ้นอีก
ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้สั่งให้ เลิกโรงเรียนสราญรมย์เสียโรงหนึ่ง
เลิกโรงเรียนแผนที่อีกโรงหนึ่ง
จัดที่โรงเรียนสราญรมย์ตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร
จัดเอาพวกคะเด็ดแลพวกนักเรียนเดิมในโรงเรียนแผนที่ ไปสมทบกันเล่าเรียน
ส่วนนักเรียนเก่าในโรงเรียนสราญรมย์ที่เลิกเสียนั้น
ก็เข้ามาเล่าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบบ้าง ไปเล่าเรียน ณ
โรงเรียนตามวัดต่าง ๆ บ้าง ที่
538 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โรงเรียนสราญรมย์นั้นก็คงเป็นโรงเรียนสำหรับสอนพวกคะเด็ดต่อมา วิธีสอนวิชาที่สอน แลจำนวนนักเรียนในโรงเรียนคะเด็ดคงจะมีแจ้งอยู่ในรายงานฝ่ายยุทธนาธิการนั้นแล้ว ด้วยเป็นการพแนก 1 ไปจากกรมศึกษาธิการ...
2431 - 9 ประกาศแจกจ่ายน้ำจืด
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 ประกาศแจกจ่ายน้ำจืดแก่ราษฎร เนื่องจากในเดือนเมษายน พ.ศ. 2431 มีฝนน้อย น้ำเค็มสมุทรปราการขึ้นจัดมาก ราษฎรต้องบริโภคใช้สอยน้ำเค็ม เป็นเหตุที่จะให้เกิดโรคท้องเสีย เป็นต้น
2431 - 10 ประโยชน์การดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือที่ 36 กราบบังคมทูลถวายรายงานผลการส่งขุนวรการโกศล และนายสุด ล่าม ไปตรวจการศึกษาประเทศญี่ปุ่น “คงจะเป็นคุณประโยชน์สามารถสำเร็จได้สมดังพระราชประสงค์ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้มีข้าหลวงกรมศึกษาธิการออกไปตรวจการ” และได้จัดการสอนภาษาอังกฤษขึ้นใหม่ รวมอยู่ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยพระองค์ถวายความเห็นว่าเดิมแยกกันคนละโรงเรียน เป็นเหตุทำให้ไม่เจริญ
2431 - 11 โรงบูรพาพยาบาล โรงพยาบาลช่วงแห่งที่ 2
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2431 กอมมิตตีโรงพยาบาลกราบบังคมทูล ความว่า
...ด้วยการโรงพยาบาลที่วังหลังทุกวันนี้ กำลังเจริญขึ้นเสมอทุกเดือน มีคนไข้ที่ได้เข้ามารักษาอยู่ใน 20 - 30 คน...ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 6 มาจน เดือน 7 ปีชวด สัมฤทธิศก มีคนที่ได้หายโรคออกไปจากโรงพยาบาล 18 คน ที่ตายด้วยอหิวาตกโรคที่มาอยู่เมื่ออาการมากแล้ว 2 คน ตายด้วยวรรณโรคภายใน 1 คน รวมที่ตายภายในโรงพยาบาลเดือน 7 เพียง 3 คน เห็นว่าเปนการเจริญขึ้นมาก
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คนที่จนอนาถาไม่มีกำลังจะมายังโรงพยาบาลที่วังหลังได้จะมีอยู่โดยมาก ควรจะมี โรงพยาบาลช่วง อีกแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้รับรักษาโรคเล็กน้อยแลคนจนที่มีกำลังน้อย เมื่อเปนโรคมากมายให้ส่งคนเจ็บไปยังโรงใหญ่
เห็นด้วยเกล้าฯ
ว่า ที่บ้านจีนตานายอากรตกเป็นของหลวง เปนที่ใกล้ตำบลสามเพ็ง
ซึ่งเปนที่คนประชุมอยู่มาก สมควรจะตั้งโรงพยาบาลช่วงรับรักษาโรคที่เปนเร็ว ๆ
เหมือนอหิวาตกโรค แลบาดแผลสด ๆ ฤๅไข้เจ็บที่พอจะไปมาให้หมอตรวจแลรับพระราชทานยาได้
ไม่ต้องอยู่ประจำในโรงพยาบาล ที่บ้านนั้นว่างเปล่าอยู่
ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้ทูลถามรองอธิบดี
539 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กรมพระคลังมหาสมบัติ ๆ ได้ประทานรายการในตึกนั้นมาแลทรงเห็นสมควรที่จะทำโรงพยาบาลได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติเข้ามาด้วย
การที่กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนี้เพื่อว่าที่นั้นใกล้ที่ประชุมชน แลมีพื้นที่อยู่บ้าง ถ้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว จะได้ซ่อมแซมตามที่ชำรุดมากอยู่นั้นให้ใช้การได้ แลจะได้เปิดการต่อไป...
2431 - 12 เกิดข่าวลือทำให้คนไม่กล้าไปโรงพยาบาล
มีข่าวในราชกิจจานุเบกษา เรื่องโรงพยาบาล ว่าหลังจากเปิดโรงพยาบาลมาได้สองเดือน มีคนเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลถึง 60 คนเศษ มีคนตายเพียง 5 คนเนื่องจากมาอยู่เมื่ออาการหนักมากแล้ว และรักษาจนหายดี 30 คนเศษ จึงเป็นที่ชื่นชมยินดี แต่มีข่าวลือเกิดขึ้นว่า ถ้ารักษาหายจะต้องเป็นทหาร และความเชื่อผิด ๆ ที่ไม่ให้บ่าวไพร่มารักษาตัว หนังสือราชกิจจานุเบกษา จึงลงแจ้งความเพื่อยืนยันว่าไม่ได้จับคนมาเป็นทหาร
...แต่บัดนี้มีข่าวเล่าฦๅชุกชุมว่า ถ้ารักษาหายจะต้องเปนทหาร ความข้อนี้หนังสือราชกิจจานุเบกษาขอรับยืนยันเปนมั่นคงว่า การดังนั้นไม่มีเลย ด้วยพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวของเราทั้งหลาย ย่อมมีพระบรมเดชานุภาพ ตลอดพระราชอาณาเขตรสยาม ถ้ามาทแม้นจะโปรดเกล้าฯ ให้คนในพระราช-อาณาจักรนี้ เปนทหารทั้งสิ้นจะมีเหตุขัดขวางประการใดก็ไม่มี คงต้องเปนทหารได้ทั้งสิ้น เหตุใดจะต้องการตั้งการต่าง ๆ ทำอุบาย คือ ตั้งโรงเรียนตามพระอาราม แลตั้งโรงพยาบาล จับเอาคนมาเรียนวิชา ฤๅรักษาไข้ มาเปนทหารเล่า...
แต่การอีกอย่างหนึ่ง
คือความเหนผิด ที่ถือว่าจะให้ผู้คนบ่าวไพร่มารักษาตัวในโรงพยาบาล จะเปนที่เสียหาย
ในชื่อเสียงของท่านผู้นายโด่งดังทราบถึงท่านผู้นั้นผู้นี้ จะเปนไม่มีกรุณาต่อบ่าว...แลคิดไปต่าง ๆ เหลือที่จะพรรณานั้น...การที่มีโรงพยาบาลขึ้นในเมืองเรา
ซึ่งคนทั้งปวงยังไม่เคยเหนมีนั้น ไม่เปนการแปลกประหลาดอันใดเลย
ประเทศทั้งหลายที่มีความเจริญแล้วนั้น ย่อมมีโรงพยาบาลขึ้นในบ้านในเมือง
ประเทศละหลายสิบโรงทีเดียว
เพราะหวังประโยชน์จะอนุเคราะห์แก่คนจนอนาถาไม่มีทรัพย์สมบัติจะหาหมอรักษาโรคภัยได้
ถึงในเมืองเรา แต่ก่อนมีไข้เจบชุกชุม กล่าวคือโรคลงท้องเปนต้น
พระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ตั้งที่จำหน่ายยาเปนทานบ้าง ตั้งโรงรักษาไข้บ้าง
ทุกคราวมา แต่บัดนี้
พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริห์ที่จะบำรุงรักษาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนตามพระอาราม การเล่าเรียนที่จัดนั้นเจริญขึ้น
สำเรจตามพระราชประสงค์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งโรงพยาบาลรับรักษา
540 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ไข้เจบเสมอมิได้ขาด...ท่านผู้ที่ดำริห์เหนว่าถ้าให้บ่าวไปอยู่ในโรงพยาบาล จะเปนที่เสียชื่อเสียงว่าไม่มีความกรุณานั้น เปนความเหนผิดจากการที่สมควร
2431 - 13 ตำแหน่งแพทย์ประจำกรมทหาร
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 ประกาศราชกิจจานุเบกษาพระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการฝ่ายทหาร 47 นาย และฝ่ายพลเรือน 3 นาย มีตำแหน่งแพทย์ตามระบบราชการแบบใหม่ (แบบตะวันตก) ดังนี้ ฝ่ายพลเรือน - ไม่มีตำแหน่งแพทย์ ฝ่ายทหาร - ขุนสิทธิพรหมา นายแพทย์ (เซอเยอน - Surgeon) ในกรมทหารบก หม่อมเจ้าเปล่ง ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา เป็นผู้ช่วยนายแพทย์ (แอดซิสแตนเซอเยอน - Assistance Surgeon) ในกรมทหารบก
2431 - 14 “แพทย์ทหาร” ผู้ได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2431 รายชื่อแพทย์ทหารผู้ได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดังนี้ กรมทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง ขุนสิทธิพรหมา - นายแพทย์ 1 หม่อมเจ้าเปล่ง ผู้ช่วยนายแพทย์ 1 กรมทหารฝีพาย นายซุง ผู้ช่วยนายแพทย์ 1
2431 - 15 พระราชบัญญัติสำหรับลำดับยศนายทหารบก
วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2431 ประกาศ พระราชบัญญัติสำหรับลำดับยศนายทหารบก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ ผู้แทนผู้บัญชาการกรมทหารทั่วไป รับสนองพระบรมราชโองการ มีความสำคัญเกี่ยวกับแพทย์ทหาร ดังนี้ ...มาตรา 4 กองทหารหลายกองไปที่ใด เมื่ออยู่ในที่อันบริเวณเดียวกัน นายทหารผู้มียศใหญ่กว่าบรรดานายทหารที่อยู่ในที่นั้นได้บังคับบัญชาคน 1 เว้นแต่นายทหารที่เป็นตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายมิใช่พลรบ คือ ยกกระบัตรกอง (ควอตเตอมาศเตอ) เกียกกายกอง (เปมาศเตอ) แล นายแพทย์ เปนต้น จะเป็นผู้บังคับบัญชาเช่นนั้นไม่ได้...
พระราชบัญญัติสำหรับลำดับยศนายทหารบก กำหนดให้มีตำแหน่งแพทย์ทหารในกรมยุทธนาธิการ มีฐานะเป็นข้าราชการทหารฝ่ายสนับสนุน ไม่ใช่ทหารฝ่ายรบ
2431 - 16 ตึกเสาวภาคย์ โรงศิริราชพยาบาล
วันที่ 11 ตุลาคม
พ.ศ. 2431 มิสเตอร์แกรซีขอรับพระราชทานเงินค่าทำตึกโรงพยาบาล
เป็นเงินในส่วนของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ 70 ชั่ง
เนื่องจากก่อสร้างตึกใกล้จะเสร็จแล้ว
541 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตึกเสาวภาคย์
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2431 - 17 ประชุมกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ครั้งที่ 13
วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 ประชุมกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล เรื่องโรงพยาบาลหลวง ณ วัน 4 แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ปีชวด สัมฤทธิศก มีความโดยย่อดังนี้ (ดูสำเนาเอกสารต้นฉบับในภาค 3)
...ตั้งแต่ปีกุนยังเป็นอัฐศกจนบัดนี้ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลเปิดรับรักษาพยาบาลคนไข้ได้แล้ว 2 ตำบล คือ โรงพยาบาลใหญ่ที่วังหลัง ได้รับรักษาพยาบาลคนไข้มาตั้งแต่เดือน 6 ปีชวด สัมฤทธิศกนี้ ตำบล 1 โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย ได้รับรักษาพยาบาลคนไข้ในเดือน 12 ปีชวด สัมฤทธิศกนี้ตำบล 1 โรงพยาบาลที่จะได้เปิดในเร็ว ๆ นี้อีก 2 ตำบล คือ โรงพยาบาลที่ริมวัดเทพศิรินทราวาศ ตำบล 1 แพพยาบาล จะออกไปรักษาพยาบาลคนไข้ตามหัวเมือง แพ 1 ยังการที่ได้คิดตกลงแล้วจะจัดได้ต่อไปตามเวลาที่สมควรอีกหลายอย่าง คือ โรงพยาบาลรักษาคนเสียจริต โรงพยาบาลเลี้ยงเด็ก โรงเลี้ยงคนชรา โรงเรียนหัดวิชาแพทย์ เปนต้น...
การโรงพยาบาลซึ่งได้จัดขึ้นแล้วเพียงใด ข้าพระพุทธเจ้าได้วางแบบแผน แลได้ช่วยกันตรวจตรามาโดยแขงแรง เปนการเรียบร้อยเจริญมาโดยลำดับพอวางใจของข้าพระพุทธเจ้าได้แล้วว่า การโรงพยาบาลทั่วไปคงจะเปนประโยชน์ยั่งยืนไปได้ ไม่เสื่อมถอยเปนแน่แท้...
542 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ในที่สุดความซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลกราบบังคมทูลพระกรุณานี้ ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะได้นำความชอบของนายร้อยโท หม่อมราชวงษสนิท ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทด้วย ด้วยหม่อมราชวงษสนิทได้รับทำการก่อสร้างโรงพยาบาลแลเครื่องใช้สอยทั้งปวงมาแต่แรกตลอดจนบัดนี้ ด้วยความอุตสาหแขงแรงแลเต็มใจสนองพระเดชพระคุณเปนอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้า เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า หม่อมราชวงษสนิทสมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลความชอบทั้งปวงนั้นสักอย่างใดอย่างหนึ่งได้…
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2431 “พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียนดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา แก่นายร้อยโท หม่อมราชวงศ์สนิท ในการที่มีความรู้วิชาช่าง ได้ทำการเปนนายช่างในที่ทั้งปวง มีโรงพยาบาลเปนต้น สำเร็จมาแล้วเปนอันมาก”
2431 - 18 ตั้งโรงพยาบาลหลวงหัวเมือง
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2431 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องพระอินทรประสิทธิ์ศร ผู้ว่าราชการเมือง รายงานจำนวนผู้ป่วยที่มารับยารักษาจากหมอที่โรงพยาบาลที่เมืองอินทรบุรี มีจำนวน 165 คน
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า พระอินทรประสิทธิ์ศร ผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้จัดตั้ง โรงพยาบาลเมืองอินทรบุรี พร้อมหมอรักษาขึ้น โดยได้รับการอุดหนุนจากกระทรวงธรรมการ เรื่องยาฝรั่งและเครื่องมือปลูกฝี
การจัดตั้งโรงพยาบาลตามหัวเมืองนั้น เป็นการจัดจ้างแพทย์จากกรุงเทพฯ ออกไป คือเป็นแพทย์ประจำเมือง ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนราชแพทยาลัย จึงจ้างแพทย์ที่จบจากโรงเรียนราชแพทยาลัย ดังรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวของพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิรยศิริ) รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 ความว่า
...การรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามหัวเมืองนั้น แต่เดิมมีแต่แพทย์ไทยในท้องที่ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ข้าราชการในกรุงเทพออกไปรับราชการตามหัวเมืองมากขึ้น
ข้าราชการเหล่านั้นจึงจัดจ้างแพทย์กรุงเทพออกไปด้วยสำหรับรักษาตนเองและครอบครัว
แล้วมีใบบอกมาขอให้แพทย์เหล่านั้นรับพระราชทานเงินเดือนหลวงนับว่าเป็นพนักงานในราชการ
ครั้นต่อมาราวพระพุทธศักราช 2436 ศิริราชพยาบาล ณ วังหลัง
ได้จัดตั้งโรงเรียนราชแพทย์ฝึกหัดแพทย์ได้บ้าง
ผู้ว่าราชการเมืองบางเมืองจึงได้มาจ้างแพทย์จากโรงเรียนนั้นไปไว้รับราชการ...
543 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
การเริ่มต้นจัดให้แพทย์ประจำเมือง และว่าจ้างแพทย์เชลยศักดิ์ (แพทย์อิสระ) ในกรุงเทพฯ เป็นการส่วนตัวของผู้ว่าราชการเมือง เมื่อได้ทำประโยชน์แก่ราชการด้วยเพราะช่วยรักษาพยาบาลประชาชนในเมืองนั้น แต่เกินกำลังผู้ว่าราชการเมืองที่จะว่าจ้างส่วนตัว จึงได้ขอเงินเดือนจากทางราชการ รับราชการเป็นแพทย์ประจำเมือง ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการเมืองของกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งโรงพยาบาลที่เมืองอินทรบุรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2431 จึงเป็นโรงพยาบาลหลวงในหัวเมืองแห่งแรก
2431 - 19 กรมหมอขอพระราชทานสัญญาบัตร
แม้จะมีการปรับปรุงระบบการแพทย์ มีการตั้งโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังคงมีแพทย์ในสังกัดกรมหมอซึ่งเป็นหมอหลวงอยู่
วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2431 พระยาแพทยวงษาวิสุทธาบดี จางวาง และพระยาอมรสาสตร์ประสิทธิศิลป์ จางวาง มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานสัญญาบัตรให้แก่ ขุนราชพรหมา ขุนรัตนแพทย์ ขุนราชแพทย์ หมื่นคุณแพทย์พิทยากรม หมื่นภักดีแพทยา ขุนประสิทธิโอสถ ขุนกุมารประเสริฐ นายเสน และหมอ 8 คน ขอรับพระราชทานเลื่อนตำแหน่ง ได้แก่ ขุนราชพรหมา พระทิพจักษุสาตร ขุนรัตนแพทย์ เป็นพระสิทธิสาร ขุนราชแพทย์ เป็นหลวงราชนิทาน หมื่นคุณแพทย์พิทยากรม เป็นขุนราชพรหมา ขุนประสิทธิโอสถ เป็นขุนรัตนแพทย์ หมื่นภักดีแพทยา เป็นขุนราชแพทย์ ขุนกุมารประเสริฐ เป็นหลวงกุมารแพทย์ (เจ้ากรมหมอกุมาร) ส่วนหมอฝีขวา นายเสน ได้รับราชการนานแล้ว ยังหามีที่ตำแหน่งในราชการไม่ และยังมีตำแหน่งว่าง 3 ตำแหน่ง ไม่ได้พระราชทานบรรจุขุนนางใหม่ ได้แก่ ในตำแหน่ง พระวรรณการสกลแพทยา หลวงวรรณกรรมสวัสดี ขุนษาแพทย์
วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร กรมหมอ
1) ขุนรัตนแพทย์ เป็นพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย ถือศักดินา 1400
2) ขุนราชพรหมา เป็นพระทิพจักษุสาตร เจ้ากรมหมอยาขวา ถือศักดินา 1400
3) ขุนราชแพทย์ เป็นหลวงโรคนิทาน ปลัดกรมหมอยาขวา ถือศักดินา 800
4) หมื่นคุณแพทย์พิทยากรม เป็นขุนราชพรหมา ปลัดกรมหมอยาขวา ถือศักดินา 800
5) ขุนประสิทธิโอสถ เป็นขุนรัตนแพทย์ ปลัดทูลฉลองกรมหมอศาลา ถือศักดินา 600
6) หมื่นภักดีแพทยา เป็นขุนราชแพทย์ ถือศักดินา 600
วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2435 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร กรมหมอ
1) หลวงโรคนิทาน เป็นพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย ถือศักดินา 1400
2) ขุนเทวะพรหมา เป็นหลวงโรคนิทาน ปลัดกรมหมอยาขวา ถือศักดินา 800
3) หมื่นวาโยไชย
เป็นหลวงปาณีบริหาร ปลัดจางวางกรมหมอนวด ถือศักดินา 600
544 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
4) หมื่นคุณแพทยพิทยากรม เป็นขุนเทวะพรหมา ปลัดกรมหมอยาซ้าย ถือศักดินา 800
ประกาศราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งขุนนางในกรมหมอหลวง (กรมแพทยาโรงพระโอสถ) มีอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2435 แต่ไม่มีการรับขุนนางหมอหลวงคนใหม่เข้ามาเพิ่ม ส่วนขุนนางกรมหมอหลวงที่มีอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเลื่อนยศไปตามเดิม และรับราชการจนกระทั่งถึงแก่กรรม ระบบราชการของการแพทย์แบบโบราณจึงค่อยเลิกไปเองหลังจากขุนนางที่มีอยู่เดิมถึงแก่กรรมไปทั้งหมด
2431 - 20 แจ้งความโรงพยาบาลสยาม
วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 แจ้งความโรงพยาบาลสยามในราชกิจจานุเบกษา สรุปได้ว่า สถานที่รับรักษาคนไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ตั้งขึ้นแล้วที่วังหลังแห่งหนึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ และอีกแห่งอยู่นอกกำแพง ริมป้อมมหาไชยหน้าวังบูรพาภิรมย์ ซึ่งโรงพยาบาลทั้งสองแห่งนี้ รับรักษาทุกโรค มีทั้งยาไทยและยาอย่างหมอฝรั่ง มีอาหารให้ 3 เวลา รับรักษาพยาบาลคนคลอดบุตรและปลูกฝี ไม่ต้องเสียค่ายารักษาแต่อย่างใด และรับคนทุกชาติภาษา แยกชายและหญิง และรายงานว่า...โรงพยาบาลวังหลัง ซึ่งเปิดแล้วใน 6 เดือน มีคนที่เข้ามารักษาตัวด้วยโรคต่าง ๆ มีจำนวนชาย 137 คน หญิง 78 คน รวม 215 คนได้หายไปแล้ว ชาย 119 คน หญิง 71 คน รวม 190 คน ได้ตายด้วยโรคที่มากมาแล้วเพียง 25 คน แลมีคนมาให้ตรวจโรคแลรับยาไปกิน 112 คน...
หม่อมราชวงศ์จิตร ผู้แต่งราชกิจจานุเบกษา ระบุเพิ่มเติมว่า
...ยังได้ทราบว่าจะมีโรงพยาบาลรับเลี้ยงแลรักษาคนเสียจริต 1 โรงพยาบาลเลี้ยงเด็กแลรับรักษาคนมาคลอดบุตร 1 โรงพยาบาลคนชรา 1 จะมีต่อไปอีกภายน่าไม่สู้ช้านัก การที่ตั้งโรงพยาบาล รักษาไข้เจ็บประจำอยู่เสมอดังนี้ แต่ก่อนมาก็มิได้เคยมี ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหาเมตตากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์อย่างยิ่ง ได้โปรดให้ตั้งขึ้นนั้นเป็นพระเดชพระคุณแก่คนทั้งหลายเปนอันมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้บ้านเมืองสมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้อย่างใด และไม่นำมาซึ่งทรัพย์สมบัติของบ้านเมือง โดยที่เห็นทันตาทันใจเร็ว ๆ นั้นก็ดี แต่เปนการช่วยชีวิตรฤๅความลำบากของไพร่บ้านพลเมืองที่ยากจนลำบากให้พ้นไป...
2431 - 21 ตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริต
วันที่ 11
ธันวาคม พ.ศ. 2431
แจ้งความโรงพยาบาลในราชกิจจานุเบกษา
ประกาศเชิญชวนหมอที่ชำนาญในการรักษาคนเสียจริตว่า
เจ้าพนักงานใหญ่ในโรงพยาบาลขอแจ้งความประสงค์
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพนักงานจัดการโรงพยาบาล
และได้จัดการตั้งโรงพยาบาลขึ้นแล้ว 2 แห่ง
545 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450
แสดงบริเวณวัดมหาธาตุ
ที่มา : หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
...บัดนี้เจ้าพนักงานใหญ่คิดที่จะตั้งโรงพยาบาลรับเลี้ยงรักษาคนที่เสียจริต มีสัญญาวิบัติ...จึงแจ้งความมายังท่านผู้ที่ชำนาญการพยาบาลรักษาคนเช่นกล่าวแล้วให้ทราบ ถ้ามีความปรารถนาที่จะรับการนั้นแล้ว เชิญมาหาพระประสิทธิวิทยาที่โรงพยาบาลใหญ่ ตำบลวังหลัง เพื่อที่จะได้ปฤกษาการที่จะตกลงกันให้ตลอด...เมื่อได้ทราบความนี้แล้ว ท่านเห็นว่าผู้ใดชำนิชำนาญ การรักษาโรคอย่างนั้นจงแนะนำมารับการ ฤๅมาปฤกษาตามกำหนดตำบลที่ ก็จะเปนผลดีแก่ท่านมีจิตร์เมตตากรุณาแก่ชนทั้งหลาย ถึงมาทว่าในบ้านเมืองของเรามีคนที่เปนบ้าน้อยไม่เหมือนบางประเทศก็ดี ถ้าได้ตั้งโรงรักษาขึ้นก็คงมีประโยชน์พอแก่การจะทำให้คนที่เปนบ้า ซึ่งควรจะหาย หายได้มากดีกว่าจะทิ้งทอดไว้...
546 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2431 - 22 ตั้ง “มหาธาตุวิทยาลัย” ปฏิรูปการศึกษาของพระสงฆ์
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือที่ 118 กราบบังคมทูลเรื่องโรงเรียนพระปริยัติธรรม เดิมได้จัดการเล่าเรียนให้แก่พระภิกษุสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีความขัดข้องต่าง ๆ และเห็นว่า...ควรจัดที่ วัดมหาธาตุเป็นดีกว่าที่อื่น เพราะเป็นวัดอยู่ใกล้พระราชวัง ศาลาแลบริเวณรกร้างอยู่เปล่า ถ้า จัดเป็นวิทยาไลย ขึ้น ก็จะหมดจดงดงามเป็นที่ ใครไปมาควรดูควรชมได้...
2431 - 23 พระราชทานมรดกของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ให้กับ
โรงพยาบาล ณ วังหลัง และทรงขอบใจกรมหมื่นดำรงราชานุภาพที่เป็นต้นคิด
เรื่องจัดตั้งโรงพยาบาล
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ความสำคัญบางตอนว่า
...โรงพยาบาลนี้ได้ คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ตลอด...การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้ ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกเราซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกข์เวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรอนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชานุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาลทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึ่งได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้เป็นต้นทุน...ขอขอบใจกรมหมื่นดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นต้นคิด แลคอมมิตตีทั้งปวงอันได้พร้อมใจกันช่วยจัดการให้ตลอดสมประสงค์ได้ดังนี้...
“การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้” ทรงหมายถึง การที่ทรงจัดโรงพยาบาลในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และโรงพยาบาลทหารหน้าก่อนหน้านี้
การโรงพยาบาลหลวงแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทุนก่อสร้างโรงพยาบาล จำนวน 200 ชั่ง (16,000 บาท) สร้างอาคารเรือนไม้ 6 หลัง เป็นอาคารเครื่องไม้มีเฉลียงโดยรอบ ประกอบด้วยเรือนใหญ่ 3 หลัง เรือนเล็ก 3 หลัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระวรราชเทวี พระราชมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
พระราชทานเงินของพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นเงิน 700 ชั่ง “โปรดเกล้าฯ
สร้างถาวรวัตถุขึ้นไว้
547 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ในโรงพยาบาลนี้ ให้เปนเครื่องรฦกแลเปนส่วนพระราชกุศลพระราชทาน” กอมมิตตีได้ปรึกษาพร้อมกันตกลงเป็นทำตึกสำหรับสอนวิชาแพทย์ ซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่า ตึกแอดมินิสเตตีฟ คือ ตึกอำนวยการและห้องเรียนของโรงเรียนราชแพทยาลัย และพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น เมื่อยังทรงประชวรอยู่ได้ทรงกำหนดเงินไว้ว่าจะประทานช่วยในการโรงพยาบาล 30 ชั่ง ทำตึกสำหรับคนไข้อีกหลังหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำแล้ว และโปรดพระราชทานเงินเพิ่มเติมอีก ตามที่ช่างกำหนดมาด้วย
คนอังกฤษในกรุงเทพฯ ร่วมกันบริจาคเงิน 10 ชั่ง (ฉลองสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาได้ 50 ปี) สมทบกับทุนโรงพยาบาลอีก 20 ชั่ง ทำเป็นตึกสำหรับคนไข้ ชื่อ ตึกวิกตอเรียวาด เมื่อรวมตึกทั้ง 3 หลังนี้กับตึกอีก 6 หลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินจัดสร้างไว้ครั้งแรก จึงมีอาคารทั้งหมด 9 หลัง รวมเป็น 940 ชั่ง
2431 - 24 จัดตั้งกรมพยาบาล และพระราชทานนามโรงพยาบาลที่วังหลังว่า “โรงศิริราชพยาบาล”
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 มีพระบรมราชโองการในราชกิจจานุเบกษา จัดตั้ง “กรมพยาบาล” และตั้งชื่อ “โรงศิริราชพยาบาล” ความสำคัญบางตอนว่า
ตึกวิกตอเรีย
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
548 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการหลายพระองค์หลายนาย พร้อมกันเปนกอมมิตตี จัดการตั้งโรงพยาบาลขึ้นสำหรับพระนคร เพื่อเปนประโยชน์แก่มหาชนนิกรทั่วไป กอมมิตตีได้คิดจัดการตั้งโรงพยาบาล เปิดรับรักษาพยาบาลคนไข้ได้แล้วในสองตำบล คือ โรงพยาบาลใหญ่ที่วังหลังได้รับรักษาคนไข้มาแต่ ณ เดือน 6 ปีชวด สัมฤทธิศกนี้ ตำบลหนึ่ง โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย ได้รับรักษาพยาบาลคนไข้ ในเดือน 12 ปีชวดสัมฤทธิศก นี้ตำบลหนึ่ง ยังการที่ได้คิดตกลงแล้วจะจัดได้ต่อไปตามเวลาที่สมควรอีกหลายอย่าง
การโรงพยาบาลซึ่งกอมมิตตีได้จัดการให้เจริญขึ้นได้ถึงเวลากาลบัดนี้
เปนการที่กอมมิตตีได้จัดบริบูรณตามพระบรมราชประสงค์แล้ว
สมควรที่จะตั้งเปนกรมพยาบาลขึ้นกรมหนึ่ง มีพนักงานบังคับบัญชาการต่อไปได้
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการซึ่ง เปนกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลนี้ออกจากน่าที่เปนผู้จัดการโรงพยาบาล โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเปน กรมพยาบาล ขึ้นกรมหนึ่ง แลโรงพยาบาลใหญ่ที่วังหลัง ให้เรียกว่า โรงศิริราชพยาบาล...
ประกาศมา ณ วันที่ 3 เดือน 1 แรม 7 ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช 1250
พ.ศ.
2432
2432 - 1 เริ่มใช้คำว่า “กระทรวง” ในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2432 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า “ทรงพระราชดำริห์ว่า ท้องตรา ที่มีไปยังหัวเมือง ดำเนินพระบรมราชโองการนั้น แต่ก่อนมามีแต่ชื่อเสนาบดีสำหรับตำแหน่งข้างต้น แลประทับตราข้างท้าย หาได้ลงชื่อตัวผู้เป็นเสนาบดีบังคับการ กระทรวง นั้น ๆ ไม่ แต่นี้ต่อไป ถ้าจะมีท้องตราไปถึงหัวเมือง ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงลงชื่อในท้ายตราด้วย เพื่อจะได้เปนหลักฐานมั่นคงขึ้น”
2432 - 2 ย้ายเรือนในการพระเมรุไปใช้ในโรงพยาบาล
วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2432 กอมมิตตีโรงพยาบาลกราบบังคมทูลถวายรายงาน โดยแนบบัญชีระบุว่าเรือนที่เหลือ 22 หลังนั้นยกไปปลูกในที่ใดบ้าง
...ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้ตรวจดูเรือนต่าง ๆ ในบริเวณพระเมรุ เหนด้วยเกล้าฯ
ว่า จะใช้ในการโรงพยาบาลได้มีหลายหลัง แต่บางหลังท่าน
549 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เปลี่ยนจากหลังคามุงจากเป็นหลังคากระเบื้องใน พ.ศ. 2457
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงศิริราชพยาบาล สมัยรัชกาลที่ 6
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภ.002 หวญNAT 5 - 2 P0008486 รพ.ศิริราช
550 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ผู้ทำได้ทำโดยอย่างประนีตงดงาม ด้วยลวดลายบ้าง ทำชุกชิก เปนห้องเล็กห้องน้อยบ้าง ทำใหญ่โตกว่าโถงไม่มี ถ้าจะทำฝาปิดบังได้บ้าง ถ้าจะรับพระราชทานไปใช้ในโรงพยาบาลทั้งหมด บางหลังก็จะใช้การอันใดไม่ได้ เหลือแก่ความต้องการของโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลบัดนี้ก็ยังไม่ได้ปลูกแผ่รวมเข้าไปตามแปลนของวังหลัง ทำแต่พอใช้การในชั้นแรกครั้งหนึ่งก่อน ครั้นจะนำเรือนทั้งปวงไปไว้หมด ก็ไม่มีที่พอแลไม่มีการจะใช้ ถ้าจะไปปลูกไว้นอกจากที่มีรั้วรอบขอบชิด ก็เกรงว่าจะมีผู้ร้ายทำอันตรายได้ แลจะต้องเสียค่ารักษาซ่อมแซมเรือนที่งดงามวิจิตรแลตกแต่งทาสีปีหนึ่งคงใช้เงินมาก เกินกว่าประโยชน์ที่จะได้รับในการพยาบาลรักษาไข้
เห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่าที่จะรับพระราชทานเรือนต่าง ๆ ไปใช้ในการโรงพยาบาลแต่ 10 หลัง
เรือนของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทำตพานน้ำ
เรือนของพระองค์เจ้าวรวรรณากร เปนที่หมออยู่
เรือนของเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ เปนที่คนดูแลการเบ็จเสร็จอยู่
เรือนของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ให้คนไข้อยู่ได้
เรือนของกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ให้คนไข้อยู่ได้
เรือนของพระองค์เจ้าไชยานุชิต ให้คนไข้อยู่ได้
เรือนของพระองค์เจ้าวัฒนานุวงษ ให้คนไข้อยู่ได้
เรือนของพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (และ) เรือนของพระองค์โสณ-บัณฑิต จะปลูกให้ต่อกันเปนที่รับพระราชทานอาหารคนไข้
เรือนกรมสมเดจพระสุดารัตนราชประยูร เปนโรงพยาบาลอีกแห่งได้
เรือนนอกจากนี้เปนขอเหลือใช้หนักแรงรักษาแลงามเกินกว่าที่จะได้ประโยชน์ทั้งนั้น แต่ได้ทรงพระราชดำริห์ไว้ว่าพระราชทานเปนส่วนโรงพยาบาล ครั้นจะไปใช้การอื่น ๆ ก็ไม่สมควร เห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันขอพระราชทานให้จัดซื้อเปนของหลวงไปปลูกที่พระราชวังบางปะอิน แลสวนสราญรมย์แลที่อื่น ๆ บ้างก็พอหมด เพราะเหลืออยู่ไม่มากนัก ส่วนราคาเรือนนั้นแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเท่าใด แล้วจะได้นำเงินนั้นไปใช้การโรงพยาบาลต่อไปตามที่ควรจะใช้...
ส่วนเรือนที่จะรับพระราชทานไปใช้ในการโรงพยาบาล
10 หลัง ที่กราบบังคมพระกรุณามาข้างต้นนั้น
จะรื้อไปปลูกใหม่ต้องเสียค่ารื้อแลปลูกอีกข้าพระพุทธเจ้าขอพระบารมีปกเกล้าฯ
รับพระราชทานค่ารื้อค่าปลูกเปนเงินพระราชทาน เพราะเงินทุนของโรงพยาบาลนั้นต้องใช้ค่ายาค่าอาหารแลการต่าง
ๆ มาก ด้วยคนไข้ในโรงพยาบาลทุกวันนี้มีมากขึ้นเสมอ...
551 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2432 - 3 ร่างอัตราเงินเดือนแพทย์ทหารในกระทรวงยุทธนาธิการ
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2432 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงษวรเดช ผู้แทนผู้บัญชาการทหารทั่วไป กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบ เรื่องเงินเดือนของเจ้าพนักงาน (ข้าราชการ) ในกรมยุทธนาธิการ จำนวน 28 หน้า ได้คัดย่อไว้บางส่วน ดังนี้
...ด้วยการจำหน่ายเงินเดือนเจ้าพนักงานในกรมยุทธนาธิการแลกองทหารบกทหารเรือทั้งปวงเวลานี้
ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ได้รับเงินล่วงน่าจ่ายไปตามกำหนดเดือนแล้ว
จึงทำฏีกายื่นพระคลังต่อภายหลังนั้นนับว่าเปนการเรียบร้อยดีอยู่ตลอดแล้ว แต่ จำนวนเงินเดือนซึ่งจะจำหน่ายให้แก่เจ้าพนักงานทั้งปวงนั้นยังหามีอัตราไว้ให้เปนหลักถานแน่นอนประการใดไม่
ย่อมเปนช่องที่เจ้าพนักงานกรมยุทธนาธิการจะจำหน่ายเงินเดือนได้แต่ลำพังความคิดเห็นได้ทุกประการ
ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้พร้อมกันเหนด้วยเกล้าฯ ว่า การที่กรมนี้มีน่าที่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินเดือนมากเหลือเกินนัก ย่อมจะได้รับความลำบากต่อไปภายน่า สมควรจำเปนที่จะต้องรีบตั้งอัตราเงินเดือนลงไว้เสียให้เปนแบบแผนแน่นอน จะได้เปนที่ยึดหน่วงอ้างอิงเหตุผลซึ่งได้สั่งจ่ายได้ตามกำหนด ถึงแม้ว่าจะเปนการมากน้อยขาดเหลือไม่เปนที่ถูกต้องอย่างใดก็ดี เมื่อจะแก้ไขอัตราเปนคราว ๆ ไป ก็ไม่เปนการยากลำบากนัก เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า อัตราเงินเดือนของกระทรวงยุทธนาธิการ (มินิศเตอออฟวาแอนด์มริน) ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงไว้ตามความเห็นซึ่งจะ จัดการเปลี่ยนแปลงราชการอย่างใหม่ นั้น พอจะใช้ไปพลาง ๆ ในเวลานี้ได้
ในอัตราเงินเดือนกระทรวงยุทธนาธิการที่ได้คิดเรียบเรียงไว้นั้น ได้แบ่งเป็น 3 หมวด คือ
หมวด 1 เปนเงินเดือนพนักงานผู้จัดการทำการรักษาการทั้งปวง อย่าง 1
หมวด 2 เปนเงินเดือนพนักงานกองทหารบกทั้งปวง อย่าง 1
หมวด 3 เปนเงินเดือนกองทหารเรือ อย่าง 1
ในหมวด 1 นั้นแยกวิธีผู้ซึ่งจะได้รับเงินเดือนเปน 5 พวก ดังนี้
1) ข้าราชการผู้ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมยุทธนาธิการ (คือ วาแอนด์มรินดีปาตแทนต์) ที่นับว่า เปนกรมพลเรือน คือ ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งนั้นจะเปนนายทหารก็ได้ พลเรือนก็ได้ มีอัตราเงินเดือนเป็นจำนวนเดียว ถึงแม้ว่ามียศทหาร ถ้ารับราชการอยู่ในกรมนี้แล้ว เงินเดือนยศทหารก็ต้องขาด คงรับแต่อย่างพลเรือน
2) ข้าราชการผู้รับราชการอยู่ในกรมทหารบก
(คือ มิลิตารีดิปาตเมนต์) ฤๅกรมทหารเรือ
(เนวัลดิปาตเมนต์)
552 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ที่นับว่าเป็นกรมทหารแท้ คือ ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งอยู่ในกรมทหารบกนั้นต้องเปนนายทหารบก ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งอยู่ในกรมทหารเรือนั้นเปนนายทหารเรือ มีอัตราเงินเดือนเปน 2 จำนวน คือได้รับเงินเดือนตามยศทหารจำนวน 1 รับเงินเดือนสำหรับตำแหน่งทำการจำนวนหนึ่ง เว้นไว้แต่ข้าราชการในกรมนี้บางพวกที่จำเป็นต้องใช้คนพลเรือนแท้ (สำหรับเมืองเราที่ทหารผู้น้อยยังไม่รู้วิชาพอ) คือเสมียนเปนต้น (แท้จริงควรจะต้องใช้ทหารซึ่งจะมีเงินเดือนเปน 2 จำนวนเหมือนกัน) ข้าราชการเหล่านี้จึงให้มีอัตราเงินเดือนแต่จำนวนเดียวเหมือนกรมยุทธนาธิการ
3) ข้าราชการผู้ซึ่งรับเงินเดือนอยู่ในกรมขึ้นกรมยุทธนาธิการ มีอัตราเงินเดือนจำนวนเดียวเหมือนกรมยุทธนาธิการ
4) ข้าราชการผู้ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมขึ้นกรมทหารบกฤๅทหารเรือ มีอัตราเหมือนกรมทหารบกฤๅกรมทหารเรือ
5) ข้าราชการที่ได้รับราชการเปน นายทัพนายพล (คือ ฟิลด์มาแชลแลเยเนราล) ที่นับว่าเปนนายทหารอย่างสูง เมื่อได้รับยศนายทหารนี้แล้วต้องได้รับเงินเดือนสำหรับยศตามอัตราอยู่เสมอ เว้นไว้แต่ยกไปรับราชการในตำแหน่งพลเรือนคือในกรมยุทธนาธิการ ฤๅกรมขึ้นกรมยุทธนาธิการเปนต้น เปนขาดเงินเดือนจำนวนยศนายทหารฤๅออกอยู่ในกองหนุน (รีเสิฟ - Reserve) ที่จะต้องรับเงินเดือนตามพระราชบัญญัติที่มีแล้ว ฤๅออกจากราชการทหาร (คือ รีไตร์ - Retire) ไปรับราชการกรมอื่นก็ดี ไม่ได้ทำราชการเลยก็ดี เปนขาดจำนวนเงินตามอัตรายศนั้น
ในหมวด 2 แลหมวด 3 นั้นแยกวิธีผู้ซึ่งจะได้รับเงินเดือนเปน 3 อย่าง ดังนี้
1) ข้าราชการซึ่งรับราชการอยู่ในกองทหารบก (คือ คอปฤๅ รีเยเมนต์ - Corps or Regiment) กองทหารเรือ (คือ ฟิลดฤๅชิบ - Field or Ship) ข้าราชการนั้นต้องเปนนายทหารบกฤๅทหารเรือแท้ มีอัตราเงินเดือนแต่สำหรับยศนายทหารที่ทำการในยศทหารจำนวนเดียว
2) ข้าราชการในกองทหารบกฤๅกองทหารเรือที่เปนนายทหารผู้ช่วย (คือ สตาฟออฟฟีเซอ - Staff officer) มีปลัดกอง กระบัติกอง (คือ แอดยุแตนต์ฤๅควอเตอมาศเตอร์ - Adjutant or Quartermaster) เปนต้น มีอัตราเงินเดือนเปน 2 จำนวน คือ เงินเดือนยศนายทหารจำนวนหนึ่ง เงินเดือนตำแหน่งจำนวนหนึ่ง
3) พนักงานซึ่งรับราชการในกองทหารบกฤๅทหารเรือที่จำเป็นจะต้องใช้คนพลเรือนมีเสมียนเปนต้น มีอัตราเงินเดือนจำนวนเดียว ไม่เกี่ยวกับยศทหารเหมือนที่กล่าวข้างต้น
การซึ่งได้แบ่งอัตราเงินเดือนไว้เปนต่าง
ๆ หลายอย่างดังนี้ ได้
553 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
อาไศรยอัตราตามแบบอย่างเมืองในประเทษยุโรปเปนหลักถาน เพราะเห็นด้วยเกล้าฯ เปนการดีที่มีเหตุผลอ้างอิงได้ต่าง ๆ
แต่เวลานี้กรมยุทธนาธิการยังไม่ได้ยกขึ้นเปนกระทรวง (คือ มินิศตรี) แลยังทำการรวมกันอยู่ทั้งการพลเรือนแลการทหาร มิได้มีเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ (มินิศเตอออฟวาแอนด์มริน) ต่างหาก และไม่ได้มีแม่ทัพใหญ่ (คือ ชิฟสตาฟฤๅคอมมานเดออินชิฟ) ต่างหาก ตำแหน่งทั้ง 2 ยังรวมกันอยู่เปนอธิบดีเดียวกัน เรียกว่า ผู้บังคับบัญชาทหารทั่วไป อีกอย่างหนึ่งเข้าใจกันทุกวันนี้ว่าเปนตำแหน่งคอมมานเดออินชิฟ ส่วนกรมทำการนั้นก็ยังเป็นกรมทหารบก (คือ มิลิตารีดิปาตเมนต์) แท้ แต่ทำการในน่าที่พลเรือนด้วย ซึ่งนับว่าเปนน่าที่ของกรมยุทธนาธิการ (คือ วาแอนด์มรินดีปาตเมนต์) ด้วยเปนทำนองเกี่ยวกับเมืองยี่ปุนฤๅฝรั่งเศสกลาย ๆ ในอัตราหมวด 1 ที่ 1 แลที่ 3 จึงยังไม่มีประโยชน์สิ่งใด แท้จริงการต่อไปถ้าจะรวมกันอยู่เหมือนทุกวันนี้หาสมควรไม่ ที่เปนอยู่ทุกวันนี้ได้นั้น ก็เพราะการทหารเก่าใหม่ ยังไม่ได้รวมกันทั้งสิ้น สักแต่ว่าจัดการทหารอย่างใหม่ขึ้นในแผนกหนึ่งเพื่อเปนการบำรุงชื่อเสียงบ้านเมืองให้โด่งดังว่ามีทหารดีไปคราวหนึ่งก่อนเท่านั้น แลธรรมเนียมที่จะจัดการอย่างใหม่นั้นก็จะได้เปลี่ยนแปลงอีกไม่ช้านัก ส่วนอัตราเงินเดือนทหารที่ควรจะต้องมีในเวลานี้ก็เปนการจำเปนแล้ว...
บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะได้ใช้อัตราเงินเดือนกรมทหารบก (คือ มิลิตารีดิปาตเมนต์) แทนกรมยุทธนาธิการที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้กับทั้งกองทหารบกในตารางอัตราเงินเดือนหมวดที่ 1 แลหมวดที่ 2 ที่ได้ส่งเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายนั้นในจำนวนเดือน 5 ปีฉลูนี้เปนต้นต่อไป การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า
ภาณุรังษี
ผู้แทนผู้บัญชาการทหารทั่วไป
หมายเหตุ
1. โครงสร้างอัตราเงินเดือนข้าราชการในกระทรวงยุทธนาธิการ เป็นอัตราเงินเดือนข้าราชการแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระบบราชการไทย ดังความในข้อต่าง ๆ ดังนี้
“จำนวนเงินเดือนซึ่งจะจำหน่ายให้แก่เจ้าพนักงานทั้งปวงนั้นยังหามีอัตราไว้ให้เปนหลักถานแน่นอนประการใดไม่ ย่อมเปนช่องที่เจ้าพนักงานกรมยุทธนาธิการจะจำหน่ายเงินเดือนได้แต่ลำพังความคิดเห็นได้ทุกประการ”
“สมควรจำเปนที่จะต้องรีบตั้งอัตราเงินเดือนลงไว้เสียให้เปนแบบแผนแน่นอน.”
“การซึ่งได้แบ่งอัตราเงินเดือนไว้เปนต่าง
ๆ หลายอย่างดังนี้ ได้อาไศรยอัตราตามแบบอย่างเมืองในประเทษยุโรปเปนหลักถาน”
554 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2. โครงสร้างอัตรากำลังข้าราชการของ กระทรวงยุทธนาธิการ พ.ศ. 2433 - 2435 (ซึ่งผูกพันตามโครงสร้างเงินเดือน) ได้แบบอย่างจากประเทศยุโรป ดังข้อความว่า
“การซึ่งได้แบ่งอัตราเงินเดือนไว้เปนต่าง ๆ หลายอย่างดังนี้ ได้อาไศรย อัตราตามแบบอย่างเมืองในประเทษยุโรป เปนหลักถาน”
3. การจัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ พ.ศ. 2430 - 2432 จัดตามแบบประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ดังข้อความว่า
“กรมยุทธนาธิการ...ด้วยเปนทำนองเกี่ยวกับเมืองยี่ปุนฤๅฝรั่งเศสกลาย ๆ”
4. ข้าราชการผู้ซึ่งรับราชการอยู่ใน กรมยุทธนาธิการที่นับว่าเป็นกรมพลเรือน หมายความว่า ข้าราชการที่ปฏิบัติงานกรมยุทธนาธิการล้วนเป็นตำแหน่งพลเรือน เช่น เสมียน สมุหบัญชี นายเวร ล่าม เป็นต้น เมื่อยกกรมยุทธนาธิการขึ้นเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารทั่วไปกรมยุทธนาธิการเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารทั่วไปเปลี่ยนเป็นราชปลัดทูลฉลอง ดังนั้น กรมยุทธนาธิการจึงเหลือเฉพาะตำแหน่งพลเรือนปฏิบัติงาน (คล้ายสำนักงานรัฐมนตรีหรือสำนักงานปลัดกระทรวงปัจจุบัน)
2432 - 4 ยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติ ให้ใช้ปฏิทินสุริยคติแบบปัจจุบัน
วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2432 มีพระบรมราชโองการประกาศใช้วันอย่างใหม่ คือ ยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติ ให้ใช้ปฏิทินสุริยคติแบบปัจจุบันเป็นต้นไป นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูประบบราชการ คือ การจัดทำวันเดือนปีของลำดับเอกสารราชการตามปฏิทินสุริยคติที่ประเทศตะวันตกใช้กัน โดยเปลี่ยนการนับปีจากศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับปีแบบรัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) เริ่มที่ ร.ศ. 108 และนับชื่อเดือน กำหนดให้เดือนที่หนึ่ง คือเมษายน เดือนที่ 12 คือมีนาคม รวมทั้งการลงวันที่ 1 - 31 โดยเริ่มใช้วันแบบใหม่ตั้งแต่วัน 2 เดือน 5 ขึ้น 11 ค่ำ ปีฉลูยังเป็นสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 นั้น เป็นวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108
2432 - 5 ตั้งผู้กำกับการกรมธรรมการ
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2432 ประกาศราชกิจจานุเบกษาความว่า “กรมธรรมการนั้น เปนกรมใหญ่ แต่ก่อนเคยมีพระบรมวงศานุวงษ์กำกับการกรมนั้น บัดนี้ยังหามีผู้ใดกำกับการไม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเปนผู้กำกับการกรมธรรมการ แต่วันที่ 5 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108”
2432 - 6 พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาล มีพระดำริตั้ง “โรงเรียนแพทย์”
วันที่ 9 พฤษภาคม
พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาล
มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า“กรมพยาบาลนี้ก็มิได้คิดแต่จะรักษาโรคอย่างเดียว
คิดจะบำรุงวิชาแพทย์ศาสตร จะมีโรงเรียนแพทย์ด้วย” ดังนี้
555 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โรงศิริราชพยาบาล
วันที่ 9 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก22 108
พระราชกระแสรับสั่ง
“โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว
พระองค์เจ้าศรีว่าไปทูลกรมหลวงเทวะวงษ ไม่ได้ตอบ”
ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท
ด้วยจำเดิมแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนกอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล คอมมิตตีทั้งปวงได้มอบน่าที่ให้ข้าพระพุทธเจ้าเปนผู้จัดแพทย์ดูแลการรักษา พยาบาลคนไข้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตั้งใจตรวจการรักษาได้พิจารณาอาการแลเหตุผลความป่วยไข้ของประชาราษฎรมาโดยละเอียด จนถึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นเปนพนักงานของข้าพระพุทธเจ้าตลอดมาจนบัดนี้
ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจเห็นลักษณโรคเปนอันมากที่เกิดแต่ภายในร่างกาย
ได้รักษาด้วยยาของหมอไทย ก็ถูกโรคแก้ไขได้มากแลเปนที่ยินดีของราษฎรเปนพื้น
มีโรคบางอย่างฤๅบางชนิดที่ชอบใช้ยาอย่างยุโรป
ก็ได้ให้ใช้บ้างตามความปรารถนาคนจำพวกนั้น โรคที่ต้องใช้ยายุโรปก็มีน้อย
เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าการที่รักษาพยาบาลโรคภายใน เช่น วรรณโรคฤๅธาตุพิการ
ไข้จับแลอื่น ๆ ด้วยแพทย์สยาม เปนที่นับถือเห็นประโยชน์ได้มาก
แต่ส่วนการจะเซอเยอรีผ่าตัดเย็บผูกบาดแผลหักโค่นก็ดี วรรณโรคภายนอกต่าง ๆ
ที่จะต้องผ่าเจาะก็ดี
โรคเหล่านี้รักษาด้วยวิธีแลยาอย่างยุโรปดีกว่าเรวกว่าทางหมอไทยหลายสิบเท่า
แลวิธีรักษาพยาบาลการเช่นนี้ หมอไทยก็อ้อมแอ้มรวมรวมเพราะไม่ใคร่มีผู้ใดสันทัด
ต้องใช้หมอยุโรปทำโดยมาก ในบัดนี้ โรงพยาบาลยังมีน้อยแห่งก็พอแก่กำลังหมอกาวัน
แลหมอไทยที่ทำได้มีอยู่บ้าง ส่วนราษฎรที่ทราบเกล้าฯ
ว่าโรงพยาบาลรับรักษาโรคที่เกิดอันตรายประจุบัน เช่น
หักโค่นฤๅแผลที่จะต้องผูกเย็บผ่าเจาะฝีต่าง ๆ ได้ ก็มีผู้มาให้รักษามากขึ้น ๆ
จนถึงคนที่อยู่หัวเมืองก็เข้ามารักษา เพราะโรคอย่างนี้หาหมอผู้รักษายากที่สุด
จะให้หมอชาวยุโรปรักษาก็เรียกค่ารักษาแรง จึงนิยมยินดีมารักษาที่โรงพยาบาล
เปนต้นว่าคิดจะเปิดโรงพยาบาลที่ใดขึ้นมีที่กรุงเก่าเปนต้น ผู้ที่ทราบเกล้าฯ
ก็ถามถึงหมอบาดแผลเย็บผูกก่อน ดูต้องการมากกว่าอื่น เมื่อเปนดังนี้แล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดให้หมอไทยที่มีอยู่ในโรงพยาบาลฝึกหัดกับหมอกาวัน
เพื่อจะได้แพร่หลายก็ขัดข้องด้วยจะหาหมอที่ไม่หัวเห็ดได้น้อยที่สุด
หมอมีอายุแก่แล้ว มักจะอ้อแอ้ฤๅไว้ตัวเสียแทบทั้งสิ้น
หมอกาวันก็ร้องว่าสอนยากเปนความเดือดร้อนกับแกอยู่ถ้าจะให้เปนการยืดยาวดีแล้ว
ให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดส่งเด็กไปเรียนวิชาหมออย่างยุโรปมาใช้แล้วแนะนำกัน
556 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ดีกว่า ถึงจะช้าหน่อยก็คงมีเวลาเห็นประโยชน์ภายน่า
ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้รับคำนั้นมาตริตรองดู เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า กรมพยาบาล ก็มิได้คิดแต่จะรักษาโรคอย่างเดียว คิดจะบำรุงวิชาแพทย์สาตร์ จะมีโรงเรียนแพทย์ด้วย ส่วนการรักษาโรคอย่างหมอสยามก็ชำนาญแก่โรคภายในดังกราบบังคมทูลแล้ว แลวิธีที่สอนก็เรียนตามตำราเก่า ยาก็ปรุงตามตำรา ถ้าจะเหลียวไปถามถึงร่างกายภายในก็มักจะโก๋ไปตามคัมภีร์โรคนิทาน เพราะมิได้เคยผ่าร่างกายตรวจตราให้เห็น จึ่งเปนการยากที่สุดที่จะหาหมอดี ๆ ใช้ได้นอกจากหมอหลวง หมอเชลยศักดิแล้ว มักเหลวไหลมีแต่ตำราพาไปตามตำราเปนพื้น ส่วนการเซอเยอรีเล่าก็กันดารอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ถึงจะตั้งสอนวิชาแพทย์สยามขึ้นบัดนี้ ก็คงจะไม่ได้ดีแลเจริญขึ้นอย่างไรนัก ถ้าจะจัดก็คงต้องสอนทั้งวิชาแพทย์สยามแลอย่างยุโรปด้วย จึ่งจะเปนประโยชน์เจริญได้ดีขึ้น นักเรียนก็คงจะมีผู้สมัคเรียนมาก แต่การที่จะสอนวิชาอย่างหมอยุโรป จะเรียกหมอฝรั่งมาเปนครูสอนคนไทยที่ไม่ทราบภาษาอังกฤษแล้ว คงไม่ดีเหมือนคนไทยสอนอธิบายกันเองเปนแน่ เพราะความอธิบายในภาษาไทย ครูฝรั่งคงไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ ทั้งเงินเดือนก็คงจะเรียกเอาแรงมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้พูดกับหมอกาวัน หมอวิลิศ ก็ร้องว่าลำบากจริงตามที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็น
ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีความมุ่งหมายที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ได้ส่งเด็กชาวสยามไปเรียนวิชาหมออย่างยุโรปพอมาเปนเชื้อสายสั่งสอนกันต่อไป หมอกาวันขอให้ส่งคนอายุเพียง 12 ปี 13 ปี ออกไปเรียนประมาณ 10 ปีเปนอย่างช้า ก็คงจะได้กลับมารับราชการ ในเวลาที่นักเรียนเหล่านี้ยังไม่ได้กลับมา ก็จะให้หมอกาวันสอนไปอย่างเตี้ย ๆ พอใช้การพลาง ข้าพระพุทธเจ้าปฤกษากับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพก็เห็นชอบด้วย แล้วข้าพระพุทธเจ้าจึงลองกราบทูลหาฤๅกรมหลวงเทวะวงษวโรประการตามความที่เห็น ก็ทรงเห็นด้วยในการนี้
การเรื่องนี้ ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานจัดเด็กที่ทราบหนังสือไทย ฤๅนักเรียนมีประโยคแล้ว อย่างมาก 6 คน อย่างน้อย 8 คน ส่งไปเรียนวิชาหมออย่างยุโรป ขอพระราชทานให้ราชทูตสยามเปนธุระที่จะจัดการต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าก็จะหมั่นตักเตือนสอบสวนออกไปเนือง ๆ ไม่ช้านานนัก คงจะได้รับประโยชน์ตามต้องการเปนแน่
การจะควรมิควรประการใด ขอพระบารมีเปนที่พึ่ง ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ศรีเสาวภางค์
557 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 เป็นวันที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ กราบบังคมทูลเรื่องการคิดจะบำรุงวิชาแพทยศาสตร์ โดยจะมีโรงเรียนแพทย์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ส่งเด็กอายุ 12 - 13 ปีไปเรียนวิชาหมออย่างยุโรปประมาณ 10 ปี เพื่อกลับมาเป็นครูสอนวิชาแพทย์ยุโรปให้กับคนสยาม แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เริ่มประชวร หมอวิลลิศเป็นผู้ถวายการรักษา พระอาการทุเลาในเบื้องต้น แต่ต่อมาพระอาการทรุดหนักลง
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์ จึงไม่ทันที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์
หมายเหตุ
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
(พ.ศ.
2405 - 2432)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ทั้งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ อธิบดีกรมอักษรพิมพการ (พิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษา) และอธิบดีกรมพยาบาล พระองค์ทรงงานอย่างหนักจนประชวรด้วยวัณโรค และเสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงศิริราชพยาบาล เมื่อประชวรครั้งที่จะสิ้นพระชนม์นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ออกพระโอษฐ์ด้วยความตกพระทัยว่า “ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง” และมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จไปเยี่ยมพระอาการของพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง พระองค์ศรีฯ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง 27 ปี
2432 - 7 ตัวอย่าง “ใบอนุญาตความเห็นหมอ” ใบรับรองแพทย์ในยุคแรก
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ผู้กำกับกรมธรรมการ กราบบังคมทูลอาการของพระมหาชมที่มารับการรักษา ณ โรงศิริราชพยาบาล ที่มีความจำเป็นต้องบริโภคอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย แต่จะขัดต่อวินัยบัญญัติ ความว่า ...พระมหาชม วัดนิเวศธรรมประวัติ ขอพระราชทานลาสิกขาบท (ลาสึก) เนื่องจากอาพาธ มารักษาตัวที่โรงศิริราชพยาบาลแล้วอาการยังทรงอยู่ หาคลายไม่...เมื่อพยาบาลไม่เต็มกำลังเช่นนี้ โรคก็จะทวีมากขึ้นให้กำลังน้อยร่างกายซุดโซมลงทุกวัน ครั้นจะให้บริโภคอาหารก็ขัดต่อวินัยบัญญัติ ความแจ้งอยู่ในจดหมาย พระประสิทธิ์วิทยา ขุนเทวโอสถ หมอกาวัน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้สอดผนึกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้น...
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 “ใบรับรองแพทย์แผนไทย” ของพระมหาชม (ยังไม่พบใบรับรองแพทย์ของหมอกาวัน)
558 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
“ใบอนุญาติที่ 94 วันที่ 17 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 108
ใบอนุญาติฉบับนี้
เปนความเหนของหมอในโรงศิริราชพยาบาลเพื่อจะชี้แจงอาการโรคของพระมหายุทินทโร วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งได้เข้ามารักษาโรคซึ่งอาพาธอยู่ในโรงศิริราชพยาบาล
โรคที่เปนนั้นเพราะด้วยเสมหะแห้งแลเปนพิศม์จึงทำอาการให้อกแห้งแลสวิงสวายกลุ้มกลัดในใจอ่อนเปลี้ยในเวลาบ่ายทุกวัน แลทำให้นอนไม่หลับสนิดได้ อาการโรคที่เปนนี้จะนับว่าเปนโรคที่อันตรายถึงแก่ชีวิตรก็ยังไม่เห็นว่าจะเปนไปโดยเรวได้ ถ้าพยาบาลรักษาแก้ไขได้เตมมือ คงจะหายแต่จะช้าเวลาไป
แต่บัดนี้พระมหายุทินทโรมีอาการที่อ่อนเปลี้ยหิวโหยในเวลาบ่าย ครั้นจะให้บริโภคอาหารในเวลานั้นก็ขัดต่อวินัยบัญญัติ ทั้งการที่ไม่หลับนั้นก็เกิดแต่เหตุคิดวิตกวิจารณ์ต่าง ๆ ด้วยวินัยบัญญัติจะแก้ไขด้วยยาเปนอันยากที่สุด เมื่อพยาบาลไม่ได้เต็มกำลังเช่นนี้โรคจะทรงอยู่ฤๅลดถอยลงไม่ได้เลย โรคไม่ลดลงก็ทำให้กำลังน้อยแลร่างกายซุดโซมลงทุกวันว่าจะไม่เปนอันตรายแก่ชีวิตรไม่ได้
หมอเหนสมควรที่จะรักษาโรคให้เตมตามที่จะแก้ไขได้ ดีกว่าที่จะรักษาพยาบาลโดยเหตุขัดขวางดังพรรณามาแล้ว ถ้าไม่ได้บริโภคอาหารในเวลาบ่ายได้ แลตัดวิตกวิจารณ์ที่ทำให้นอนไม่หลับเสื่อมลงได้แล้วหมอจะรักษาให้โรคหายได้โดยยากเปนความขัดข้องของหมอทั้งปวงเช่นนี้จึงแจงความให้ทราบ เพื่อควรจะผ่อนผันได้ประการใดจะได้รักษาพยาบาลต่อไป
(ลงชื่อ) พระประสิทธิวิทยา
(ลงชื่อ) ขุนเทวโอสถ
2432 - 8 พระราชกำหนดประกาศิตบัตร “แนวคิดยกร่างกฎหมายสิทธิบัตรยาครั้งแรกของสยาม”
วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งใช้นามในการค้าขายยาว่า หมอเวชสิศย มีดำริจะลงทุนผลิตและจำหน่ายยาให้ทั่วถึงราษฎรที่เจ็บป่วย แต่เกรงว่าเมื่อยาเหล่านั้นเป็นที่รู้จักแล้ว จะมีผู้คิดทำยาชนิดเดียวกันมาขาย จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
…การที่จะทำนี้จะต้องทุนมาก
ที่จะต้องซื้อยาอันมีราคาและใช้การลงภิมพ์แอกวะไดศประกาษและทำตำรา
ใช้ยาอธิบายคุณก็ปีละหลาย ๆ สิบหมื่นฉบัพ กับทั้งจัดที่ตั้งและรับส่งไปมาในทิศทั้ง
4 ให้ทั่วตลอดไปในที่ไกล ๆ ก็จำต้องใช้เงินทุนและแรงคนใช้มากกว่ามาก
ถ้าหากว่าการสำเหร็จ
559 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พอคุณยาเหล่านี้มีทั่วถึงได้ คนทั้งหลายอื่นที่มิได้ลงแรงลงทุน ก็จะพลอยทำของเข้ามาซื้อขายเอากำไรแย่งชิงตัดการที่ข้าพระพุทธเจ้ากระทำไว้ได้เหมือนกัน ทุนและแรงที่ข้าพระพุทธเจ้าต้องลงไปก่อนนั้นก็เป็นอันเสียเปล่าเท่านั้น...จำเป็นที่ข้าพระพุทธเจ้าต้องขอรับพระราชทานพระมหากรุณาบาระมีเป็นที่พึ่ง พอเป็นเครื่องป้องกันอย่าให้คนทั้งหลายคิดอุบายแกล้งขัดขวางแย่งชิงกีดกันการอันดีซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้คิดอ่านกระทำขึ้นให้เปนการเสียประโยชน์...คือ
ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำ ฤๅจ้าง ซื้อ สั่งยา เก็บ ฤๅขายแลกและใช้ยาใด ๆ โดยรูปลักษณ ส่วนผสม (มิใช่เนื้อยา) ให้เหมือนฤๅเทียบเคียง เคลือบคลุม เพื่อให้คนทั้งปวงเข้าใจฤๅสงใสว่าเป็นยาอย่างเดียวกัน...
ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดทำขึ้น ฤๅจ้าง ซื้อ สั่ง ฤๅถือเอา ฤๅคัดลอก และทำเทียบ ห่อยา และตำรา คำประกาษ คำอธิบาย เครื่องหมาย ร้อยตรา ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้คิดและกระทำขึ้น...ให้คล้ายกับข้าพระพุทธเจ้า...
ข้อ 3 ห้ามมิให้ผู้ใด ฉ้อ ปลอม สับเปลี่ยน แก้ไข แอบอิง ฤๅประการใด ๆ ชื่อเสียง และตัวยาหาผลประโยชน์...
ข้อ 4 ถ้าผู้ใดมิฟัง ขืนกระทำการล่วงพระราชกำหนดและพระบรม-ราชานุญาตประการใด ๆ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามีอำนาจจะบนจะจับมาว่ากล่าว ฤๅจะฟ้อง...
ข้อ 5 ข้าพระพุทธเจ้ามีอำนาถ อันควรที่จะอาไศรยแก่ข้อพระราช-กำหนดและพระบรมราชานุญาตนี้ เหมือนหนังสือสำคัญ (คือ รอแยลแลตเตอ-เปเตน) ตามเปแตนลอ คือ กฎหมายป้องกันผู้คิดการขึ้นใหม่ที่ใช้อยู่ในประเทษทั้งปวง...
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ มีหนังสือเรียนพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ความว่า...ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเรียนเจ้าคุณว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระราชกำหนดวิเสศ ในการที่จะขายยา (โอสถฤๅเภสัช) การนี้เป็นน่าที่เกี่ยวข้องอยู่ในวนิชกิจ (ฤๅวานิชกิจ) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งสำเนาหนังสือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปให้เจ้าคุณตรวจดู เจ้าคุณจะเห็นควรจัดอย่างไรให้ตอบมาให้ทราบ เพื่อจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณา...
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2432 พระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ มีหนังสือกราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า
ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้าฯ
ตรวจดูข้อความในหนังสือ ซึ่งกราบบังคมทูลขอให้พระราชทาน ราชประกาศิตบัตร
มีข้ออภิปรายอันไพเราะ (กุฎโกษณะ
560 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โวหาร) นั้น เป็นความประสงค์ ขออำนาจ 5 ข้อ เพื่อจะได้อุดหนุนการขายยาหาอัตตประโยชน์เจือความเมตตากรุณาแก่ไพร่ฟ้าประชากร...เมื่อสรุปใจความเข้าหมด ก็เป็นการเอกประโยค ซึ่งเรียกตามอัษฎงคตพจน์ว่า “โมโนโปลี” จะขอพระบรมเดชานุภาพปกแผ่ขายยาแต่ผู้เดียว โดยไม่มีกำหนดนั้น... แต่การอย่างนี้เกิดมีผลขึ้นแห่งหนึ่งแล้ว ก็คงจะมีผู้ขอพระบรมราชานุภาพหาผลประโยชน์ในอิศรแต่เพียงผู้เดียว...จะไม่เป็นแบบแผนที่ชอบยุติลงได้ ความเอกประโยคเช่นนี้มักจะเป็นที่เคยติเตียนมาแล้วในมหาประเทศ จึ่งเป็นเหตุที่ต้องตั้งเปเตนต์ลอว์ขึ้นไว้สำหรับการเช่นนี้ทุกประเทศ ซึ่งมีทางพระราชไมตรีมีกำหนดเขตรที่จะให้เอกประโยชน์เพียง 14 ปีเป็นอย่างมาก 10 ปีเป็นอย่างกลาง 5 ปีเป็นอย่างน้อย เมื่อสิ้นเขตรแล้ว ผู้อื่นจะได้หาประโยชนได้บ้าง
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การแลเวลาที่เดินอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ภอที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกฎหมายเปเตนต์ลอว์ขึ้นไว้ ด้วยจะได้เป็นการอุดหนุนเหมือนให้รางวัลแก่ผู้คิดการให้เจริญดีขึ้น แลจะได้ป้องกันการที่ผู้ได้รับเอกประโยคให้ประพฤติต้องตามพระราชกำหนดที่จะได้ตั้งขึ้น เมื่อประพฤติไม่ต้องตามคลองทางที่รับประโยชน์ไป จะได้รับโทษเป็นคู่กัน...
วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ มีหนังสือเรียนพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ความว่า
...ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเรียนว่า การที่เจ้าคุณเห็นควรว่าจะตั้งกฎหมายเปเตนต์ลอขึ้นนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณร่างกฎหมายนั้นขึ้นแล้วจึ่งจะทรงพระราชดำริห์แก้ไขต่อไป…
2432 - 9 ย้ายสำนักงาน (ออฟฟิศ) กรมพยาบาล
ราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2432 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศย้ายออฟฟิศที่จัดการกรมพยาบาลทั่วไป ซึ่งเดิมอยู่ที่โรงศิริราชพยาบาล มาอยู่ที่ตึกออฟฟิศกรมศึกษาธิการ
...ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีธุระแลราชการเกี่ยวข้องแก่กรมพยาบาล ขอให้ส่งจดหมายฤๅมาพูดจาข้อกิจธุระแลราชการ ที่ออฟฟิสกรมศึกษานั้น...
หมายเหตุ
ศาลาธรรมการ
หรือออฟฟิศกรมศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2432
อยู่ที่ตึกสองชั้นหลังศาลาสหทัยสมาคม ริมประตูพิมานไชยศรี
ด้านตะวันออกในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และย้ายไปเมื่อ พ.ศ.
2436
561 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2432 - 10 ตั้งหม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร
วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2432 ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง ให้หม่อมราชวงศ์เปียเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร มีตำแหน่งราชการในกรมศึกษาธิการ ถือศักดินา 800
หมายเหตุ
หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล (16 เมษายน พ.ศ. 2410 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459) ภายหลังได้เป็นมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาของประเทศไทยช่วงกลางรัชกาลที่ 5 ถึงตอนต้นรัชกาลที่ 6 ปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย ร่างเป็น “โครงแผนการศึกษาในกรุงสยาม” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2441 และโครงการสร้างสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2453
พ.ศ.
2433
2433 - 1 การเปิดอู่เรือหลวง
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช-ดำเนินประกอบพิธีเปิด “อู่เรือหลวง” เป็นอู่เรือสร้างจากไม้ มีขนาดใหญ่ สำหรับซ่อมแซมเรือ อู่เรือที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นอู่สำหรับจอดเรืออย่างเดียว ปัจจุบันคือ กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ความย่อดังนี้
“กรมยุทธนาธิการ ตั้งแต่เริ่มจัดการในชั้นแรก ความเจริญเกิดขึ้นเปนหนักหนาแล้วก็ดี จนบัดนี้ความรุ่งเรืองก็ยังเดินหน้าเรื่อยมา เห็นพยานได้ว่ากรมทหารเรือซึ่งชื่อเสียงไม่สู้ปรากฏในหนังสือนี้ เหมือนกรมทหารบกนั้น บัดนี้พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ เปนผู้บัญชาการทั่วไป ได้ทรงพระอุสาหะจัดการโดยสามารถ มีความเจริญเรียบร้อยเห็นได้ชัดแล้ว คือ เรือรบ เรือพระที่นั่งทุก ๆ ลำ ซึ่งรายชื่ออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา น่าท่าราชวรดิดถ์ ล้วนเต็มไปด้วยความรักษาไม่ย่อหย่อนพร่อง ดูภายนอกก็เห็นสีขาวหมดจดจริง ๆ จะหารอยถ่านควันไฟ ฤๅสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เปรอะก็ไม่มีแล้ว...เจ้าพนักงานทุกตำแหน่งก็เลือกเอาแต่ผู้ที่มีความรู้พอที่จะกระทำหน้าที่ของตนให้เจริญได้ ที่สุดจนพลทหารก็ชำนาญในการเรือขึ้นเปนอันมาก
พยานของการนี้มีอยู่
ถึงจะไม่กล่าวก็มีผู้เห็นโดยมาก คือ ปัสตันปืน ตั้งแต่ไรมาได้ทำแล้วฤๅในเมืองไทย บัดนี้ที่โรงหล่อข้างวังสมเด็จพระเจ้า-น้องยาเธอพระองค์ใหญ่
ซึ่งเปนออฟฟิศกรมทหารเรือ ได้มีเวิรก์ช๊อฟ คือ ที่ทำการช่างเหล็ก
สำหรับทำเครื่องเรือกลไฟต่าง ๆ แลมีโรงหลังหนึ่งต่างหาก
562 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สันนิษฐานบริเวณที่ตั้งของอู่เรือหลวงในแผนที่กรุงธนบุรี จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430)
ที่มา : แผนที่กรุงธนบุรีโดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ
ชี้ตำแหน่งและคำบรรยายสถานที่โดยผู้เรียบเรียง
563 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ทำปัสตันปืนใช้ได้เอง ไม่ต้องซื้อจากนอกแล้ว ใช้เครื่องสติมทำเร็วอย่างยิ่ง วันหนึ่งทำได้ตั้งแสนทีเดียว อู่เรือข้างโรงหล่อ ซึ่งยังไม่สำเร็จแต่เดิม เดี๋ยวก็เสร็จแล้ว ได้เริ่มการเปิดอู่เรือนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม
วันที่ 8 มกราคม เวลาบ่าย พระสงฆ์ 20 รูป ได้เจริญพระพุทธมนต์ที่พลับพลา...
วันที่ 9 รุ่งขึ้น ฉันแลถวายไทยทาน เวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง เสด็จออกทางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระราชยานไปประทัปพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เสด็จพระราชดำเนินไปลงเรือพระที่นั่งกราบขจรกรุง พายไปเทียบตะพานน่าโรงหล่อ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์คอยเฝ้าอยู่ เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ทรงพระราชยานไปประทับพลับพลาข้างอู่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เจ้านายหลายพระองค์แลข้าราชการ ทั้งราชทูต กงซุล ผู้แทนคอเวอนเมนต์ต่างประเทศทั้งปวง ได้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท...แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงทำปัสตันแลโรงเวิกช๊อป ทอดพระเนตรหลอมเหล็กกลึงปืน เลื่อยเหล็ก ทำเครื่องเรือกลไฟต่าง ๆ ทั่วทั้ง 3 หลังซึ่งอยู่ติดกัน...
2433 - 2 โรงพยาบาลเทพศิรินทร์เปิดให้บริการ
วันที่ 1 มีนาคม ร.ศ. 108 (นับอย่างสากลคือ พ.ศ. 2433) มีประกาศแจ้งความกรมพยาบาลในราชกิจจานุเบกษาว่า ได้เปิดโรงพยาบาลรักษาคนป่วยไข้ขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ใกล้วัดเทพศิรินทราวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทานแก่ข้าขัณฑสีมาทั้งปวง ไม่ต้องเสียค่ายาอันใด มีทั้งยาไทยยาฝรั่ง หมอผู้รักษาผู้พยาบาล เจ้าพนักงานได้เลือกสรรแล้ว
2433 - 3 กรมพยาบาลและกรมธรรมการรวมกับกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2433 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องตำแหน่งพนักงานกรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ กรมพยาบาล พบว่า กรมพยาบาลยังเป็นกรมย่อยอยู่ในกรมศึกษาธิการ มีพระเจ้า-น้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นอธิบดีทั้ง 3 กรม คือ กรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ และกรมพยาบาล ในปีนี้ กรมพยาบาลมีตำแหน่งขุนนางในกรม 4 ตำแหน่ง ได้แก่ แพทย์ที่ปรึกษา 2 คน (พระประสิทธิ์วิทยา หมอเฮวาด บี เฮส์) ผู้ตรวจการ 1 คน (หลวงไตรกิศยานุกิจ) บัญชีกลาง 1 คน (ขุนพิสิฐสรรพวิจารณ์) ยังไม่พบตำแหน่งขุนนางของโรงเรียนแพทยากร
หมายเหตุ
กรมพยาบาล
กรมธรรมการ และกรมศึกษาธิการ รวมกันเป็น “กระทรวงพระธรรมการ”
ระหว่าง พ.ศ. 2433
- 2435
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขยายการทดลองจัดระบบราชการกระทรวง หลังจากทรงทดลองจัดในกรมยุทธนาธิการระหว่าง
พ.ศ. 2430 - 2432
ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น
564 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2439 แสดงที่ตั้งโรงพยาบาลช่วงแห่งที่ 2 ข้างวัดเทพศิรินทราวาส ใกล้ป้อมปราบศัตรูพ่าย
(ในแผนที่ระบุนามป้อมผิด ป้อมป้องปัจจามิตรนั้นตั้งอยู่ที่คลองสาน)
ที่มา : หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
กระทรวงยุทธนาธิการเป็นกระทรวงแรก แล้วจึงขยายการทดลองระบบราชการกระทรวงไปยังกระทรวงอื่น ๆ
พ.ศ. 2435 หลังจากทรงทดลองระบบราชการกระทรวงในกระทรวงต่าง ๆ สำเร็จแล้ว จึงทรงยกระดับการปฏิรูปทุกกระทรวงทั้งประเทศ ทั้งนี้มีการเรียกขานกระทรวงพระธรรมการและกระทรวงธรรมการ
2433 - 4 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพจัดตั้ง “โรงเรียนแพทยากร”
วันที่ 4 ตุลาคม ร.ศ. 110 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกรมธรรมการ มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รายงานกรมศึกษาธิการ มีความย่อดังนี้
...ในรายงานฉบับนี้ เปนรายงานประจำปีที่ 4 หรือเป็นรายงานครั้งที่ 20
ของรายงานกรมศึกษาธิการทั้งสิ้น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายมาโดยลำดับมานั้น...
565 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เวรรายงาน
จำนวนพนักงานกรมศึกษาธิการ ปีรัตนโกสินทรศก 109
ออฟฟิศกลาง
อธิบดี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
นายเวรวิเสศ หลวงไพศาลศิลปสารท
กรมศึกษาธิการ
รองอธิบดี หม่อมเจ้าประภากร
สมุหบาญชี หลวงวินิจวิทยาการ (ขุนวรการโกศล)...
อนึ่ง โรงเรียนหลวง นอกจากโรงเรียนสอนหนังสือไทย แลภาษาอังกฤษ ยังมีอีก 3 แห่ง คือ โรงเรียนพระไตรปิฎก ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาธาตุวิทยาลัย 1 โรงเรียนแพทยากร (สอนวิชาแพทย์) ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ที่โรงศิริราชพยาบาล แห่ง 1 และโรงเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีการสอนวิชาต่าง ๆ อีกแห่ง 1 สมควรจะนับเข้าในจำนวน โรงเรียนการพิเสศ ได้เปนชนิดหนึ่ง โรงเรียนเหล่านี้ ถ้าจะรวมเข้าด้วยกันทั้งสิ้นก็เป็นจำนวน 95 โรงเรียนด้วยกัน...
อนึ่ง
การโรงพยาบาลซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น แลมีหมอมีพนักงาน
คนพยาบาลสำหรับรักษาพยาบาลคนไข้เจ็บทั้งปวงตามสมควร
การก็ได้ตั้งมาเรียบร้อยโดยลำดับ จนถึงได้ตั้งโรงพยาบาลขึ้นเปน หลายตำบล
การพยาบาลก็แพร่หลายออกไปทุกที จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดการ
ตั้งโรงเรียนวิชาแพทย์ขึ้นที่โรงศิริราชพยาบาล ได้ชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร นั้น
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานจัดที่เรือนเหลือง สำหรับรับแขกของศิริราชพยาบาล
เปนที่อาไศรยเล่าเรียนไปก่อน เมื่อวันที่ 5 กันยายน
ได้รับพระราชทานเปิดโรงเรียนสอนวิชา ครูที่ฝึกสอนนั้นได้รับพระราชทานให้หมอเฮส
ซึ่งเปนหมออยู่ในกรมพยาบาลแล้วนั้นเปนผู้ฝึกสอน
แลส่วนนักเรียนที่จะรับเข้าโรงเรียนนั้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี
แลเมื่อแรกจะเข้าโรงเรียนนั้น
ต้องมาทำสัญญาไว้ต่อเจ้าพนักงานกรมศึกษาธิการก่อนทุกคนแล้วจึงจะรับเข้าเรียนในโรงเรียนแพทยากรได้
แลที่ทำสัญญาต่อกันนั้น ก็เพื่อจะมิให้นักเรียนบิดพลิ้วไปได้ด้วยเหตุต่าง ๆ
แลจะได้ตั้งหน้าเรียนไปให้เปนการสดวก เพราะบางทีนักเรียน ๆ
ไปยังไม่ทันรู้ก็จะออกเสีย เมื่อรู้แล้วก็จะไม่เปนคุณเปนประโยชน์แก่ราชการ
จะไปเที่ยวรับรักษาหารับพระราชทานตามลำพังบ้าง จึงต้องทำสัญญา ความในสัญญาว่า
นักเรียนต้องเรียนไปจนรู้ได้ประกาศนิยบัตร เมื่อเรียนรู้ได้ประกาศนิยบัตรแล้ว
ต้องอยู่รับราชการเปนหมอในกรมพยาบาลไปอีก 3 ปี ส่วนเงินเดือนนั้น
ในชั้นต้นนับตั้งแต่วันที่ลงชื่อในหนังสือสัญญาไปจนได้ประกาศนิยบัตรเปนหมอ
จะได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ 12 บาทจนถึง 20 บาทเปนอย่างสูง
ถ้าบิดพลิ้วหรือมีเหตุไม่มาเรียนวิชา ก็ต้องลดเงินเดือนนั้นตามสมควร แล
566 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ต่อไปถ้าได้เปนหมอรับราชการในกรมพยาบาลจนครบ 3 ปีแล้ว ก็จะได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ 25 บาทจน 40 บาทเปนอย่างสูง นักเรียนในโรงเรียนแพทยากรนี้ ถ้าจะออกในระหว่างกำหนดสัญญาด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกรมศึกษาธิการไม่ยอมให้ออก แลจะออกให้ได้ ก็ต้องให้คืนเงินเดือนเท่าที่ได้รับ นับไปแต่วันลงชื่อในสัญญาจนวันที่จะออกมาให้ครบแล้ว จึงออกจากนักเรียนได้...
สรุปความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกรมธรรมการ จัดการตั้ง “โรงเรียนแพทยากร” โรงเรียนวิชาแพทย์ขึ้นที่โรงศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 ในระยะแรกจัดสถานที่เรียนที่เรือนเหลืองสำหรับรับแขกของศิริราชพยาบาล มีหมอเฮส์ซึ่งเป็นหมออยู่ในกรมพยาบาลแล้วนั้นเป็นผู้ฝึกสอน และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาแพทย์ที่เมื่อเรียนจบแล้วต้องทำงานใช้ทุนเสียก่อน
2433 - 5 เปิดโรงเลี้ยงเด็กและโรงพยาบาลทารก
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอรรคชายาเธอฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเลี้ยงเด็ก โดยมีพนักงานและคนใช้การต่าง ๆ ในโรงเลี้ยงเด็ก ร.ศ. 109 คือ ผู้ชาย 20 คน มีหมอใหญ่ 1 คน หมอรอง 1 คน ผู้หญิง 29 คน แม่นม 20 คน พี่เลี้ยงเด็กดรุณ 3 คน พี่เลี้ยงเด็กทารก 1 คน
2433 - 6 ตั้งกระทรวงยุทธนาธิการ
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมแบบแผนราชการของทหารบกและทหารเรือ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า พระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบจัดการทหารแบบตะวันตกทั้งประเทศ และกำเนิดระบบแพทย์ในกรมทหาร
...มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า
ราชการทหารบกทหารเรือซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นแต่ก่อนแล้วนั้น
ยังแยกย้ายกันอยู่เปนหลายหมู่หลายกรม ผู้ที่บังคับบัญชาการในกรมทหารต่าง ๆ นั้น
ก็ต่างคนต่างจัดไปโดยน้ำใจของตนที่เหนว่าจะเปนคุณต่อราชการจริง แต่การที่จัดไปนั้น
ไม่ได้ปฤกษาหาฤๅกันทุกหมู่ทุกกรม ก็แปลกแตกต่างกันไปไม่ลงเปนแบบแผนได้...
567 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
รูปเด็กชายในโรงเลี้ยงเด็กของพระอรรคชายาเธอฯ เวลาฝึกหัดทำสวน
ที่มา : หนังสือ ตำนานโรงเลี้ยงเด็ก
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเดิม สรุปได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 ว่าด้วยตำแหน่งฝ่ายพลเรือน
ข้อ 1 ให้ยก “กรมยุทธนาธิการ” ขึ้นเป็น “กระทรวงยุทธนาธิการ” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า มินิสเตอออฟวาแอนด์มารีน (Ministry of War and Marine) มีเสนาบดีเป็นประธาน เรียกว่าเสนาบดีว่าการยุทธนาธิการ (เดิมชื่อ ผู้บังคับบัญชาการกรมฯ)
ข้อ 2 ตำแหน่งรองเสนาบดี (เดิมชื่อ ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาการกรมฯ) ให้ตั้งเป็น “ราชปลัดทูลฉลอง (อันเดอเสเครตารี Under Secretary)” “ราชปลัดบาญชี (แอกเคาน์แตนด์-เยเนราล Accountant General)” ต่อไป ตามตำแหน่งอย่างกระทรวงใหญ่ ถ้าจำเป็นต้องใช้ตำแหน่งใดในศาลายุทธนาธิการมากน้อยเท่าใด แล้วแต่จะกำหนดตามสมควร
ส่วน “ตำแหน่งแพทย์” ในกระทรวงยุทธนาธิการมีตำแหน่งดังนี้
กรมทหารบก
1. กรมยกกระบัดทหารบกใหญ่
(นายแพทย์ใหญ่ทหารบก 1 ผู้ช่วยนายแพทย์ใหญ่ทหารบก 1)
568 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2. โรงพยาบาลทหารบก (สารวัดใหญ่ 1 รองสารวัดใหญ่ 1 นายแพทย์ 1 ผู้ช่วยนายแพทย์ 1 นายสิบพยาบาล 1 นายสิบภัณฑ์กิจ 1)
3. กรมคุกทหารบก (มีนายแพทย์ 1 คน)
กรมทหารเรือ
1. กรมทหารเรือ (นายแพทย์ใหญ่ทัพเรือ 1) (ไม่มีผู้ช่วยนายแพทย์ใหญ่ทัพเรือ)
2. โรงพยาบาลทหารเรือ (สารวัดใหญ่ 1 รองสารวัดใหญ่ 1 นายแพทย์ 1 ผู้ช่วยนายแพทย์ 1 นายสิบพยาบาล 1 นายสิบภัณฑ์กิจ 1) (เท่ากับโรงพยาบาลทหารบก)
3. กรมคุกทหารเรือ (นายแพทย์ 1) (เท่ากับโรงพยาบาลทหารบก)
2433 - 7 จัดตำแหน่งพนักงานกรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ กรมพยาบาล รวมกัน
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2433 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา จัดตำแหน่งพนักงานกรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ กรมพยาบาล รวมกัน โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรง-ราชานุภาพ เป็นอธิบดีบัญชาการทั้ง 3 กรม ดังความย่อดังนี้
ตำแหน่งพนักงานกรมศึกษาธิการ กรมธรรมการ
กรมพยาบาล
อธิบดี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
นายเวรวิเศษ หลวงไพศาลศิลปสาตร
กรมศึกษาธิการ
รองอธิบดี หม่อมเจ้าประภากร
สมุห์บาญชี หลวงวินิจวิทยาการ
(มีตำแหน่งข้าราชการอีก 34 ตำแหน่ง)
กรมธรรมการ กรมสังฆการี
จางวางกรมธรรมการบังคับกรมสังฆการี พระยาวุฒิการบดี
(มีตำแหน่งข้าราชการอีก 19 ตำแหน่ง)
กรมพยาบาล
แพทย์ที่ปฤกษาการ พระประสิทธิ์วิทยา
หมอ เฮวาด บี เฮส์
ผู้ตรวจการโรงพยาบาล หลวงไตรกิศยานุกิจ
บาญชีกลาง ขุนพิสิฐสรรพวิจารณ์
หลังจากที่พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์
กรมพยาบาลซึ่งเป็นกรมเล็กจึงย้ายจากโรงศิริราชพยาบาลมารวมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
กรมทั้ง 3 กรมนี้จึงรวมกันทำงานอยู่ภายใต้อธิบดีบัญชาการเดียวกัน
ก่อนถูกยกขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ
569 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2433 - 8 สถาปนากรมรถไฟ
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรก ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ
พ.ศ.
2434
2434 - 1 สร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) - เมืองนครราชสีมา
มีพระบรมราชโองการประกาศสร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) - เมืองนครราชสีมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม ร.ศ. 109 (ตรงกับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2434) งบประมาณไม่เกินสองแสนชั่ง กำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน พ.ศ. 2439
2434 - 2 พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างของธงสยาม
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2435 (ร.ศ. 110) มีพระบรมราชโองการว่า “แต่ก่อนมา ธงที่ใช้ในราชการต่าง ๆ ยังหาเป็นแบบอย่างแน่นอนไม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งกองข้าหลวงให้ตรวจแบบอย่าง ที่สมควรแล้ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้เปนแบบแผนสืบไป ให้ผู้ที่มีน่าที่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ธงนั้น ๆ ทำให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ” โดยทรงกำหนดธงไว้ 13 แบบสำหรับกรณีต่าง ๆ อาทิ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ เป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรีไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิไชยมงกุฎสรวมบนจักรี มีเครื่องสูง 7 ชั้นสองข้าง ธงนี้ชักขึ้นแห่งใด เป็นที่หมายว่าทรงประทับอยู่ที่นั่น ส่วนธงที่ 13 คือธงช้างชาติสยาม เป็นรูปช้างเผือกพื้นแดง ใช้ในเรือกำปั่นและเรือทั้งหลายของพ่อค้า เรือกำปั่นและเรือต่าง ๆ ของไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม แต่พระราชบัญญัตินี้ยกเลิกไปในอีกสองปีต่อมา ด้วยมีพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116
หมายเหตุ
ในเรื่องการใช้ธงของสยามนี้
ในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 กล่าวถึงประวัติการใช้ธงไว้ว่า
ธงอันเป็นสำคัญเครื่องหมายแห่งสยามประเทศนี้ แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง
ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน
บรรดาเรือหลวงจึงใช้รูปจักรกลางพื้นธงแดง
ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบช้างเผือกอันเป็นมงคลยิ่ง 3 ช้าง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างเผือกลงไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวง
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระรำพึงถึงเรือค้าขายของชาวสยามที่ใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอยู่นั้นไม่เป็นการสมควร
เหตุว่าซ้ำกับประเทศอื่นยากที่จะสังเกตเห็น จึงให้คงรูปช้างเผือกบนพื้นแดง
ยกรูปจักรออกเสีย ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์ ไม่ให้สับสนกับต่างประเทศ
มีธงรูปช้างเผือกบนสีขาบสำหรับเรือหลวง และธงสำหรับพระองค์ที่มีมหาพิชัยมงกุฎพร้อมเครื่องสูง
7 ชั้นสองข้าง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงใช้ธงทั้งสี่อย่าง
แต่เพิ่มตราแผ่นดิน
570 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สำหรับพระองค์ภายใต้มหาพิชัยมงกุฎตามในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างของธงสยาม ร.ศ. 110 ต่อมามีพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 ให้เพิ่มธงประเภทต่าง ๆ ขึ้นอีก เช่น ธงมหาราช ธงสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ธงเสนาบดี เป็นต้น
2434 - 3 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ถวายบังคมลา
ไปประเทศยุโรป
วันที่ 17 กรกฎาคม ร.ศ. 110 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพถวายบังคมลาไปประเทศยุโรป
...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงษ์ ไปถวาย พระเจ้าอาเล็กซันดราที่ 3 บรมราชาธิราชแห่งประเทศ รัสเซีย พระเจ้ากรุง เดนมาก กรุง กรีก กรุง อิตาลี และจะไปเยี่ยมกรุง เยอรมนี กรุง สวีเดน โนรเว ด้วย แลไม่ต้องสงไสยเลย ใช่แต่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพจะไปทรงทำการเท่านี้ คงได้ ทอดพระเนตรพิจารณาจดจำการในประเทศยุโรป ที่เป็นเครื่องทวีพระปรีชาในพระองค์ ซึ่งจะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป...กำหนดกรมหมื่นดำรงราชานุภาพจะได้เสด็จราชการกลับมากรุงเทพฯ ในราวเดือนเมษายน ปี 111 อนึ่ง ราชการในน่าที่กรมหมื่นดำรง-ราชานุภาพคือกระทรวงพระธรรมการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวุฒิการบดีเปนผู้บังคับการสิทธิ์ขาด แต่เมื่อขัดข้องอันใด โปรดเกล้าฯ ให้ได้ทูลหารือในพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์...
หมายเหตุ
1. การเสด็จทอดพระเนตรยุโรปของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพในครั้งนี้ พระองค์น่าจะนำมาใช้ในการจัดตั้งระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล (Territory Method) ซึ่งพัฒนามาจากระบบของประเทศเยอรมนี
2. ในระหว่างทอดพระเนตรกิจการในยุโรป
มีหนังสือโทรเลขถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2435 เรื่อง
มิสเตอร์โรลังยัคมินส์สมัครเข้ารับราชการ
ต่อมามิสเตอร์โรลังยัคมินส์ได้เข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป
และได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงระดับโลกและเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศระงับสงครามของยุโรป
และเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่นำประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวาในปี พ.ศ. 2438
นำไปสู่การเข้าร่วมอนุสัญญาควบคุมวิธีทำสงครามฉบับสำคัญคือ อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899
ช่วยป้องกันสงครามล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษให้พ้นไปจากประเทศไทยสำเร็จในปลายสมัยรัชกาลที่
5
571 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2435
2435 - 1 ตั้งเสนาบดีกรมมหาดไทย กรมศึกษาธิการ กรมเกษตราธิการ
และการจัดการภาษี
วันที่ 29 มีนาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2435) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขา ที่ 657/110 ลงวันที่ วันที่ 29 มีนาคม ร.ศ. 110 ความว่า
ถึงที่ประชุมเสนาบดี
ด้วยคิดเห็นว่า ราชการในตำแหน่งเสนาบดีทุกวันนี้ ต้องกวดขันเอาให้ได้ราชการจริงเป็นประมาณ ทั้งทุกวันนี้ก็จัดเป็นตำแหน่งมีเงินเดือนทุกกรม ต้องใช้เงินมากกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่า จึ่งจำเป็นต้องกวดขันให้การเป็นไปได้จริง จะปล่อยลา ๆ เหมือนอย่างแต่ก่อนนั้นมิได้
เห็นว่าเจ้าพระยารัตนบดินทร์ ที่สมุหนายกก็ชรา จะเข้ามาประจำราชการในออฟฟิศ ฤๅจะเข้ามาประชุมปฤกษาราชการก็ไม่ได้ ด้วยร่างกายทุพพลภาพจริงมิใช่แกล้งบิดพลิ้ว
จึงเห็นว่าสมควรที่จะยกเป็น ขุนนางผู้เถ้า รับราชการเป็นครั้งเป็นคราว ตามอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่เห็นว่า เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ได้รับราชการมาหลายสิบปี ไม่มีความผิดราชการอย่างหนึ่งอย่างใด ควรจะได้รับเงินประจำปีสำหรับรักษาเกียรติยศไปจนกว่าจะสิ้นชีวิตร ให้คิดตั้งเงินปีให้ปีละ 120 ชั่ง...
ส่วนตำแหน่ง เสนาบดีมหาดไทย นั้น เห็นว่ากรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นผู้มีความสามารถที่จะทำการในตำแหน่งได้ ควรจะเปลี่ยนกรมหมื่นดำรงมาเป็นเสนาบดีกรมมหาดไทย ส่วนเสนาบดี กรมศีกษาธิการ นั้น เห็นว่า พระยาภาสกรวงศ์สามารถที่จะจัดการในตำแหน่งนั้นได้...แต่ ตำแหน่งเกษตราธิการ เดิมยังเป็นการภาษี ไม่เป็นส่วนชัดเจนนั้น ให้ส่งภาษีอากรทั้งปวงไปกรมพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น คงไว้แต่การที่ดินต่าง ๆ คือ เกษตรากรตามที่ได้แบ่งปันกันไว้ ส่วนผู้ซึ่งจะว่าการตำแหน่งอธิบดีกรมนี้ เห็นว่า พระยาสุรศักด์มนตรีลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ควรจะให้มาเป็นอธิบดีจัดการในกรมเกษตรากรนี้ได้ ให้เรียกผู้ซึ่งควรจะเป็นตำแหน่งทั้งสามนี้มาปฤกษาการในตำแหน่งให้เป็นการตกลงเรียบร้อย ทันเวลาที่ปฤกษางบประมาณนี้
สยามินทร์
572 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2435 - 2 ประกาศตั้งเสนาบดี 12 ตำแหน่ง
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2435 ประกาศตั้งเสนาบดี 12 ตำแหน่ง
ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี
มีพระบรมราชโองการ...สั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า...ราชการบ้านเมืองย่อมจะเป็นที่เรียบร้อยได้ด้วยการจัดการแบ่งกระทรวงน่าที่พนักงานให้ทำการเปนหมวดเปนหมู่...แลต้องแบ่งน่าที่ราชการให้เปนส่วนเปนพแนกตามกระทรวง ราชการทั้งปวงจึงจะสำเร็จไปได้...จึงได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขธรรมเนียมกระทรวงของการที่เสียให้ดีขึ้นใหม่มาเป็นชั้น ๆ ตามกาลแลสมัย... จะกล่าวตั้งแต่เสนาบดี 6 ตำแหน่งที่มีอยู่แต่แรกได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมา มีอรรคมหาเสนาบดี 2 คือ (1) เสนาบดี กรมมหาดไทย ที่สมุหนายก ได้บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง (2) เสนาบดี กรมพระกลาโหม ที่สมุหพระกลาโหมได้บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ทั้งปวงแลการทหารบกทหารเรือ
จตุสดมภ์ 4 คือ (1) เสนาบดีที่ พระคลัง ได้บังคับบัญชาการต่างประเทศแลกรมพระคลัง (2) เสนาบดี กรมเมือง ได้บังคับบัญชาการรักษาพระนครแลความนครบาล (3) เสนาบดี กรมวัง ได้บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง แล (4) เสนาบดี กรมนา ที่กระเษตราธิบดี ได้บังคับบัญชาการไร่นา รวมเป็น 6 ตำแหน่ง นับว่าเป็นตำแหน่งประจำในที่ประชุมเสนาบดี...
ครั้นต่อมาในปีกุนสัปตศก จุลศักราช 1237 จ.ศ. 1237 (ร.ศ. 94) ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกระทรวงพระคลังออกจากกระทรวงต่างประเทศ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น แลในปีมเมียเบญจศก จ.ศ. 1245 (ร.ศ. 102) ได้ทรงพระกรุณาให้ตั้ง กระทรวงโทรเลขแลไปรสนีย์ ขึ้นใหม่
ในปีกุนนพศก จ.ศ. 1249 (ร.ศ. 106) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารบกทหารเรือออกจากกรมพระกระลาโหม ตั้ง กรมยุทธนาธิการ ขึ้น
แลในรัตนโกสินทรศก
109 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการโยธาต่าง ๆ ที่อยู่ในกระทรวงต่าง ๆ
มาตั้งเป็น กระทรวงโยธาธิการ ขึ้น แลรวมกรมโทรเลขไปรสนีย์เข้าในกระทรวงโยธาธิการ
แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมธรรมการและสังฆการีที่ขึ้นอยู่ในกรมมหาดไทยมารวมกับ
กรมศึกษาธิการ เป็นกระทรวงหนึ่งต่างหากแล้ว บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า
กระทรวงเมืองซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงษ์
แลข้าราชการเปนคอมมิตตี บังคับการมาแต่ปีจออัฐศก จ.ศ.
1248 (ร.ศ. 105) นั้น ได้จัดการแก้ไขเปนแบบแผนขึ้นใหม่
ควรให้เลิกกอมมิตตีเสีย ให้คงเปน
573 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เสนาบดีไปตามเดิม
แลกระทรวงกระเษตราธิการที่ได้บังคับการโรงภาษีสินค้าเข้าออกนั้น ให้ยกไปขึ้นกระทรวงคลัง ให้คงแต่กระเษตรพานิชการ
แล กระทรวงยุติธรรม ที่จะได้รวบรวมผู้พิพากษา แลตระลาการพิจารณาคดีความนั้น ก็ได้จัดการชั้นต้นพอจะให้ราชการเปนไปได้ในแห่งเดียวแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเปนกระทรวงใหญ่ขึ้น แลกรมพระอาลักษณ์มีราชการน่าที่มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเปนกระทรวงใหญ่ เรียกว่า กระทรวงมุรธาธร
...แลควรให้แก้กระทรวงเปน กรมยุทธนาธิการ บังคับบัญชากรมทหารบกทั้งปวง ให้มีผู้บัญชาการ ให้มียศเสมอเสนาบดี แลให้เข้าที่ประชุมเสนาบดีด้วย แต่การบาดหมายราชการทั้งปวงนั้นให้กรมพระกระลาโหมเปนเจ้าน่าที่ไปตามธรรมเนียมเดิม แลกรมทหารเรือแลกรมช่างแสง ซึ่งยกไปกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ให้ยกมาขึ้นกรมพระกระลาโหม เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการมีกระทรวงใหญ่ ให้ประชุมกันปฤกษาราชการตามน่าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกันเปนที่ประชุมเสนาบดี 12 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีสภา...จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้บันดาเสนาบดีทั้งปวงนี้ ให้มียศเสมอกันทั้งสิ้น ไม่ให้ถือว่าเปนอรรคมหาเสนาบดี ฤๅเปนจตุสดมภ์ ฤๅเป็นเสนาบดีตำแหน่งใหม่ แลพนักงานน่าที่ของกระทรวงต่าง ๆ ทั้งปวงนี้ จะได้มีพระราชบัญญัติออกต่อไปในภายหลังด้วย
…ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 111
กระทรวงกลาโหมในปี พ.ศ. 2435 นี้ ยังคงเป็นกระทรวงกลาโหมตามแบบเก่า คือ ยังให้กระทรวงกลาโหมบังคับหัวเมืองตามที่บัญญัติในกฎหมายตราสามดวง “เนื่องจากการในกระทรวงกลาโหมยังจะจัดให้ตลอดไปไม่ได้ทีเดียว ด้วยราชการพลเรือนที่เป็นการสำคัญ คือ การบังคับหัวเมือง ยังไม่ถึงเวลาถอนไปจากกระทรวงกลาโหม” ต่อมาถึง พ.ศ. 2437 จึงมีประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย เมื่อกระทรวงกลาโหมถอนการควบคุมหัวเมืองให้กระทรวงมหาดไทยคุมแทน กระทรวงมหาดไทยจึงใช้ระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลปกครองหัวเมืองทั้งประเทศ
2435 - 3 ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงธรรมการ ร.ศ. 111
พ.ศ.
2435 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เรื่องตำแหน่งข้าราชการกระทรวงธรรมการในกระทรวงธรรมการ
มีพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีกรมศึกษาธิการ มีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร
เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ส่วนกรมพยาบาลยังไม่มีอธิบดี มีหมอ 19 คน
574 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตำแหน่งแพทย์ : กรมพยาบาลมีหมอประจำกรม 5 คน (หม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ หม่อมเจ้าเจียก หม่อมเจ้าปาน หม่อมเจ้าปรานี พระประสิทธิ์วิทยา) ศิริราชพยาบาลมีหมอ 1 คน (ขุนเทวโอสถ) โรงเรียนแพทยากรมีหมอ 2 คน (หมอเฮส์ หมอยอร์ช แมคฟาร์แลนด์) เทพศิรินทร์พยาบาลมีหมอ 1 คน (นายท้วม) บูรพาพยาบาลมีหมอ 1 คน (ขุนแพทย์พิเศษ) บางรักพยาบาลมีหมอ 1 คน (นายด้วง) เสียจริตพยาบาลมีหมอ 1 คน (นายพุ่ม)
2435 - 4 จัดตั้งมณฑลระยะแรก 4 มณฑล
การปรับปรุงการปกครองหัวเมืองต่างจังหวัดระยะแรก เริ่มด้วยการตั้งมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า สำเร็จในปี พ.ศ. 2435 ยังมีอุปสรรคในการเลือกหาคนให้เหมาะสมเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล
หมายเหตุ
หลังจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จทอดพระเนตรระบบต่าง ๆ ของยุโรประหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2435 ทรงนำระบบปกครองเมืองต่าง ๆ ของประเทศเยอรมนี (Territory Method) ประยุกต์จัดตั้งระบบปกครองหัวเมืองแบบเทศาภิบาลขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากทรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีมหาดไทย สันนิษฐานว่าการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลระยะแรก 4 มณฑล เป็นการทดลองจัดตั้งระบบใหม่ ทรงใช้หลักการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินแบบเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ทำการทดลองระบบราชการใหม่ที่มีขนาดเล็กก่อน ปรับปรุงแก้ไขจนได้ผลดีแล้ว จึงขยายผลไปทั่วประเทศ และปรับปรุงตามความพร้อมของประเทศในแต่ละระยะ
2435 - 5 ตำแหน่งแพทย์ทหารเรือ
มีประกาศตำแหน่งข้าราชการกระทรวงพระกลาโหม ปรากฏตำแหน่งแพทย์ ดังนี้
กรมทหารเรือ
กรมกลาง : หมอกองกลางสำหรับทหารเรือ
นายฟัก นายแพทย์หมอยา
นายหม่าน นายแพทย์หมอบาดแผล
นายเวก ผู้ช่วยนายแพทย์หมอยา
2435 - 6 มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป
(พ.ศ.
2435 - 2445)
วันที่ 30 มกราคม
พ.ศ. 2435
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีโทรเลขกราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการมาจากเมืองไคโรว่า
ได้พักอยู่โรงแรมเดียวกับ ลอร์ดเร (Lord Reay) เป็นบารอนอังกฤษและสกอต
[ลอร์ดเร เกิดเมื่อ ร.ศ. 57 ได้เป็นเจ้าเมืองบอมเบย์ก่อนลอร์ดแฮร์ริส Lord Harris เจ้าเมืองบอมเบย์คนปัจจุบัน] ลอร์ดเรเป็นผู้ที่สร้างความเจริญให้กับอินเดียหลายอย่าง
จึงทรงหารือเรื่องการที่จะหาหมอจากอินเดียเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ
แต่ลอร์ดเรตอบว่ายาก เนื่องจากหมอได้มีตำแหน่งสำคัญในอินเดียไปหมดแล้ว
575 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพจึงทรงถามว่า รัฐบาลไทยต้องการที่ปรึกษาที่มีความสามารถจากอินเดียสักคนหนึ่ง ลอร์ดเรจึงตอบว่า ถ้ารัฐบาลไทยต้องการคนดี ๆ สักคนหนึ่ง เห็นมีคนหนึ่งกำลังอยู่ในไคโรเช่นกัน ชื่อมิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (Rolin-Jacquemyns) เป็นชาวเบลเยียม เป็นนักกฎหมาย เคยเป็นเสนาบดีในนครเบลเยียมนานถึง 6 ปี กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงชวน ม.ร.ย. (Rolin-Jacquemyns) ทรงกราบทูลว่า “มารับพระราชทานอาหารกลางวันด้วยวันหนึ่ง ดูเปนคนอายุราว 50 พูดอังกฤษดีทีเดียว กริยาอัทยาไศรยก็เรียบร้อย จึงได้ให้มิสเตอเออนีไปทาบทาม ก็ตกลงรับจะไป แต่ขอเงินปีระหว่าง 2500 ปอนด์ แล้วขึ้นไปหา 3000 ปอนด์...
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือกราบบังคมทูลว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพมีโทรเลขมาอธิบายเรื่องที่มิสเตอร์โรลังยัคมินส์ เสนาบดีกรุงเบลเยียมเคยมีโทรเลขสมัครมารับราชการสยามว่าจะขอเงินจ้างรายปี ปีละ 25,000 ปอนด์นั้น ตัวเลขโทรเลขผิดไปมี 0 เกินมาหนึ่งตัว ที่จริงแล้วเป็นเงินว่าจ้างรายปีเพียง 2,500 - 3,000 ปอนด์ ถ้าเทียบว่าปอนด์ละ 12 บาท ก็จะเป็นเงินค่าจ้างราว 375 - 450 ชั่งเท่านั้น และกรมหลวงเทวะวงษวโรประการได้ตรวจสอบดูแล้วพบว่าเป็นเสนาบดีว่าการภายในพระนครของเบลเยียม ไม่ใช่เสนาบดีโยธาธิการ จึงมีโทรเลขกลับไปว่า “ให้คิดเอามาให้ได้” พร้อมกันนั้นขอให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้ส่งประวัติละเอียดของมิสเตอร์โรลังยัคมินส์มาให้ด้วย
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 มิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (Rolin-Jacquemyns) เข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปและอัครราชทูตสยาม
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 มิสเตอร์โรลังยัคมินส์ประกอบความดีความชอบครั้งยิ่งใหญ่ช่วยให้ประเทศสยามพ้นจากภัยคุกคามของฝรั่งเศสจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (สงครามฝรั่งเศส - สยาม) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวาภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป ถือศักดินา 10000 นับเป็นชาวต่างประเทศคนแรกและคนเดียวในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้าพระยาเสมอกับเสนาบดี
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2442 เจ้าพระยาอภัยราชากราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เพราะความชราและสุขภาพทรุดลง
วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2442 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือศาลาว่าการต่างประเทศ ที่ 4/299 แจ้ง พระยาประสิทธิศัลการ อัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน ว่ามีพระบรมราชโองการให้ตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนจ่ายให้แก่เจ้าพระยาอภัยราชาต่อไปอีก 2 ปี เดือนละ 250 ปอนด์ จ่ายงวดละสามเดือนต่อไปอีกจนครบ 2 ปี
วันที่ 9 มกราคม
พ.ศ. 2445
เจ้าพระยาอภัยราชาถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงบรัสเซลส์
576 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
ประวัติของมิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (Rolin-Jacquemyns)
มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2378 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2445 ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย ช่วยให้การปฏิรูประบบราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแบบตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยแก้ไขปัญหายุติข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในกรณี ร.ศ. 112 และช่วยนำประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 83 (ค.ศ. 1864) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีสากลยุโรป เพิ่มอำนาจการเมืองระหว่างประเทศในการต่อต้านการยึดครองเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามเข้าร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศอย่างรวดเร็วหลังจากก่อตั้งเพียง 2 ปี
มิสเตอร์โรลังยัคมินส์กับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เป็นบุคคลสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศของไทยในช่วงวิกฤตสงครามไทย - ฝรั่งเศส โดยช่วยนำประเทศไทยเข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวาฉบับแรก ค.ศ. 1864 ได้อย่างรวดเร็ว อนุสัญญาเจนีวาเป็นสนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจัดทำขึ้นเพื่อลดผลกระทบของสงครามและทำให้เกิดสันติภาพ เนื่องจากมิสเตอร์โรลังยัคมินส์มีความคุ้นเคยกับ Gustave Moynier ประธานคณะผู้ก่อตั้งกาชาดระหว่างประเทศ “Committee of Five” เป็นอย่างดี คณะผู้ก่อตั้งประกอบด้วย 1. Moynier (lawyer) - chairman 2. Henry Dunant 3. Louis Appia (Doctors) 4. Thèodore Maunoir 5. Guillaume-Henri Dufour (the army general)
Gustave Moynier เป็นผู้ทรงอิทธิพลในประเทศสวิส เป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศระดับปริญญาเอกจากฝรั่งเศส มาจากตระกูลพ่อค้าและนายธนาคารเจนีวาที่ร่ำรวยและมั่นคง เป็นผู้วางรากฐานของกาชาดระหว่างประเทศให้ยิ่งใหญ่มั่นคงด้วยการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศและการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม Gustave Moynier ดำรงตำแหน่งเป็น President of International Red Cross Committee ยาวนานถึง 46 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453)
ในปี ค.ศ. 1867 อังรีดูนังต์ถูกประกาศให้เป็นผู้ล้มละลาย เนื่องจากธุรกิจในแอลจีเรียล้มเหลว เพราะเขาไม่ได้ดูแลธุรกิจในระหว่างการทำงานให้กับกาชาดระหว่างประเทศ และอังรีดูนังต์เกิดข้อขัดแย้งด้านแนวคิดการทำงานกับ Gustave Moynier จึงได้ออกจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) อีกทั้งปัญหาล้มละลายที่เป็นคดีความกันได้ส่งผลให้อังรีดูนังต์จำเป็นต้องย้ายออกจากนครเจนีวาและไม่ได้กลับไปอีกเลย
ในปี พ.ศ.
2444
คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ได้ตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับอังรีดูนังต์
ร่วมกับ Frédéric Passy นับเป็นเกียรติยศอันสูงสุดของอังรีดูนังต์
และเป็นการประกาศให้โลกทราบว่า อังรีดูนังต์คือจุดกำเนิดของกาชาด และอีก 9 ปีต่อมา
อังรีดูนังต์ได้ถึงแก่อสัญกรรมในรีสอร์ตสุขภาพเล็ก ๆ ในเมือง Heiden ของสวิส โดย Gustave Moynier ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นผู้วางรากฐานองค์กรกาชาดของโลกได้ถึงแก่กรรมก่อนหน้าอังรีดูนังต์เพียง
2 เดือน
577 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2436
2436 - 1 ตำแหน่งข้าราชการ กรมพยาบาล กระทรวงพระธรรมการ ร.ศ. 112
มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่องตำแหน่งข้าราชการกระทรวงพระธรรมการ ร.ศ. 112 ระบุว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดี กรมศึกษาธิการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์เป็นอธิบดี กรมพยาบาล มีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร เป็นอธิบดี และมีข้าราชการประจำกรม 8 คน เป็นหมอ 6 คน (พระยาประเสริฐศาสตรดำรง หม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ หม่อมเจ้าเจียก หม่อมเจ้าปาน หม่อมเจ้าปรานี และหลวงดำรงแพทยาคุณ) ส่วนโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลต่าง ๆ แยกต่างหากจากกรมพยาบาล
วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2436 ตั้งพระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธารเป็นอธิบดีกรมพยาบาล และกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ
2436 - 2 ขออนุญาตพิมพ์คัมภีร์แพทย์
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2436 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ว่ากรมพยาบาลขอพิมพ์คัมภีร์แพทย์ทั้งไทยและฝรั่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนแพทยากร โดยมีกำหนดออกเป็นคราว ๆ ไป เพื่อเป็นตำราของแพทย์และสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพ
2436 - 3 ชะลอการตั้งมณฑลเทศาภิบาล เนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ในเรื่องการตั้งมณฑลไว้ตอนหนึ่งว่า “พอตั้งมณฑลได้ไม่ช้า ถึง ร.ศ. 112 ไทยก็เกิดวิวาทกับฝรั่งเศส เทศาภิบาลมณฑลปราจีนจัดส่งกำลังและเครื่องยุทธภัณฑ์ไปยังมณฑลชายแดนตะวันออกแข็งแรงรวดเร็วกว่าคนทั้งหลายคาด ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ของการตั้งมณฑล ถึงออกปากชมกันเป็นครั้งแรก แต่ปีนั้นยุ่งด้วยเรื่องฝรั่งเศส ไม่สามารถจัดการตามหัวเมืองอื่นได้”
ในปี พ.ศ. 2436 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงมณฑลอีสานแล้ว จึงได้รวมเมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง เมืองชัยภูมิ เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง เรียกชื่อว่ามณฑลนครราชสีมา
2436 - 4 ตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
วันที่ 13 เมษายน ร.ศ. 112 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีหนังสือกราบทูล สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระวรราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ ความสำคัญตอนหนึ่งว่า
...บัดนี้ได้ทราบเกล้าฯ ว่ามีดัษกรภายนอกที่มีอำนาจปราศจากธรรมะ
ทำการข่มขู่ด้วยอุบายต่าง ๆ จะแย่งชิงเอาส่วนพระราชอาณาเขตร เปนเหตุ
578 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ให้พระมหาเศวตรฉัตรสดุ้งสะเทือนทั้งพระเกียรติยศแลอิศรภาพของพระราช-อาณาจักรจะเสื่อมทรามไปแก่ตาโลกย์ เปนการจำเปนโดยแท้ที่ราชาธิปตัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องจัดการต่อสู้ป้องกันรักษาอิศรภาพแลพระราชอาณาเขตรอยู่นี้ ในสิ่งที่เพศหญิงซึ่งเปนชาติชาวสยามจะช่วยอุดหนุนในการป้องกันรักษาพระนครได้มีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งคิดด้วยเกล้าฯ เห็นว่าการนั้นจะเปนไปได้โดยทางชักนำวงศญาติบุตรหลานแลมิศสหายทั้งเพื่อนหญิงที่ร่วมเพศรักชาติไทยสมัคเปนข้าพระเจ้าอยู่หัว จะชวนลงชื่อเรี่ยไรออกทรัพย์ตามแต่สัทธาตั้งขึ้นเปน สภาอุณาโลมแดง ของชาติหญิงชาวสยามที่เปนไทยขึ้น เพื่อที่จะได้จัดการรักษาพยาบาลบำรุงกำลังพลทั้งทหารบกทหารเรือของพระเจ้าอยู่หัวในเวลาที่รับราชการอยู่…
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบ ความว่า
...เห็นว่าเป็นความคิดอันดี ซึ่งต้องด้วยแบบอย่างประเทศทั้งปวงอันรุ่งเรือง แล้วมีอยู่ ถ้าจะเรี่ยรายก็คงจะได้เงินมาก แต่เมื่อยังไม่ถึงการสงคราม จะยังไม่เปนการจำเปนต้องออกเงินจ้างคน ส่งแต่เพียงยาแลผ้าซึ่งเคยได้ทำมาครั้งทัพฮ่อ แต่ก่อนก็เห็นจะพอ ให้กรมหมื่นพิทยฯ หนังสือนี้ขึ้นเสนอในที่ประชุมเสนาบดีจะเห็นการควรประการใด...
วันที่ 17 เมษายน ร.ศ. 112 ประชุมเสนาบดี ณ มุขกระสันพระวิมานรัฐยา
...กรมหมื่นพิทยอ่านหนังสือท่านผู้หญิงเปลี่ยน เรื่องสภาอุณาโลมแดง...แล้วอ่านพระบรมราชกระแสว่า
เห็นว่าเป็นความคิดอันดี ซึ่งต้องด้วยแบบอย่างประเทศทั้งปวงอันรุ่งเรืองแล้วมีอยู่ ถ้าจะเรี่ยรายก็คงจะได้เงินมาก แต่เมื่อยังไม่ถึงการสงคราม จะยังไม่เปนการจำเปนต้องออกเงินจ้างคน ส่งแต่เพียงยาแลผ้าซึ่งเคยได้ทำมาครั้งทัพฮ่อ 2 แต่ก่อนก็เห็นจะพอ ให้กรมหมื่นพิทยฯ นำหนังสือนี้ขึ้นเสนอในที่ประชุมเสนาบดีจะเห็นการควรประการใด...
กรมหลวงเทวะวงษกล่าวว่า การที่คิดดังนี้ก็เป็นการดีแล้วไม่มีที่เสียอันใด ควรจะให้คิดให้สำเร็จแล้วทรงชี้แจงถึงการที่ พวกไม้กางเกนเขนแดงที่มีในยุโรป ซึ่งมองซิเออร์เยโคมินเห็นควรจะให้เนื่องมาถึงเมืองไทย์ด้วย...
ในที่สุดที่ประชุมมีความเห็นพร้อมกันว่า
การที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนคิดนี้ เปนการดี
ควรทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้จัดการให้สำเร็จดังที่คิดนั้น...
579 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ มร5ต/80ต44
หมายเหตุ
พวกไม้กางเขนแดงที่มีในยุโรป หมายถึง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งมองซิเออร์เยโคมิน (โรลังยัคมินส์) เห็นควรว่าไทยควรเข้าร่วมอนุสัญญาเป็นภาคีสมาชิกด้วย
580 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 112 จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
กรมราชเลขานุการมีหนังสือแจ้งท่านผู้หญิงเปลี่ยน ความว่า
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 26 เมษายน รัตนโกสินทรศก 112
แจ้งความแด่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ด้วยท่านมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี เปนความเหนว่าด้วยจะจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น เพื่อจะช่วยอุดหนุนในการป้องกันรักษาพระนคร ในเวลาที่ดัสกรภายนอกกระทำการข่มขู่ด้วยออกอุบายต่าง ๆ ปรารถนาจะแย่งชิงเอาส่วนพระราชอาณาเขตร โดยชักชวนกันลงชื่อออกเงินเรี่ยไรเพื่อจะจัดการรักษาพยาบาลบำรุงกำลังพลทหารทั้งบกทั้งเรือ ในเวลาที่มีราชการทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือจะจัดจ้างผู้พยาบาล แลจัดซื้อยาแลสิ่งของส่งไปทุกกองทัพแลที่ในพระมหานครนี้ สภานี้จะจัดการตั้งโรงพยาบาลขึ้นเอง แลกราบทูลเชิญ สมเดจพระนางเจ้า พระบรมราชเทวีเปนชนนีผู้บำรุงการ พระนางเจ้าพระวรราชเทวีเปนสภานายิกา พระนางเจ้าพระราชเทวี พระอรรคชายาเธอ ทั้งท่านพระองค์อื่นที่สมควรเปนอุปนายิกาไม่มีจำนวนกำหนด ท่านจะเข้าเปนเลขานุการินีนั้น สมเดจพระนางเจ้าพระบรมราชเทวีได้นำขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนความคิดอันดีซึ่งต้องด้วยแบบอย่างประเทศทั้งปวงอันรุ่งเรืองแล้วมีอยู่ ถ้าจะเรี่ยรายก็คงจะได้เงินมาก แต่เมื่อยังไม่มีการสงคราม จะยังไม่เป็นการจำเปนต้องออกเงินจ้างคน ส่งเพียงยาแลผ้าซึ่งเคยทำมาครั้งทับฮ่อแต่ก่อนก็เหนจะพอ ให้กรมหมื่นพิทย์นำหนังสือนี้ขึ้นเสนอในที่ประชุมเสนาบดี จะเห็นควรประการใด
วันที่ 20 พฤษภาคม ร.ศ. 112 สภานายิกาและกรรมการินีมีหนังสือกราบบังคมทูลว่าได้จัดตั้งขึ้นเป็น “สภาฯ ในพระราชินูปถัมภ์ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี” เพื่อจะได้จัดการเป็น “ทานสถานสำหรับชาติสยาม” ตามประสงค์ที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว
“จึงได้ประชุมปฤกษาตกลงกันในวันนี้ ขออัญเชิญเสด็จใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทดำรงที่ ผู้บำรุงการอย่างสูงสุด เปนทานะมยูปถัมภ์ของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามสืบไป”
วันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 3/3218 ความว่า
581 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ถึงกรรมการินีสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 20 พฤศภาคม แสดงการที่ได้ตั้งสภาขึ้นแล้ว โดยทุนทรัพย์ที่เรี่ยไรกัน แลจัดการที่จะส่งยากับเครื่องพยาบาลไปยังกองทหารในมณฑลต่าง ๆ และขอเชิญให้ฉันเปนทานมยูปถัมภ์นั้นได้ทราบแล้ว ขอแสดงความยินดีที่สภานี้ได้ตั้งขึ้นเพื่อจะได้เปนการอุดหนุนแก่เหล่าทหารบกทหารเรือ ซึ่งเอาชีวิตร่างกายรักษาพระราชอาณาเขตร แล ขอบใจที่เชิญให้เปนทานมยูปถัมภ์ ขอรับไว้ตามคำเชิญนั้น โดยความยินดีอย่างยิ่ง
ในชั้นต้น จะขอบอกยอมให้ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสภานี้จะได้เลือกเปนที่โรงไว้เก็บยา โดยไม่ต้องเสียเงินในเรี่ยรายนี้ แลการที่จะจัดในเวลานี้ เข้าใจว่าจะเปนแต่ส่งยาแลส่งผ้าห่มให้กองทหาร ถ้าจะรออยู่ได้ยังไม่ต้องลงเงิน ก็จะขอผัดรออยู่ไว้ลงต่อภายหลัง เพราะจะได้ใช้การอื่น ด้วยเห็นว่าเงินในมือสภานี้จะพอใช้การไปพลางอยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นว่าจะเปนตัวอย่างไม่ดี คือจะพาให้ผู้อื่นพลอยอึ้งเอาอย่างไปตาม ก็จะบอกลงเงินโดยทันที ในจำนวนครั้งแรกนี้เปนเงินแปดหมื่นบาท ส่วนเงินพระคลังข้างที่ทั้งนั้น
ซึ่งว่าขยักขย่อนอยู่ดังนี้ มิใช่จะเปนโดยความไม่แน่นอนใจอย่างใด เปนเหตุเพราะได้ลงไปแล้วก็มากแลยังจะใช้ต่อไปอีกก็มี ในราชการแผ่นดิน กลัวจะไปเกิดชักหน้าไม่ถึงหลังขึ้น แต่ขอแสดงน้ำใจให้เชื่อไว้ว่า ชีวิตรแลทรัพย์สมบัติของฉันกับกรุงสยามนี้ นับเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน มิได้มีความหวงแหนเลย...
วันที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 112 สภานายิกา เลขานุการินีและกรรมการินีแห่งสภาอุณาโลมแดงฯ มีหนังสือกราบบังคมทูล แสดงความปีติยินดีในการที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภก มีผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญเป็นเงินถึง 444,728 บาท ซึ่งจะแบ่งเป็นสามส่วน ฝากเงินทุนของสภานี้ในทางรถไฟนครราชสีมา และจัดซื้อยาควินิน โคลโรดิน ยาเม็ดแก้อหิวาตกโรค ยาแดงจีนแก้จุกเสียด ยาจีนแก้ตาแดง เป็นต้น ส่วนยาไทยนั้น ให้กรรมการินีรับหน้าที่ไปทำคนละขนานสองขนาน
วันที่ 19 มิถุนายน ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราช-กระแสรับสั่ง ที่ 3/4919 ความว่า
...ด้วยได้รับหนังสือลงชื่อพนักงานแลกรรมการินีทั้งปวง ลงวันที่ 16 แสดงความขอบใจที่ฉันได้รับเป็นทานมยูปถัมภก์...ได้อ่านตลอดโดยความยินดีอย่างยิ่ง
ขอให้สภานี้ได้รับคำอนุโมทนาแลความยกย่องสรรเสริญว่าได้ทำคุณความดีต่อแผ่นดิน อันฉันได้คิดอยู่เพื่อจะให้ความพะยายามแล
582 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ความซื่อตรงของท่านทั้งหลายเหล่านี้ ได้ปรากฏสืบไปภายน่าแล้ว...ขอให้นำข้อความอันเป็นที่ยินดีพอใจของฉันในความอุสาหของชาติเราใช่แต่ผู้ชาย ตลอดจนถึงผู้หญิงที่จะป้องกันพระบรมราชวงษ์และพระราชอาณาจักร กับทั้งมีความเมตตากรุณาต่อไพร่พลทหาร แสดงต่อกรรมการินีทั้งปวงทราบแลได้รับความขอบใจอันลึกซึ้งของฉันด้วย...
วันที่ 14 มิถุนายน ร.ศ. 112 หม่อมเจ้าต่าง ๆ ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ กราบทูลกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล เรื่องพระบรมราชประสงค์ที่วังกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเป็นสถานสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
วันที่ 28 สิงหาคม ร.ศ. 112 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี สภานายิกา กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังวัดมหาธาตุ แทนที่วังกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เนื่องจากได้จัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงขึ้นเป็นการฉุกละหุก โดยยืมเรือนมหาธาตุวิทยาลัย กับซ่อมระเบียงวัดครึ่งหนึ่งตั้งเป็นโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้อาศัยอยู่ที่โรงศิริราชพยาบาล และใช้แพทย์จากกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการ
วันที่ 22 ตุลาคม ร.ศ. 112 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ทูลพระเจ้า-น้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการว่า ได้ให้เจ้าพนักงานไปทำแผนที่ทั้งสองแห่งมาแล้ว จะได้ทำความเห็นทูลเกล้าฯ ต่อไป
หมายเหตุ
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์
ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
(พร บุนนาค)
การก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงซึ่งท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นนั้น สันนิษฐานว่าท่านได้เห็นรูปแบบของสภากาชาดญี่ปุ่นเมื่อครั้งเดินทางตามเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปเป็นราชทูต นำคณะขุนนางไทยเดินทางไปดูงานด้านการทหารและการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2430 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยก “องค์กรการกุศล Hakuaisha” ให้เป็น “สภากาชาดญี่ปุ่น the Japanese Red Cross Society” พอดี หลังจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 83 ลงนามให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2429
สันนิษฐานว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับทราบเรื่องสภากาชาดญี่ปุ่นที่กำลังโด่งดังในปีนั้นด้วย และกิจการสภากาชาดในต่างประเทศก็เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร ซึ่งรัฐบาลสยามได้ส่งผู้แทนศึกษากิจการทหารด้วยเช่นกัน (ดูเอกสาร 2430 - 25 ส่งราชทูตดูงานการจัดการศึกษาและโรงเรียนแพทย์ ณ ประเทศญี่ปุ่น)
583 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ประวัติสภากาชาดญี่ปุ่น
ผู้ก่อตั้งสภากาชาดญี่ปุ่น
Count Tsunetami Sano
ซาโนะ ซึเนทามิ (28 ธันวาคม พ.ศ. 2365 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2445) เป็นรัฐบุรุษของญี่ปุ่นและเป็นผู้ก่อตั้งสภากาชาดญี่ปุ่นสังคม เมื่อครั้งซาโนะ ซึเนทามิ เดินทางไปประชุม The International Exposition of 1867 ณ กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2410 จึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับ กาชาดระหว่างประเทศ (The International Red Cross)
ต่อมา พ.ศ. 2420 ซาโนะ ซึเนทามิ ได้ก่อตั้งองค์กรการกุศล Hakuaisha (The Philanthropic Society) เป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ทหารที่บาดเจ็บจากสงครามขัดแย้งของสองฝ่าย การก่อตั้งองค์กรการกุศลชื่อ Hakuaisha ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพราะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมาซาโนะ ซึเนทามิ ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชาย Arisugawa Taruhito ผู้บัญชาการกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น และเจ้าชาย Komatsu Akihito จึงดำเนินการได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2429 รัฐบาลญี่ปุ่นให้สัตยาบัน (Ratification) เข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 (อนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 83) โดยวิธี Accession ในปี พ.ศ. 2430 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยก “องค์กรการกุศล Hakuaisha (The Philanthropic Society)” ขึ้นเป็น National Red Cross Society ของประเทศญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สภากาชาดญี่ปุ่น the Japanese Red Cross Society” ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์พร้อมคณะขุนนางไทยเดินทางไปดูงานด้านการทหารและการศึกษาพอดี
สภากาชาดญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น โดยเฉพาะสมเด็จพระ-จักรพรรดินีโชเค่นได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมสภากาชาดอย่างแข็งขัน การเข้าร่วมสนับสนุนสภากาชาดญี่ปุ่นของราชวงศ์ญี่ปุ่นทำให้สภากาชาดญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่น ขุนนาง kazoku และชนชั้นนำของสังคม และในสงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2447 - 2448 สภากาชาดญี่ปุ่นเติบโตจนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีสมาชิกกว่าล้านคน
สภากาชาดญี่ปุ่นมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว และมีสาขาอยู่ใน 47 จังหวัด มีสมาชิก 9,610,000 คน มีโรงพยาบาลสภากาชาด 92 แห่งและศูนย์บริการโลหิต 79 แห่งทั่วประเทศ สภากาชาดญี่ปุ่นดำเนินกิจกรรมบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น ปฏิบัติงานเพื่อสังคม ฯลฯ
2436 - 5 การสอบไล่วิชาแพทย์ครั้งแรก
วันที่ 2 พฤษภาคม ร.ศ. 112 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร อธิบดีกรมพยาบาล แจ้งความกระทรวงพระธรรมการ แผนกกรมพยาบาล ในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการสอบไล่วิชาแพทย์ และมีรายนามผู้เรียนจบโรงเรียนแพทยากร หลักสูตร 3 ปี (แพทย์แผนปัจจุบัน) รุ่นแรก 9 คน ความว่า
การสอบไล่วิชาแพทย์
ด้วยนักเรียนโรงเรียนแพทยากร ซึ่งได้เล่าเรียนในวิชาแพทย์ต่างประเทศมาถึง 3 ปีแล้ว คือ วิชา
584 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ผ่าตัดเย็บแลรักษาแผลต่าง ๆ
ผสมยาแลใช้ยา
ปราณีธรรมคุณสาตร
ศรีระสาสตร์
ตรวจไข้แลรักษาไข้ต่าง ๆ
ครรภรักษา
ข้าหลวงได้สอบไล่วิชาที่ได้กล่าวมานี้ นักเรียนเข้าสอบไล่ 15 นายได้จำนวนขะแนนความรู้ต่าง ๆ กัน ข้าหลวงได้ตรวจตัดสินได้จำนวนนักเรียนที่สอบไล่หลักขะแนนเปนชั้นสูง 1 นาย ชั้นสามัญ 8 นาย รวม 9 นาย ตก 6 นาย นักเรียนที่สอบไล่วิชาได้ซึ่งจะได้รับประกาศนิยบัตรในโรงเรียนแพทยากรออกทำการ มีจำนวนดังนี้...
2436 - 6 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (Franco - Siamese War 1893)
และการจัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง (Siamese - Red
Cross Hospital)
มี 2 เรื่อง ดังนี้
1. ลำดับเหตุการณ์วิกฤตการณ์
ร.ศ. 112 (Franco - Siamese War 1893)
พ.ศ.
2434 - กรณีนายบางเบียน (Affaire de
Bang-Bien)
พ.ศ. 2434 คูร์นิโยง (Cournillon) สมาชิกคณะผู้จัดทำแผนที่ปักปันเขตแดนได้แต่งตั้งให้นายบางเบียน ผู้อพยพชาวลาวเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ (Thoung Xieng Kham ทุ่งไหหินในประเทศลาวปัจจุบัน) ทำให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ (Prince Dewavongs) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงโต้ตอบทันทีด้วยการส่งจดหมายถึงโลร์โซง (Lorgeon) ซึ่งรักษาการแทนกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ
อเล็กซองเดรอะ ริโบต์ (Alexendre Ribot) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น จึงเรียกตัวนายบางเบียนกลับจากทุ่งเชียงคำ เช่นเดียวกับผู้แทนฝรั่งเศสที่แหลมเสม็ด (Pointe Samit) ภายใต้เงื่อนไขว่าสยามจะไม่ส่งผู้แทนเข้าไปปกครองดินแดนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีของทั้งสองประเทศเอาไว้ แต่ผู้แทนฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นที่ทุ่งเชียงคำเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2434 ฝ่ายสยามสามารถควบคุมตัวนายบางเบียนไว้ได้ และตั้งข้อหาว่าบางเบียนเป็นกบฏต่อประเทศ โลร์โซงพยายามที่จะเข้าแทรกแซงเช่นกันแต่ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลสยามยืนกรานว่านายบางเบียนเป็นคนสยามคนหนึ่ง (เกิดในดินแดนที่สยามถือว่าอยู่ในพระราชอาณาเขต) ที่ต้องอพยพไปอยู่เวียดนามภายหลังจากที่ได้กระทำผิดราชการ
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2435 ส่งนาย Auguste Pavie มาเจรจาขอปกครองลาว
นายพล Jean de Lanessan ผู้ว่าราชการแหลมอินโดจีนของประเทศฝรั่งเศส (French Indochina’s Governor) ส่งนายโอกุสต์ ปาวี เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนกงสุลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2435 เพื่อเจรจาขอให้ลาวอยู่ภายใต้การปกครองของกฎหมายฝรั่งเศส
585 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กำลังทหารสยามเข้าไปในพื้นที่ลาว ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
แต่รัฐบาลสยามปฏิเสธคำขอปกครองลาวของนาย Auguste Pavie ผู้แทนกงสุลฝรั่งเศส พร้อมกับเสริมกำลังทหารสยามเข้าไปในพื้นที่ลาวเพิ่มเติมเพราะเข้าใจผิดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ รวมทั้งขอให้รัฐบาลสยามปล่อยตัวนายบางเบียน แต่สยามยังคงยืนยันเหตุผลเดิม
เดือนกันยายน พ.ศ. 2435 - การตายของมาสสี่ (Affaire de massie) กงสุลฝรั่งเศส
สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง เมื่อพันตรี พระยอดเมืองขวาง ผู้ว่าราชการเมืองคำม่วนและผู้ว่าราชการเมืองหนองคายจับพ่อค้าชาวฝรั่งเศส 3 คนบนเรือในแม่น้ำโขง 2 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาค้าฝิ่นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2435 ทำให้ M. Massie กงสุลฝรั่งเศส (The French consul) ขณะนั้นอยู่ในหลวงพระบางและกำลังป่วยอยู่ เกิดความกดดันและฆ่าตัวตายระหว่างเดินทางกลับไปเมืองไซ่ง่อน
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 - กรณีเมืองท่าอุเทน (Affaire d’Outhene) : กดดันผ่านสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
เมืองท่าอุเทนเป็นเมืองชายแดน ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม มีแนวชายแดนติดกับประเทศลาว ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับแขวงคำม่วน (ประเทศลาว) โดยมีแม่น้ำโขงคั่น จึงเป็นเมืองด่านการค้าและผ่านเข้าออกสยาม
นายช็องเปอนัวส์ (Champenois) และนายเอสกิลาต์ (Esquilat) ค้าของเถื่อนและเดินทางในราชอาณาจักรสยามโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่สยามตักเตือนแล้วก็ไม่ยอมจ่ายค่าภาษีนำเข้า อีกทั้งยังคงเดินทางต่อไปโดยไม่มีตราประทับบนหนังสือเดินทาง รัฐบาลสยามจึงจับกุม เนรเทศบุคคลทั้งสองและยึดสินค้าไว้ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้ฝรั่งเศสกดดันให้พิจารณาทบทวนสนธิสัญญาฝรั่งเศส - สยามที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 จนเป็นผลให้สยามเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะให้กับฝรั่งเศส รวมพื้นที่ 124,000 ตร.กม.
586 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หลังจากนั้นได้ดำเนินการทางการทูตกับสยาม ขอให้มีการปักปันเขตแดนเขมรกับญวน ซึ่งเกี่ยวพันมาถึงกรณีนายบางเบียน (Affaire de Bang-Bien) สมาชิกคณะผู้จัดทำแผนที่ปักปันเขตแดน
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2436 Auguste Pavie กงสุลฝรั่งเศสคนใหม่
นาย Auguste Pavie ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ นาย Pavie ต้องการให้สยามถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากดินแดนลาว ใต้เมืองคำม่วน ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพราะถือว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามที่อยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส พร้อมทั้งส่งเรือปืนชื่อ Lutin มากรุงเทพฯ จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสถานกงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการข่มขู่
เดือนเมษายน พ.ศ. 2436
นายพล Jean de Lanessan ผู้ว่าราชการแหลมอินโดจีนของประเทศฝรั่งเศส ส่งกำลังทหาร 3 กองเข้ามาควบคุมดินแดนลาว เกิดการปะทะกับทหารสยาม กลิ่นไอสงครามใหญ่จึงคุกรุ่นไปทั่ว
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2436 - หนังสือกราบบังคมทูลขอตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2436 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีหนังสือกราบทูล สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระวรราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ เพื่อก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม (สภากาชาดไทย) โดยกล่าวว่า...บัดนี้ได้ทราบเกล้าฯ ว่ามี ดัษกรภายนอกที่มีอำนาจปราศจากธรรมะ ทำการข่มขู่ด้วยอุบายต่าง ๆ จะแย่งชิงเอาส่วนพระราชอาณาเขตร เปนเหตุให้พระมหาเศวตรฉัตรสดุ้งสะเทือนทั้งพระเกียรติยศแลอิศรภาพของพระราชอาณาจักรจะเสื่อมทรามไปแก่ตาโลกย์ เปนการจำเปนโดยแท้ที่ราชาธิปตัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องจัดการต่อสู้ป้องกันรักษาอิศรภาพแลพระราชอาณาเขตร อยู่นี้...
เรือปืนฝรั่งเศสชื่อ Lutin
587 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สารวัตรโกรสกูแรง
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 - การตายของสารวัตร Grosgurin คือชนวนสงคราม : The Pretext for strong French intervention
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 มีการปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายที่หมู่บ้าน Kien Ket ฝ่ายสยามมีพระยอดเมืองขวางเป็นหัวหน้า ทำให้สารวัตรโกรสกูแรง (Inspector Grosgurin) ชาวฝรั่งเศสผู้เป็นหัวหน้าทหารเวียดนาม 1 นาย และลูกน้องทหารเวียดนาม 17 นาย เสียชีวิตรวม 18 นาย สถานการณ์จึงเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะการตายของสารวัตรโกรสกูแรง ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “Affair of Kham Muon (Kien Chek)” ถูกฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในปฏิบัติการรุกรานสยามอย่างชอบธรรม (Pretext for strong French intervention)
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2436 อังกฤษส่งเรือทหาร 3 ลำมาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรออพยพเฉพาะชาวอังกฤษหากจำเป็น และฝรั่งเศสส่งเรือ 2 ลำ คือ เรือใบ Inconstant และเรือปืน Comète มาที่กรุงเทพฯ โดยต้องการเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สยามไม่อนุญาตให้ผ่าน จึงเกิดการสู้รบกัน
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 - การสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เกิดการสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา เกิดความเสียหายบาดเจ็บล้มตายทั้ง 2 ฝ่าย สภาอุณาโลมแดงตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว 2 แห่งเป็นการฉุกเฉินเพื่อรักษาทหารบกและทหารเรือ
เรือปืนฝรั่งเศสชื่อ Comète
588 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 - ตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง
โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงมี 2 ส่วน ส่วนแรกจัดตั้งโดยอาศัยอยู่ในโรงศิริราชพยาบาลสำหรับรักษาทหารเรือเป็นอันดับแรก ส่วนที่สองจัดตั้งขึ้นในวัดมหาธาตุสำหรับรักษาทหารบก ทั้ง 2 โรงพยาบาลรวมกันมีขนาด 400 เตียง
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 - ฝรั่งเศสยื่นคำขาด
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมชดใช้ค่าเสียหายจากการสู้รบที่ปากน้ำจำนวน 3 ล้านฟรังก์ มิฉะนั้นจะปิดอ่าวไทย สยามยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของฝรั่งเศสหลังจากที่ร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือแต่ถูกปฏิเสธ เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะจึงเพิ่มเงื่อนไขยึดครองเมืองจันทบุรี เมืองพระตะบอง เมืองเสียมเรียบ และพื้นที่กว้าง 25 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง สยามจำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญา The Franco-Siamese Treaty เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 เพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ฝรั่งเศสต้องการ
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2437 ศาลผสมสยาม - ฝรั่งเศส “Franco-Siamese Mixed Court” พิพากษาโทษพระยอดเมืองขวางให้จำคุก 20 ปี
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 - The Franco-Siamese Treaty, 1893
สยามยอมชดใช้ 3 ล้านฟรังก์และยอมให้ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี พระตะบอง เสียมเรียบ และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สงครามยุติ โดยจัดทำเป็นสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศ
2. การจัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง (Siamese - Red Cross Hospital)
สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามประกาศแจ้งความในราชกิจจานุเบกษา มีความสำคัญบางตอน ดังนี้
...เวลานี้ ในกรุงเทพฯ มีการที่จะต้องเรียกทหารประจำรักษาราชการมากคนขึ้นกว่าแต่ก่อน ๆ การป่วยไข้ก็ย่อมจะมีมากขึ้น...พลทหารซึ่งป่วยไข้ในกองทหารต่าง ๆ ทั่วไป ทั้งทหารบกทหารเรือ...เปนจำนวนที่ได้ตรวจตามบาญชี แลได้ให้ยา ตั้งแต่ วันที่ 17 ถึง 26 กรกฎาคม 112 เปนจำนวน 803 คน
อนึ่งกรรมการิณีนี้
มีความเสียใจที่มีเหตุปัตยุบันเกิดขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม
รัตนโกสินทร์ศก26 112
อันกรรมการิณีมิได้คิดเห็นว่าจะมีเหตุการณ์ขึ้น ดังนั้นจึ่ง มิได้ตระเตรียม ที่ทางซึ่งจะรับพยาบาลและตระเตรียมที่จะช่วยให้ทันท่วงที
บรรดาคนที่ป่วยเจ็บบาดแผลในเหตุนั้น กรมทหารเรือได้ส่งไปไว้ ณ โรงพยาบาลบางรัก
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของราชาธิปไตย
แลสภานี้ก็ได้จัดคนพยาบาลไปอยู่ประจำช่วยดูแลพิทักษ์รักษาด้วย แลได้จัดเครื่องที่นอนหมอนแลเครื่องพยาบาลต่าง
ๆ ไปให้แก่คนป่วยเหล่านี้ได้อาไศรยเปนศุข แต่ที่โรงพยาบาลบางรักที่คับแคบ
ไม่ใคร่จะพอกันอยู่
589 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สภาได้จัดที่อาไศรย โรงศิริราชพยาบาล บริบูรณแล้ว ก็ได้ไปรับคนเจ็บเหล่านี้มาจ้างแพทย์แลคนพยาบาลอยู่ที่โรงศิริราชพยาบาล 6 คน แลคนพวกนี้ที่มีอาการที่ถึงทุพลภาพจะมาหากินไม่ได้ คือ ต้องตัดขา เปนต้น สภานี้ก็จะรับเลี้ยงดูไปจนตลอดชีวิตร ชีวิตรกองทหารที่ประจำกรุงเทพฯ ทุก ๆ กองนั้น สภานี้เห็นว่าเปนฤดูฝน เมื่อคนจะต้องทนความหนาวมาก ก็จะบังเกิดโรคไภยไข้เจ็บมาก จึ่งได้จำหน่ายทุนของสภาออกซื้อผ้าขนนุ่นห่มนอน จ่ายแก่ทหารทั้งบกทั้งเรือ เปนจำนวนผ้าห่มนอน 6940 ผืน
อนึ่ง กรรมการิณีสภา ได้จัดที่เปนโรงพยาบาล สำหรับรับทหารที่ป่วยไข้ขึ้น 2 แห่ง ที่ โรงศิริราชพยาบาลสำหรับรับกรมทหารเรือ แห่ง 1 ที่มหาธาตุวิทยาลัยสำหรับกรมทหารบก แห่ง 1 ที่ทั้ง 2 แห่งนี้มีที่นอน มุ้ง แลเครื่องพยาบาล แลอาหารสำหรับคนไข้พร้อมทุกอย่าง พอที่จะรับพลทหารที่ป่วยไข้ได้ 400 คน แลได้ลงมือรักษาแล้ว...
อนึ่งกรรมการิณีแลผู้มีศรัทธาให้ของแก่โรงพยาบาลแลสภาอุณาโลมแดงนี้ก็มีคือ ของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี สภาชนนี พระราชทานใบชา ถ่าน น้ำมันสำหรับใช้ใน โรงพยาบาลของสภา...
จากข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ประกอบกับข้อมูลใน International Red Cross Society, SIAM - PRODROMES DE LA CROIX-ROUGE, Bulletin International DES Sociétés de la Croix-Rouge; Vol. 24, Issue 96, October 1893, pp. 199-201 สันนิษฐานได้ว่า
โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงจัดตั้งขึ้นราววันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เป็นการฉุกเฉิน เพื่อรักษาพยาบาลทหารบาดเจ็บหลังจากสงครามไทย - ฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยาวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงมี 2 ส่วน ส่วนแรกจัดตั้งโดยอาศัยอยู่ในโรงศิริราชพยาบาลสำหรับรักษาทหารเรือเป็นอันดับแรก ส่วนที่สองจัดตั้งขึ้นในวัดมหาธาตุสำหรับรักษาทหารบก ทั้ง 2 โรงพยาบาลรวมกันมีขนาด 400 เตียง
2436 - 7 พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิส เรื่องสาเหตุการจัดตั้ง Societe Siamoise de la Croix-Rouge (Siamese Society of The Red Cross) และการตีพิมพ์พระราชสาส์นเผยแพร่ในวารสาร The International Review of the Red Cross
เดือนตุลาคม พ.ศ.
2436 วารสาร The
International Review of the Red Cross เล่มที่ 24
เรื่องที่ 96 หน้า 199
- 201 ตีพิมพ์พระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัวถึงประธานาธิบดีสวิส เรื่องมูลเหตุการจัดตั้ง Societe
Siamoise de la Croix-Rouge หรือสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
มีความสรุปโดยย่อดังนี้
590 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (สงครามฝรั่งเศส - สยาม) ภริยาของเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ริเริ่มก่อตั้ง Societe Siamoise de la Croix-Rouge (Siamese Society of The Red Cross) โดยได้รับเงินทุนจากการบริจาค 413,314 บาท และระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 28 มิถุนายน ได้ใช้จ่ายเงินค่าหมอที่ไปกับกองทัพสยาม 19,817 บาท
เมื่อเกิดการพิพาทกับฝรั่งเศสวันที่ 13 กรกฎาคม ทำให้มี ผู้เสียชีวิต 30 คน และ บาดเจ็บราว 50 คน และการตั้งค่ายทหารในโคลนตม (เนื่องจากฝนตกมาก) ทำให้มีผู้ป่วยมาก จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม Societe Siamoise de la Croix-Rouge (Siamese Society of The Red Cross) ได้ช่วยเหลือทหารจำนวน 803 คน
Societe Siamoise
de la Croix-Rouge (สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม) ได้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้น 2 โรง ในวัด สำหรับรักษาทหารเรือ 1 โรง
และสำหรับรักษาทหารบกอีก 1 โรง รวมทั้งหมด 400 เตียง และได้แจกผ้าห่มจำนวน 6,940 ผืนให้แก่ทหารและช่วยดูแลทหารที่พิการไม่สามารถทำงานได้ โดย
Societe Siamoise de la Croix-Rouge (สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม)
พร้อมจะได้สถานภาพ “ทางการ” และ “ถาวร”…
591 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
592 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
พระราชสาส์นฉบับนี้ไม่ได้ระบุวันที่ไว้ สันนิษฐานน่าจะมีราว ปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2436 และส่งโทรเลขไปถึงประธานาธิบดีสวิส ณ กรุงเบิร์นทันที จากนั้นประธานาธิบดีสวิสจึงได้ส่งพระราชสาส์นต่อไปยังสำนักงานใหญ่กาชาดระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา เพื่อตีพิมพ์ในวารสารกาชาดระหว่างประเทศ ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2436 อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากไม่พบเอกสารฉบับร่างของพระราชสาส์นฉบับนี้ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงสันนิษฐานว่า มิสเตอร์โรลังยัคมินส์ในฐานะปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปและอัครราชทูตสยาม เป็นผู้ร่างขึ้นและดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต้องต่อสู้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยประกาศให้นานาประเทศในยุโรปรับทราบการสงครามปะทะระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ทำให้สยามต้องจัดตั้ง Siamese Society of The Red Cross เพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ เมื่อประธานาธิบดีสวิสได้รับพระราชสาส์น จึงส่งไปลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The International Review of the Red Cross ทันที สันนิษฐานว่าเนื่องจากมิสเตอร์โรลังยัคมินส์เป็นเพื่อนสนิทกับ Gustave Moynier ผู้ร่วมก่อตั้งกาชาดระหว่างประเทศ (ฝ่ายกฎหมายจึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
ชื่อวารสาร (ภาษาฝรั่งเศส) Bulletin International des Societes de la Croix-Rouge (1869 - 1918)
ชื่อวารสาร (ภาษาอังกฤษ) The International Review of the Red Cross
ประวัติวารสาร
“The International Review of the Red Cross is a peer-reviewed journal published by the International Committee of the Red Cross and Cambridge University Press. It promotes reflection on humanitarian law, policy and action in armed conflict and other situations of collective armed violence. A specialized journal in humanitarian law, it endeavours to promote knowledge, critical analysis and development of the law and contribute to the prevention of violations of rules protecting fundamental rights and values. The Review offers a forum for discussion about contemporary humanitarian action as well as analysis of the causes and characteristics of conflicts, so as to give a clearer insight into the humanitarian problems they generate. Finally, the Review informs its readership on questions pertaining to the International Red Cross and Red Crescent Movement and in particular on the activities and policies of the Red Cross.”
หลังจากสยามลงสัตยาบันอนุสัญญาเจนีวา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 แล้ว ต่อมาวันที่
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เป็น
“เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” ถือศักดินา
10000 หลังจากท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.
2445 หลักฐานการลงสัตยาบันอนุสัญญาเจนีวา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ไม่มีบันทึกไว้ในระบบเอกสารราชการฝั่งไทย
มีเพียงจดหมายโต้ตอบบางส่วน
เพราะหลักฐานลงสัตยาบันอนุสัญญาเจนีวาจะอยู่ที่รัฐบาลสวิสเพียงฝ่ายเดียว
จึงไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยและสภากาชาดไทย
593 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญของสยามในการเพิ่มความสำคัญของประเทศในเวทีโลก การใช้ยุทธศาสตร์ทางการทูตผ่านทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เพื่อทุเลาผลกระทบจากสงครามล่าอาณานิคม และเป็นการประกาศให้โลกทราบว่า ประเทศสวิสและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกอันเป็นมหาอำนาจในยุโรปให้การยอมรับประเทศไทย จึงตีพิมพ์พระราชสาส์นไว้ในวารสารสากลเผยแพร่สู่นานาประเทศ
หลักฐานที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ ณ กรุงเจนีวา มอบให้ มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่
1) พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิส เรื่องมูลเหตุการจัดตั้ง Societe Siamoise de la Croix-Rouge (สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม)
: ชื่อบทความ SIAM - PRODROMES DE LA CROIX-ROUGE, วารสาร Bulletin International DES Socits de la Croix-Rouge; Vol. 24, Issue 96, October 1893, pp. 199 - 201
2) พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิสและการส่งผู้แทนรัฐบาลลงสัตยาบันอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ร.ศ. 83 ค.ศ. 1864 โดยวิธี Accession*
: ชื่อบทความ SIAM - ACCESSION A LA CONVENTION DE GENEVE, วารสาร Bulletin International DES Socits de la Croix-Rouge; Vol. 27, Issue 103, July 1895, p. 151 - 152
3) กฎหมายว่าด้วยสงครามทางบก (The Laws of War on Land. Oxford, 9 September 1880) LES LOIS DE LA GUERRE SUR TERRE : MANUEL PUBLIC PAR L’INSTITUT OE DROIT INTERNATIONAL (The Laws of War on Land. Oxford, 9 September 1880)
และแนบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มาดังนี้
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดของกาชาดระหว่างประเทศ
ได้รับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561
Dear Dr. Tanom Bunaprasert, dear Mr Thanintorn Poonsrisawat,
I hope this message finds you well and wish to thank you again for your interest for the ICRC Library’s collections. To follow-up with your visit from January 7th, please find attached the two articles featured in the Bulletin des Socits de la Croix-Rouge, respectively in 1893 and 1895, related to the ratification of the Geneva Convention by the Kingdom of Siam and the foundation of the Siamese Red Cross, as well as the Laws of War manual mentioned in the second article.
I hope these sources will be useful for your research and remain available for any further question.
Best regards,
Charlotte Mohr
Associate in the Library and Public Archives Unit
International Committee of the Red Cross (ICRC)
Avenue de la Paix 19 - 1202 Geneva - Switzerland
+41 22 730 31 12 cmohr@icrc.org
594 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2436 - 8 หลวงจีนซ้ำปุนขอพระราชทานที่ตั้งโรงพยาบาลเชลยศักดิ์
วันที่ 18
พฤศจิกายน พ.ศ. 2436
อาตมาภาพ พระซ้ำปุน วัดมังกรอุบลราชวราราม ขอถวายพรมาใน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทร์ทัศจุธาธาร อธิบดีกรมพยาบาลทราบ
ด้วยมีจีนข้าทูลละอองธุลีพระบาทเจ๊สัว และจีนพ่อค้าในท้องน้ำหลายท่านหลายนายด้วยกัน พร้อมกันมีใจศรัทธาออกเงินเรี่ยรายตั้งโรงพยาบาล ให้อาตมาภาพเป็นหัวน่าจัดการรักษาคนอนาถา เงินทุนที่จำหน่าย ซื้อยาแลจัดการอื่นนั้น มีอยู่พอแล้ว แต่ขัดข้องด้วยที่โรงพยาบาล อาตมาภาพขอพระบารมีพระเดชพระคุณเป็นที่พึ่ง ขอรับพระราชทานที่ตึกอากรดนกี (ตึกจีนลุ่นกี) ที่ตั้งอยู่ตำบาลบางรัก ฤๅที่ตึกหลวงชลภูมพานิช (จุ้ย) ที่ตั้งอยู่ตำบาลตลาดน้อยที่ใดที่หนึ่ง แล้วแต่จะโปรด แลโรงพยาบาลที่อาตมาภาพจะตั้งขึ้นนั้น จะได้จัดการเหมือนอย่างโรงพยาบาลของหลวง ให้พนักงานเวรตรวจการไปตรวจแลทำรายงานยื่นกรมพยาบาลตามธรรมเนียมด้วย...
วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เห็นว่าถ้าได้ที่โรงพยาบาลสมปรารถนาแล้ว คงจะจัดการให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนได้จริง ซึ่งโรงพยาบาลที่มีผู้รับรองตั้งขึ้นเองนี้ ยังไม่เคยมีมาก่อน กระทรวงธรรมการจึงควรอุดหนุนให้การนี้สำเร็จ
พ.ศ.
2437
2437 - 1 ที่ตั้งสภาอุณาโลมแดง
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ เรื่องความเห็นสถานที่สำหรับตั้งสภาอุณาโลมแดง ว่าคงจะจัดได้ทั้ง 2 แห่ง คือที่วังของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และที่ริมแม่น้ำหลังวัดมหาธาตุ
วันที่ 19
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 พระยาวุฒิการบดี
ราชปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ กราบทูลพระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร อธิบดีกรมพยาบาล
ความว่า ศาลาในวัดมหาธาตุที่สภาอุณาโลมแดงได้อาศัยเป็นโรงพยาบาลพลทหารอยู่ซึ่งต้องรื้อทั้งหมด
เพื่อใช้ทำพระเมรุเป็นถาวรวัตถุสืบไป โรงพยาบาลอุณาโลมแดงจึงต้องหาที่ใหม่
ในระหว่างนี้ให้ย้ายไปอยู่ที่ศาลาใหญ่ 2 หลังบริเวณทิศเหนือวัดมหาธาตุไปก่อน
ศาลายังชำรุดต้องซ่อมใหม่ คิดเป็นเงินหลังละ 25 ชั่ง จะได้อาศัยอยู่อีกหลายปีกว่าพระเมรุจะแล้ว
595 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 24 มิถุนายน ร.ศ. 114 กรมโยธาธิการจะรื้อศาลามหาธาตุวิทยาลัย พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร อธิบดีกรมพยาบาล จึงมีหนังสือถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการว่า ควรย้ายโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงไปอยู่ตั้งที่ศิริราชพยาบาล จนกว่าจะถึงเวลาได้สร้างโรงของสภาฯ ที่วัดพรหมสุรินทร์แล้วเสร็จ
วันที่ 30 มิถุนายน ร.ศ. 114 พระยาวุฒิการบดี ราชปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ มีหนังสือแจ้งความถึงท่านผู้หญิงเปลี่ยน เลขานุการินีสภาอุณาโลมแดง ให้นำความกราบทูลสภานายิกา
วันที่ 5 กรกฎาคม ร.ศ. 114 ท่านผู้หญิงเปลี่ยนมีหนังสือแจ้งความถึงพระยาวุฒิการบดี ความว่า สภานายิกาทรงพระอนุญาต แต่การที่จะยกไปจากวัดมหาธาตุไปพักที่ศิริราชพยาบาลนั้น จะจัดการอย่างไรต่อไป จะไปเมื่อไร สมบัติของโรงพยาบาลก็มีอยู่มาก จะขนไปหมดหรือจะรักษาไว้ในที่แห่งใด คนใช้สอยแลการเลี้ยงดู จะลดหย่อนลงประการใด ขอให้ทำรายการมายื่น
วันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 114 พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร มีหนังสือเรียนพระยา-วุฒิการบดี ความว่า...การที่จะย้ายโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงไปโรงพยาบาลศิริราชนั้น ในเดือนนี้เหนจะย้ายไปยังไม่ได้ ด้วยจะต้องคิดกะการที่จะตัดพนักงานแลจะย้ายคนไข้ทั้งที่ทางซึ่งจะให้คนไข้อยู่ให้พอแก่การ แลทรัพย์สมบัติของสภาอุณาโลมแดงก็มาก เพราะเหตุนี้ ถ้าตกลงจะย้ายเมื่อใด จึงจะแจ้งความมาให้ทราบต่อครั้งหลัง...
2437 - 2 สนับสนุนตั้งโรงพยาบาลเชลยศักดิ์
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ เห็นว่าการตั้งโรงพยาบาลเชลยศักดิ์เป็นการดีมีคุณแก่ประชากร
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ทรงตอบว่า ที่ทั้งสองแห่ง กระทรวงพระคลังขอรับคืนไปแล้ว มีผู้มาทำสัญญาเช่า ที่บ้านหลวงชลภูมิพานิช (จุ้ย) มีกำหนดหลายปี แต่ที่บ้านจีนลุ่นกีเป็นที่ให้เช่าเฉพาะปี (หลังจากนี้ไม่ทราบว่ามีการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากไม่พบเอกสารเพิ่มเติมต่อจากฉบับนี้)
2437 - 3 ฝาก “โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง” ไว้ในกรมพยาบาล
วันที่ 26 มีนาคม
พ.ศ. 2437
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เลขานุการินีสภาอุณาโลมแดง แจ้งความมายังพระยาวุฒิการบดี ราชปลัดทูลฉลอง
กระทรวงธรรมการ ว่า สภานายิกาทรงพระดำริว่า
ควรจะมอบโรงพยาบาลของสภาฝากไว้ในกรมพยาบาล ให้ช่วยเป็นธุระดูแลจัดการแทนกรรมการินี
นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 113 สืบไป
พร้อมแนบรายการงบประมาณ 2 แผ่น เช่น งบประมาณสำหรับแพทย์ และผู้ดูการ 6 คน พนักงาน
30 คน คนไข้วันละ 80 คน (รายชื่อแพทย์ ได้แก่ หมอ - มิสเตอร์ซิลดอ, ผู้ดูการ - นายถิน,
แพทย์รอง - นายชื่น นายแพ, แพทย์รองฝรั่ง - หม่อมหลวงโต๊ะ เป็นต้น)
596 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2437 - 4 รายงานจัดราชการกระทรวงกลาโหม
พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางกราบบังคมทูลถวายรายงานเรื่องจัดราชการในกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นต้นเรื่องของประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 และการย้ายกรมยุทธนาธิการไว้ในกระทรวงกลาโหม การจัดตั้งมณฑลทหารบก การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลในเวลาต่อมา
วันที่ 23 มิถุนายน ร.ศ. 113 พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางกราบบังคมทูลถวายรายงานเรื่องจัดราชการกระทรวงกลาโหม มีความสำคัญบางตอน ดังนี้
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำข้อความที่ได้ประชุมปฤกษาด้วยเรื่องที่จะจัดราชการในกระทรวงกระลาโหม ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า น่าที่กระทรวงกระลาโหมตามที่ควรจะเปนนั้น ว่าโดยย่อก็คือเปนเจ้าน่าที่จะรับผิดชอบที่คิดอ่านจัดแลตรวจตราทำนุบำรุงการป้องกันราชศัตรูด้วยกำลังทหารบกแลทหารเรือ เพื่อให้พอเพียงแก่ราชการทั่วพระราชอาณาเขตร์ มิใช่เปนผู้บังคับทหารอย่างกรมยุทธนาธิการ ฤๅเปนแต่พนักงานพลเรือนกำกับการต่าง ๆ ของทหาร มีการใช้จ่ายเปนต้น เพราะฉนั้นการที่จะจัดการกระทรวงกระลาโหมนี้ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า มีข้อความควรพิจารณาเปนเบื้องต้น 2 ประการ คือ
ประการ 1 กำลังที่จะจัดไว้สำรองการป้องกันราชศัตรู...
ประการ 2 ...เหนด้วยเกล้าฯ ว่าการที่จะป้องกันราชศัตรูรักษาพระราชอาณาเขตร์นี้ จะต้องใช้กำลังทหารบกประมาณ 5 ส่วน ทหารเรือประมาณ 2 ส่วนจึงจะพอเพียง ด้วยท้องที่ในพระราชอาณาเขตร์จะต้องป้องกันด้วยกำลังทหารบกโดยรอบ จะต้องใช้กำลังทหารเรือแต่ด้านเดียว
...ควรจัดการทหารบกเปนหลายกองทัพ ต่างกองต่างมีแม่ทัพนายกองรับผิดชอบประจำการอยู่ตามท้องที่ทุกทิศ แบ่งเปนมณฑล ๆ ไป ดังได้ทรงพระราชดำริห์ไว้แต่ก่อนนั้น ส่วนกองทหารบกประจำราชการในกรุงเทพฯ ก็นับว่าเปนกองทัพประจำมณฑลอันหนึ่งเหมือนกับมณฑลอื่น ๆ หรือเมื่อจะว่าโดยย่อ ก็ควรมุ่งหมายจัดกองทัพทหารบกทำนองมณฑลเทศาภิบาล ฉนั้น ซึ่งหัวเมืองมณฑล 1 มีข้าหลวงเทศาภิบาลเปนผู้รับผิดชอบ แลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเปนเจ้าน่าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านการพลเรือนให้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์เสมอกันทุกมณฑลฉันใด กองทัพมณฑล 1 ก็ควรมีผู้บัญชาการรับผิดชอบคน 1 แลเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมก็เปนเจ้าน่าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านแลทำนุบำรุงการให้เรียบร้อยดังพระราช-ประสงค์ให้การเสมอกันทั่วทุก ๆ กองฉันนั้น
ส่วนทหารเรือนั้น
เพราะน่าที่แคบกว่าทหารบก แต่เปนการสุขุม
597 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ยิ่งกว่าทหารบก ควรจัดเปนแต่กองเดียว ผู้บัญชาการอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ แลอยู่ในความตรวจตราแนะนำของกระทรวงกระลาโหมเหมือนกับกองทหารบก
นอกจากนี้ยังควรต้องมี “พนักงานอุดหนุนราชการ ทหารบก ทหารเรือ” คือ พนักงานทำดินปืน แลเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ พนักงานก่อสร้างเรือรบ เครื่องต่อสู้ พนักงานบำรุงพาหนะ พนักงานบำรุงทหาร พนักงานฝึกวิชาทหาร เปนต้น อันนับว่าเปนการส่วนหนึ่งต่างหากเหมือนกับกรมพลเรือนในการทหาร ต่างพนักงานต่างควรจะต้องมีเจ้ากรม ปลัดกรม ขึ้นอยู่ในกระทรวงกระลาโหมเหมือนกัน
...การส่วนซึ่งเปนเหตุและปัญญาความคิดสำหรับการทหารนั้น ได้แก่ การในน่าที่ของพนักงานต้นกระทรวงกระลาโหมซึ่งจะต้องอำนวยการเหล่านี้ ว่าโดยย่อคือ
1) จะต้องตรวจตราแลให้รู้กำลังบ้านเมือง เป็นต้นว่า ผู้คน พาหนะ ในที่นั้น ๆ มีเท่านั้น แลความงอกงามความเสื่อมทราม ซึ่งเปนอยู่โดยธรรมดาอย่างนั้น ๆ ว่าโดยย่อคือ ความรู้ทุนซึ่งมีอยู่ในท้องที่
2) จะต้องคิดกะการกะเกณฑ์ รวบรวมกำลังเหล่านั้น ให้พอใช้พอทุนที่จะทำได้แลมิให้เสื่อมเสียประโยชน์ของบ้านเมือง...แลควรแบ่งคนเปนทหารบกแลทหารเรืออย่างไร ว่าโดยย่อก็คือ จัดกำลังที่มีไว้ให้เรียบร้อย
3) จะต้องวางแผนที่แลวิธีทำการให้การทหาร อาจจะเปนกำลังแลอุดหนุนกันในเวลาต้องการได้ตามควร...ว่าโดยย่อก็คือ ใช้กำลังที่มีให้ถูกต้อง
4) ต้องคิดตระเตรียมการซึ่งควรจะคิดจะทำสำรองการสงครามให้พอเพียง เปนต้นว่า เครื่องสาสตรายุทธภัณฑ์แลเสบียงพาหนะในเวลาปรกติจะควรสะสมสร้างขึ้นอย่างใด แลจะผ่อนผันรักษาปรนปรือไว้ในที่ใดใดให้ทันใช้...โดยย่อคือ การตระเตรียมทั้งปวง
...เมื่อพิจารณาดูการซึ่งควรจะจัดว่าเปนส่วนใหญ่ ๆ ได้ในกระทรวงกระลาโหมก็คือ การทหารบกส่วน 1 การทหารเรือส่วน 1 การพลเรือนแลบาญชีเงินส่วน 1...เจ้าพนักงานใหญ่ในกระทรวงกระลาโหมนี้ควรจะมีดังนี้ คือ
เสนาบดี เปนผู้รับผิดชอบทั่วไป คน 1
ปลัดฝ่ายทหารเรือ คือ ผู้บัญชาการทหารเรือนั้นเอง...คน 1
ปลัดฝ่ายทหารบก นี้ต้องเปนตำแหน่ง 1 ต่างหากจากผู้บัญชาการกองทัพทหารบก เพราะเหตุว่ากองทัพทหารบกนั้นจะจัดเปนหลายกอง ต่างกองต่างมีแม่ทัพรับผิดชอบ คน 1
ปลัดทูลฉลอง เปนตำแหน่งพลเรือนสำหรับการเงินแลการพลเรือนต่าง ๆ คน 1
4
คนนี้เปนตำแหน่งพนักงานใหญ่ในกระทรวงกระลาโหมสำหรับปฤกษาหารือกันในสรรพราชการทหารทั่วไป
ที่ว่ามานี้ เหนด้วยเกล้าฯ
598 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พร้อมกันว่า เปนเค้าของการกระทรวงกระลาโหมตามที่ควรจะมุ่งหมายให้เปนต่อไปภายน่า...เห็นด้วยเกล้าฯ ว่ามีการที่จะต้องรวบรวมการทหารต่าง ๆ ที่มีแล้วในเวลานี้ ให้เกี่ยวเนื่องเข้าในกระทรวงเดียวกันแล้ว คิดอ่านแก้ไขทำนุบำรุงการเหล่านั้นไปในทางที่จะให้ได้ดั่งใจความที่มุ่งหมายนั้นเปนสำคัญ...เพราะฉนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึ่งเหนด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า การที่จะจัดในชั้นต้นนี้ เพราะกรมทหารเรือแลกรมพลเรือนฝ่ายทหารต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่ในกระทรวงกระลาโหมแล้ว ควรยกแต่กรมยุทธนาธิการมาขึ้นในกระทรวงกระลาโหมอีกกรม 1 ให้เหมือนกรมทหารเรือ ในชั้นต้นไม่ต้องเปลี่ยนรูปการ ยิ่งไปกว่านี้คือ คงยังมีผู้บัญชาการทหารบกบังคับกรมยุทธนาธิการอยู่อย่างเดิม... น่าที่ทหารซึ่งยังอยู่ในกระทรวงอื่น เช่น การที่มหาดไทยต้องสั่งการทหารหัวเมืองชั้นนอกเปนต้นนั้น ถ้ากระทรวงกระลาโหมยังไม่พรักพร้อมพอจะสามารถรับผิดชอบย้ายไปได้ ก็ให้คงไปตามเดิมก่อน กว่าพอจะย้ายได้โดยเรียบร้อยเมื่อใด ก็ย้ายไปเปนอย่าง ๆ มิให้ยุ่งเหยิง เหนด้วยเกล้าฯ ว่า ต้องจัดการดังนี้ จึ่งจะเรียบร้อย แลมิได้ยุ่งกันในเวลาเปลี่ยนแปลง...
การที่จะจัดย่อมเปนความลำบากมากมายฉันใด จะสำเร็จได้ก็ด้วยอาไศรยอำนาจพระบารมีแลความเพียรความอุตสาหะของผู้ซึ่งโปรดเกล้าฯให้อำนวยแลช่วยในการนั้น ๆ การที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยได้ดังมุ่งหมายนี้เป็นความจำเป็นแลสำคัญยิ่งนัก
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะฯ
ภาณุรังษี
นเรศวรฤทธิ์
เทวะวงษวโรประการ
พรหมวรานุรักษ์
สมมตอมรพันธุ์
ดำรงราชานุภาพ
นริศรานุวัดติวงศ์
ภาสกรวงศ์
2437 - 5 ประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย
ประกาศฉบับนี้เป็นกฎหมายยกเลิกการแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นส่วน
ๆ ระหว่างฝ่ายกลาโหมและฝ่ายมหาดไทยที่จัดไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา โดยจัดการปกครองแบบมณฑลตามระบบตะวันตกคือ
ฝ่ายกลาโหมจัดการปกครองแบบมณฑลทหารบก ฝ่ายมหาดไทยจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล
599 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น จึงทรงปฏิรูปวิธีจัดการปกครองหัวเมืองใหม่ เรียกว่า การปกครองหัวเมืองแบบเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองหัวเมืองทั่วประเทศ ดังนี้
1. จัดตั้งระบบข้าหลวงเทศาภิบาล คล้ายกับผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย ประจำเขตต่าง ๆ มีหน้าที่ควบคุมกำกับผู้ว่าราชการเมือง เขตมณฑลเทศาภิบาลนั้น ๆ
2. จัดให้มีสถานที่ราชการ เช่น จัดตั้งศาลากลาง แทนที่จะใช้จวนเจ้าเมืองเป็นที่ทำราชการเหมือนแต่ก่อน
วันที่ 23 ธันวาคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) มีพระบรมราชโองการฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย “แผนกราชการที่เป็นกระทรวงทบวงการอยู่ต่าง ๆ ทุกวันนี้ยังก้าวก่ายประปนกันอยู่...บัดนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าการที่เป็นมาแล้วนั้น กระทำให้เห็นว่าสมควรที่จะต้องแก้ไข จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัตินี้” สรุปได้ดังนี้
ข้อ 1 บรรดาหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก เมืองประเทศราช ในเขตภาคใต้ที่อยู่ในกำกับควบคุมของกระทรวงกลาโหม หรือบรรดาหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก เมืองประเทศราช ในเขตภาคเหนือที่อยู่ในกำกับควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่บัดนี้สืบไปให้อยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองใกล้เคียงที่เป็นแขวงกรุงเทพ
ข้อ 2 ให้กรุงเทพฯ และเมืองแขวงรอบอยู่ในหน้าที่กระทรวงนครบาล (ยกเว้นกระทรวงมหาดไทย) การปกครองพื้นที่ย่อย ๆ ในเขตนครบาลจะอยู่ในกฎหมายของกระทรวงนครบาล จะไม่ใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง ระเบียบการปกครองท้องที่ของพระนครเป็น ระเบียบการปกครองท้องที่ แบบที่ 1
ข้อ 3 ให้เสนาบดีกลาโหมบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เครื่องสรรพาวุธ ยุทธภัณฑ์ ป้อมค่ายอู่เรือรบ พาหนะทหาร ราชการหัวเมือง ประเทศราช
ข้อ 4 ให้กรมยุทธนาธิการอยู่ในกำกับกระทรวงกลาโหม
ข้อ 5 ให้ยกเลิกกฎหมาย ประกาศทุกฉบับที่ขัดต่อประกาศนี้
2437 - 6 จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ (Territorial Method)
พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) จัดการปกครองโดยรวมท้องที่แต่ละส่วนเข้าเป็นเมือง รวมเมืองหลายเมืองเป็น 1 มณฑล และส่งข้าหลวงไปปกครอง 1 คน เรียกว่า เทศาภิบาล เป็นหัวหน้าบังคับเหนือผู้ว่าราชการเมืองอีกชั้นหนึ่ง
ต่อมาขยายการจัดตั้งมณฑลทั่วประเทศ โดยรวมตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไปเป็น 1 มณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา ต่อมาเรียกว่า สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลคือ การจัดการอำนาจการปกครองหัวเมืองหรือเมืองทั่วทั้งประเทศ ยกเว้นกรุงเทพฯ โดยลำดับชั้นจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล และผู้ว่าราชการเมือง การปกครองภายในเมืองแต่ละเมืองเริ่มลำดับจากผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
600 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ประชุมเทศาภิบาล
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ001 หวญ 59 - 1
ประชุมเทศาภิบาล
2438
หมายเหตุ
การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (Territorial Method) เป็นการแบ่งการปกครองประเทศไทยออกเป็นมณฑล แต่ละมณฑลประกอบด้วยเมือง (จังหวัดต่าง ๆ) เป็นหมวดหมู่ ใช้ทั้งการปกครองของราชการทหารและราชการฝ่ายพลเรือน พบหลักฐานคำอธิบายการปกครองเรื่องมณฑลเทศาภิบาลในหนังสือกราบบังคมทูลกรมทหารบก ที่ 20/8595 ลงวันที่ 10 กันยายน ร.ศ. 125 ของกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เรื่อง SIAM : Army Organization — วิธีจัดราชการทหารบกในประเทศสยาม เพื่อส่งตีพิมพ์ในหนังสือของสภากาชาดสเปน (สโมสรกากะบาดแดงสเปญ) เล่มที่ 3 อธิบายว่าการจัดราชการมณฑลทหารบกใช้วิธีแบบเดียวกับประเทศยุโรป โดยใช้หลักการ Territorial Method ตามแบบประเทศเยอรมนี
“The system now adopted is military conscription, as practised in nearly all European countries, based on Territorial method, as in use in Germany. Owing to certain conditions, political and others, prevailing in the country, this system could not be inaugurated althrough the country all at once, and had to be inaugurated in different provinces by degree. According to this system, every man is required yo serve two years in the regular army, and afterward is transferred into the first and second reserves lasting respectively five and ten years.”
การปกครองแบบมณฑลทหารบกจึงใช้ระบบแบบประเทศเยอรมนี ซึ่งการปกครองมณฑลเทศาภิบาลเป็นแบบเดียวกันกับการปกครองมณฑลทหารบก จึงใช้ตามแบบประเทศเยอรมนีเช่นกัน มูลเหตุสืบเนื่องจากการที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 เยือนรัสเซีย เดนมาร์ก กรีก อิตาลี เยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ “เพื่อ ทอดพระเนตรพิจารณาจดจำการในประเทศยุโรป ที่เปนเครื่องทวีพระปรีชาในพระองค์ ซึ่งจะได้ดำรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป” และเสด็จพระดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ เดือนเมษายน พ.ศ. 2435 หลังจากเสด็จพระดำเนินกลับ จึงทรงย้ายมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นปีที่มี
601 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
การปฏิรูประบบราชการทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็น 12 กระทรวง จนถึง พ.ศ. 2437 เป็นเวลา 2 ปี ทรงดำเนินการตามลำดับ คือ
1) ประกาศจัดปันหน้าที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขระบบการปกครองทหารของ “กระทรวงกลาโหมแบบโบราณ” และการปกครอง “กระทรวงมหาดไทยแบบโบราณ” ของฝ่ายพลเรือนยังมีการทับซ้อนกันอยู่ทั่วประเทศ
2) จัดตั้งระบบการปกครองแบบ Territorial Method แบบเยอรมนี ในระบบราชการฝ่ายพลเรือนเรียกว่า “มณฑลเทศาภิบาล” และในระบบราชการฝ่ายทหารบกเรียกว่า “มณฑลทหารบก”
2437 - 7 ยกร่างพระราชกำหนดสุขาภิบาล
พ.ศ. 2437 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า เมื่อเจ้าพระยาอภัย-ราชา กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พวกชาวต่างประเทศมักจะติเตียนว่า กรุงเทพฯ ยังสกปรกและไม่มีถนนหนทางสำหรับประชาชน จึงถวายข้อแนะนำให้จัดมูนิสิเปอล (Municipal - เทศบาล) ทรงปรึกษาความเห็นในที่ประชุมเสนาบดีว่า จะยังจัดไม่ได้เพราะติดหนังสือสัญญากับต่างประเทศในข้อที่ระบุว่า ถ้ารัฐบาลไทยจะตั้งกฎหมายใดที่มีผลบังคับถึงชาวต่างประเทศ จะต้องแจ้งให้รัฐบาลต่างประเทศผ่านทางกงสุลทราบก่อน ถ้าชาวต่างประเทศละเมิดกฎหมาย ก็ต้องไปฟ้องที่ศาลกงสุล เนื่องจากมีชาวต่างประเทศอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ถ้าจะจัดให้มีมูนิสิเปอล ก็จะติดขัดด้วยกงสุลต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนในบังคับของตน คงมีข้อโต้แย้ง ยากที่จะจัดการให้สำเร็จ แต่มีพระราชปรารภว่า ที่เขาติเตียนนั้น เป็นความจริงเสียโดยมาก เรามัวแต่จะโทษหนังสือสัญญา ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นเสียเลย หาควรไม่ จึงดำรัสสั่งให้ตั้งกรมสุขาภิบาล ขึ้นสำหรับกรุงเทพฯ และการยกร่างพระราชกำหนดสุขาภิบาลขึ้น
เจ้าพระยาอภัยราชาเป็นผู้ยกร่างเป็นภาษาอังกฤษในชั้นแรก เมื่อเห็นว่าสมบูรณ์แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย เนื่องจากปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัยเป็นการประยุกต์ระบบบริหารจัดการแบบตะวันตก จึงนำศัพท์ภาษาอังกฤษของระบบแบบใหม่มาใช้ ในตอนแรกเริ่มมักจะเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปพลางก่อน เมื่อเห็นว่าจะนำเข้าใช้ในระบบราชการได้แล้ว จึงหาคำแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งศัพท์ไทยเหล่านี้ก็มักจะเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ไม่เคยมีมาก่อน ในเรื่องการสุขาภิบาลนี้มีศัพท์แปลจากภาษาอังกฤษที่สำคัญ อาทิ
พระราชกำหนดสุขาภิบาล The Social Sanitation Decree
กรมสุขาภิบาล Local Sanitary Department
เจ้าพนักงานแพทย์สุขาภิบาล The Medical Officer of Health
เจ้าพนักงานช่างใหญ่ The Sanitary Engineer
หน้าที่ของกรมสุขาภิบาล The Sanitary Service
กระทรวงนครบาล The Ministry of The Local Government
602 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฎราชกุมาร
พ.ศ.
2438
2438 - 1 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สวรรคต
วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2438 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระอาการเหนื่อยหอบเปนกำลัง แพทย์เห็นว่า พระอะวะยะวะภายในพระอุระพิการ ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการคลายแล้ว กลับทรุดหนักลง ณ ถึงวันที่ 4 มกราคม รัตนโกสินทรศก 113 สวรรคต”
2438 - 2 พระราชบัญญัติรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสภา (Cabinet
Council)
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2438 มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัติรัฐมนตรี รัตนโกสินทรศก 113 มี 12 มาตรา เพิ่มเติมต่อจากพระราชบัญญัติที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จุลศักราช 1236 “ในการที่จะตั้งที่ประชุมปฤกษากฎหมายซึ่งจะได้เกื้อกูลในการดำริห์และแต่งพระราชกำหนดกฎหมายขึ้นใหม่ ตามนิยมแลความต้องการของอาณาประชากรในสมัยนี้” โดยให้มี “รัฐมนตรีสภา” ประกอบด้วยเสนาบดีหรือผู้แทน 12 กระทรวง และที่ปรึกษาอีก 12 นาย มีสภานายกเป็นนายเวร (ประธาน) มีหน้าที่บังคับการตามพระราชบัญญัติ ประชุม
603 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตกลงจัดตั้งกฎหมาย โดยคำตกลงจะต้องได้รับพระราชดำริเห็นชอบก่อนประกาศบังคับใช้ในพระราชอาณาจักร และในมาตรา 12 กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จุลศักราช 1236
2438 - 3 จัดตั้งมณฑลนครบาล
มีการจัดตั้งมณฑลนครบาล (มณฑลกรุงเทพฯ) ประกอบด้วย 6 เมือง คือ กรุงเทพฯ ธนบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) สมุทรปราการ และนนทบุรี อยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงนครบาล แต่ไม่มีข้าหลวงเทศาภิบาลเหมือนมณฑลเทศาภิบาลที่เป็นมณฑลหัวเมืองต่าง ๆ
มีประกาศตำแหน่งข้าราชการกระทรวงนครบาลตามกรมและกองต่าง ๆ ในกระทรวงนครบาล มีตัวอย่างสำคัญดังนี้ 1. กองที่ดิน 2. กองการต่างประเทศ 3. กองทะเบียน 4. กองอำเภอ (อำเภอชั้นใน อำเภอชั้นนอก ปัจจุบันคือเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร) 5. กรมกองตระเวน (กองตระเวนชั้นใน กองตระเวนชั้นนอก กองตระเวนรถไฟ) 6. กรมเจ้าท่า 7. กรมสรรพากรใน 8. หัวเมืองในมณฑลกรุงเทพฯ (นนทบุรี สมุทรปราการ นครเขื่อนขันธ์ ปทุมธานี ธัญบุรี มีนบุรี) 9. กรมสุขาภิบาล เป็นต้น
2438 - 4 พระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิส และส่งผู้แทนรัฐบาลลงสัตยาบัน
อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ร.ศ. 83 (ค.ศ. 1864) โดยวิธี Accession
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 113) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขา ที่ 1/4256 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ความว่า
“ด้วยเมื่อรัตนโกสินทร์ศก
112 พระบรมนุวงษ์และข้าราชการฝ่ายในแลสตรีผู้มีบันดาศักดิ์แลราษฏร
ได้มีความพร้อมเพรียงกันบริจาคทรัพย์ตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามขึ้นเพื่อจะรักษาพยาบาลทหารที่เจ็บไข้ได้รับความลำบาก
สภาอุณาโลมแดงนั้นได้ตั้งมาจนบัดนี้
เหนว่าเปนการมีคุณแก่บ้านเมืองแลเปนคุณแก่หมู่มหาชนเปนอันมาก
แต่สภานี้ยังหาได้แผ่ไพศาลไม่
บัดนี้จึ่งได้คิดเห็นว่าสมควรจะให้สภานี้เข้าในสากลสัญญา จึ่งได้มีพระราช-สาส์นถึงประธานาธิบดีกรุงสวิตเซอร์แลนด์ ขอให้สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
เข้าในสากลสัญญา เพื่อให้เปนประโยชน์แผ่ไพศาลยิ่งขึ้น
แต่สภาอุณาโลมแดงที่ตั้งอยู่บัดนี้ ยังไม่เปนการเรียบร้อยเปนแบบแผนที่มั่นคงได้
จะต้องจัดการให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ให้ท่านเล็กภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระ-ภาณุพันธุวงษ์วรเดช
กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัตติวงษ์ พระองค์ไชยยันต์มงคล
เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ พร้อมกันปฤกษาหาฤาที่จะจัดการสภาอุณาโลมแดงนี้อย่างไร
ซึ่งจะให้เปนแบบแผนอันเรียบร้อย เปนหลักฐานมั่นคงสืบไป”
604 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 113) คณะผู้จัดการสภาอุณาโลมแดงมีหนังสือกราบบังคมทูล ความว่า
ขอเดชะ ฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขา ที่ 1/4256 เรื่องสภาอุณาโลมแดง เพื่อที่จะ เข้าในสากลสัญญา นั้น แต่สภาอุณาโลมแดงที่ตั้งอยู่บัดนี้ ยังไม่เปนการเรียบร้อยเปนแบบแผนที่มั่นคงได้ เมื่อจะเข้าในสากลสัญญาแล้วจะต้องจัดการให้ดีขึ้น ให้ข้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันปฤกษาหาฤๅที่จัดการสภาอุณาโลมแดงให้เปนแบบแผน เปนหลักถานมั่นคงนั้น พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าปฤกษาด้วยเกล้าฯ เห็นพร้อมกันว่า
1. ในสิ่งสำคัญขั้นแรกนั้น จะต้องมีที่ให้เปนของสภาที่จะได้ จัดเปนโรงพยาบาล แลจัดการต่าง ๆ ซึ่งเปนน่าที่ของสภาจะต้องจัดให้มีขึ้นไว้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ที่วัดพรหมสุรินทร์ เปนที่กว้างขวางรกร้างอยู่ ถ้าจะยกเปนที่ของสภาก็ไม่เปนที่ขัดขวาง เพราะเปนทานสถานการกุศลอยู่แล้ว แต่ยังมีพระสงฆ์อยู่ประมาณสักสามสิบรูป จะให้ผ่อนผันมาอยู่เสียวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาก็ได้
2. การจัดต่าง ๆ สำหรับสภาแลโรงพยาบาลนั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในขั้นแรกนี้ควรเรียกแพทย์ผู้ที่ชำนาญเข้ามาจัดการสักคนหนึ่ง มอบให้ มองซิเออยัคคะมินส์ เลือกหาฤๅขอต่อ สภากากบาทแดงกลางที่เมืองเยนิวา ส่งเข้ามาให้เปนธุระแนะนำจัดการที่ได้ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ให้เปนแบบแผนตามตัวอย่างที่เขาใช้อยู่ให้เปนหลักถานไว้ สภาอุณาโลมแดงจึ่งจัดการรักษาสืบไป
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
หมายเหตุ
การเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา
การเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวามี 2 ประเภท คือ
1) Ratification : a treaty is generally open for signature for a certain time following the conference which has adopted it. However, a signature is not binding on a State unless it has been endorsed by ratification. The time limits having elapsed, the Conventions and the Protocols are no longer open for signature. The States which have not signed them may at any time accede or, in the appropriate circumstances, succeed to them.
Accession :
instead of signing and then ratifying a treaty, a State may become party to it
by the single act called accession. (หมายถึง
การเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวาแบบทางลัดในขั้นตอนเดียว คือ การให้สัตยาบัน ratifying
เพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีปกติจะมี 2 ขั้นตอน คือ 1. การลงนาม signing และ 2. การให้สัตยาบัน
ratifying)
605 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2) Reservation/Declaration : unilateral statement, however phrased or named, made by a State when ratifying, acceding or succeeding to a treaty, whereby it purports to exclude or to modify the legal effect of certain provisions of the treaty in their application to that State (provided that such reservations are not incompatible with the object and purpose of the treaty).
วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิส ใจความสรุปว่า The Red Cross Society of Siam (สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม) ได้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1893 และประเทศสยามมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวา โดยจะให้ทหารของประเทศสยามเคารพกฎหมายสงคราม Law of War ที่ระบุในอนุสัญญาเจนีวา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (Rolin-Jacquemyns) เป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม เป็นผู้ลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาเจนีวา
หมายเหตุ
กฎหมายสงคราม Law of War กฎหมายสงคราม Law of War ที่กล่าวถึงในพระราชสาส์นฉบับนี้ หมายถึง LES LOIS DE LA GUERRE SUR TERRE มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Laws of War on Land 1880” ผู้ร่างคือ Gustave Moynier เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกาชาดระหว่างประเทศกับอังรีดูนังต์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Institute of International Law กับมิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (มิสเตอร์โรลังยัคมินส์เข้ารับราชการเป็น “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป” ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439)
The Laws of War on Land 1880 ดำเนินการจัดทำโดย Institute of International Law ในการประชุมที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมการทำสงครามให้อยู่ในกติกาสากล ลดความโหดร้ายและพลังทำลายล้างของสงครามให้เบาบางลง
The Laws of War on Land 1880 ได้พัฒนามาจากปฏิญญากรุงบรัสเซลส์ 1874 - The Brussels Declaration 1874 - Project of an International Declaration concerning the Laws and Customs of War. Brussels, 27 August 1874 ปฏิญญาฉบับนี้จัดทำขึ้นตามคำแนะนำของจักรพรรดิแห่งรัสเซีย Czar Alexander II of Russia และผู้แทน 15 ประเทศยุโรปให้แก่ Institute of International Law ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417)
ประเทศภาคี (เข้าร่วม) ในอนุสัญญาเจนีวาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสงคราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชสาส์นให้ทหารของประเทศสยามเคารพ กฎหมายสงคราม Law of War ซึ่งอยู่ในกฎหมายสงครามฉบับเดียวกับทหารของประเทศฝรั่งเศสที่จะต้องปฏิบัติตาม จะได้ทุเลาความโหดร้ายของสงครามหากประเทศฝรั่งเศสจะทำสงครามยึดครองประเทศสยาม
วันที่
29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) มิสเตอร์โรลังยัคมินส์
(Rolin-Jacquemyns) ผู้แทนรัฐบาลสยามเดินทางไปลงนามให้สัตยาบัน
(Ratified) อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ร.ศ.
83 (ค.ศ. 1864) ณ กรุงเบิร์น
ประเทศไทยจึงเข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 โดยสมบูรณ์
606 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ร.ศ. 83 (ค.ศ. 1864)
อนุสัญญาเจนีวาเป็นอนุสัญญาทวิภาคี คือเป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศต่าง ๆ กับประเทศสวิส เนื่องจากสมัยก่อนที่จะมีการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ในปี ค.ศ. 1919 และองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในปี ค.ศ. 1945 นั้น การจัดทำสัญญาระหว่างประเทศจะมอบให้รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นผู้รับฝากสัญญา เรียกว่า Depositary ดังนั้นการจัดทำอนุสัญญาเจนีวาตั้งแต่ ค.ศ. 1864 จึงใช้ Depositary แบบเก่า คือประเทศสวิสเป็น Depositary ของอนุสัญญาเจนีวา ต่อมาภายหลังการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติและองค์การสหประชาชาติแล้ว องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้จึงมีหน้าที่เป็น Depositary ของสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการเป็น Depositary มีความสำคัญ เพราะมีหน้าที่ดำเนินการขับเคลื่อนตามที่สัญญาระหว่างประเทศกำหนดไว้
“2. Depositary
3117 A treaty’s depositary is normally designated by the treaty. Before the establishment of the League of Nations and later of the United Nations, only States were depositaries. Since then, international organizations have increasingly been entrusted with depositary functions. 3118 The Geneva Conventions designate Switzerland as the depositary. To be more precise, the provisions under this heading, as well as the testimonium and signature clause, refer to the depositary by the name given to the government of Switzerland, the ‘Swiss Federal Council’. The Swiss Federal Council has delegated the task of depositary to the Directorate of International Law of the Federal Department of Foreign Affairs.” อนุสัญญาเจนีวาฉบับแรกนี้มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมและให้สัตยาบันเป็นภาคีทั้ง 57 ประเทศ มีประเทศสำคัญที่เกี่ยวกับประเทศไทยดังนี
France : Signed 22/08/1864 Ratified 22/09/1864
Switzerland : Signed 22/08/1864 Ratified 01/10/1864
Belgium : Signed 22/08/1864 Ratified 14/10/1864
Netherlands : Signed 22/08/1864 Ratified 29/11/1864
Spain : Signed 22/08/1864 Ratified 05/12/1864
United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland : Accession 18/02/1865
United States of America : Accession 01/03/1882
Japan : Accession 06/06/1886
Thailand : Accession 29/06/1895
China : Accession 29/06/1904
Germany : Accession 12/06/1906
ประเทศผู้เข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวาโดยวิธี Signed + Ratified คือประเทศผู้ก่อตั้งกาชาดระหว่างประเทศ ประเทศผู้เข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวาโดยวิธี Accession คือประเทศผู้เข้าร่วมภายหลัง
วันที่
11 เมษายน พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์
มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ความว่า
607 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
“ด้วยพระราชสาส์นที่จะมีไปยังกรุงสวิตเซอร์แลนด์นั้น เกล้ากระหม่อมได้แก้ไขบ้างเล็กน้อยแลได้เขียนถวาย ทรงเซนพระราชหัตถเลขาแล้ว เกล้าฯ ได้ถวายพร้อมกับหนังสือฉบับนี้ด้วยแล้ว กับได้ถวายร่างคำแปลแลกระดาษสำหรับเขียนมาด้วย ขอประทานสำเนาด้วยฉบับหนึ่ง
หนังสือพระราชสาส์นอยู่ ณ วันที่ 8 เมษายน 114...
คำแปลพระราชสาส์นเป็นภาษาอังกฤษ (ฉบับจริงเป็นภาษาฝรั่งเศส)
“Somdetch Phra Paramindr Maha Chulalongkorn Phar Chula Chom Klom King of Siam both Northern and all its Dependencies of Loas Chieng, Laos Kao, Malaya, Kareans, etc., etc., etc.,
To His Excellency Monsieur Froy, President of the federal Council of the Republic of Switzerland.
Since a long time it has been our desire to accede to the international Convention signed at Geneva on the 22rd of December 1864 for the Amelioration of the Condition of Soldiers wounded in Armies in the field. The Principles of charity and of respect of human life, excluding all sacrifice of it which is not imposed and justified by absolute necessity, are in perfect accordance with the rules of our Buddhist faith and friendship with all other states, and although We sincerely hope and with that this peace and friendship will be everlasting, We have resolved to accede to the Convention aforesaid and so to facilitate the international recognition of our Siamese Society of the Red Cross established in 1893, Our intention being moreover that the instruction given to the officers of our Army shall include the respect of the Convention aforesaid and of the Rules of War as drafted by the Institute of International Law.
Consequently we have given and give hereby full power and authorization to our Minister Plenipotentiary and General Advisor M. Rolin-Jacquemyns, to sign the Act of Accession thereto, with the same effect as if we had signed it Ourselves.
In witness where of we have appended to the present Our Royal Seal, Written at Maha Chakrakri, Bangkok the 2nd April 1895, being the 23th year of our Reign, and we sign.
Your
Excellency’s most affectionate friend”
608 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
การเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 เป็นการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญ
เป็นการเข้าร่วมสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสงครามเพื่อถ่วงดุล หากเกิดสงคราม
การเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 ร.ศ. 83 (ค.ศ. 1864) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) ถือเป็น Portal of Entry หรือเป็นทางเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาหรือสนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการทำสงครามอีกหลายฉบับตามมา ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีสากลว่ามีความเจริญมากขึ้น อีกทั้งประเทศผู้ล่าอาณานิคมต่าง ๆ ก็เป็นประเทศภาคีร่วมอยู่ในอนุสัญญาที่เกี่ยวกับสงครามที่ประเทศไทยเข้าร่วมอย่างเสมอภาคด้วยเช่นกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมอนุสัญญาที่เกี่ยวกับสงครามจำนวน 9 ฉบับ เพื่อใช้เป็นกลไกกฎหมายระหว่างประเทศต้านทานสงครามล่าอาณานิคม ดังนี้
อนุสัญญาที่เกี่ยวกับสงครามที่ประเทศไทยเข้าร่วมในสมัยรัชกาลที่ 5
1) หมวดผู้ประสบภัยจากสงคราม (Victims of Armed Conflicts)
1. Geneva Convention, 1864 Ratification/Accession : 29/06/1895
2. Geneva Convention on Wounded and Sick, 1906 Ratification/Accession : 29/01/1907
2) หมวดควบคุมสงคราม (Methods and Means of Warfare)
1. Final Act of the Hague Peace Conference, 1899 Signature : 29/07/1899
2. Hague Declaration (IV,1) prohibiting Projectiles from Balloons, 1899 Ratification/Accession : 04/09/1900
3. Final Act of the Hague Peace Conference, 1907 Signature : 18/10/1907
3) หมวดสงครามทางทะเลและทางอากาศ (Naval and Airwarfare)
1. Hague Convention (III) on Maritime Warfare, 1899 Ratification/Accession : 04/09/1900
2. Hague Convention (X) on Maritime Warfare, 1907 Ratification/Accession : 12/03/1910
3. Hague Convention (XII) on the International Prize Court, 1907 Signature : 18/10/1907
4. Additional
Protocol to the Convention on the International Prize Court, 1910 Signature:
19/09/1910
609 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
610 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
เอกสารฉบับร่างในประเทศไทย
พบเอกสารฉบับร่างซึ่งเป็นเอกสารต้นขั้วของพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสวิสฉบับนี้ ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 กระทรวงการต่างประเทศ มร 5 ต/42 - ต. 7/121 หน้า 4 แต่ไม่พบหลักฐานการให้สัตยาบัน Ratified ณ กรุงเบิร์นของมิสเตอร์โรลังยัคมินส์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ทั้งนี้ กาชาดระหว่างประเทศ สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาเจนีวา รัฐบาลสวิสจะเป็นผู้เก็บเอกสารเพียงฝ่ายเดียว
2438 - 5 จัดราชการกระทรวงมหาดไทย
วันที่ 12 สิงหาคม ร.ศ. 114 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือศาลาว่าการมหาดไทย ที่ 95/16993 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
ด้วยตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงมหาดไทย แต่ ร.ศ. 111 ข้าพระพุทธเจ้าได้พิเคราะห์ดูหน้าที่ราชการในศาลาว่าการกระทรวงนี้ ซึ่งควรจะจัดปันหน้าที่พนักงาน แลจัดเปนวิธีทำราชการในศาลาให้สดวกเรียบร้อย...จึงได้เรียบเรียงสำเนาแบบแผนแลวิธีที่ได้จัดแลใช้อยู่ในเวลานี้ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมด้วยจดหมายฉบับนี้...
1. ข้าราชการในตำแหน่งสัญญาบัตรประจำศาลากระทรวงมหาดไทย
เมื่อ ศก 114 สรุปได้ดังนี้
611 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
- กระทรวงกลาง (เสนาบดี/เลขานุการ รวม 2 ตำแหน่ง)
- กรมหมู่ใหญ่ (ราชปลัดทูลฉลอง / ราชปลัดพระ-ธรรมนูญ / ราชปลัดสำรวจ /ปลัดบาญชี / อื่น ๆ รวม 10 ตำแหน่ง)
- กรมฝ่ายเหนือ (เจ้ากรม / ปลัดทูลฉลอง / ปลัดบาญชี / ผู้ช่วย รวม 4 ตำแหน่ง)
- กรมพลัมภัง (เจ้ากรม/ปลัดกรม 2 / ผู้ช่วย รวม 4 ตำแหน่ง)
2. วิธีทำการในศาลากระทรวงมหาดไทย (จัดทำเป็นระเบียบภายใน)
หมวด 1 ว่าด้วยวิธีจดหมาย
หมวด 2 ว่าด้วยเวลาทำการ
หมวด 3 ว่าด้วยตัวคนรับราชการ
หมวด 4 ว่าด้วยการสำรวจ
2438 - 6 นานาประเทศออกกฎหมายว่าด้วยการลงโทษผู้กระทำผิด
หนังสือสัญญาคอนเวนชั่นเมืองเยนิวา
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2438 มองซิเออร์เวอเนสเลร์ เลขานุการใหญ่แห่งอินสติจูดกฎหมายนานาประเทศ มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความว่า
(คำแปลที่ 11195)
...ความเห็นของอินสติตุตสำหรับกฎหมายนานาประเทศ ว่าด้วยแซงชั่นลงโทษ ซึ่งหนังสือคอนเวนชั่น เมืองยีนีวา แห่งวันที่ 22 สิงหาคม ร.ศ. 83...เปนพนักงานของรัฐบาลทั้งปวง ซึ่งได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาอันปรากฏนี้ จะรวมปฤกษากัน ถ้าเหนสมควรจะทำดังนั้น เพื่อจะได้ให้ความพอใจแก่ความคิดของผู้พิพากษา แลที่จะทำคำแนะนำของเขานั้นให้เปนกฎหมายขึ้นกับข้าพเจ้าถือเอาเปนน่าที่ของข้าพเจ้า...ที่จะแนะนำหนังสือสำคัญนี้มายังพระเดชพระคุณ...จะได้ทรงพระดำริห์โดยพระอัทยาไสยแลตั้งใจ...รัฐบาลของพระเดชพระคุณ ซึ่งได้มีชื่อเสียงโดยลงชื่อไว้ในหนังสือคอนเวนชั่นแห่งปี ร.ศ. 83 มีความเตมใจที่จะเหนชอบการทำให้ดีขึ้น โดยที่อินสติตุตสำหรับกฎหมายนา ๆ ประเทศได้แสดงไว้...
(...I should be
happy to learn from your government, who has gained credit by signing the
Convention of 1864, are disposed to favour its perfection in the sense
indicated by the institute for international law...)
612 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ มีหนังสือทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมว่า ด้วยการที่จะทำกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดหนังสือสัญญาคอนเวนชั่นเมืองเยนิวา ลงวันที่ 22 สิงหาคม ร.ศ. 83 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หารือกับมองสิเออยัคมินส์ (เจ้าพระยาอภัยราชา)
วันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะ-วงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ มีหนังสือถึงมองซิเออรุฟฟี ประธานาธิบดีแห่งสวิสคอนเฟศเดอราเชอน กรุงเบิน ซึ่งได้ส่งสำเนากฎหมายเมืองเยนิวาวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1868 ว่าด้วยการที่จะช่วยผู้ที่ต้องอาวุธป่วยเจ็บในเวลามีศึกสงครามทั้งบกและทางเรือ โดยที่ประชุมที่กรุงมาดริกและกรุงวอชิงตันได้ยอมตามกฎหมายนั้นแล้ว จึงได้ส่งข้อตกลงมายังประเทศที่ลงชื่อในหนังสือสัญญาเมืองเยนิวาทราบ
…I have to convey my thanks to your Excellency for the kind information, and beg to give expression to the sympathy with which His Majesty’s government have considered step taken...
หมายเหตุ
สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ, บรัสเซลส์ (The Institute of International Law, Brussels)
ในปี ค.ศ. 1873 มิสเตอร์โมนิเย่ (Gustave Moynier) และมิสเตอร์โรลังยัคมินส์ (Gustave Rolin-Jacquemyns) ร่วมกับนักกฎหมายระหว่างประเทศอีก 9 ท่าน ช่วยกันก่อตั้ง The Institute of International Law (Institut de Droit International) เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ณ the Salle de l’Arsenal of the Ghent Town Hall ประเทศเบลเยียม เป็นสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เป็นมูลเหตุความพยายามแก้ปัญหาระหว่างประเทศด้วยการใช้กฎหมายก่อนการจัดตั้งศาลโลก - ศาลที่ 1 คือ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration - PCA) ค.ศ. 1899
The Institute of International Law เป็นสถาบันอิสระไม่ขึ้นกับประเทศใด ๆ เพื่อความเป็นกลางในการจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลกจากการระงับข้อพิพาท นับเป็นองค์กรที่อุทิศให้กับการศึกษาและการพัฒนาของกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยนักกฎหมายมหาชนชั้นนำของโลก เป็นสถาบันการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก และผลงานขององค์กรนั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2447
Institut de Droit International
The Institute of
International Law (French : Institut de Droit International) is an organization
devoted to the study and development of international law, whose membership
comprises the world’s leading public international lawyers. The organization is
generally considered the most authoritative world academy of international law,
and its work earned the Nobel Peace Prize in 1904.[1]
613 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
History
The institute was founded by Gustave Moynier and Gustave Rolin-Jacquemyns, together with 9 other renowned international lawyers, on 8 September 1873 in the Salle de l’Arsenal of the Ghent Town Hall in Belgium. The founders of 1873 were:
Pasquale Stanislao Mancini (from Rome), President;
Emile de Laveleye (from Liege);
• Tobias Michael Carel Asser (from Amsterdam);
• James Lorimer (from Edinburgh);
• Wladimir Besobrassof (from Saint-Petersburg);
• Gustave Moynier (from Geneva);
• Jean Gaspar Bluntschli (from Heidelberg);
• Augusto Pierantoni (from Naples);
• Carlos Calvo (from Buenos Aires);
• Gustave Rolin-Jacquemyns (from Ghent);
• David Dudley Field (from New York)
Institution independent of any governmental influence which would be able both to contribute to the development of international law and act so that it might be implemented
อินสติตูตสำหรับกฎหมายนานาประเทศ คือ The Institute of International Law
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2438 สมัยรัชกาลที่ 5 The Institute of International Law ถูกเรียกว่า “อินสติตูตสำหรับกฎหมายนานาประเทศ” ได้จัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อลงโทษ (Sanction) ประเทศที่ฝ่าฝืนอนุสัญญาเจนีวา (ดูเหตุการณ์ พ.ศ. 2438 - 4) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมายุโรปได้เกิดความพยายามระงับสงครามขึ้นใหม่อีก โดยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียได้เชิญรัฐบาลนานาประเทศร่วมประชุมการสร้างสันติภาพแห่งโลกครั้งแรก ณ กรุงเฮก ทำให้เกิดอนุสัญญากรุงเฮก พ.ศ. 2442 และมีผลผูกพันไปถึงอนุสัญญาเจนีวา 1864 เป็นอนุสัญญาที่สอดคล้องกัน โดยอนุสัญญากรุงเฮกมุ่งเน้นการควบคุมการทำสงคราม และอนุสัญญาเจนีวามุ่งเน้นคุมครองเชลยศึกและผู้เคราะห์ร้ายจากสงคราม นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration - PCA) เมื่อ พ.ศ. 2442 นับเป็นศาลระหว่างประเทศแห่งแรกของโลก
โดยการประชุม ณ กรุงเฮก เพื่อจัดทำอนุสัญญากรุงเฮก พ.ศ. 2442 (Hague Convention 1899) ครั้งนี้ประชุมความสำเร็จเพราะสามารถรวบรวมข้อดีในสนธิสัญญาและข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่มีมาก่อนหน้าในรอบ 100 ปีรวมกัน ได้แก่
1. “Jay Treaty” Mixed Commissions at the end of the 18th century
2. The Alabama arbitration in 1871 - 1872
3. A code of
procedure for arbitration in 1875 by The Institute of International Law (The
Institut de Droit International)
614 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2439
2439 - 1 ปฏิญญาอังกฤษ - ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 (The Anglo - French Declaration 1896) ตกลงให้สยามเป็นรัฐอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นรัฐกันชน
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2439 อังกฤษและฝรั่งเศสบรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า ปฏิญญาอังกฤษ - ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 (Anglo-French Declaration 1896) เป็นข้อตกลงให้สยามเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างพื้นที่ในเขตอิทธิพลของอังกฤษกับฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดทำปฏิญญาอังกฤษ - ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 เป็นการดำเนินของ 2 ประเทศโดยสยามไม่ได้ร่วมตกลง แต่จำเป็นต้องยอมรับเพื่อความสงบสุข อังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มเจรจาปฏิญญาฉบับนี้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2436 และตกลงลงนามได้ในปี พ.ศ. 2439 อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาฉบับนี้ระบุความเป็นสยามเอาไว้เพียงส่วนที่เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ภาคกลางของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ไทยต้องต่อสู้ทางการทูต จึงต้องทำอนุสัญญาลับอังกฤษ - ไทย พ.ศ. 2440 เพื่อคุ้มครองส่วนภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย
หมายเหตุ
การทำปฏิญญาประกาศให้ประเทศสยามเป็นรัฐกันชนด้วย The Anglo - French Declaration 1896 มีลักษณะคล้ายกับการประกาศให้ประเทศสวิสเป็นรัฐกันชนด้วย Treaty of Paris 1814 ซึ่งประเทศมหาอำนาจยุโรปสรุปให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเขตกันชนที่มีค่าระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย (Valuable buffer zone between France and Austria) ที่เป็นกลางและมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค
การประกาศให้ประเทศสยามเป็นรัฐกันชน จึงกระทำโดยประเทศมหาอำนาจที่อยู่โดยรอบประเทศสยามที่อาจปะทะกัน สยามจึงไม่ได้เข้าร่วมในการทำปฏิญญาฉบับนี้
ผู้เขียนตั้งข้อสันนิษฐานว่า มิสเตอร์โรลังยัคมินส์คือนักการทูตและนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญสนธิสัญญาระหว่างเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำปรึกษาที่เป็นสงครามการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศชั้นแนวหน้าของยุโรป เพราะเป็นการเปิดสงครามการทูตเชิงรุกที่เป็นระบบเพื่อใช้กฎหมายระหว่างประเทศระงับสงคราม ตามหลักการของกาชาดสากล (International Committee of The Red Cross - ICRC) คือ ใช้กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองในสงคราม How does law protect in war?
ดูเหตุการณ์ที่ 2440 - 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองเยนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (เรื่องการเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา)
2439 - 2 เปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - อยุธยา
วันที่
26 มีนาคม พ.ศ. 2439
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระอรรครราชเทวี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร
615 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2439 - 3 อเมริกันจะขอแลกเปลี่ยนหนังสือรายงานคัดราชการบ้านเมือง
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2439 มิสเตอร์ยอนแบเรต ราชทูตอเมริกัน มีหนังสือมายังกระทรวงต่างประเทศ ขอให้แลกเปลี่ยนหนังสือรายงานประจำปีที่ได้รวบรวมขึ้นในเรื่องการจัดการบ้านเมือง รวมทั้งการวิชาและการศึกษาต่าง ๆ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาเทวะวงษวโรประการ มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ความว่า “หม่อมฉันเหนด้วยเกล้าฯ ว่า สมุดที่ฝ่ายไทยจะควรส่งไปแลกเปลี่ยนได้ ที่เปนรายงานในราชการ ก็มีแต่ กรมไปรสนีย์กับโทรเลข แล กรมรถไฟ เท่านั้น นอกนี้มี หนังสือเล่าเรียน ที่กระทรวงธรรมการจะส่งได้”
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-กระแสในเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้เปนเรื่องจะขายหน้า เพราะรายงานราชการอันใดของเราไม่มี ได้คิดแล้วว่าอยากจะให้มีขึ้น แต่ด้วยเหตุที่ยังไม่สะดวก แลไม่มีเวลาที่จะคิดให้ตลอด ที่จะส่งนั้น ก็คงส่งได้บ้างเหมือนเช่นว่า แต่ดูเหมือนจัดการบ้านเมืองน้อยเตมที”
แสดงให้เห็นว่าในปี
พ.ศ. 2439 กระทรวงต่าง ๆ
ยังไม่เคยจัดทำรายงานราชการตามแบบตะวันตก
การที่ราชทูตอเมริกันขอแลกเปลี่ยนเอกสารรายงานทางราชการครั้งนี้
ทำให้รัฐบาลได้รับเอกสารรายงานราชการของอเมริกันมาใช้เป็นตัวอย่างการจัดทำรายงานราชการกระทรวงและกรมต่าง
ๆ ตามระบบตะวันตก และใช้ในการพัฒนาระบบราชการต่อมา
616 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2440
2440 - 1 ร่างพระราชบัญญัติกำหนดชื่อกฎหมาย
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สภาเลขานุการกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ รัฐมนตรี เรื่องร่างพระราชบัญญัติกำหนดชื่อกฎหมาย โดยคณะกรรมการอันมีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นประธาน มีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและกรมหลวงเทวะวงษ-วโรประการ เป็นกรรมการ ได้จัดทำรายงานเรื่อง ชื่อกฎหมายภาษาอังกฤษและคำแปลภาษาไทย เพื่อจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว เช่น
Decree/Royal Command พระบรมราชโองการ
Municipal เทศบาล หรือประชุมชน
Proclamation ประกาศ
Public การแผ่นดิน
Common Law ธรรมเนียม
Decree or Royal Ordinance or Act พระราชบัญญัติ
Civil (Law) พระราชกฤษฎีกาหรือแพ่ง
Regulation ข้อบังคับ
Role แบบแผน
Constitution พระธรรมนูญ
2440 - 2 อนุสัญญาลับอังกฤษ - ไทย พ.ศ. 2440 (The Anglo - Siamese Secret Convention 1897)
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 ฝ่ายอังกฤษและฝ่ายไทยเริ่มร่างอนุสัญญา มีสาระสำคัญคือ รัฐบาลไทยตกลงว่าจะไม่ยินยอมให้ประเทศใดก็ตาม ซื้อ เช่า หรือถือกรรมสิทธิ์ดินแดนไทยตั้งแต่บริเวณใต้ตำบลบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ลงไปโดยที่ไม่ให้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อน เพื่อเป็นการตอบแทนรัฐบาลอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยถ้าถูกชาติอื่นรุกราน
ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุจากปฏิญญาอังกฤษ - ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 ระบุขอบเขตของประเทศไทยเอาไว้เฉพาะส่วนที่เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไทยเกรงว่าดินแดนส่วนอื่นนอกเหนือจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะตกอยู่ในความเสี่ยงของการล่าอาณานิคม จึงจำเป็นต้องทำอนุสัญญาลับฉบับนี้กับอังกฤษโดยที่อังกฤษตกลงว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือแก่สยามถ้าถูกชาติอื่นรุกราน เป็นการรับรองว่าไทยจะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฝรั่งเศสรุกรานอีก
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายลงนามในอนุสัญญา
2440 - 3 พระราชบัญญัติปกครองท้องที่และการยกเลิกกฎหมายเก่า
วันที่
20 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติปกครองท้องที่” และยกเลิกกฎหมายเก่าที่ขัดกับกฎหมายนี้ทั้งหมด ให้เสนาบดี
617 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
มหาดไทยและข้าหลวงเทศาภิบาลมีอำนาจควบคุมบังคับท้องที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยกำหนดหน่วยควบคุมต่ำสุดคือ บ้านหรือที่อยู่อาศัยใด ๆ จำนวน 1 หลัง กำหนดเจ้าของบ้าน เรียกว่า เจ้าบ้าน และให้เจ้าบ้าน 10 บ้าน หรือราษฎรรวมกันไม่เกิน 100 คน เป็น 1 หมู่บ้าน ให้เลือกเจ้าบ้าน 1 คนมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอเป็นประธานเลือกตั้ง และให้ผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ลำดับถัดมาคือ ให้หมู่บ้าน 10 หมู่บ้านรวมกันเป็น 1 ตำบล ให้ผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ปักเขตที่ดินของตำบล ซึ่งแต่เดิมให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเอง เป็นกำนัน 1 คน แล้วให้นายอำเภอพาไปศาลากลาง รับหมายตั้งจากผู้ว่าราชการเมือง (เป็นตำแหน่งขุนนางเทศาภิบาล ซึ่งเจ้าเมืองในระบบเก่าถูกยกเลิกไป) ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปกครองลูกบ้านไปตามลำดับ
การปกครองท้องที่ถือเป็นระเบียบปกครองแบบที่ 2 ใช้สำหรับพื้นที่ย่อยในหัวเมืองทั่วประเทศ โดยลำดับชั้นการปกครองจากเล็กไปใหญ่ คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไปอยู่ในกำกับของข้าหลวงใหญ่หรือสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล
การประกาศยกเลิกกฎหมายตราสามดวง
...ยกเลิกกฎหมายเก่า
มาตรา 6 บรรดาพระราชกำหนด กฎหมายแต่ก่อนบทใดข้อความขัดกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกบทนั้น ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ไป...
2440 - 4 โรงพยาบาลเมืองภูเก็ต กระทรวงมหาดไทย
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2440 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา รายงานผู้ป่วยโรงพยาบาลเมืองภูเก็ต รวมผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีจำนวนรวม 207 คน โดยนายพุกและนายสร้อย เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเมืองภูเก็ต จึงเป็นโรงพยาบาลในต่างจังหวัดแห่งที่ 2 ที่จัดตั้งขึ้น โดยจัดตั้งโรงพยาบาลในระบบปกครองเทศาภิบาล อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการเมือง
2440 - 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน
เมืองเยนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (เรื่องการเข้าร่วมอนุสัญญาเจนีวา)
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองเยนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้าหลวงเทศาภิบาลของเมืองและกรรมการเมืองถวายพระเกียรติยศ ถวายงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน ณ วังเอนา พระยาสฤษดิพจนกรบันทึกไว้ว่า มองสิเออริชาด ข้าหลวงเทศาภิบาล กล่าวด้วยถ้อยคำเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลได้ว่า
...กรุงสยามนั้นตั้งอยู่ข้างฝ่ายตวันออกทวีปเอเซีย
ในหมู่ประเทศซึ่งเรารู้สึกเปนเมืองมีของวิเศษต่าง ๆ
แต่ฝ่ายเมืองริบับลิกสวิตเซอแลนด์นั้น
618 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แลเขตรแขวงยินิวานี้ ตั้งอยู่ข้างฝ่ายตวันตกทวีปยุโรป แต่ถึงจะห่างไกลกันอย่างใดก็ดี ก็ได้มาถึงกัน เพราะเจ้าผู้มีปรีชาแลเปนสหายของความเจริญ ซึ่งได้มีความกรุณาประทับที่ ณ โต๊ะของเรา ได้ทรงเข้าด้วยในหนังสือสัญญานานาประเทศของสภาอุณาโลมแดง การที่ตั้งขึ้นเปนที่ประเสริฐนี้ ซึ่งเปนแรกเริ่มเมืองยินิวา...ข้าพเจ้าขออนุญาตที่จะยกย่องพระกระแสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงไว้โดยความไพเราะอ่อนหวานในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงการ ซึ่งได้เข้าในสัญญาด้วยนั้น
พระกระแสในพระราชสาส์นนั้น มีว่านานมาแล้ว ซึ่งได้ทรงมีความพระราชประสงค์ของเรา ที่จะยอมเข้าในสากลสัญญานานาประเทศ ที่ได้ลงนามกันไว้ ณ เมืองยินิวา เมื่อ ณ วันที่ 22 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 85 เพื่อกระทำให้การเคราะห์ร้ายซึ่งทหารในกองทำต้องถูกบาดแผลเจ็บไปในที่รบ ให้เปนที่เบาบาง...เปนความต้องกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แลความรู้สึกส่วนตัวของเราด้วย...เราก็ได้ตั้งใจจะไม่ให้เนิ่นช้าต่อไป ในการที่จะเข้าด้วยในสัญญาสากลนั้น แลที่เราทำดังนี้ก็เพื่อให้นานาประเทศรับจำพวกสภาอุณาโลมแดงสยามของเรา ซึ่งได้ตั้งขึ้นไว้ในปี ร.ศ. 112 ความมุ่งหมายของเรา ยังมีนอกจากนี้ว่า คำสั่งที่จะมีแก่นายทหารในกองทัพของเรานั้น ให้จะมีความนับถือในสัญญาที่กล่าวมาข้างบนนี้ แลในกฎหมายของสงครามซึ่งอินสติตุตแห่งกฎหมายนานาประเทศได้ตั้งขึ้นไว้
ในวันนั้น ได้เกิดเปนการสัญญาในระหว่างเราอันแขงแรงที่สุด ซึ่งสามารถรวมน้ำใจมนุษย์เข้าด้วยกัน สำหรับการเมตตาปรานีกับชาติมนุษย์...
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยในราชกิจจานุเบกษา มีใจความตอนหนึ่งว่า
ท่านสภานายกแห่งที่ประชุม
แลท่านผู้ดีทั้งปวง ด้วยข้าพเจ้ามีความยินดีเปนอันมากมาอยู่ในหมู่ท่านวันนี้
แลข้าพเจ้ารู้สึกมาก โดยอัธยาไศรยไมตรีซึ่งท่านได้กล่าวถึงข้าพเจ้า
แลถึงส่วนที่ข้าพเจ้าได้ทำในเรื่องยินิวาคอนเวนชันแห่งสภาอุณาโลมแดงของนานาประเทศนั้น
ความจริงข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นของท่านในเวลาที่กล่าวว่า
ความประพฤตินี้เปนข้อใกล้ยิ่งขึ้นในระหว่างริปัปลิกอันสุจริตนี้
แลพระราชอาณาจักรของข้าพเจ้า ๆ ได้รู้สึกความกรุณาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เมื่อข้าพเจ้าแจ้งว่าจะเข้าด้วยในหนังสือสัญญาของท่าน
เพราะการสงครามนี้บางทียังจะเปน ความจำเปนที่ต้องมี
แต่ที่ต้องมีสงครามอันดุร้ายในเวลาหนึ่งเวลาใด
ก็ไม่จำเปนในสมัยนี้ที่เรามีชีวิตรอยู่นี้เปนแน่...
619 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
หมายเหตุ
นครเจนีวาเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศสวิส เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ความเก่าแก่ถึง 121 ปีก่อนคริสตกาล เดิมเป็นรัฐอิสระชื่อ สาธารณรัฐเจนีวา ประกาศจัดตั้งในปี ค.ศ. 1541 ต่อมาเข้าร่วมกับสมาพันธ์สวิสในปี ค.ศ. 1815 ในฐานะมณฑลที่ 22 โดยโอนไปจากฝรั่งเศสหลังจากความพ่ายแพ้ของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ตามสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris 1814) เพื่อกำหนดเขตแดนสำหรับประเทศฝรั่งเศสภายใต้ราชวงศ์บูร์บองและคืนดินแดนให้กับประเทศอื่น ๆ (รวมทั้งโอนนครเจนีวาคืนให้กับประเทศสวิส) และหลังจากความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่เมืองวอเตอร์ลู (Waterloo) เบลเยียมประเทศมหาอำนาจยุโรปสรุปให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเขตกันชนที่มีค่าเป็นกลางระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย (Valuable buffer zone between France and Austria) และมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค การประชุมใหญ่เวียนนา ค.ศ. 1815 (Congress of Vienna 1815 or Vienna peace congress) จึงลงนามยืนยันสนธิสัญญาปารีส ประกาศให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่เป็นกลาง “perpetual neutrality”
เมื่อมีการก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (กาชาดสากล) - International Red Cross Society ในปี ค.ศ. 1863 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครเจนีวา ทำให้นครเจนีวาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานที่ตั้งองค์กรช่วยเหลือมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นศูนย์กลางช่วยเหลือทหารบาดเจ็บและเชลยศึกสงครามจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กว่า 7 ล้านคน เมื่อมีการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference, 1919) จัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) สำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ นครเจนีวา ยังเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือทหารบาดเจ็บและเชลยศึกสงครามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 35 ล้านคน หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการประชุมที่กรุงวอชิงตัน The Washington Conversations on International Peace and Security Organization จึงได้เปลี่ยนองค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations) ให้เป็นองค์การสหประชาชาติ (The United Nations) องค์การสหประชาชาติจึงมีสำนักงานใหญ่ (เก่า) ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สำหรับการประชุมในยุโรปและคลังเอกสาร และมีการตั้งสำนักงานใหญ่ (ใหม่) อีกแห่งที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำหรับเป็นที่จัดประชุมระดับโลก
2440 - 6 คณะกรรมกลางของสภากาชาดแห่งออสเตรีย เจ้าภาพจัดประชุมสภากาชาดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเวียนนา (6th International Conference of the Red Cross Societies) ราชทูตออสเตรียขอเชิญรัฐบาลสยามเข้าร่วมประชุม
วันที่ 29 กรกฎาคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) คณะกรรมกลางของสภากาชาดแห่งออสเตรีย เจ้าภาพจัดประชุมสภากาชาดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเวียนนา (6th International Conference of the Red Cross Societies) มิสเตอร์ครูบิสสิก ราชทูตออสเตรียในนามของกระทรวงต่างประเทศออสเตรีย ขอเชิญรัฐบาลสยามเข้าร่วมประชุม
วันที่ 22 สิงหาคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) กรมหลวงเทววงษ์วโรประการมีหนังสือศาลาว่าการต่างประเทศ ที่ 87/5665 กราบบังคมทูลว่า กรรมการสภากาชาดออสเตรียเชิญบรรดาประเทศที่ลงนามร่วมในอนุสัญญาเจนีวาเข้าร่วมประชุม จึงสั่งการไปยังพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (ทัด สิงหเสนี) อัครราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน ให้ดำเนินการ
วันที่
26 มิถุนายน ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) กรมหลวงเทววงษ์วโรประการมีหนังสือศาลาว่าการต่างประเทศ
ที่ 129/3410 กราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการว่า
620 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ได้รับใบบอกจากพระยานนทบุรีว่าได้มอบอำนาจให้มิสเตอเชอนเบอเกอ กงศุลเยเนราลสยาม ณ กรุงเวียนนา ไปประชุมในครั้งนี้และให้ส่งรีปอตรายงาน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2442) หลวงโทรัยสยามรัฐ (มิสเตอเชอนเบอเกอ) กงศุลเยเนราลสยาม ณ กรุงเวียนนา ได้ส่งรายงานไปยังพระยานนทบุรี ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อ 2 - 3 เดือนมาแล้ว อีกฉบับส่งมาถวายกรมหลวงเทววงษ์วโรประการทางไปรษณีย์ (สิ่งที่ส่งมาเป็นหนังสือ 4 เล่ม สมุด 4 เล่ม และสำเนาหนังสือของหลวงโทรัยสยามรัฐ 1 ฉบับ)
2440 - 7 ประธานาธิบดีสวิสแจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า The Orange Free State Republic เข้าร่วมในอนุสัญญาเจนีวาฉบับแรกแล้ว
วันที่ 1 ตุลาคม ร.ศ. 116 มิสเตอร์ดอยเชอร์ ประธานาธิบดีแห่งสวิตเซอร์แลนด์ มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความว่า
คำแปลที่
8513
ด้วยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ก่อนนี้ มองเซียร์ดอกเตอร์บีแอน มูลเลอฟันริกเคโฟเซอล กงศุลเยเนราลแห่งประเทศโอแรนด์ ณ กรุงเฮก ในนามของคอเวอนเมนต์ประเทศโอแรนด์ ได้ส่งหนังสือสำคัญที่ประเทศนั้นได้เข้าอยู่ในหนังสือสัญญาที่ได้ทำไว้ ณ กรุงเยเนวา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปี 1864 เรื่องการที่จะอนุเคราะห์ช่วยรักษาทหารซึ่งต้องถูกบาดแผลในกองทัพ ที่รบกันอยู่นั้น คือ อุนาโลมแดง
การที่ได้เข้าอยู่ในหนังสือสัญญานั้นแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าขอแจ้งความให้พระองค์ทราบโดยทางหนังสือนี้ แลข้าพเจ้าขอเอาโอกาสนี้ที่จะแสดงความนับถืออย่างสูงมายังพระองค์ท่านด้วย
ในนามกรุงสวิตเซอแลนด์
(เซนชื่อ) ดอยเชอร์
ปธานาธิบดีกรุงสวิตเซอแลนด์
(เซนชื่อ) ริงกิน
เลขานุการกรุงสวิตเซอแลนด์
2440 - 8 พระราชกำหนดศุขาภิบาล กรุงเทพฯ ร.ศ. 116
วันที่
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2440 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ มีพระราชเสาวนีย์ให้ประกาศ “พระราชกำหนดสุขาภิบาล
ร.ศ. 116” สำหรับกรุงเทพฯ
ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล
ในการจัดการรักษาความสะอาดของเมืองหลวงเพื่อป้องกันโรคภัยอันตราย และให้สืบสวนสาเหตุโรคของมหาชนทั่วไป
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ให้เหมาะสม โดยมีการกำหนดให้มีเจ้าพนักงาน 2
621 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ประเภท คือ เจ้าพนักงานแพทย์สำหรับตรวจโรค เรียกว่า เจ้าพนักงานแพทย์สุขาภิบาล และช่างใหญ่ (วิศวกร) เรียกว่า เจ้าพนักงานช่างใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ให้มีเจ้าพนักงานผู้ช่วย เรียกว่า สารวัด ช่างรอง (ผู้ช่วยวิศวกร) คนทำแผนที่ คนเขียนแบบตัวอย่าง (แบบร่าง) คนแปลหนังสือ ล่าม เสมียน และคนงานต่าง ๆ ทั้งหมดอยู่ใต้บังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล นายแพทย์ปี เอช ไนติงเกล เป็นแพทย์สุขาภิบาล และกัปตัน เย คาตอง เป็นช่างใหญ่ (วิศวกร) สุขาภิบาล
การกำหนดเขตพื้นที่สุขาภิบาลเพื่อดูแลรักษาความสะอาดป้องกันโรค ในระยะนี้ยังเป็นงานราชการหนึ่งในกระทรวงนครบาล และจัดการสุขาภิบาล (Sanitary) เฉพาะในกรุงเทพฯ และขยายไปยังหัวเมือง
ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงนครบาล กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ร.ศ. 123
กรมศุขาภิบาล
1. กองบัญชาการ (7 ตำแหน่ง)
2. กองบัญชี (2 ตำแหน่ง)
3. กองศุขาภิบาลฝ่ายเหนือ (8 ตำแหน่ง)
4. กองศุขาภิบาลฝ่ายใต้ (8 ตำแหน่ง)
5. กองตรวจการสอาด (3 ตำแหน่ง)
6. กองแพทย์ (5 ตำแหน่ง)
7. กองช่าง (6 ตำแหน่ง)
8. แผนกการไฟฟ้า (1 ตำแหน่ง)
เจ้าพนักงานแพทย์สุขาภิบาล
สังกัดกองแพทย์ กรมสุขาภิบาล มีหน้าที่
1) มีหน้าที่ตรวจโรค ทำงานร่วมกับช่างใหญ่ (วิศวกร) ตรวจรักษาความสะอาด
2) มีอำนาจตรวจและจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง
3) รักษาความสะอาดให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันโดยในชุมชน
4) ทำรายงานการตรวจการต่าง ๆ และเสนอข้อคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการป้องกันโรคต่อเสนาบดี
5) ช่วยการแพทย์ของกระทรวง
622 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2441
2441 - 1 ประธานาธิบดีแห่งประเทศสวิสแจ้งรัฐบาลไทย เรื่องขอขยายข้อความอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 83 เพิ่มความคุ้มครองสงครามทางทะเล
วันที่ 18 พฤษภาคม ร.ศ. 117 ประธานาธิบดีแห่งสวิตเซอร์แลนด์มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ตามคำแปลที่ 3337 ความย่อว่า
...ประเทศต่าง ๆ ที่ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาเมืองยีนีวา ลงวันที่ 22 สิงหาคม ปี 1864 ว่าด้วยการที่จะทำให้พวกทหารที่ถูกบาดเจ็บในกองทัพดีขึ้นกว่าเก่านั้น ได้เหนเปนการจำเปนที่จะขยายข้อความของหนังสือสัญญานั้นไปในสงครามฝ่ายทเล...ได้ปฤกษาตกลงกันที่จะเพิ่มความอีก 14 ข้อกับหนังสือสัญญาเมืองยีนีวานั้น 5 ข้อว่าด้วยข้อความหนังสือสัญญานี้บางข้อโดยชัดเจน อีก 9 ข้อกล่าวถึงกองทหารเรือ
...ในเวลาที่แจ้งข้างบนนี้ไปให้ประเทศที่ลงชื่อในหนังสือสัญญาเมืองยีนีวาทราบนั้น เราขอแสดงความปราถนาอันตั้งใจว่า การสงครามนี้จะได้เลิกแล้วต่อกันเร็วที่สุดที่จะเปนไปได้ และกฎหมายของเมืองยีนีวาลงวันที่ 20 ตุลาคม ปี 1868 ที่ผู้รบพุ่งกันทั้งสองฝ่ายได้เต็มใจยอมรับใช้นั้น จะเปนการทำให้อันตรายของสงครามน้อยลง...
หมายเหตุ
การขยายอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1863 เพื่อให้ครอบคลุมสงครามทะเลนั้น เป็นผลผูกพันจากอนุสัญญากรุงเฮก ฉบับที่ 3 ชื่อ “Convention for the Adaptation to Maritime Warfare of the Principles of the Geneva Convention of 22 August 1864” ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เกิดจากการประชุมสงบศึกและลดกำลังอาวุธ (การประชุมสันติภาพ) The First Hague Conference ณ กรุงเฮก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้มีจำนวน 4 ชุด (6 ฉบับ) ทุกประเทศร่วมลงนามเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) เป็นสนธิสัญญาพหุภาคี (Multilateral Treaty) ครั้งแรกของโลก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443)
2441 - 2 โรงพยาบาลหญิงหาเงิน
วันที่
24 พฤษภาคม ร.ศ. 117
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินหลวงหลังวัดพลับพลาไชย (วัดโคก)
อยู่ในแนวถนนที่ตัดใหม่ แต่มีพวกจีนตั้งโรงเลี้ยงเป็ดไก่อยู่
สำหรับตั้งโรงพยาบาลหญิงหาเงิน (เดิมเรียกโรงพยาบาลวัดโคก
ปัจจุบันคือโรงพยาบาลกลาง)
623 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โดยใช้เงินภาษีบำรุงถนนและงบประมาณสุขาภิบาลตามคำกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์
2441 - 3 รัสเซียนัดนานาประเทศประชุมสงบศึกและลดกำลังอาวุธ
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2441 พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (ทัด สิงหเสนี) อัครราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีต่างประเทศ ดังความบางส่วนต่อไปนี้
...ข้าพระพุทธเจ้าพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม ราชทูตสยาม ณ กรุงเบอลิน ขอพระราชทานกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ด้วยในระหว่างเวลานี้ มีหนังสือพิมพ์เยอรมันลงข้อความกล่าวถึงการซึ่งแอมเปรอนิโคลาส เปิดอนุสาวรีแอมเปรออาลเลกซันเดอร์ที่ 2 พระอัยการของสมเด็จพระเจ้าแอมเปรอนิกโกลาสที่ 2 พระองค์นี้ สร้างขึ้นไว้ในเมืองมอสโก เปิด์อานุสาวะรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม รศ 31 ศก 117 เมื่อได้เปิดอนุสาวรีนี้แล้ว แอมเปรอจึงให้อนุญาตแก่หนังสือพิมพ์ทั้งหลาย เปนทางการเปิดเผยข้อความซึ่งแอมเปรอนิกโกลาสได้มีคำสั่งให้เคานต์มูราวีเยฟ...มหาเสนาบดีรัสเซีย แจ้งความประสงค์ไปยังราชทูตานุทูต ราชทูตผู้แทนคอเวอนแมนต์นานาประเทศ ซึ่งประจำอยู่ ณ ราชสำนัก ประเทศรัสเซียนั้น แจ้งความประสงค์ซึ่งจะขอเชิญประชุมปฤกษาข้อสำคัญในการปกครองแผ่นดินให้เป็นความศุขเจริญสืบไปในภายน่า มีข้อความยืดยาว เป็นใจความว่า
ในปัตยุบันนี้ ประเทศใหญ่...บำรุงกำลังทหาร แลอาวุธแรงกล้าขึ้นเปนลำดับ ไม่มีที่สิ้นสุด เปนการยากทับถมอยู่แก่ราษฎรพลเมืองจนเหลือกำลังอยู่แล้ว ในการซึ่งบำรุงกำลังแรงกล้าขึ้นทุกประเทศดังได้เปนมานั้น ก็หาได้ตั้งเจตนากระทำยุทธสงครามแก่กันไม่ ประสงค์จะให้มีไว้เท่าทันกัน เพื่อจะห้ามเหตุยุทธสงคราม เป็นการป้องกันอันตรายของชาติ ภาษาบ้านเมือง ให้ราษฎรได้ร่มเย็นเป็นศุก และระงับเหตุทั้งหลายในบ้านเมือง ก็ปราถนาความศุกสำราญเท่านั้น
แต่ในปัตยุบันนี้
บำรุงกำลังทหารมากจนเหลือเกิน กลับทำให้เปนความยากลำบากแก่ไพร่พลเมือง
แลกำลังทหารแรงกล้าดังนี้ ก็สามารถที่จะเป็นสงครามขึ้นได้ในภายน่า
ทั้งขาดประโยชน์ในการบำรุงบ้านเมืองแลวิชาความรู้ทั้งปวง เพราะต้องเสียเปลืองในการบำรุงทหารมากกว่าการอื่น
เครื่องยุทธภัณต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างใหม่ ให้เท่าทันกันอยู่เสมอ
ต้องทิ้งของเก่าเสียเปนลำดับไป มีความเสียเปลืองเปนอันมาก
624 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ และข้าราชการ ณ สถานอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน ราว พ.ศ. 2444
(แถวนั่งจากซ้าย) พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (ทัด สิงหเสนี - ต่อมาเป็นพระยาไกรโกษา)
อัครราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์
พระยาประสิทธิ์ศัลการ (สอาด สิงหเสนี) อัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน
(แถวยืนจากซ้าย) นายร้อยเอก หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิศณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนมไหสุริยสงขลา (เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ
เปลี่ยนพระนามกรมเป็น กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต) ฉายที่สถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน
ภาพและคำบรรยาย : วรชาติ มีชูบท
เพราะฉนั้นแอมเปรอนิโกลาศจึงเหนว่าควรจะงดทะวีกำลังทหารนั้นเสีย เพราะเห็นว่า การที่เตรียมอยู่ดังนี้...เป็นที่แน่นอนว่าจะห้ามเหตุภัยทั้งปวงได้ดังประสงค์ ถ้าลดกำลังทหารเสีย จะเป็นที่แน่นอนดีกว่า
สมควรจะรวมกำลังความปราถนาของประเทศใหญ่ทั้งหลายต่าง ๆ ซึ่งตั้งใจเป็นทางเดียวกัน จะระงับเหตุการสงครามนี้ถ้ารวบรวมความคิดกันเข้า สำหรับจะระงับเหตุที่จะมีขึ้นภายน่า ด้วยความปรานีปรานอมกันโดยทางวาจา ปฤกษาหาฤๅจัดการห้ามเหตุทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นสงครามแก่กันนั้นเสีย ภายหลังก็คงจะมีทางยุติธรรมทั้งปวงเจริญขึ้น
ในความประสงค์นี้แอมเปรอนิกโกลาสขอเชิญนานาประเทศตั้งผู้แทนมาประชุมปฤกษาข้อความประสงค์ทั้งปวง เพื่อจะได้เป็นความศุขสืบไป
625 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
มีข้อความโดยเลอียดแจ้งอยู่ในหนังสือพิมพ์ตัดนั้นแล้ว
เคานต์มูราวีเยฟได้มีหนังสือลงวันที่ 24 สิงหาคม แจ้งความไปยังราชทูตานุทูต แลราชทูตนา ๆ ประเทศที่เมืองเซนปีเตอสะเบิกแล้ว
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2441 มีหนังสือพิมพ์กล่าวข้อความยกย่อง ...ความประสงค์นี้ เปนที่ชื่นชมยินดีของราษฎร ณ ประเทศรัสเซีย เป็นอันมาก...
วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2441 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีต่างประเทศ มีหนังสือกราบบังคมทูล ที่ 40/7407 ถวายรายงานและคำแปลหนังสือประกาศแจ้งความของเคานต์มูราเวียฟ ต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย กับร่างที่จะตอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อย่างละ 1 ฉบับ รวม 4 ฉบับ
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขาตอบ ความบางตอนว่า
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 10 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 117
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ด้วยเธอจดหมายที่ 40/7407 ลงวันที่ 8 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 117 ส่งสำเนาประกาสแจ้งความของเคานต์มูราเวียฟ เรื่องกรุงรัสเซีย นัดประชุมนานาประเทศเพื่อจะปฤกษาไม่ให้มีศึกสงคราม และลดกำลังสาตราวุธนั้น ได้ตรวจดูแล้วเหนว่า พระราชดำริห์ของเอมเปอเรอรัสเซียในเรื่องนี้ เปนพระราชดำริห์อย่างประเสริฐ แลเมื่อเหนในประกาศนั้นก็ดี ไม่มีใครจะกล่าวให้ดีเหมือนเอมเปอเรอได้ การที่จะปฤกษานั้นถึงจะไม่เปนการสำเร็จไปได้ในครั้งนี้ ความคิดอันนี้คงจะเปนทางสำเร็จในภายน่า...(เอกสารเลือน)...ให้เธอตอบเหนชอบและรับที่จะไปประชุมปฤกษา...
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2441 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือตอบรับไปยัง มองซิเออร์โอลารอฟสะกี อุปทูตรัสเซีย ความว่า
...ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะกระทำตามความปราถนา ซึ่งท่านได้แสดงแก่ข้าพเจ้าว่า จะมีคำตอบหนังสือเคานต์มูราเวียฟ ลงวันที่ 12 อย่างเก่า แลวันที่ 24 อย่างใหม่ในเดือนสิงหาคมที่ล่วงมาแล้ว ว่าด้วย การบำรุงรักษาความสงบราบคาบทั่วไปในโลกย์ กับการที่จะลดหย่อนกำลังสาตราวุธที่มีกันมากเหลือเกินให้น้อยลงได้อย่างหนึ่ง ซึ่งท่านได้ยื่นไว้ต่อข้าพเจ้าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนั้น
พระราชดำริห์อันประกอบด้วยความกรุณาต่อมวลมนุษแลความอารี
626 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กว้างขวางของสมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอนั้นจะเปนอย่างอื่นอย่างไรไปไม่ได้ นอกจากเปนที่เหนชอบโดยเหนดีอย่างยิ่งทั่วหน้ากันหมด มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้าเปนต้น บรรดาซึ่งเปนผู้มีน้ำใจเหนแก่ความศุขแลความเจริญของมนุษชนนั้น แลแต่เพียงสิ่งเดียวเท่านี้ ก็จะส่องรัศมีพระนามของสมเด็จพระเจ้านิคอลาศที่ 2 เอมเปรอแห่งกรุงรัสเซียอยู่เปนนิรันดรสืบไป
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ก็จะมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยในการประชุมที่สมเด็จพระเจ้าเอมเปอเรอทรงนัดชุมนุมอันเปนสิ่งที่สูงสุดถึงเพียงนี้ แล รัฐบาลสยามมีความประสงค์อย่างแรงที่สุด เพื่อให้การที่จะคิดปฤกษากันอันประเสริฐยิ่งนี้สำเรจตลอดไปด้วย
แม้ว่าประเทศน้อยอย่างเช่น กรุงสยามนี้จะมิได้มีเหตุต้องทนยากด้วยใช้ทุนมากเฉพาะประเทศเองในการที่จะสะสมทหารเครื่องสาตราวุธ แต่กระนั้นก็ยังจะเหนจริงอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากความเหนซึ่งท่านเคานต์มูราเวียฟได้กล่าวไว้ว่า ถ้าการที่เปนอยู่เช่นในประจุบันนี้ จะคงเปนอยู่อีกต่อไป ก็เปนการที่จะชักนำไปโดยหลีกหนีอย่างใดไปไม่ได้ ให้ถึงความมหา-ภัยพินาศ* ซึ่งเปนที่พึงปราถนาจะป้องกันไม่ให้เปนขึ้น ผลของมหาภัยพินาศอันนั้น ก็จะแผ่ไพศาลไปทั่วประเทศใหญ่น้อยทั้งสิ้น อีกประการหนึ่ง ประเทศใดเล่าที่จะมามีความชื่นชมยินดียิ่งกว่าประเทศน้อยอันมีกำลังน้อย ในความหมายที่สุดของหนังสือประกาศแจ้งความนั้นว่าเปนการที่จะประดิษฐานไว้ให้เปนที่นับถืออย่างศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้อความสำคัญแห่งธรรมแลยุกติ อันเปนที่อาไศรย์ของความถาวรมั่นคงแห่งบ้านเมืองและความเจริญศุขของประชาชนทั้งปวง
ข้าพเจ้าถือเอาโอกาศนี้ ที่จะแสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่านด้วย
(เซนพระนาม) เทวะวงษวโรประการ
หมายเหตุ
*ความมหาภัยพินาศ
ในที่นี้หมายถึงสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งการนัดประชุมสันติภาพ ณ กรุงเฮก
ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทำให้เกิดกลไกระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญากรุงเฮก
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) สามารถชะลอการเกิดสงครามขนาดใหญ่ได้จนกระทั่งถึงวันที่
28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914
จึงเกิดมหาสงครามใหญ่ตามที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงคาดการณ์ไว้ คือ
สงครามโลกครั้งที่ 1 มีกำลังทหารสู้รบกันกว่า 70 ล้านนาย
เมื่อสิ้นสุดสงครามจึงมีการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยการประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีส
(Paris Peace Conference) จัดทำสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of
Versailles) ตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)
627 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2442
2442 - 1 จัดให้มีแพทย์ผ่าตัดที่จบจากโรงเรียนราชแพทย์ไปรับราชการตามหัวเมือง
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายจัดให้มีแพทย์ผ่าตัดที่จบจากโรงเรียนราชแพทยาลัยไปรับราชการตามหัวเมือง หัวเมืองละ 1 คน ดังรายงานราชการกระทรวงมหาดไทย แพนกกรมพยาบาล ของพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิรยศิริ) รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 ความว่า
...ราวพระพุทธศักราช 2442 กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ตามหัวเมืองมีแพทย์ไทยที่ใช้ยาไทย หาได้ตามหัวเมืองอยู่บ้างแล้ว แต่จะหาแพทย์ตามหัวเมืองที่รู้การแพทย์ทางรักษาบาดแผลหามิได้ จึงได้ อุดหนุนขอแพทย์ชำนาญการบาดแผลจากโรงเรียนราชแพทย์ให้รับราชการตามหัวเมือง ๆ ละคน แลมีกำหนดว่าถ้าเปนแพทย์ที่สอบไล่ได้ประกาศนิยบัตร์จากโรงเรียนราชแพทย์แล้ว กระทรวงมหาดไทยจึงจะให้รับตำแหน่งรับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ 80 บาท แต่แพทย์เมืองใดมิใช่แพทย์ประกาศนิยบัตร์ชำนาญในการบาดแผลด้วยแล้ว คงจะได้รับตำแหน่งพระราชทานเงินเดือนละ 30 บาทถึง 60 บาท เป็นอย่างสูง
...การที่ส่งแพทย์ประกาศนิยบัตร์เหล่านี้ไปรับราชการหัวเมือง กระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องแพทย์เหล่านี้มากนัก เปนแต่ว่า ถ้าเมืองใดต้องการแพทย์ประกาศนิยบัตร์มีบอกขอเข้ามากระทรวงมหาดไทย ๆ ก็มีหนังสือขอไปยังกระทรวงธรรมการ ๆ ส่งแพทย์มาให้กระทรวงมหาดไทย ๆ ก็ส่งไปให้หัวเมือง...
2...การเกิดโรคภัยตามหัวเมือง เมื่อมีโรคสิ่งใดเกิดขึ้น หัวเมืองมีบอกเข้ามากระทรวงมหาดไทยก็รวมไว้อยู่ในหน้าที่กรมพลำภัง คือหน้าที่ปกครองท้องที่ การที่ทำนั้น เพียงแต่จดบัญชีไว้ให้ทราบเรื่อง และสั่งไปว่าให้จัดการรักษาพยาบาลกันไปเท่าที่จะทำกันได้...
แต่การปฏิบัติราชการจริงนั้น
ผู้ว่าราชการเมืองต้องมีหนังสือขอแพทย์มาก่อน
จึงจะส่งแพทย์ประกาศนียบัตรซึ่งเป็นแพทย์แผนปัจจุบันไปให้
แพทย์ประจำเมืองอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการเมืองและกรมพลำภัง (กรมการปกครอง)
ตามลำดับ ส่วนกลางไม่ได้มีการสนับสนุนมาก เพียงบันทึกบัญชีรายงานไว้
และหากเกิดปัญหาขึ้น ให้แต่ละเมืองแก้ปัญหากันเอง
628 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2442 - 2 ตำแหน่งแพทย์ในกรมทหารบก ร.ศ. 118
ประกาศตำแหน่งข้าราชการกรมทหารบก รัตนโกสินทรศก 118 มีรายนามข้าราชการแพทย์ทหารที่สังกัดอยู่ในกรมกองต่าง ๆ ดังนี้
กรมเสนาธิการ นายแพทย์โท นายฮวด (วีระไวทยะ)
กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นายแพทย์เอก นายร้อยตรี
ขุนวรสุนทโรสถ
นายแพทย์ตรี นายซับ
กองทหารม้า นายแพทย์ตรี นายเยี่ยม
กองทหารปืนใหญ่ นายแพทย์ตรี นายร้อยตรีขุนไนยนานุกูล
กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ นายแพทย์เอก ขุนภูเบนทรนุรักษ
กรมทหารราบที่ 2 (ล้อมวัง) นายแพทย์เอก นายร้อยโท
หม่อมเจ้าเปล่ง
กรมทหารราบที่ 3 (ฝีพาย) นายแพทย์เอก นายร้อยตรี ซุง
กรมทหารราบที่ 4 (ทหารน่า) นายแพทย์เอก นายแพ
นายแพทย์ตรี นายขาว
กรมทหารราบที่ 5 (มณฑลนครราชสีห์มา) นายแพทย์เอก นายชื่น
นายแพทย์โท นายชิต
กรมทหารราบที่ 6 (มณฑลตวันออกเฉียงเหนือ) นายแพทย์เอก นายอิ่ม
กรมทหารราบที่ 7 (มณฑลฝ่ายเหนือ) นายแพทย์เอก นายถึก
กรมทหารราบที่ 8 (มณฑลตวันตกเฉียงเหนือ) นายแพทย์ตรี นายนุ่ม
2442 - 3 สัญญาทำน้ำประปา The Water Supply
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 Mr. O. Fariola de Rozzoli City Engineer’s office, Local Sanitary Department, City of Bangkok จัดทำรายงานและข้อตกลงการทำน้ำประปาขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จำนวน 17 หน้า (ในขณะนั้นยังไม่ได้บัญญัติศัพท์คำว่า น้ำประปา ยังคงเรียกทับศัพท์ว่า The Water Supply)
2442 - 4 ร่างกฎข้อบังคับสำหรับสภาอุณาโลมแดงในกรุงสยาม
วันที่ 9 มิถุนายน ร.ศ. 118 เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์) จัดทำ ร่างกฎหมายจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง ชื่อ ร่างกฎข้อบังคับสำหรับสภาอุณาโลมแดงในกรุงสยาม (Draft rules of Red Cross Society in Siam) จำนวน 18 หมวด จำนวน 12 หน้า ทูลเกล้าฯ ถวาย แต่การระงับไป
ร่างกฎข้อบังคับสำหรับสภาอุณาโลมแดงในกรุงสยามมีทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทยและมีข้อความสำคัญดังนี้
629 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
Draft
rule of Red Cross Society in Siam
ร่างกฎข้อบังคับสำหรับสภาอุณาโลมแดงในกรุงสยาม
I. Object Name
and Head Quarters of Society
ว่าด้วยกิจชื่อแลที่สำนักนิ์กลางของสภา
The object of the society is to succor and nurse the victims of accidents or of an extraordinary calamity in time of peace and the wounded and sick in time war, as to alleviate their sufferings as much as possible.
It has assumed the name of “The Red Cross Society in Siam” and has its headquarters in Bangkok.
กิจของสภานั้น สำหรับที่จะให้ความช่วยอนุกูล แลความพยาบาล แก่บรรดาคนที่จะได้รับอันตรายจากพยันตรายอันป้องกันล่วงน่าไม่ได้ ฤๅป่วยไข้ในเวลาที่มีสงคราม เพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับความทุเลาจากความทรมาณโดยอย่างที่สุดที่จะเป็นได้
สภานั้นได้ตั้งนามเรียกว่า “สภาอุณาโลมแดงในกรุงสยาม” และได้ตั้งที่ทำการเปนสำนักนิ์กลางในกรุงเทพฯ
II. Their Royal
Majesties’ Patronage
ว่าด้วยความปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
The Society is placed under the exalted patronage of His Majesty the King and Her Majesty the Queen
สภานี้ตั้งอยู่ในใต้ความปกครองอันสูงสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัวแลสมเด็จพระบรมราชินีนารถ
III. Geneva
Convention
ว่าด้วยความเกี่ยวด้วยหนังสือสัญญาซึ่งทำที่เมืองเยนีวา
The society adheres to the decision of the international conference held in Geneva in October 1863, and to the principle of the Convention conclude between most of the governments of Europe in the same city in August 1864
สภานี้มีความยอมรับที่จะปฏิบัติตามข้อความที่ได้ตกลงในที่ประชุมของนา
ๆ ประเทศที่ได้ประชุมกัน ณ เมืองเยนีวาเมื่อเดือนตุลาคมกฤศต์ศักราช 1863
แลตามความเพ่งเลงของหนังสือสัญญาที่รัฐบาลนา ๆ
ประเทศในยุโรปเป็นอันมากได้ทำกันที่เมืองเยนีวาเมื่อสิงหาคมกฤศต์ศักราช 1864 นั้นด้วย…
630 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
2442 - 5 ตั้งกองแพทย์พยาบาลทหารบกในกรมยุทธนาธิการ
วันที่ 21 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระ-ประวัติวรเดช ปลัดทัพบก มีหนังสือ ที่ 18/3489 กราบทูลนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ความว่า
...ด้วยการแพทยพยาบาลกรมทหารบกตามที่เปนมาแล้ว ต่างจัดการพยาบาลแยกย้ายกันอยู่ตามกรมแลกอง ยังไม่มีแพทยกรมกลางสำหรับที่จะได้ตรวจตราแนะนำการให้เปนแบบแผนอันเดียวกัน อีกประการหนึ่ง แพทย์ที่รับราชการอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ใคร่จะมีผู้ชำนาญในการบาดแผล เช่น การตัดผ่า เปนต้น ซึ่งนับว่าเปนการสำคัญในราชการทหารด้วยอย่างหนึ่ง
เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า สมควรจัดให้มีกองแพทยพยาบาลขึ้นไว้ในกรมยุทธนาธิการ แลจัดที่ในศาลายุทธนาธิการเปนโรงพยาบาลกลางขึ้นไว้ด้วยสักแห่งหนึ่ง ให้มีอัตรานายแพทย์ใหญ่ 1 นายแพทยเอก 1 โท 1 ตรี 1 ผู้พยาบาลตามสมควร มีน่าที่ดำริห์ ตรวจตรา แนะนำ
631 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
การรักษาพยาบาลในกรมทหารบกทั่วไป แลรักษาพยาบาลทหารที่เหลือกำลังแพทยกรมแลกอง บอกส่งมารักษาพยาบาล แลพนักงานทั่วไปด้วย ตามเห็นสมควร กับตรวจทหารป่วยพิการ
ผู้ที่จะให้ได้รับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่นั้น เกล้าได้พูดกับหมอไรเตอร์ รับเข้าทำการมีเงินเดือน 200 บาท ถ้าทรงเห็นสมควรแล้ว ควรเริ่มจัดการตั้งแต่ศกนี้ไป เพราะเงินที่จะจ่ายในการนี้ก็มีพออยู่แล้ว...
วันที่ 22 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรม-พระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามหนังสือศาลายุทธนาธิการ ที่ 21/3506 ความว่า
...ด้วยการแพทย์พยาบาลทหารบกตามที่ได้จัดการมาแล้วในศกนี้ ยังบกพร่องอยู่มาก นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ปลัดทัพบก มีความเห็นที่จะเพิ่มกองแพทย์ขึ้นกอง 1 ข้อความเลอียดแจ้งอยู่ในความเห็นที่ได้รับพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายมาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า สมควรจัดให้มีขึ้นตามควรเหนนี้ ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว จะได้รับพระราชทานจัดการตั้งแต่ศกนี้ไป
วันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 13/1000 ถึงสมเด็จฯ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ความว่า
ถึง ท่านเล็ก เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
ได้รับหนังสือเธอ ที่ 21/3506 ส่งความเหนลูกชายจิระประวัติวรเดช เรื่องจะเพิ่มกองแพทย์ขึ้นอีกกองหนึ่งในกรมยุทธนาธิการกลาง สำหรับตรวจแนะนำการรักษาพยาบาลทหารบกทั่วไป ตัวนายแพทย์นี้จะให้หมอไรเตอร์เข้าทำการให้เงินเดือน ๆ ละ 500 บาท เธอเหนชอบด้วย ถ้าอนุญาตแล้วจะได้จัดการตั้งแต่ศกนี้ต่อไปนั้น ได้ทราบแล้ว
เงินเดือนหมอไรเตอร์จะรับเปน
2 น่า อยู่เช่นนี้ ผิดแบบที่กระทรวงพระคลังตั้งไว้
จะเปนการลำบากในเรื่องงบประมาณภายน่าประการใด ควรให้เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม
กระทรวงวัง ปฤกษาเสนาบดีกระทรวงพระคลังเสีย ให้ตกลงกันก่อน...
632 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2443
2443 - 1 กงสุลโปรตุเกสสอบถามเรื่อง “ธงอุณาโลมแดง”
วันที่ 16 เมษายน ร.ศ. 119 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มีหนังสือ ที่ 2/550 ทูลมายังกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม ความว่า...ด้วยหม่อมฉันได้รับหนังสือซินยอลุยคอเรียดาซิลวา กงสุลเยเนราลโปรตุเกส ลงวันที่ 26 มีนาคม ร.ศ. 118 ขอทราบว่า ในพระราชอาณาจักร์สยามได้ใช้ธงอย่างใดชักเคียงกับธงอุณาโลมแดงบนรถสำหรับทหารคนเจ็บ จะขอตัวอย่างนั้นแจ้งไปยังรัฐบาลโปรตุเกส...
วันที่ 17 เมษายน ร.ศ. 119 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหนังสือ ที่ 5/250 ทูลตอบกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ความว่า...ได้คิดกะรูปธงถวายมาในคราวนี้ด้วยแล้ว ขอได้โปรดเทียบเคียงกับพระบาฬีจะมีประการใดบ้าง แต่ของเรายังไม่เคยมี พึ่งจะได้รู้เดี๋ยวนี้...
วันที่ 10 พฤษภาคม ร.ศ. 119 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหนังสือ ที่ 14/716 เสนอร่างพระราชบัญญัติธงที่สำหรับชักคู่กับธงอุณาโลมแดง ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติ 1 แผ่น มี 3 มาตรา ว่าด้วย “ธงกากบาทแดงบนพื้นสีขาบ” มีรูปช้างเผือกยืนบนแท่นหันหน้าเข้าทางคันธงบนพื้นสีแดงที่มุมบนธงด้านซ้าย
วันที่ 18 พฤษภาคม ร.ศ. 119 พระศรีณรงค์วิไชยรักษาราชการแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหม มีหนังสือกราบบังคมทูล ที่ 43/876 ความว่า
....ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ควรจะมี จึงได้กะรูปแลอัตราเครื่องหมายสำหรับธงนี้ส่งไปถวายให้เทียบเคียงกับธรรมเนียมในนา ๆ ประเทศจะมีประการใดบ้าง เพราะยังไม่เคยมี...พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ทรงตอบมาว่า ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เปนพระราชบัญญัติเสียก่อน แล้วจะส่งอัตราแลแบบธงไปยังกงสุลเยเนราลโปรตุเกศ...
วันที่ 24 พฤษภาคม ร.ศ. 119 มีพระราชกระแสรับสั่ง ที่ 13/267 จากเรือพระที่นั่งมหาจักรี ความว่า...พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดชจะทรงเข้าพระไทยบ้างกระมัง ให้ฝ่าพระบาทลองถามดู ได้ความประการใดให้นำไปเสนอในที่ประชุมเสนาบดี
วันที่
13 มิถุนายน ร.ศ. 119 พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ทรงชี้แจงว่า
633 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...ในประเทศอื่นก็ไม่ปรากฏว่ามีธงเช่นนี้อีกแพนกหนึ่ง ถ้าจะใช้แต่ธงราชการอย่างชนิดที่เปนธงธรรมดา เช่น ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นก็ได้ คงไม่เปนที่เสียหายอันใด ถ้าโปรดเกล้าฯ แล้วจะได้ตอบไปยังกระทรวงต่างประเทศ...พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ตกลงเปนงด”
จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ต้นราชสกุล “จิรประวัติ” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อกลับมาประเทศไทยทรงเข้ารับราชการเป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ (กองทัพบก) และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ถวายงานสนองพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการฟื้นคืนสภาอุณาโลมแดง พ.ศ. 2449 เริ่มประชวร ครั้งพระองค์ดำเนินการจนกระทั่งเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2454 แล้ว จึงได้เสด็จประพาสยุโรปนานถึง 1 ปี 9 เดือน เพื่อรักษาพระอาการ แต่พระอาการทรุดลง ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ทรงงานอีกได้ไม่นาน จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ราว 1 ปี
กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชทรงงานอย่างหนักในการวางรากฐานการทหารบก จัดตั้งมณฑลทหารบกเพื่อขยายการทหารบกครอบคลุมประเทศและทรงทำให้การทหารบกทั่วประเทศเข้มแข็งอย่างไม่เคยมีมาก่อน (เดิมทหารหลวงมีเฉพาะในเมืองหลวง ตามหัวเมืองเป็นทหารหัวเมือง คือคนในพื้นที่ในบังคับของเจ้าเมือง) และทรงปรับปรุงการจัดการทหารบกจนทันสมัยตามแบบประเทศตะวันตกจนสมบูรณ์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย” ด้วย
2443 - 2 สร้างอาคารเรียนโรงเรียนราชแพทยาลัย
วันที่ 1 กันยายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) เจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีหนังสือกราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เรื่องโรงเรียนแพทยากร และทูลว่าสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกโรงเรียนขึ้นใหม่ แทนที่โรงยาฝิ่นติดกับโรงพยาบาล ให้โรงเรียนแพทยากรที่สอนอยู่นั้นใหม่ ให้เป็นโรงเรียนแพทยาลัย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ “มีกำหนดเปิดในพระราชพิธีฉัตรมงคล เมื่อได้ตั้งโรงเรียนแพทยาลัยลงเป็นหลักฐาน เห็นการที่จะตั้งมั่นเจริญได้แล้ว จะได้ดำริการแพทย์ต่อไปที่จะให้มีการสอบไล่และรวมการให้ลงระเบียบ” กำหนดเวลาเรียนแก้ใหม่เป็น 5 ปี
2443 - 3 การปกครองแบบเค้าสนามหลวง
ทรงจัดราชการมณฑลพายัพเป็นกรณีพิเศษ
ด้วยการตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ร.ศ.
119 คือให้มีเจ้าผู้ครองนคร ข้าหลวงประจำนคร ข้าหลวงผู้ช่วย
634 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ร่วมกันปกครอง (เจ้านายฝ่ายเหนือ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) เรียกการปกครองนี้ว่า “เค้าสนามหลวง” คือการปกครองระบบเจ้านายที่ลดรูปไปจากวังหลวง
2443 - 4 ศักดินาแพทย์ทหารเรือ
วันที่ 27 ตุลาคม ร.ศ. 119 - ประกาศพระราชบัญญัติศักดินาทหารเรือ ร.ศ. 119 ปรากฏศักดินาแพทย์ ดังนี้
กรมพยาบาล
นายแพทย์ใหญ่ ศักดินา 1500
นายแพทย์ ศักดินา 800
ปลัดแพทย์ ศักดินา 600
แพทย์ ศักดินา 200
2443 - 5 สยามเข้าร่วมอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899 (สัญญาสงบศึกที่กรุงเฮก)
วันที่ 28 พฤศจิกายน ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีต่างประเทศ มีหนังสือกราบทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า
...ด้วยหม่อมฉันได้รับหนังสือพระรัตนโกษาที่ 180, 1031 ลงวันที่ 29 กันยายน ตอบรับ เรื่องสงบศึก นั้น ความแจ้งอยู่แล้ว หม่อมฉันได้รับใบบอกพระยาสุริยานุวัตร ลงวันที่ 22 กันยายน ร.ศ. 119 ว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน ซึ่งเป็นวันกำหนดนัดประชุมผู้แทนรัฐบาลนานาประเทศที่กรุงเฮก เพื่อจะได้นำ หนังสือแรติไฟ ของหนังสือสัญญาต่าง ๆ ซึ่งได้ทำการตกลงกันในที่ ประชุมการสงบราบคาบ ไปมอบให้มองซิเออร์เดอโบฟอร ตามวิธีดังกล่าวในหนังสือสัญญานั้น พระยาสุริยานุวัตรได้ไปพร้อมด้วยราชทูตเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี เบลเยียม เดนมารค สเปน ยุในเตดสเตดอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ฮอลันดา เปอเซีย โปรตุเกส รูเมเนีย รัสเซีย สวีเดนนอรเว บาลเกเรีย รวมผู้แทนรัฐบาล 17 เมือง พร้อมกันแล้วต่างคนได้เซนหนังสือมอบหนังสือแรติไฟที่เอาไปนั้น ส่งให้มองซิเออร์เดอโบฟอร เสนาบดีว่าการต่างประเทศกรุงฮอลันดา มองซิเออร์เดอโบฟอรต้องทำใบรับ (Depositary) ให้เหมือนกัน...
หมายเหตุ
เรื่องสงบศึก
หมายถึง อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899 ในเอกสารจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศ
รัชกาลที่ 5 เรียกอนุสัญญากรุงเฮกว่า “สัญญาสงบศึกที่กรุงเฮก”
ประกอบด้วยอนุสัญญา (convention) 3
ฉบับและปฏิญญา (declaration) 3 ฉบับ ดังนี้
635 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
อนุสัญญา (convention) 3 ฉบับ คือ
I. Convention for the Pacific Settlement of International Disputes
II. Convention with respect to the Laws and Customs of War on Land
III. Convention for the Adaptation to Maritime Warfare of the Principles of the Geneva Convention of 22 August 1864
ปฏิญญา (declaration) 3 ฉบับ คือ
I. Declaration concerning the Prohibition of the Discharge of Projectiles and Explosives from Balloons or by Other New Analogous Methods
II. Declaration concerning the Prohibition of the Use of Projectiles with the Sole Object to Spread Asphyxiating Poisonous Gases
III. Declaration concerning the Prohibition of the Use of Bullets which can Easily Expand or Change their Form inside the Human Body such as Bullets with a Hard Covering which does not Completely Cover the Core, or containing Indentations
หนังสือแรติไฟ หมายถึง หนังสือให้สัตยาบัน เป็นการยืนยันเข้าร่วมสนธิสัญญา (Ratify แปลว่า สัตยาบัน)
ที่ประชุมการสงบราบคาบ หมายถึง Hague Peace Conference 1899 เป็นชื่อเรียกการประชุมเพื่อจัดทำอนุสัญญากรุงเฮกชุดนี้ (มีอนุสัญญา 4 ฉบับ)
รวมผู้แทนรัฐบาล 17 เมือง พร้อมกันแล้วต่างคนได้เซนหนังสือมอบหนังสือแรติไฟ เป็นการมอบหนังสือลงนามให้สัตยาบันร่วมกันในสนธิสัญญาฉบับเดียวก่อนเพื่อรวมกันเป็น Ratiying Country เพื่อให้สัตยาบันต่อประเทศผู้รับสนธิสัญญา (Depositary) คือ ประเทศฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) เป็นการทำสนธิสัญญาแบบพหุภาคี (Multilateral Lateral Treaty) ที่เป็นทางการครั้งแรกของโลก
อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899 ฉบับที่ 3 คือ Convention for the Adaptation to Maritime Warfare of the Principles of the Geneva Convention of 22 August 1864 เป็นอนุสัญญาที่มีอำนาจขยายขอบเขตของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 ให้ครอบคลุมสงครามทางทะเล และก่อนที่จะเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1914 หรือ 50 ปีหลังจากการก่อตั้ง มี 45 ประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวาและได้จัดตั้งสภากาชาดของแต่ละประเทศแล้ว สภากาชาดของแต่ละประเทศภาคีได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเชลยศึกจำนวนหลายล้านคน อนุสัญญาเจนีวาได้ขยายออกไปนอกยุโรปและอเมริกาเหนือไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ (อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี คิวบา เม็กซิโก เปรู เอลซัลวาดอร์ อุรุกวัย เวเนซุเอลา) เอเชีย (สาธารณรัฐจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สยาม) และแอฟริกา (สหภาพแอฟริกาใต้)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการใช้อาวุธเคมีทำลายล้างมนุษย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจึงประท้วงอย่างรุนแรง และเนื่องจากอนุสัญญาเจนีวาไม่ครอบคลุมอาวุธเคมี จึงใช้อำนาจของอนุสัญญากรุงเฮก - Hague Convention’s “Laws and Customs of War on Land” of 1907 เข้าช่วยพลเรือนผู้ประสบภัยสงครามในดินแดนที่ถูกยึดครอง (The ICRC tried to ameliorate the suffering of civil populations) โดยอาศัยอำนาจอนุสัญญากรุงเฮกที่คุ้มครองปฏิบัติการของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือเชลยสงคราม legal basis for the ICRC’s work for Prisoners of War (POW) ปัจจุบันอนุสัญญาเจนีวาได้รวมกับอนุสัญญากรุงเฮกและอนุสัญญาอื่น ๆ กลายเป็นชุดกฎหมายขนาดใหญ่ เรียกว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Laws - IHL)
การทำสนธิสัญญาแบบพหุภาคีของอนุสัญญากรุงเฮก
ค.ศ. 1899 พัฒนามาจากอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 ซึ่งอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.
1864 เป็นสนธิสัญญาแบบทวิภาคี (Bilateral Lateral Treaty)
636 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
มีประเทศสวิสเป็นผู้รับสนธิสัญญา (Depositary) เป็นสนธิสัญญาแบบเก่าระหว่าง 2 ประเทศ คือ ผู้รับสัตยาบันคือประเทศสวิส กับประเทศผู้ให้สัตยาบัน คือประเทศต่าง ๆ เมื่อมีประเทศผู้ให้สัตยาบันจำนวนมากก็เกิดความไม่สะดวก เพราะต้องให้สัตยาบันทีละประเทศแยกจากกัน จึงได้พัฒนาเป็นแบบทุกประเทศให้สัตยาบันพร้อมกันในครั้งเดียว จึงเกิดเป็นสนธิสัญญาแบบพหุภาคี (Multilateral Lateral Treaty) ครั้งแรกของโลก อนุสัญญากรุงเฮกเป็นต้นกำเนิดกลไกสำคัญของโลก คือ ศาลโลกศาลที่ 1 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration - PCA)
History of Permanent Court of Arbitration - PCA
The PCA was the first permanent intergovernmental organization to provide a forum for the resolution of international disputes through arbitration and other peaceful means.
The PCA was established by the Convention for the Pacific Settlement of International Disputes, concluded at The Hague in 1899 during the first Hague Peace Conference. The Conference had been convened at the initiative of Czar Nicolas II of Russia “with the object of seeking the most objective means of ensuring to all peoples the benefits of a real and lasting peace, and above all, of limiting the progressive development of existing armaments.”
Among the aims of the Conference had been the strengthening of systems of international dispute resolution-especially international arbitration. The delegates at the Conference were mindful that, during the previous 100 years, there had been a number of successful international arbitrations, starting with the “Jay Treaty” Mixed Commissions at the end of the 18th century, and reaching a pinnacle with the Alabama arbitration in 1871-1872. In addition, the Institut de Droit International had adopted a code of procedure for arbitration in 1875.
วิวัฒนาการของความพยายามระงับสงครามของโลกในยุคนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ [International Red Cross Society (Geneva Convention 1863)] สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ [The Institute of International Law (a code of procedure for arbitration 1875)] และศาลอนุญาโตตุลาการถาวร [Permanent Court of Arbitration - PCA (Hague Convention 1899)]
วิวัฒนาการของความพยายามระงับสงครามของโลกในยุคต่อมา เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เกิดองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ค.ศ. 1919 และทำให้เกิดศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถาวร (The Permanent Court of International Justice - PCIJ) และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดองค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ค.ศ. 1945 และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (The International Court of Justice - ICJ)
กรุงเฮก - ศูนย์กลางของศาลโลก
กรุงเฮกเป็นศูนย์กลางของศาลโลก
เนื่องจากกรุงเฮกเป็นที่กำเนิดแนวคิดการควบคุมสงครามด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแห่งแรกในโลก
คือ แนวคิดการนำเสนอกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมสงครามทำให้เกิดสันติภาพ “De Jure Belli
ac Pacis (On the Law of War and Peace)” นำเสนอโดย Hugo
Grotius เป็นชาวยิวในเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ.
1625 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง
พ.ศ. 2168
637 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แรงบันดาลใจที่ทำให้ Hugo Grotius เขียนหนังสือกฎหมายว่าด้วยสงครามและสันติภาพเป็นเพราะต้องตกอยู่ในยุคสงครามระหว่างสเปนกับเนเธอร์แลนด์ยาวนานถึง 80 ปี และสงครามศาสนาระหว่างประเทศคาทอลิกกับประเทศโปรเตสแตนต์ในทวีปยุโรปยาวนานถึง 30 ปี
De Jure Belli ac Pacis (On the Law of War and Peace) โดย Hugo Grotius จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดกำเนิดของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงครามและสันติภาพของโลก
วันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ. 120 กรมหลวงเทววงษ์วโรประการ เสนาบดีต่างประเทศ มีหนังสือกราบทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ เรื่องคำแปลหนังสือสัญญาต่าง ๆ (หมายถึง อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899)
...มีรายชื่อแลบอกน่าในสมุดพิมพ์นี้ คือ
1. สัญญารวมความที่ได้ทำเปนที่สุดในการประชุมสงบศึก น่า 284
Final Act of Internatinal Peace Conference.
2. สัญญาระงับวิวาทระหว่างประเทศโดยเรียบร้อยแลโดยดี คือ สัญญาตั้งศาลคนกลาง น่า 301
Convention for the Pacific Settlement of International Disputes, or the Arbitration Convention
3. สัญญาว่าด้วยกฎหมายแลธรรมเนียมศึกสงครามบนบก น่า 315
Convention respecting the Laws & Custom for War on Land
ข้อบังคับว่าด้วยกฎหมายแลธรรมเนียมศึกสงคราบนบก น่า 327
Regulation respecting the Laws & Custom of War on Land
4. สัญญาที่จะใช้ในการศึกบนทะเลตามข้อความสำคัญในสัญญาซึ่งได้ทำที่เมืองเยนีวา วันที่ 22 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 83 น่า 349
Convention adopting to Maritime Warfare the principles of the Geneva Convention of August 22, 1864
5. คำปฏิญญาน ที่จะไม่ใช้เครื่องระเบิดทิ้งลงมาจากบาลูน น่า 337
Declaration against launching explosives from balloons
6. คำปฏิญญาน ที่จะไม่ใช้กระสุนซึ่งจะแตกได้ในปืนเลก น่า 340
Declaration against expanding bullets
7. คำปฏิญญาน ที่จะไม่ใช้ดินระเบิดที่ไม่มีควันเปนพิศม์
Declaration against diffusing asphyxisting gases
รวมสัญญาทั้งหมด
7 ฉบับด้วยกัน...
638 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันเปิดโรงเรียนราชแพทยาลัย
พ.ศ.
2444
2444 - 1 เปิดโรงเรียนราชแพทยาลัย
วันที่ 3 มกราคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2444) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนราชแพทยาลัย
2444-2
จัดพิมพ์รายชื่อมณฑลและเมืองที่แบ่งปกครอง
“พระราชอาณาจักรสยามแบ่งสำหรับการปกครอง รัตนโกสินทรศก 126”
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 119) พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) จัดพิมพ์การแบ่งมณฑลและเมืองทั่วประเทศลงในกระดาษแผ่นเดียวสำหรับแจกไปทั่วพระราช-อาณาจักร และมีหนังสือกราบบังคมทูลผ่านราชเลขานุการ ดังนี้
กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขา-นุการ ทรงทราบฝ่าพระบาท
ด้วยการแบ่งหัวเมืองออกสำหรับจัดการปกครอง คือ เมืองชั้นนอก แบ่งเปน มณฑล บริเวณ แขวง และหัวเมืองชั้นใน เปนมณฑล เมือง อำเภอนั้น แต่ก่อนมาหาใคร่ทราบทั่วกันไปโดยชัดเจนไม่ ข้าพระพุทธเจ้า
639 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตึกราชแพทยาลัยในสมัยต่อมา
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภอ002 หวญ 5-14
เรือนนักเรียนแพทย์ในราชแพทยาลัย
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภอ 002 หวญ 5-14NAT0008494
640 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระอาจวิทยาคม หมอแมคฟาร์แลนด์ (George B. McFarland)
อาจารย์แพทย์ผู้อุทิศตนทั้งชีวิตบุกเบิกวงการแพทย์ และการศึกษาของแพทย์ของสยาม
ที่มา : คุณประวิทย์ สังข์มี
ที่ฝังศพพระอาจวิทยาคมและภริยา ณ สุสานฝรั่ง ถนนเจริญกรุง
หมอแมคฟาร์แลนด์กำลังสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ณ โรงเรียนราชแพทยาลัย
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ002 หวญ 36/22
641 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ได้เรียบเรียงลงพิมพ์ให้เห็นได้ง่าย เฉภาะในกระดาษแผ่นเดียวสำหรับแขวนไว้ในห้องที่ทำราชการ เพื่อแจกให้เปนประโยชน์แก่ข้าราชการทั่วไป ข้าพระพุทธเจ้าได้นำถวายเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว มีรับสั่งว่า ดีมาก...
ตัวอย่างการแบ่งหัวเมืองออกสำหรับจัดการปกครอง มีดังนี้
แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นที่หนึ่ง 6 มณฑล ชั้นที่สอง 6 มณฑล ชั้นที่สาม 6 มณฑล
- มณฑลชั้นที่หนึ่ง ได้แก่ กรุงเทพ กรุงเก่า นครศรีธรรมราช พายัพ อุดร อีสาน
- มณฑลชั้นที่สอง ปาจินบุรี ราชบุรี พิศณุโลกย์ นครราชสีมา ภูเก็ต
- มณฑลชั้นที่สาม จันทบุรี นครไชยศรี ไทรบุรี ชุมพร ปัตตานี เพ็ชรบูรณ์
ก. การแบ่งหัวเมืองชั้นใน
- มณฑลนครไชยศรี แบ่งเป็น 3 เมือง คือ
1. เมืองนครไชยศรี แบ่ง 5 อำเภอ คือ...
2. เมืองสุพรรณบุรี แบ่ง 6 อำเภอ...
3. เมืองสมุทรสาคร แบ่ง 3 อำเภอ...
- มณฑลพิศณุโลกย์ แบ่ง 5 เมือง คือ
1. เมืองพิศณุโลกย์ แบ่ง 5 อำเภอ...
2. เมืองพิไชย แบ่ง 5 อำเภอ...
3. เมืองพิจิตร แบ่ง 3 อำเภอ...
4. เมืองสุโขทัย แบ่ง 3 อำเภอ...
5. เมืองสวรรคโลกย์ แบ่ง 2 อำเภอ...
ข. การแบ่งหัวเมืองชั้นนอก เช่น
- มณฑลอิสาณ แบ่ง 4 บริเวณ ได้แก่
1. บริเวณอุบล แบ่ง 4 แขวง...
2. บริเวณขุขัน แบ่ง 3 แขวง...
3. บริเวณร้อยเอ็ด
4. บริเวณสุรินทร์ แบ่ง 2 แขวง...
- มณฑลพายัพ แบ่ง 5 เมือง คือ
1. นครเชียงใหม่ แบ่ง 3 บริเวณ แต่ละบริเวณแบ่งเป็นแขวงย่อย ๆ เช่น บริเวณเชียงใหม่
แบ่ง 14 แขวง / บริเวณพายัพเหนือ แบ่ง 10 แขวง / บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก แบ่ง 1 แขวง
2. นครน่าน แบ่ง 1 แขวง 2 บริเวณ...
3. นครลำปาง แบ่ง 9 แขวง...
4. นครลำพูน แบ่ง 1 แขวง...
5. เมืองแพร่
แบ่ง 3 แขวง...
642 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตึกโรงพยาบาลทหารบกกลาง
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ002 หวญ 36-6
2444 - 3 กองบัญชาการเมือง
ทรงจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ 7 เมืองเป็นกรณีพิเศษ (เมืองปัตตานี) โดยจัดตั้ง “กองบัญชาการเมือง” ประกอบด้วย พระยาเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นข้าหลวงใหญ่ ตรวจราชการ 7 เมือง (ปัจจุบันคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ - ศอบต.)
2444 - 4 ตั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2444 มีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
2444 - 5 โรงพยาบาลกรมกลาง (ทหารบก) ที่ตั้งชั่วคราว ณ พระราชวังบวรฯ
ย้ายไปเป็นโรงพยาบาลทหารบกกลาง
ณ ปากคลองหลอด
วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
643 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2450 แสดงบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลทหารบก
ที่มา : หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในส่วนราชการของกรมยุทธนาธิการ ดังนี้
ศาลายุทธนาธิการ
วันที่ 7 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 120
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณา ในส่วนราชการกรมยุทธนาธิการ ที่ได้เริ่มดำริห์ขึ้นในระหว่างเมื่อจะเสด็จพระราช-ดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือ จนบัดนี้ การที่ได้จัดไปแล้วแลที่ยังไม่ได้เป็นไปโดยตลอด
1. ...จะจัดคนกระทรวงยุติธรรมมารับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาที่กรมยุทธนาธิการ...
2. เรื่องที่อยู่สำหรับนายสิบซึ่งมีครอบครัว...
3. ส่วนที่จะปลูกเป็นเรือนนายทหาร...
4. ในการที่กรรมการจะมาตรวจที่กรมยุทธนาธิการ...
5. ในการที่จะจัดตั้งกองรักษาการในพระนคร...
6. โรงทหารมหาดเล็ก...
644 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
7. สูบน้ำเครื่องไฟ ซึ่งสำหรับทหารใช้ในการดับเพลิง...
8. โรงพยาบาลกรมกลาง ซึ่งบัดนี้ ตั้งอยู่ที่พระราชวังบวรฯ ชั่วคราวหนึ่ง และอยู่ในที่ซึ่งจะสร้างเป็นโรงทหารราบที่ 3 “ฝีพาย” สถานที่อยู่มีไม่พอกับคนไข้ ยังจัดให้ลงระเบียบดีทีเดียวไม่ได้ เป็นที่ไม่สมควรกับจะจัดให้เป็นโรงพยาบาลในที่นั้นโดยเป็นหลักถานยืนยาว ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจที่ตำบลประทุมวัน ในที่ซึ่งกระทรวงนครบาลได้จัดปลูกสร้างอะไรไว้แต่ก่อนบ้างนั้น บัดนี้ไม่มีอะไรแล้วเป็นที่รกอยู่ทั้งสิ้น ถ้าจะจัดทำแต่จำเภาะที่เป็นเกาะกลางอยู่ ก็ไม่พอกับความต้องการในเรื่องที่ ๆ จะตั้งโรงพยาบาลนี้ ยังรับพระราชดำริห์อยู่ต่อไป
9. ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจเรื่อง โรงพยาบาลกรมพยาบาล โดยกระแสพระบรมราชดำริห์ที่จะยกสมทบขึ้นในกรมยุทธนา-ธิการด้วยนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ตรวจสอบดูเงียบ ๆ และได้ทาบทามฟังดูพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า โรง-พยาบาลที่มีอยู่แล้วก็ไม่กี่แห่ง มีโรงใหญ่อยู่แห่งเดียวแต่ที่โรงศิริราชพยาบาล จำนวนแพทย์รวมกันน้อยกว่าในกรมทหาร เงินตามงบประมาณที่ใช้อยู่เพียง 100,000 บาทเศษ ถ้าจะโย้มาสมทบกรมยุทธนาธิการ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะไม่เป็นการขัดข้องแต่การใด การที่จะจัดต่อไป แม้ที่สุดก็คงไม่เลวทรามลงกว่าที่เป็นอยู่ แลโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงเวลานี้ คนไข้ก็ไม่ได้มีอยู่รักษาตัว แลโรงพยาบาลนี้ก็ควรเปนของทหารอยู่แล้ว ในการที่ผู้หญิงจะมีมารักษาตัวในโรงพยาบาลเหล่านี้ ถึงโย้มาแล้วก็คงจะไม่เป็นเหตุขัดขวางอย่างใด ตามแบบที่ได้เป็นอยู่แล้วที่ประเทศชวา
หมายเหตุ
ตึกโรงพยาบาลทหารบกกลาง
มีจารึกว่า
“ปีมโรง รัตนโกสินทรศก 123” สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้สร้างเสร็จ
พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) เดิมเรียกว่า
โรงพยาบาลทหารบกกลาง ปากคลองหลอด สร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2448
ตามหลักฐานในหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช
กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ความตอนหนึ่งว่า “โรงพยาบาลนี้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ดีแท้
ยังกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็ดีนับว่าใช้ได้แล้ว และ
ในเดือนกันยายนคงจะสำเร็จบริบูรณ์...”
ปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนข่าวทหารบก เลขที่ 2 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
645 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2445
2445 - 1 โรงพยาบาลมิชชันนารีอเมริกันที่มณฑลพายัพ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 (ร.ศ. 120) พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีใบบอกมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่า
...ได้รับคำร้องกรรมการของพวกมิชชันนารีอะเมริกัน เมืองนครเชียงใหม่ ฉบับหนึ่งว่า ประมาณสัก 4 - 5 ปีมาแล้ว พวกมิชชันนารีได้ขอร้องต่อพระยาทรงสุริยเดชเมื่อยังเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพช่วยอุดหนุนขยายโรงพยาบาลของพวกมิชชันนารี พระยาทรงสุริยเดชได้ช่วยเป็นธุระประชุมราษฎรเรี่ยรายเงินในการที่จะขยายโรงพยาบาล ได้เงินฝากไว้ในพระคลังมณฑลพายัพ ยังหาได้ทำการอย่างใดให้เป็นประโยชน์แก่โรงพยาบาลมิชชันนารีไม่... ขออนุญาตจ่ายเงิน 1,557 รูเปีย 11 อัฐ ให้กับพวกมิชชันนารี เพื่อจะไม่เป็นการยุ่งยากแก่การบาญชีแลจะได้เป็นการเรียบร้อยต่อไป...
2445 - 2 โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงเลิกกิจการ และจำหน่ายเตียงคนไข้
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ราชกิจจานุเบกษา รายงานกระทรวงธรรมการ แผนกพยาบาลว่า จำนวนคนไข้ที่มารักษาตัวและผู้ที่มาขอยาปลูกฝีตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงไม่มีคนไข้ทุกประเภท และงดรายงานหลังจากนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นอีก 1 ปี จึงมีการตรวจสอบการขอยืมเตียงคนไข้ของโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือแจ้งหลวงวิเชียรโอสถ ความว่า “ด้วยท่านผู้หญิงเปลี่ยนแจ้งว่าเตียงคนไข้ของสภาซึ่งโรงพยาบาลต่างยืมไปใช้นั้น โรงใดได้ยืมใช้เป็นเตียงชนิดใดเท่าใด ให้หลวงวิเชียรทำบาญชีไปยื่นยังห้องพยาบาลในวันที่ 16 เดือนนี้ให้จงได้ ส่วนที่โรงศิริราชพยาบาลให้สอบสวนบาญชีกับหมอยอร์ชฯ ให้เป็นการถูกต้องเสียก่อน”
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือแจ้งหมอยอร์ช แมคฟาร์แลนด์ ผู้จัดการศิริราชพยาบาล ความว่า “ด้วยท่านผู้หญิงเปลี่ยนแจ้งว่า เตียงคนไข้ของสภา ซึ่งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ยืมไปใช้นั้น ส่วนของสภาก็ไม่มีธุระอันใดสำหรับคนไข้จนถึงจะต้องใช้เตียงนั้นแล้ว บัดนี้อยากจะขายให้แก่กรมพยาบาลโดยราคาอย่างถูกที่สุด เพราะฉะนั้น อยากทราบว่าเตียงคนไข้ของสภาอุณาโลมแดงที่ศิริราชพยาบาลยืมมาใช้นั้นเป็นจำนวนเตียงชนิดใดเท่าใด ให้สอบสวนบาญชีให้ถูกต้อง แล้วทำบาญชีไปยื่นในวันที่ 16 เดือนนี้ แลเรื่องเตียงก็ได้แจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้าครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อเห็นสมควรจะได้จัดซื้อไว้”
วันที่
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 หมอยอร์ช
แมคฟาร์แลนด์ ผู้จัดการศิริราชพยาบาล มีหนังสือแจ้งหลวงไตรกิศยานุการ
ปลัดกรมพยาบาล ความว่า “ได้สำรวจเตียงที่มีอยู่
646 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
คือ เตียงเสาต่อ 69 เตียง เตียงลูกกรง 66 เตียง ที่เป็นของสภานั้น ได้ตรวจสอบกับหลวงวิเชียรโอสถแล้ว รวม 135 เตียง”
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 หลวงพิศณุประสาทเวช แพทย์ใหญ่บุรพาพยาบาล ทำรายงานมายื่นต่อหลวงไตรกิศยานุการ ปลัดกรมพยาบาล ความว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจดูเตียงที่ยืมมาจากอุณาโลมแดงแต่ปี 120 เปนเตียง 30 เตียง ขอยืมมาในปี 121 นี้ เปนเตียง 10 เตียง รวม 2 คราวเป็น 40 เตียง เป็นเตียงชนิด 4 เสามีมุ้งคลุม”
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 นายบุญมามีหนังสือคำนับมายังหลวงไตรกิศยานุการ ปลัดกรมพยาบาล ความว่า “ตามที่คุณหลวงฯ ได้ให้ท่านขุนสรรพกิจพยาบาลมาชี้แจงเรื่องเตียงของศิริราชพยาบาลกับอุณาโลมนั้นได้ทราบแล้ว มาบัดนี้กระผมได้สำรวจเตียงตามที่ท่านขุนฯ ได้ชี้แจงไว้กับกระผม คือ เตียงลูกกรงของศิริราช 5 เตียง เตียงเสากลึงมี 8 เตียง ส่วนอุณาโลม เตียงลูกกรงมีอยู่ 74 เตียง เตียงเสาต่อมี 58 เตียง รวม 145 เตียงด้วยกัน”
วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2445 นายสุ่น แพทย์โรงพยาบาลสามเสน กราบทูลกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล ความว่า ต้องการเตียงของสภาอุณาโลมแดง 20 เตียงไว้ใช้ในโรงพยาบาลสามเสนสืบไป
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2448 หมอยอร์ช แมคฟาร์แลนด์ แจ้งว่า ท่านผู้หญิงเปลี่ยน จะคิดราคาเตียงละ 12 บาทถ้วน
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2448 หลวงวิเชียรโอสถให้ความเห็นชอบที่จะซื้อเตียงสภาอุณาโลมแดง เตียงละ 10 บาท
วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือแจ้งท่านผู้หญิงเปลี่ยน ว่า ราคา 12 บาทแรงไป ราคา 10 บาทเหมาะสม
วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 องค์สภานายิกาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขายตามราคาที่กรมพยาบาลเห็นว่าเหมาะสม
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ด้วยเมื่อ ศก 121 หม่อมเจ้าเจียกจัดยืมเตียงสภานายกโรงเรียนราชแพทยาลัย จัดยืมเตียงอุณาโลมแดง จากหลวงวิเชียรโอสถ 30 เตียงมาใช้ในโรงเรียนราชแพทยาลัยเพื่อให้นักเรียนแพทย์นอน จึงขอซื้อเตียงทั้งหมดในราคาเตียงละ 10 บาท
จำนวนเตียงของโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดงที่ยืมช่วงปี ร.ศ. 120 - 121 มีดังนี้ โรงศิริราชพยาบาลยืม 135 เตียง โรงเรียนราชแพทยาลัยยืม 30 เตียง โรงบุรพาพยาบาลยืม 40 เตียง โรงพยาบาลสามเสนยืม 20 เตียง รวมทั้งหมด 225 เตียง
2445 - 3 ตั้งโอสถศาลาหัวเมือง (โรงขายยา)
วันที่
20 มีนาคม พ.ศ. 2445
กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็น
เรื่องควรดำเนินการตั้งโอสถศาลาเพื่อจำหน่ายยาตามหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขา วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.
2445 ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการได้
647 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โรงเรียนมหาดเล็ก ข้างประตูวิเศษไชยศรี
ที่มา : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2445 - 4 ตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก โดยมีที่มาดังนี้
...ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการ ฝ่ายพลเรือนขึ้น ตั้งแต่ ร.ศ. 118 การโรงเรียนนั้นได้เจริญขึ้นโดยลำดับ...จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนใช้นามว่า “โรงเรียนมหาดเล็ก” สืบไป แลโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้า-น้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ 1 พระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ ผู้จัดการ 1 เจ้าหมื่นสรรพเพ็ชธภักดี 1 เปนกรรมการตรวจตราแลอำนวยการโรงเรียนนี้...
2445 - 5 ตั้งโอสถสภา (โรงผลิตยา)
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 ประกาศตั้งโอสถสภา มีความสำคัญบางตอนว่า
...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ได้ทรงสังเกตตามใบบอกจดหมายเหตุความไข้เจ็บ ซึ่งเกิดขึ้นตามหัวเมืองในบางคาบบางคราว มีจำนวนราษฎรตามบ้านป่าเมืองไกล เปนอันตรายเสียด้วยความไข้อันพึงเยียวยารักษาได้ เช่น ไข้จับ เป็นต้น คราวละมาก ๆ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ทุกวันนี้ยารักษาโรคที่เปนยาดีมีคุณก็มีมากหลายขนาน แต่หากว่ายาเหล่านั้นยังไม่แพร่หลายออกไปถึงราษฎรที่อยู่ตามบ้านป่าเมืองไกล ความเจ็บไข้ในท้องที่เหล่านั้น จึงเปนเหตุให้ถึงอันตรายได้มาก ทรงพระราชดำริห์ฉนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง โอสถสภา แลโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์
648 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
เจ้าประวิตร์วัฒโนดมเปนประธานจัดการประกอบโอสถ ซึ่งเปนของเคยเห็นคุณปรากฏในการระงับโรคต่าง ๆ ส่งออกไปจำหน่ายตามหัวเมืองโดยราคาอย่างถูก แต่พอคุ้มทุนที่ได้จำหน่ายไป โดยพระราชประสงค์จะให้ยาโอสถสภานี้แพร่หลายเปนประโยชน์ระงับความไข้เจ็บของอนาประชาราษฎรทั่วไปในพระราชอาณาจักร์...
หมายเหตุ
ต่อมาภายหลัง “โอสถสภาในส่วนกลาง” รวมกับ “โอสถศาลา” สถานที่จำหน่ายยา ตั้งเป็น องค์การเภสัชกรรม มีหน้าที่ผลิตยาจำหน่ายในราคาถูก และ “โอสถสภาตามหัวเมือง” กลายเป็นโรงพยาบาลในท้องที่นั้น เช่น โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เดิมคือโอสถสภา “เบ็ญจมราชานุสรณ์” โดยข้าราชการประชาชนพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์เป็นเงิน 7,360 บาท 80 สตางค์ สร้างขึ้นถวายเป็นพระราชกุศลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
ในระยะแรกโอสถสภาอยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ เมื่อตั้งกรมสุขาภิบาลแล้ว การรักษาโรคภัยไข้เจ็บในมณฑลกรุงเทพฯ ยกไปเป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล กรมพยาบาลดูแลหัวเมือง ส่วนนอกมณฑลกรุงเทพฯ ออกไปเป็นแพทย์จากกระทรวงมหาดไทยประจำอยู่ในท้องที่ บางมณฑลมีแพทย์ฝรั่ง บางมณฑลมีแพทย์เชลยศักดิ์ประจำตำบลทุกตำบล ต่อมาโอสถสภาจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. 2451 ยาที่จำหน่ายนั้น...มีการประชุมแพทย์จัดการวางตำราทำยาสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ที่แพทย์เห็นว่าเป็นยาอย่างดี แลใช้ได้ทั่วไป แพทย์ได้ประชุมกันแลจัดวางตำรายาไว้ 8 อย่างคือ ยาแก้ไข้ ยาถ่าย ยาแก้ท้องเสียและแก้อหิวาตกโรค ยาแก้โรคไส้เดือน ยาแก้โรคบิด ยาบำรุงโลหิต ยาแก้โรคมะเร็งคุทราดและเข่าข้อ...
การตั้งโอสถศาลายังมีความบกพร่องอยู่บ้าง จากรายงานกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เนื่องจากยังต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้จัดยาและผสมยา ยาที่จำหน่ายคือยาฝรั่ง ที่ราษฎรยังไม่ค่อยนิยมและไม่ค่อยมีเงินที่จะซื้อ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยพยายามแก้ไขโดยการจัดประชุมแพทย์ไทย หาตำรายาไทย เช่น ยาเขียว ยาหอม ยาแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แล้วให้แพทย์ไปทำจำหน่าย ซึ่งเป็นผลดี สามารถจำหน่ายได้มาก และยังใช้วิธีให้ส่งเครื่องยาไปไว้ตามวัดที่มีพระเป็นแพทย์ และให้แพทย์ประจำตำบลทำยาไว้ใช้ในหมู่บ้าน ให้ราษฎรไปขอยาได้ ซึ่งวิธีการจัดเช่นนี้ เห็นผลอย่างหนึ่งคือ...ที่นอกเมืองตรัง มีวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแขกนับถือศาสนามหะหมัด แต่พระวัดนั้นเปนแพทย์ พวกแขกพากันนับถือในทางแพทย์รับถวายเข้าสารสำหรับพระสงฆ์ที่เปนแพทย์นั้นบริบูรณ์ดี...
2445 - 6 เปิดโรงพยาบาลศรีมหาราชา (โรงพยาบาลสมเด็จบรมราชเทวี
ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี)
วันที่
10 กันยายน พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล เสด็จประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลสมเด็จ
ที่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี จัดสร้างขึ้น
649 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เมื่อแรกสร้าง
ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หมายเหตุ
ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลสมเด็จนั้น สืบเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ที่ทรงพระประชวร เนื่องจากพระราช-โอรสพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 4 พระองค์ (พ.ศ. 2436 - 2441) พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จประพาสและประทับพักฟื้น ณ พระตำหนัก ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2441 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งออกไปอำนวยการบริษัทป่าไม้อยู่ที่ศรีราชา ได้รับพระบรมราชโองการให้ช่วยเป็นผู้อภิบาล ได้สร้างเรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งเป็นพระตำหนักในน้ำที่ชายทะเล และเชิญเสด็จจากตำบลบางพระมาประทับที่พระตำหนักศรีราชาเมื่อ พ.ศ. 2442 พระองค์พอพระทัย และมีพระดำริเลือกหาพื้นที่ดินบนฝั่งสำหรับสร้างพระตำหนักเป็นที่ประทับถาวรต่อไป
แต่ทว่าตำบลนี้อยู่ห่างไกลแพทย์และขาดเครื่องอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาล ข้าราชบริพาร ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ราษฎรตำบลศรีราชาและบริเวณใกล้เคียงเกิดเจ็บป่วยกัน จึงรับสั่งให้พระเจ้าบรม-วงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาล มีพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช. อาดัมสัน) เป็นผู้ช่วยในการวางแผนผังการก่อสร้าง การปลูกสร้างได้เริ่มใน พ.ศ. 2444 เบื้องต้นสร้างเป็นเรือน 2 ชั้นขึ้นก่อน 1 หลัง แล้วเพิ่มขึ้นอีก 4 หลัง ติดต่อเป็นหมู่เดียวกันไป เรือนนี้เป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2445 ในขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ เสด็จประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2445 ซึ่งเป็นวันบำเพ็ญกุศลวันประสูติของพระองค์ และได้เริ่มรับคนเจ็บไข้เข้าพำนักอาศัยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เมื่อแรกเรียกชื่อว่า “โรงพยาบาล
650 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ศรีมหาราชา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า
“โรงพยาบาลสมเด็จ” โดยระยะแรกอยู่ในสังกัดของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาลบังคับการโรงพยาบาลศิริราช
พ.ศ. 2451 ย้ายโรงพยาบาลไปก่อสร้างบนบก
พ.ศ. 2461 มอบโรงพยาบาลให้อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการ ในการบังคับการคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โดยสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ยังทรงรับพระราชภาระเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่เช่นเดิม
พ.ศ. 2471 โอนโรงพยาบาลสมเด็จฯ จากกระทรวงธรรมการมาอยู่ในความปกครองอำนวยการของสภากาชาดสยาม โดยสังกัดกองพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
พ.ศ.2475 โอนมาสังกัดกองบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย
พ.ศ. 2515 ได้รับการยกระดับเป็นหน่วยงานระดับกองของสภากาชาดไทย
พ.ศ. 2540 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาล
2445 - 7 ใช้ตราสำหรับโอสถศาลารัฐบาล (Government Medical Depot)
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2445 พระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราสำหรับโอสถศาลารัฐบาล (โรงขายยารัฐบาล) เป็นตรายางอินเดียรอบเบอร์ (India Rubber) รูปไข่ กลางเป็นรูปอาร์มแผ่นดิน ระหว่างขอบเบื้องบนมีอักษรไทยว่า “โอสถศาลารัฐบาล” เบื้องล่างมีอักษรอังกฤษว่า “เคาเวอนเมนต์ เมดิเกลดีโปด์” (Government Medical Depot)
พ.ศ.
2446
2446 - 1 แนวคิดในการตั้งปาสตัวอินสตีจูด (สถานเสาวภา)
วันที่ 6 มกราคม ร.ศ. 121 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ มีหนังสือกราบบังคมตอบเรื่อง “ความเห็นของหมอไฮเอทในการที่จะตั้งโรงหมอสำหรับตรวจสมุฐานแห่งโรคอย่างหมอปาสเตอ” ว่าหมอไฮเอทไม่เห็นด้วย และทรงอธิบายว่า
...ต้นเดือนธันวาคม (พ.ศ. 2445) หมอเมตังฝรั่งเศสเข้ามาถึงจากไซ่ง่อน
มาแจ้งความเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พร้อมกับหมอบัวซ์ ผู้ซึ่งเป็นหมอในเรือรบฝรั่งเศส
แลแต่ก่อนได้เป็นหมอโรงพยาบาลแลสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ หาได้มีพวกทูตนำมาไม่
ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ให้พระยาพิพัฒนโกษาไปเฝ้ากรมหลวงดำรงราชานุภาพ
เพื่อจะได้ดำริห์จัดการตามหน้าที่...ว่าได้ตกลงกันกับหมอเมตังนั้น
ให้ไปทำรายงานความเหนในการที่จะตั้งโรงหมอนั้นยื่นต่อรัฐบาลในปลายเดือนธันวาคม
หมอเมตังออกไปกลับไซ่ง่อนไปแล้ว แลเรื่องรายงานที่จะยื่นนั้น ดูเหมือนรับสั่งว่าจะไปทำส่งมาจากไซ่ง่อน...
651 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 13 มกราคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) กรมหลวงดำรงราชานุภาพมีหนังสือกราบบังคมทูลว่า
...ด้วยเมื่อวันที่ 5 เดือนธันวาคม พระยาพิพัฒนโกษาพาหมอเมตัง ผู้จัดการปาสตัวอินสติจูด เมืองไซ่ง่อน ซึ่งเข้ามากรุงเทพฯ ตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศส มาหาข้าพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้สนทนากันถึงเรื่องที่จะจัดการตรวจโรคในเมืองไทยจะควรจัดอย่างใด
ข้าพระพุทธเจ้าได้ถามหมอเมตังถึงการที่ปาสตัวอินสติจูดที่ไซ่ง่อนได้ทำการอยู่ทุกวันนี้ได้ทำการอย่างใดบ้าง หมอเมตังชี้แจงว่า การที่ทำอยู่... 5 อย่าง คือ รักษาโรคสุนัขบ้ากัด อย่าง 1 ทำหนองสำหรับปลูกไข้ทรพิศม์ อย่าง 1 ตรวจหาวิธีรักษาโรคบิดซึ่งชาวยุโรปในหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศสทางนั้นมักเป็นมาก อย่าง 1 ตรวจเนื้อดินซึ่งส่งมาแต่ที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์การเพาะปลูก...อย่าง 1 ตรวจการต้มฝิ่น คือคิดวิธีที่จะต้มให้ได้เนื้อฝิ่นมากกว่าวิธีที่ต้มกันอยู่ทุกวันนี้ อย่าง 1
...หมอเมตังถามข้าพระพุทธเจ้าว่า รัฐบาลไทยมีความประสงค์ที่จะคิดจัดการอย่างใด ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่า ความประสงค์ของรัฐบาลไทยที่ข้าพระพุทธเจ้าทราบอยู่นั้นคือ อยากจะคิดจัดการป้องกันความไข้เจ็บของพลเมือง...เข้าใจว่าเหตุความไข้เจ็บทางเมืองไซ่ง่อนและกรุงสยามยังผิดกันอยู่มาก เป็นต้นว่า โรคสุนัขบ้ากัดก็ดี โรคบิดก็ดี ในกรุงสยามไม่ค่อยมีมาก โรคร้ายแรงแลที่มีมากในกรุงสยามนั้นคือ โรคอหิวาตะกะโรค แลโรคไข้มาเลเรีย อีกอย่างคือ โรคโคกระบือ...ลำดับต่อไปภายหน้า หมอเมตังรับจะเรียบเรียงความเห็นจัดการป้องกันโรคส่งมายังข้าพระพุทธเจ้า...จะได้นำขึ้นเสนอต่อรัฐบาลต่อไป...
วันที่ 17 มีนาคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เกี่ยวกับรายงานอาการไข้เจ็บของราษฎรต่างหัวเมือง ดังนี้
ถึง กรมหมื่นมหิศร
ฉันได้รับรายงานอาการไข้เจ็บของราษฎรพลเมืองในหัวเมืองต่าง
ๆ เมื่อตรวจดู...มีไข้เจ็บที่เปนกันโดยมากคือ อหิวาตกโรคอย่างหนึ่ง ฝีดาษอย่างหนึ่ง
ไข้จับอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเปนคราว ๆ แลบาดแผลหักโค่นบ้าง
แต่ยาซึ่งจะใช้รักษาฤๅป้องกันไข้เจ็บเหล่านี้ในหัวเมืองย่อมหายาก
ถึงมีเงินซื้อก็ไม่มีที่ซื้อ จึงเสียไพร่พลเมืองไปด้วยไข้เจ็บเหล่านี้ปีละมาก ๆ
เปนที่น่าเสียดาย น่าสงสารยิ่งนัก
652
ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ฉันจึงได้ขอต่อกรมหลวงดำรงให้นำข้อความซึ่งฮันมีความสังเวชสลดใจนี้แจ้งต่อที่ประชุมข้าหลวงเทศาภิบาล แลปรารภว่า ถ้าตามมณฑลใดเมืองใด ได้ตั้งที่ว่าการศาลยุติธรรม เรือนจำนักโทษ แลโรงตำรวจภูธรแล้ว ขอให้เพิ่มโอสถศาลาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้เปนสฐานที่ประจำเมือง มีทั่วไปทุก ๆ แห่งตามที่จะมีขึ้นได้...
2446 - 2 รัฐบาลสวิสเชิญผู้แทนรัฐสยามเข้าร่วมประชุมที่เมืองเยนีวา เพื่อแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 (การประชุมจัดทำอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125)
วันที่ 2 มีนาคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) พระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ทรงทราบฝ่าพระบาทว่า มองซิเออร์ลาร์ดี (Lardy) ราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ณ กรุงปารีส มีหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 121 ว่ารัฐบาลสวิสขอเชิญรัฐบาลสยามส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 ที่เมืองเยนีวา (เมืองเจนีวา) วันที่ 14 กันยายน ร.ศ. 122 พร้อมส่งสำเนาโปรแกรมการประชุมมาให้พร้อมกับหนังสือเชิญประชุมเวียนแจ้ง (หนังสือเซอกุลา - Circulaire) ลงนามโดยประธานาธิบดีสวิส (The President of Swiss Confederation) ชื่อ Adolf Deucher (Term of office = 1 January 1903 - 31 December 1903) และนายกรัฐมนตรีสวิส (The Chancellor of Swiss Confederation) ชื่อ Gottlieb Ringier (Term of office = 1882 - 1909)
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2447) พระยาสุริยานุวัตรมีโทรเลขกราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ต่อมากองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงเลือกเจรจาสันติภาพตามข้อเสนอคนกลางคือ ประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา จึงตกลงทำเป็นสนธิสัญญาพอร์ตสมัท (Treaty of Portsmouth) ลงนามวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2448 สงครามจึงยุติ
วันที่
17 มีนาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ
เสนาบดีว่าการต่างประเทศ มีหนังสือ ที่ 477/11542
กราบทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า ประธานาธิบดี Ludwig
Sorrer แห่ง Swiss Confederation แจ้งว่าจะมีประชุมแก้ไขหนังสือสัญญาเมืองเยนีวา
ณ วันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ. 125
ขอเชิญรัฐบาลสยามส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม Geneva Red Cross Association ในครั้งนี้
มีพระบรมราชโองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากรและมิสเตอร์ดอเรลลิเป็นผู้แทนประเทศสยามเข้าร่วมประชุม
653 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2446 - 3 ปรับโครงสร้างกรมพยาบาล
วันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 122 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงธรรมการ ร.ศ. 122 ได้มีการปรับโครงสร้างกรมพยาบาล คือ มีการยุบส่วนบริหารกลางของกรมพยาบาล ตั้งเป็น “กองตรวจการพยาบาล” (พระองค์จันทรทัตจุธาธารเป็นอธิบดี) อยู่ภายในสังกัดกรมธรรมการกลาง กระทรวงธรรมการ มีพระยาวุฒิการบดีเป็นอธิบดี กองตรวจการพยาบาลมีข้าราชการ 5 คน เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ 4 คน และแบ่งโครงสร้างกรมพยาบาล เป็น 2 แผนก คือ
1. แผนกพยาบาลสถาน
(บุรพาพยาบาล/โรงพยาบาลเสียจริต)
2. แผนกโอสถ
(โอสถศาลารัฐบาล/โอสถสภา)
ส่วนโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงศิริราชพยาบาล (สาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย) ให้อยู่ในสังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ
2446 - 4 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีทดลองทำพันธุ์หนองโคปลูกไข้ทรพิษ แต่ไม่สำเร็จ
วันที่ 22 กรกฎาคม ร.ศ. 122 นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ว่า คิดจะทำหนองโคเพื่อจะให้เป็นพันธุ์ปลูกไข้ทรพิษ ให้หมอทดลองทำดูแล้วไม่สำเร็จ ต่อมาให้หมอตรัมขึ้นไปเมืองแพร่หาโคมาปลูก เป็นการทดลองหลายอย่างก็ไม่สำเร็จ จึงมีความคิดที่จะเรียกหมอที่ชำนาญทำหนองโคเข้ามาตั้งทำในสยาม ซึ่งได้แจ้งกระทรวงธรรมการให้ทราบแล้ว
2446 - 5 ตั้งโรงพยาบาลมิชชันนารีที่เมืองนครศรีธรรมราช
วันที่ 13 ตุลาคม ร.ศ. 122 หมออี. ซี. ดันลับ และหมอดับเบิลยู. เช สวอร์ต กราบบังคมทูลเรื่องสร้างโรงพยาบาลมิชชันนารีที่เมืองนครศรีธรรมราช งบประมาณ 22,500 บาท ยังขาดอยู่อีก 4,000 บาท และขอพระราชทานแรงทั้งพลเมืองชาวสยามและชาวอเมริกันเพื่อก่อสร้างให้สำเร็จ และรายงานว่าโรงพยาบาลนี้เปิดทำการไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2446 รักษาคนไข้ 6,115 คน รักษาในโรงพยาบาล 35 คน ไปรักษาที่บ้าน 247 คน จ่ายยาให้ 7,368 คน กระทำผ่าตัดอย่างสำคัญ 13 ราย
วันที่
25 พฤศจิกายน ร.ศ. 122
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน 4,000
บาทให้กับพวกอเมริกันเปรสบีเตเรียนไปสร้างโรงพยาบาลตามจำนวนเงินที่ขอ
654 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2447
2447 - 1 แต่งตั้งนาย Edward H. Strobel ที่ปรึกษาทั่วไปของรัฐบาลสยาม
เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มในกระทรวงต่างประเทศ
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 122) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเอ็ดเวิร์ด เอช.สโตรเบล ที่ปรึกษาทั่วไปของรัฐบาลสยาม เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มในกระทรวงต่างประเทศ ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับฝรั่งเศสในการทำสนธิสัญญาฝรั่งเศส - สยาม พ.ศ. 2447 เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนเมืองจันทบุรี แต่ต่อมาฝรั่งเศสกลับไปยึดเมืองตราดและเกาะกงไว้อีก จึงต้องเจรจาขอเมืองตราดคืนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 แต่ต้องเสียดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งท่านทำงานทุ่มเทให้กับสยามเป็นอย่างมาก
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2451 (ร.ศ. 126) นายเอ็ดเวิร์ด เอช. สโตรเบล ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ณ ศาลา สุสานโปรเตสแตนต์ กรุงเทพฯ
หมายเหตุ
พระสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส เป็นผู้ติดต่อให้นายเอ็ดเวิร์ด เอช. สโตรเบล มารับราชการในประเทศไทยตามพระประสงค์พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ให้เสาะหาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่มีความน่าเชื่อถือในต่างประเทศเข้ามารับราชการในสยาม พระสุริยานุวัตรพบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มอิทธิพลในเวทีโลกอย่างรวดเร็วหลังจากสงครามระหว่างสเปน - อเมริกัน และประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการเพิ่มอิทธิพลในประเทศเอเชีย จึงได้คัดเลือกที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปชาวอเมริกันทั้งหมด 3 ท่าน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งโรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ได้แก่ 1. Edward H. Strobel เข้ามาพร้อมกับผู้ช่วย คือ 2. Jens Iverson Westengard (พระยากัลยาณไมตรี คนที่ 1) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินคนถัดไป และท่านที่ 3 เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ 3. Francis Bowes Sayre (พระยากัลยาณไมตรี คนที่ 2)
Jens Iverson Westengard (พระยากัลยาณไมตรี คนที่ 1) เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 และการพระราชบัญญัติห้ามใช้เครื่องหมายกากบาทแดง ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นการจัดทำกฎหมายเร่งด่วนเพื่อต่ออายุการร่วมในอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 จนมีเวลาเพียงพอ จึงได้จัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม พระพุทธศักราช 2461 เพื่อจัดตั้ง “สภากาชาดสยาม” ในฐานะ “National Red Cross Society” ตามผลผูกพันของอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 เป็นการถาวร
2447 - 2 ตั้งสถานที่ทำพรรค์บุพโพ (พันธุ์หนองฝี) ของรัฐบาลที่สระปทุมวัน
วันที่
14 ตุลาคม พ.ศ. 2446
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 31/1379 ถึงพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ความว่า
655 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ด้วยได้ทราบจากกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่าที่เมืองมนิลามีวิธีรักษาโรคระบาทว์โคกระบือขึ้นใหม่ ใช้ตัวสัตว์แห่งโรคนั้นผสมปลูกที่โคกระบือไม่ให้เปนโรค อย่างนั้น รัฐบาลอเมริกันได้ตั้งการทำพรรค์แลปลูกโรคนี้ที่เมืองมนิลา ได้ผลดีเมื่อสักสองสามเดือนมานี้ชาวอเมริกันมาจากเมืองมนิลาสองคน คนหนึ่งเปนเจ้าพนักงานจัดการเพราะปลูก อีกคนเปนเจ้าพนักงานจัดการผสมสัตว์พาหนะ ราชทูตอเมริกันได้พาตัวไปพบกรมหลวงดำรงราชานุภาพ พูดกันด้วยโรคระบาทว์โคกระบือ เจ้าพนักงานทั้งสองนั้นรับรองว่า ถ้ารัฐบาลสยามจะส่งแพทย์คนใดออกไปเรียนวิธีทำพรรค์และวิธีปลูกแก้โรคระบาทว์สัตว์พาหนะ รัฐบาลอเมริกันจะยินดีช่วยเหลือทุกอย่าง
เห็นว่า เปนการควรจะขวนขวายสืบสวนดู ถ้าหากว่ามีเครื่องแก้กันโรคสัตว์พาหนะได้จริง ก็จะเปนประโยชน์มาก ให้กระทรวงธรรมการจัดแพทย์ที่สมควรออกไปตรวจสอบการเรื่องนี้ที่เมืองมนิลาดู
สยามินทร์
วันที่ 22 เมษายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2447) พระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีหนังสือ ที่ 13/424 กราบบังคมทูล ความว่า
ด้วยในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดแพทย์ในกรมพยาบาลออกไปศึกษาวิธีทำพรรค์แลปลูกโรคระบาทสัตว์พาหนะที่เมืองมนิลานั้น...ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้รับใส่เกล้าฯ จัดให้หมอเอช อาดัมเซน กับหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์ออกไปศึกษาแลตรวจการนั้น บัดนี้หมอเอช อาดัมเซนแลหลวงวิฆเนศร์ฯ ยื่นรายงานการที่ไปตรวจแลศึกษาวิชาทำพรรค์แก้โรคระบาทสัตว์พาหนะว่า วันที่ 21 มกราคม ร.ศ. 122 ได้ออกจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองมนิลาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 กลับจากมนิลา วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ถึงกรุงเทพวันที่ 3 มีนาคม ร.ศ. 122...พอเข้าใจที่จะมาจัดการฉลองพระเดชพระคุณได้...
เรื่องนี้หมอเอช
อาดัมเซน
แลหลวงวิฆเนศร์กลับมาจากมนิลาแล้วได้ตั้งการทดลองทำพรรค์สำหรับที่จะปลูกกันโรคระบาทสัตว์พาหนะ
ในบ้านหมอเอช อาดัมเซน หลังตึกหลวง ถนนเจริญกรุงนั้น...ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเหน หมอเอช อาดัมเซน ได้ฉีดพรรค์ซิรำม์ให้แก่โคที่ไหล่รักแร้ข้างหนึ่ง...ในชั้นต้นที่จะเริ่มจัดการนี้ ควรจะทำแต่น้อย
คือลงทุนซื้อโคตามที่ได้ทำมาแล้วแต่ก่อนเพราะราคาถูกกว่ากระบือ
แลซื้อเครื่องมือแลซ่อมสถานที่ที่จะเลี้ยงสัตว์รวมเงินเพียง 6000 บาท...หมอเอช อาดัมเซน กับหลวงวิฆเนศร์ได้ยื่นงบประมาณเปนจำนวนเงินถึง 43580 บาท...หมอเอช อาดัมเซน กับหลวงวิฆเนศร์แนะนำว่า
ถ้าได้ตรงเสาธงสระปทุมวันแล้วจะดี...ข้าพระพุทธเจ้า
656 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
บริเวณเสาธงสระประทุมวัน ในรัชกาลที่ 5 เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานแสดงกสิกรรม
ที่มา : หนังสือ 100 ปี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุช
ได้ให้หมายขีดเส้นแดงไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ที่สำหรับการนี้ต่อไป...
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2447 มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ที่ดินตรงเสาธงสระปทุมวันสำหรับเลี้ยงสัตว์ และพระราชทานงบประมาณศก 123 จำนวน 30,000 บาท
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 หมอเอช อาดัมเซน และหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิวิทย์ เสนอรายงานจัดการต่าง ๆ เรื่องสถานที่ ที่ทำการเจ้ากรม ตำแหน่งและหน้าที่ การปลูกโรคระบาดและไข้ทรพิษ ค่าธรรมเนียมปลูก การทำในคราวแรก การพาหนะเข้าออกและไปปลูกโรคระบาด
วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือเรียนพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ว่า ควรรวมการโอสถสภาและการปลูกไข้ทรพิษหัวเมืองสมทบเข้าด้วยกัน
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 พระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เห็นด้วยว่า ควรรวมการโอสถสภาและการปลูกไข้ทรพิษหัวเมืองสมทบเข้ากันกับการทำบุพโพปลูกกันโรคระบาทว์สัตว์พาหนะและการปลูกไข้ทรพิษในที่ทำการแห่งเดียวกัน จึงขอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาทรงประทานข้อบังคับที่ทรงคิดจัดการเรื่องนี้
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2447 กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาประทานข้อบังคับสำหรับสถานที่ทำพรรค์บุพโพ จำนวน 5 แผ่น
657 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2447 - 3 ตั้งกรมแพทย์ทหารบก
วันที่ 27 เมษายน ร.ศ. 123 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหาร มีหนังสือ ที่ 9/780 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตตั้งกรมสรรพยุทธ์และกรมแพทย์ ดังนี้
ด้วยในราชการทหารบกตามที่ได้จัดขยายการยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาแล้วนั้น ในศกนี้สมควรจัดกรมสรรพยุทธแลกรมแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 2 กรม ตามซึ่งการ 2 แพนกนี้ยังบกพร่องอยู่ คือ...
การแพทย์พยาบาล ตามที่เป็นมาแล้วมีแต่น่าที่การสำหรับโรงพยาบาล แลตามที่ได้จัดการขยายการทหารมาแล้ว ยังขาดการแพทย์ที่จะต้องจัดระเบียบการแลการทั้งปวงสำหรับราชการสนาม เพราะฉนั้น กรมแพทย์จึ่งเป็นการจำเป็นที่จะต้องตั้งขึ้นมีน่าที่ดังกล่าวมานี้ กับทั้งมีน่าที่ในการตรวจตราบังคับบัญชาการพยาบาลทั่วไป
3. ถ้าทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร จัดตั้งกรมสรรพยุทธแลกรมแพทย์ขึ้นใหม่ในศกนี้แล้ว...นายแพทย์ใหญ่ทรัมป์สมควรรับตำแหน่งเป็นหัวน่าแพทย์ ส่วนเงินตามงบประมาณที่จะจัดตั้ง 2 กรมนี้ขึ้นในศกนี้ มีจำนวนพอ ถ้าทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้า จะได้รับพระราชทานจัดการต่อไป
วันที่ 28 เมษายน ร.ศ. 123 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 9/121 ตอบดังนี้
วันที่ 28 เมษายน รัตนโกสินทรศก 123
ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ด้วยได้รับหนังสือ ที่ 9/780 ลงวันวานนี้ว่า ราชการทหารบกได้จัดการขยายยิ่งขึ้น สมควรจะจัดตั้งกรมสรรพยุทธและกรมแพทย์ให้มีขึ้นในศก 123...ให้นายแพทย์ใหญ่ทรัมป์รับตำแหน่งเปนหัวหน้ากรมแพทย์ ว่าการที่จะจัดตั้งกรมทั้งสองนี้ขึ้น มีจำนวนเงินในงบประมาณศก 123 แล้ว ถ้าเหนชอบด้วย จะได้จัดต่อไปนั้น ทราบแล้ว อนุญาต
วันที่
18 พฤษภาคม ร.ศ. 123 มีพระบรมราชโองการโปรดตั้งกรมแพทย์ (ทหารบก)
ขึ้นในกรมยุทธนาธิการ ให้นายแพทย์ทรัมป์รับราชการตำแหน่ง
นายแพทย์ใหญ่ หัวหน้ากรมแพทย
658 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2448
2448 - 1 การยกเว้นภาษีเรือพยาบาล
รัฐบาลสยามลงนามในอนุสัญญากรุงเฮก เรื่องการยกเว้นภาษีเรือพยาบาลนานาประเทศเมื่อเวลาเกิดสงครามของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
วันที่ 15 มีนาคม ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2448) พระยาราชานุประพันธ์กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ว่า ได้ไปประชุมเรื่องการยกเว้นภาษีแก่เรือพยาบาลนานาประเทศ
วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2448) กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ทูลกรมขุนสมมตอมรพันธ์ุ เพื่อนำกราบบังคมทูลเรื่อง The Convention having for object to exempt the hospital - ships in time of war
2448 - 2 กรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ ยุคสุดท้าย
วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2448 ประกาศเรื่องตำแหน่งราชการกระทรวงธรรมการ แสดงโครงสร้างกรมพยาบาลในปีสุดท้ายก่อนการยุบกรมพยาบาลไปรวมกับกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ดังนี้
1. กรมธรรมการกลาง
1.1 แผนกบัญชาการ...
1.2 กองตรวจการพยาบาล
อธิบดี
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
ผู้ตรวจการใหญ่ หมอเอซ อาดัมสัน
ผู้ตรวจการ หลวงวิฆเนศประสิทธิ์ ขุนอาจวิทยาคม ขุนอนุมานแพทยากร
แพทย์ตรวจการหัวเมือง
1) มณฑลชุมพร นายแฟรงเฟิต
2) มณฑลพิษณุโลก นายแดง แพทย์ประกาศนียบัตร
3) มณฑลนครราชสีมา นายผัน แพทย์ประกาศนียบัตร
4) มณฑลนครสวรรค์ นายอั้น แพทย์
5) มณฑลกรุงเก่า นายนุ่ม แพทย์
6) มณฑลนครศรีธรรมราช นายเดช แพทย์
7) มณฑลจันทบุรี นายสะอาด แพทย์
8) มณฑลปราจีนบุรี นายชม แพทย์
1.3. แผนกศึกษาธิการ...
โรงศิริราชพยาบาล
หมอย็อช แมกฟาแลนด์ ผู้อำนวยการ
นายหว่าง
ผู้ดูการ
(ผู้จัดการ)
659 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
โรงเรียนราชแพทยาลัย
หลวงวินิจวิทยาการ อาจารย์ใหญ่
(รวมทั้งหมด 8 คน)
สาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย (รวมทั้งหมด 4 คน)
2. กรมสังฆการี...
3. กรมพยาบาล
3.1 แผนกพยาบาลสถาน
โรงบุรพาพยาบาล
โรงพยาบาลเสียจริต
โรงพยาบาลบางรัก
โรงพยาบาลสามเสน
3.2 แผนกโอสถศาลา
โอสถศาลารัฐบาล
โอสถสภา
4. กรมราชบัณฑิตย์...
2448 - 3 สำรวจจำนวนหมอเชลยศักดิ์ในพระนคร
วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2448 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล มีหนังสือเลขที่ 105/6090 กราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ เรื่องจำนวนและรายชื่อหมอยาเชลยศักดิ์ (แพทย์แผนโบราณ) ในกรุงเทพฯ มีสำเนารายชื่อหมอยาเชลยศักดิ์แยกตามตำบลท้องที่ หากเทียบกับปัจจุบันคือส่วนใหญ่อยู่ในเขตพระนคร บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และธนบุรีตามลำดับ เขตอื่นมีประปรายน้อยมาก ความว่า...ด้วยกระทรวงธรรม-การมีหนังสือยังกระทรวงนครบาล ขอให้สั่งอำเภอสำรวจหมอยาเชลยศักดิ์ซึ่งมีอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ จะมีสักเท่าไร...หม่อมฉันจึงได้สั่งให้หลวงนรพรรคพฤฒิกร เจ้ากรมกองอำเภอในจังหวัดกรุงเทพฯ ทุกท้องที่ สำรวจได้จำนวนหมอยาเชลยศักดิ์ คือ พระสงฆ์ 86 รูป คฤหัศชาย 523 คน หญิง 21 คน...
2448 - 4 กองพยาบาลทหารบก มณฑลกรุงเทพฯ ณ โรงพยาบาลทหารบก
ณ ปากคลองหลอด322
วันที่ 4 สิงหาคม ร.ศ. 124 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหาร มีหนังสือ ที่ 17/5899 กราบบังคมทูล ดังนี้
ด้วยเมื่อปีรัตนโกสินทรศก
123 ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้าฯ
ถวายรายงานวิธีจัดการปกครองและระเบียบการทหารบกในแพนกกรม
660 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ยุทธนาธิการกลาง เพื่อทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท ตามการที่ดำเนินมานั้น บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการทหารในมณฑลกรุงเทพฯ และความดำริห์ในการต่อไป เพื่อเปนทางที่จะได้ทรงพระราชดำริอีกขึ้นหนึ่ง
1. ทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ ตามที่เปนอยู่ ณ บัดนี้ จัดตั้งขึ้นเปนกรมบัญชาการมณฑล 1 มีกรมแลกองทหาร คือ
1) กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
2) กรมทหารม้าที่ 1
3) กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1
4) กรมทหารช่างที่ 1
5) กรมทหารราบที่ 1
6) กรมทหารราบที่ 2
7) กรมทหารราบที่ 3
8) กองโรงเรียนนายสิบมณฑลกรุงเทพ
9) กองพยาบาลมณฑลกรุงเทพ
ฯลฯ
กองพยาบาลทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ
กองพยาบาลทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ
จัดตั้งขึ้นที่โรงพยาบาลใหญ่ของทหารบก ใกล้ปากคลองหลอด จัดการรักษาพยาบาล
โดยใช้ยาแลตำราแพทย์ฝรั่ง รับคนป่วยได้โดยปรกติ 200 คน ถ้าเปนเวลาฉุกเฉินจะรับคนป่วยได้ในระหว่าง
300
- 400 คน ในขณะนี้คงมีคนป่วยประจำอยู่ 100 คนเศษ ๆ เสมอ คือ
เปนคนป่วยซึ่งจะรักษาที่โรงทหารไม่ได้ภายในกำหนด 14 วัน เปนต้น
หรือคนป่วยที่ต้องรักษาโดยตำราฝรั่ง เพราะ แพทย์ที่ประจำตามกรมแลกองล้วนเปนแพทย์ที่ใช้ยาไทยทั้งสิ้น
ในโรงพยาบาลนี้คนป่วยที่ต้องรักษาโดยมาก คือ โรคเหน็บชา
ซึ่งแพทย์ฝรั่งและแพทย์ไทยไม่ทราบว่าจะบำบัดได้โดยทางใดเปนแน่แท้
อาไศรยทดลองแก้กันอยู่ แต่โรคนี้ที่จะถึงอันตรายมีน้อย มักจะหายได้โดยมาก
สถานที่แลการพยาบาล...โดยประณีตเรียบร้อย
แลเปนเครื่องเชิดชูอวดชาวต่างประเทศได้แห่งหนึ่ง
โรงพยาบาลนี้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ดีแท้ ยังกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่บ้าง
แต่กระนั้นก็ดีนับว่าใช้ได้แล้ว แลในเดือนกันยายนนี้คงจะเสร็จบริบูรณ์...สร้างโรงเรียนนายร้อยใหม่ 142,248 บาท
สร้างโรงพยาบาล 39,790 บาท...สร้างโรงทหารใหม่หลังพระราชวังบวรฯ
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา...รวมเปนเงิน 120,000
บาท...
661 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2448 - 5 ตั้งโรงทหารตามหัวเมือง
วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2446 กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ มีหนังสือกราบบังทูล ความว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ คิดจะทำโรงทหารที่ลำปาง ที่ตำบลเวียงเหนือ
พ.ศ. 2447 ใช้เงินการจร 80,000 บาท ทำที่พักชั่วคราวสำหรับนายทหารและพลทหาร เมืองนครสวรรค์ เมืองชัยนาท เมืองตาก
พ.ศ. 2448 ใช้เงินการจร 80,000 บาท ก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ในมณฑลทหารบกนครสวรรค์ (โรงทหารปืนใหญ่ โรงเรียนนายสิบ เรือนผู้บังคับกรมทหารราบที่ 10 คลังกรมบัญชาการ โรงทหารเมืองไชยนาท เรือนผู้บัญชาการ)
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2448 กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างโรงทหารขึ้นในเมืองพระปฐมเจดีย์ กรุงเก่า (อยุธยา) สมุทรสงคราม สมุทรสาคร แห่งละ 50,000 บาท
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2448 ให้กระทรวงพระคลังพิจารณาว่าจะมีเงินจ่ายหรือไม่
วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2448 หอรัษฎากรพิพัฒน์ กระทรวงพระคลังฯ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า มีเงินอยู่ แต่ขอจ่ายสักครึ่งหนึ่งก่อนแล้วอีกสองเดือนค่อยจ่ายเพิ่ม
พ.ศ. 2449 ใช้เงินการจร 80,000 บาท ก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ในมณฑลทหารบกนครสวรรค์ (คลังกระสุน โรงเลี้ยงอาหารนายสิบพลทหาร โรงพยาบาลทหารบกนครสวรรค์ โรงทหารเมืองไชยนาท เรือนนายทหาร)
2448 - 6 เปิดโรงพยาบาลจีน “เทียนฮั่วอุยอี้” ถนนเยาวราช
วันที่ 19 กันยายน ร.ศ. 124 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช-ดำเนินเปิดโรงพยาบาลจีน ชื่อ “เทียนฮั่วอุยอี้” โดยชาวจีน 5 ภาษาเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ปัจจุบันคือโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ
2448 - 7 สภาอุณาโลมแดงมอบเครื่องยาและเครื่องใช้แก่โรงพยาบาลทหารบก
วันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 124 ท่านผู้หญิงเปลี่ยนมีหนังสือกราบทูลพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหาร ความว่า
...ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ สภานายิกาของสภาอุณาโลมแดงนี้
มีพระราชเสาวณีว่า ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า
กรมยุทธนาธิการได้จัดตั้งโรงพยาบาลใหญ่ของทหารขึ้นใหม่
ทั้งจะตั้งตามมณฑลที่จัดตั้งทหารขึ้นทั่วไปนั้น มีพระราชหฤทัยทรงยินดีด้วย
662 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สิ่งของเครื่องยาแลภาชนบางสิ่งบางอย่างในการพยาบาลของสภานี้สำหรับทหารมีอยู่มาก ควรที่จะให้แก่โรงพยาบาลของทหาร...แลถ้ายังมีการคับขันที่จะต้องใช้ในการพยาบาลต่อไป สภานี้ก็มีความยินดีที่จะช่วยเกื้อหนุนเปนครั้งคราว...
วันที่ 2 ธันวาคม ร.ศ. 124 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหารมีหนังสือ ที่ 28/11554 กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ความว่า...พระราชเสาวณีสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในนามสภาอุณาโลมแดง ให้เครื่องยาแลเครื่องใช้ในการพยาบาลแก่โรงพยาบาลทหารบก ดังในสำเนาที่ได้ถวายมาแล้ว...
พ.ศ.
2449
2449 - 1 กำเนิดสุขาภิบาลหัวเมืองที่ตลาดท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร
วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.124 มีประกาศแก้ภาษีโรงร้านจัดสุขาภิบาลตลาดท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร คือ ประกาศกฎหมายโอนภาษีโรงร้าน คือภาษีโรงเรือนที่เก็บจากร้านค้าในตลาด ให้กับการสุขาภิบาลท้องที่ตลาดท่าฉลอม เป็นการปฏิรูปการปกครองท้องที่ เกิดเป็น รูปแบบการปกครองท้องที่ แบบที่ 3 คือ การปกครองแบบสุขาภิบาลหัวเมือง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือ การจัดการสุขาภิบาลให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการกันเอง โดยคณะกรรมการประกอบด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ในรายงานกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2457 ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการสุขาภิบาลหัวเมืองว่า
...เดิมทีจะคิดจัดการศุขาภิบาลตามหัวเมืองขึ้นนั้น เนื่องแต่ความปรารถนาเรื่องเก็บเงินภาษีโรงร้านไม่เสมอหน้ากัน
เช่น คนในบังคับต่างประเทศก็ยกเว้นไม่เก็บเปนต้น
ได้นำเหตุนี้ขึ้นสู่ที่ประชุมเทศาภิบาลหลายคราว จนเมื่อ พ.ศ.
2448 ได้ยุติความเห็นในที่ประชุมว่า
จะแก้ไขให้การเก็บภาษีเสมอหน้ากันได้ก็ด้วยจัดเปนศุขาภิบาล คือ
เก็บเงินจากที่ใดใช้บำรุงสิ่งสาธารณประโยชน์ในท้องที่นั้น ๆ...ประจวบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2448
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ทอดพระเนตรเห็นถนนแลตลาดเมืองนั้นโสโครกมากไม่เปนที่พอพระราช-หฤทัย รุ่งขึ้นวันที่ 31 เสด็จออกที่ประชุมเสนาบดี
ได้รับสั่งถึงเรื่องถนนแลตลาดเมืองนครเขื่อนขันธ์ ว่าสกปรกเหมือนตลาดท่าจีน
กระทรวงมหาดไทยจึงถือเอาเหตุนี้ มีท้องตราเชิญกระแสพระบรมราชโองการในข้อที่ทรงติ...ไปถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาครให้บอกพวกพ่อค้าแลกำนันผู้ใหญ่บ้าน ๆ
จึงพร้อมกันออกเงิน 5,000 บาทเศษ ทำถนนก่ออิฐโบกปูนที่
663 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดถนนถวาย ท่าฉลอม
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปในการประชุมเทศาภิบาล
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ002 หวญ 59-11
664 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ตลาดสายหนึ่งยาว 11 เส้นเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จทรงเปิดแลพระราชทานนามว่า ถนนถวาย กระทรวงมหาดไทยเห็นความพร้อมเพรียงของราษฎรในตำบลนั้น สมควรจะลองจัดการตามวิธีศุขาภิบาลได้ จึงจัดข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงออกไปนั่งเปนประธานในการประชุมราษฎรในตำบลนั้น เมื่อได้ชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจประโยชน์ของการศุขาภิบาลแล้ว ราษฎรจึงพร้อมกันกำหนดการออกทุนทรัพย์มีอัตราเปนกำหนดเสมอหน้ากันสำหรับเปนเงินทุนที่จะจัดการ แลเมื่อได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเงินภาษีโรงร้านพระราชทาน ได้เริ่มจัดการมาแต่พระพุทธศักราช 2448 ศุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมเมืองสมุทรสาครนี้จึงเปนตัวอย่างแก่การที่จัดในที่อื่นต่อไป...
ตำบลท่าฉลอมจึงเป็นจุดกำเนิดแรกของระบบภาษีบำรุงท้องที่ มีการตั้งคณะกรรมการจัดการสุขาภิบาลในเขตตลาดที่เป็นชุมชนหนาแน่น โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประกอบกันเป็นคณะกรรมการ มีอำนาจจัดการสุขาภิบาลในเขตทุกอย่างรวมทั้งใช้จ่ายเงินภาษีโรงร้านที่จัดเก็บไว้ โดยมีเทศาภิบาลมีอำนาจตรวจสอบหรือยับยั้งรูปแบบการดูแลปกครองชุมชนให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยและป้องกันโรค โดยให้ปกครองกันเองจากการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่ กำนัน และราชการสนับสนุนให้ภาษีท้องที่นำไปบำรุงท้องที่ ควบคุมโดยเทศาภิบาล ได้พัฒนาเป็นระเบียบการปกครองท้องที่ แบบที่ 3 คือ การปกครองท้องที่เฉพาะในพื้นที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่นที่ต้องมีการดูแลความสะอาด ความเรียบร้อยของบ้านเรือน และการป้องกันโรค ต่อมาได้เรียกชื่อว่า การบุราภิบาล และภายหลังได้เปลี่ยนเป็นเทศบาล
2449 - 2 เลิกกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการ และรวมโรงพยาบาลศิริราช
เข้ากับโรงเรียนราชแพทยาลัย
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2449 เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีหนังสือกราบบังคมทูล ที่ 332/9411 ความว่า
ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมหารือในเรื่องที่จะเลิกกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการอย่างเป็นอยู่ทุกวันนี้ และคิดจัดการเปลี่ยนรูปใหม่ ให้การพยาบาลทั้งหลายจัดอยู่ในเทศาภิบาล และให้กระทรวงธรรมการจัดให้มีพนักงานในการพยาบาลเป็น 3 พนักงาน คือ
1) ให้มีพนักงานตรวจ สำหรับตรวจการไข้เจ็บและช่วยบำบัดการไข้เจ็บ พนักงาน 1
2) พนักงานสำหรับทำยาจำหน่าย พนักงาน 1
3) พนักงานทำหนองฝีและซีรัม
พนักงาน 1 และให้จัดการวางรูปตามนี้นั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ
665 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ถวายสังเขปรูปการพยาบาล ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้ทรงร่างประทานนั้น มาพร้อมหนังสือนี้
เมื่อได้จัดการพยาบาลตามรูปที่วางใหม่ดังนี้แล้ว ก็มีการที่จะต้องเปลี่ยนแปลง คือ
1) เลิกกรมพยาบาลเดิม ตัดเงินออกได้ 24508 บาท
2) ส่งโรงพยาบาลและเงินอุดหนุนการพยาบาลไปกระทรวงนครบาล รวม 5 ราย เป็นเงินลดยอดกระทรวงธรรมการอีก 43942 บาท
3) เปลี่ยนรูปโรงศิริราชพยาบาล เข้ารวมกับโรงเรียนราชแพทยาลัย ตัดเงินน้อยลงได้อีก 9576 บาท
4) เปลี่ยนรูปโอสถสภา ไปบวกเข้ากับโอสถศาลารัฐบาล ตัดเงินน้อยลงได้อีก 26656 บาท
รวมเปลี่ยนการ 4 ราย เป็นเงินลดลง 104682 บาท
ส่วนการจะตั้งขึ้นใหม่ คือ
1) พนักงานตรวจการพยาบาล รวมทั้งเงินเดือนและค่าใช้สรอย เป็นเงินขึ้นใหม่ 30000 บาท
2) พนักงานทำหนองฝีและพันธุ์ซีรัมป้องกันโรคระบาทว์ ขึ้นเงินกว่าเก่า 20340 บาท
รวมเป็นเงินส่วนขึ้น 50340 บาท...คงลดเงินลงกว่ารูปเดิม 54340 บาท...
ส่วนตัวคนที่จะประจำการตามรูปที่จะจัดใหม่นี้ ในหน้าที่พนักงานผู้ตรวจการนั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ควรจัดให้ หมอแบรกดอก เข้าประจำการ เงินเดือน ๆ ละ 100 บาท ในหน้าที่พนักงานทำหนองฝีและซีรัมนั้น ได้ปฤกษากันตกลง เรียก หมอวูลี จากเมืองมะนิลาเข้ามาทำการ เงินเดือนปีละ 3000 เหรียญทอง หรือ 10200 บาท...ในหน้าที่พนักงานทำยานั้น หมอฮูโกวิลเลมส์ เป็นพนักงานอยู่และพนักงานรองทั้งปวงก็คงตามที่ตกลงกันไว้เดิม...
สังเขปรูปแบบกรมพยาบาลตามที่จัดใหม่
(พระเจ้าน้องยา เธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้ทรงร่างประทาน)
1. เลิกกรมพยาบาลทั้งหมด ให้โอนโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ไปรวมอยู่ใน กรมสุขาภิบาล ของกระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงศิริราชพยาบาลให้โอนไปสังกัดกรมศึกษาธิการเพื่อจัดเป็นโรงเรียนแพทย์ โดยโปรดให้โรงศิริราชพยาบาล “มีการพยาบาลไว้ในนั้นเพียงสำหรับฝึกหัดนักเรียนแพทย์”
2. การพยาบาลต่อไปภายหน้า “คือ
การรักษาไข้เจ็บและการป้องกันคนไม่ให้ตายมาก” ในมณฑลไหน
ให้เป็นหน้าที่ของมณฑลนั้นจัดการ เช่น มณฑลกรุงเทพมหานครเป็นหน้าที่กระทรวงนครบาล
มณฑลนครไชยศรีก็เป็นหน้าที่เทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรีจัดการ
666 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
3. ให้กระทรวงธรรมการในการพยาบาล ใช้ “กองตรวจการพยาบาล” ในกรมธรรมการกลาง กระทรวงธรรมการที่ยังคงอยู่ แบ่งเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. พนักงานตรวจ คือแพทย์ผู้ชำนาญ จำนวนตามความเหมาะสม มีหน้าที่ตรวจทุกมณฑลดูโรคระบาด สาเหตุ การป้องกัน การรักษา รวมทั้งไปประจำการชั่วคราว ถ้าปัญหาใหญ่เกินความสามารถของมณฑล 2. พนักงานยา คือโอสถศาลาของรัฐบาล ให้ทำยาขายบรรจุในกล่องเล็ก ๆ ในราคาถูก ทั่วประเทศ เช่น ยาควินิน บรรจุในกลัก ๆ ละ 1 เฟื้อง เป็นต้น 3. พนักงานหนองฝี ใช้วัคซีนหนองฝีจากโรงงานทำหนองฝีที่พระปฐมเจดีย์ การจัดการให้ทำคล้ายกับโอสถศาลา...
และให้กระทรวงธรรมการมีหน้าที่ ดังนี้
- การตรวจราชการทั่วไปในพระราชอาณาจักร คือ ตรวจว่าที่ไหนมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นเหตุให้ประชาชนล้มตายมาก ตรวจว่ามีโรคอะไรมากที่ไหน เทศาภิบาลได้จัดการป้องกันและรักษาโรคเพียงพอหรือไม่
- การแนะนำเทศาภิบาล คือ เมื่อตรวจว่ามีโรคอะไรมากที่ไหนแล้ว ก็ให้ตรวจหาสาเหตุที่มีมากเพราะเหตุใด และให้คำแนะนำแก่เทศาภิบาลเพื่อจัดการป้องกันรักษาโรคให้ถูกต้อง
- การอุดหนุนเทศาภิบาล คือ หากการป้องกันรักษาโรคใดที่เกินกำลังสามารถของเทศาภิบาลให้ทำการช่วยเหลือ เช่น 1. ส่งหมอจากกระทรวงธรรมการไปประจำการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือการรักษาและแก้ไขปัญหากาฬโรคระบาดที่เพชรบุรี 2. ส่งสิ่งของเครื่องรักษาโรค เช่น ยาหรือหนองฝี (สำหรับปลูกฝีทรพิษ) หรือของอื่นที่จำเป็นต้องใช้ หรือจัดจำหน่ายในราคาที่ถูกสุดเท่าที่ทำได้ เป็นต้น
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2449 มีพระราชหัตถเลขา ที่ 28/1922 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 124) ถึงเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในเรื่องรูปแบบของกรมพยาบาลที่จะจัดใหม่ ความว่า “เรื่องที่จะเลิกกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการคิดจัดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ขออนุญาตส่งการที่ควรจะส่งแก่กระทรวงนครบาล ตามข้อความที่ว่ามานั้น ทราบแล้ว อนุญาตให้จัดตามนี้ได้”
วันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ราชกิจจานุเบกษาแจ้งความกระทรวงธรรมการ เกี่ยวกับเรื่องการทำพันธุ์เซรั่มและหนองฝี ดังนี้
...ด้วยหมอซี. เอช. แบรดด๊อก
ผู้ตรวจการพยาบาลหัวเมืองป่วย ขอพระราชทานกราบบังคมลาออกจากหน้าที่
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ หมอปอล ยี. วูลลี ผู้จัดการกองทำพันธุ์ซีรัมและหนองฝี
ย้ายมาว่าที่แพทย์ตรวจการพยาบาลหัวเมือง สนองพระเดชพระคุณ
ส่วนผู้จัดการกองทำพันธุ์ซีรัมและหนองฝีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์เย. อาร์. เรดฟิลด์ รั้งตำแหน่งอยู่ จนกว่าจะได้มีตัวผู้จัดการเข้ามารับราชการตามตำแหน่ง...
667 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2449 - 3 ประเทศสยามเข้าร่วมประชุมแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา
(สัญญากากะบาทแดง
ร.ศ. 125) และสยามยอมรับใช้เครื่องหมายกากบาทแดง
บนพื้นขาวแทนเครื่องหมายอุณาโลมแดง
วันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 125 พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งผู้แทนประเทศสยามเข้าร่วมประชุมที่เมืองเยนีวา ดังนี้
ร่าง พระราชหัตถ์ตั้งผู้แทนไปประชุมเมืองเยนีวา ใช้กระดาษหนังตามวิธีใหม่
…………………………………………………………………….
สมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์...
ขอประกาศแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่จะได้พบคำประกาศนี้ให้ทราบ
ด้วยสภาของรัฐบาลสวิสอันรวมกันได้เชิญให้รัฐบาลของเราแต่งผู้แทนไปยังการชุมนุม ซึ่งจะได้ประชุมที่เมืองเยนีวา ประสงค์จะได้ตรวจแก้ไขข้อความที่ได้ตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ร.ศ. 83 ให้ดีขึ้น เพื่อเปนความสดวกแก่ทหารซึ่งถูกบาดเจบในสนามรบนั้น
เราจึงได้ตั้งผู้แทนของเราไปยังที่ประชุมนั้น ดังนี้
หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากร อุปทูตรักษาราชการสถานทูตของเรา ผู้ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับราชตระกูลชั้นที่ 3 ชื่อ ตติยจุลจอมเกล้า
มองซิเออร์ คอเรยิโอนิ ดอเรลลี ที่ปฤกษาแห่งสถานราชทูตของเรา ผู้ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันเปนที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 3 ชื่อ นิภาภรณ์
ให้มีอำนาจเต็มในการที่จะไปประชุมในที่ชุมนุมอันกล่าวมาแล้วนั้น แลให้วินิจฉัยให้เดจขาดแทนกรุงสยามในข้อความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซี่งได้เสนอต่อที่ชุมนุม อันเปนการที่เกี่ยวกับความประสงค์ของที่ชุมนุม แลถ้าเห็นว่าเปนธรรมแลสมควรแล้วก็ให้เข้าชื่อลงชื่อด้วยกับคำปฤกษา ซึ่งได้ตกลงโดยจำนวนความเห็นมากในที่ชุมนุมนั้น แต่ว่าต้องอยู่ในความตรวจแก้ของเราตามการที่คำปฤกษาตกลงนั้น จะเกี่ยวข้องกับการที่ส่วนเราจะต้องทำฤๅกำหนดกีดกันอำนาจอันชอบธรรมแลอำนาจอันพิเศษของเราโดยมากแลน้อย
แต่ว่าถ้าตามข้อบังคับของที่ชุมนุม มีไว้ว่ากรุงสยามจะควรมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเด็ดขาดได้แต่เฉพาะเสียงเดียวเท่านั้นแล้ว แลถ้าหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากรอยู่ในที่ชุมนุม ก็ให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ถ้าหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากรไม่อยู่ ก็ให้ความเห็นของมองซิเออร์ คอเรยิโอนิ ดอเรลลี เป็นเหมือนผู้แทนกรุงสยาม
ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ
ณ วันที่ 1 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก39 125 ตรงกับคฤสตศักราช 1906
668 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 15 มิถุนายน ร.ศ. 125 หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ อุปทูตว่าการแทนอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส โทรเลขกราบทูลถามกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศว่า ประเทศที่จะลงนามใน “หนังสือสัญญาใหม่ว่าด้วยเครื่องหมายกากบาทแดง” (The New Red Cross Convention) ต้องใช้เครื่องหมายกากบาทแดงบนพื้นขาว รัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ (ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนามคือ Siam, Persia, China)
วันที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 125 เวลาบ่าย กรมหลวงเทวะวงษวโรประการได้รับลายพระหัตถ์ของกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ที่ 97/509 ว่าร่างโทรเลขที่จะมีถึงหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ชอบด้วยพระราชกระแสแล้ว
วันที่ 16 มิถุนายน ร.ศ. 125 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือกราบทูลตอบ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ที่ 131/6 “เรื่องได้ สั่งโทรเลขไปให้หม่อมเจ้าจรูญยอมรับใช้เครื่องหมายกากบาทแดงแล้ว” ความว่า
ด้วยวันนี้ได้รับโทรเลขหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษฎากร มีมาแต่เมืองเยอนีวา ลงวันวานนี้ว่า ยกเสียแต่กรุงสยาม กรุงเปอรเซีย แลกรุงจีนซึ่งยังไม่ได้โวตนั้น กอมมิตตีครั้งที่ 4 ได้ตกลงเหนพร้อมกันว่า ประเทศซึ่งจะลงชื่อในหนังสือสัญญาใหม่ว่าด้วยเครื่องหมายนั้น จะต้องใช้กากะบาทแดงบนพื้นขาวเปนเครื่องหมายสำหรับนานาประเทศ แลกอมมิตตีได้แสดงว่า การที่จะใช้กากะบาทแดงนั้นใช่ว่าจะเปนเครื่องหมายของชาวคฤสเตียนนั้นหามีไม่ เพื่อให้เปนเกียรติยศแก่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้แนะนำขึ้นเท่านั้น แลภายหลังได้ตกลงกันว่า จะต้องมีธงสำหรับชาติกำกับกากะบาทไปด้วยเสมอ หม่อมเจ้าจรูญได้รับไว้ว่าจะแจ้งความให้ทราบโดยเร็วว่า รัฐบาลจะยอมรับเครื่องหมายกากะบาทแดงหรือไม่ ความแจ้งอยู่ในสำเนาโทรเลขหม่อมเจ้าจรูญซึ่งถวายมาด้วยแล้ว
ครั้นเมื่อ เวลาบ่าย วันนี้ หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ ที่ 97/509 ลงวันวานนี้ ว่า ร่างโทรเลขที่จะมีถึงหม่อมเจ้าจรูญชอบด้วยพระราชกระแสแล้วนั้น หม่อมฉันได้ส่งโทรเลขตอบไปทีเดียว
ขอได้โปรดกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เทวะวงษวโรประการ
วันที่
18 มิถุนายน ร.ศ. 125 กรมราชเลขานุการมีหนังสือ
ที่ 104/532 กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ ว่า
เรื่องโทรเลขให้หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ยอมรับใช้เครื่องหมายกากบาทแดงนั้น
ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว
669 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 24 มิถุนายน ร.ศ. 125 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือ ที่ 145/2944 ทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า “หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์...ตอบรับโทรเลขหม่อมฉันมีไปลงวันที่ 16 เดือนนี้ อนุญาตให้รับเครื่องหมายกากบาทแดงว่า ได้นำเสนอต่อที่ประชุมแล้ว”
วันที่ 13 สิงหาคม ร.ศ. 125 หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ อุปทูตว่าการแทนอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส กราบทูลกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ว่า ได้ประชุมแก้ไขข้อสัญญาอุณาโลมแดงที่เมืองเยนิวา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ร.ศ. 125 แบ่งการประชุมเป็น 4 commissions และฝ่ายไทยประชุมมีผู้แทนประชุม 2 คน คือ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ประชุมคณะที่ 1 และ 4 มิสเตอร์ดอเรลลีระชุมคณะที่ 2 และ 3 และในวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 125 ได้ตกลงพร้อมกันลงชื่อในสัญญา “The New Convention”
วันที่ 2 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ ดังนี้
สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม
ทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้แลดินแดนที่ใกล้เคียง
คือ ลาวเฉียง ลาวกาว มลายู กะเหรี่ยง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ขอประกาศแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง
ซึ่งจะได้พบประกาศนี้ให้ทราบว่า
หนังสือสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งได้แก้ไขหนังสือสัญญาเมืองเยนิวา
ลงวันที่ 22 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 83
ให้ดีขึ้น เพื่อเปนความสดวกแก่ทหารที่ถูกบาดเจ็บในสนามรบ
ซึ่งได้ตกลงประชุมกันใหม่ที่เมืองเยนิวา
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 125
ในระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลนานาประเทศที่รวมกันในสัญญานี้
หนังสือสัญญานั้น มีข้อความต่อไปดังนี้...
เราได้เห็นแลได้ตรวจหนังสือสัญญาที่ว่ามาแล้วนั้น
เราเห็นชอบด้วยทุกข้อทั้งหมดแล้ว
แลเราสำแดงว่าผู้ปกครองฝ่ายสยามจะได้ถือตามสัญญานั้น
เราได้ลงลายพระราชหัตถเลขาแลประทับพระราชลัญจกรของเรา
ในหนังสือนี้ไว้เปนสำคัญ
กรุงเทพฯ
วันที่ 2
พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 125
670 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
(เอกสาร) ถวายมากับจดหมาย ที่ 305/7141
หนังสือสัญญาเมืองเยนิวา วันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 125 - The New Convention
มี 60 แผ่น : 8 chapters/33 articles/G. Final acts/H. The Signatures/I. Obligation
1. หมวด H. The Signatures ว่าด้วย “การลงนามของผู้มีอำนาจสูงสุดของแต่ละประเทศ” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระบรมนามาภิไธยใน “สัญญาเมืองเยนิวา วันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 125” ในนามประเทศสยาม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ร.ศ. 125
“The Convention was signed by all the Plenipotentiaries of delegations which had taken part in the conference…”
2. หมวด I. Obligations ว่าด้วยภาระผูกพันตามสัญญา รัฐบาลของประเทศผู้ลงนามจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ดังนี้
ต้องออกกฎหมายควบคุมกำกับบุคคลหรือสมาคมใด ๆ ผู้ใช้สัญลักษณ์กาชาด เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ
“10. to introduce the necessary legislative measures to prevent always the employ by private persons or by societies, other than those protected by this convention, of the emblem or the designation of the ‘red cross’ or cross of ‘Geneva’ particularly for a commercial object or by means of manufacturing or trademarks.”
ต้องออกกฎหมายผูกพันตามสัญญาฉบับนี้ภายใน 5 ปี หลังสัญญามีผลบังคับใช้
“The moment when this interdiction begins will be fixed by law, but this date must not be fixed latter than 5 years after this convention has entered into force.”
ต้องออกกฎหมายคุ้มครองเชลยศึกและกฎหมายลงโทษทหารที่ละเมิดสัญญาเจนีวา และออกกฎหมายลงโทษผู้ใช้ธงกาชาดและปลอกแขนกาชาดในทางที่ผิดสัญญาฉบับนี้
“20 to introduce
legislative measures to suppress in time of war individual acts of pillage and
ill treatment towards the sick
671 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
and wounded of the armies and to punish the abusive use of the flag or armlet of the red cross by military or private persons, not protected by the convention. They will communicate to the other signatory powers not later than 5 years after the ratification and through the Swiss Government the said legislative provision.”
3. ให้ใช้ สัญลักษณ์ “กากะบาทแดงบนพื้นขาว” ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เพื่อคุ้มครองหน่วยพยาบาลกาชาด และจัดให้มีบุคลากรและสิ่งจำเป็นสนับสนุนตามสัญญา (ประเทศผู้ลงนามในสัญญากากะบาทแดง ร.ศ. 125 สามารถใช้สัญลักษณ์ “กากะบาทแดงบนพื้นขาว” ได้ภายหลังจากการออกกฎหมายผูกพันตามสัญญานี้แล้วเท่านั้น เพื่อคุ้มครองการใช้สัญลักษณ์และป้องกันการนำสัญลักษณ์ไปใช้ในทางที่ผิด พร้อมบทกำหนดโทษตามกฎหมาย)
“Article 23 - The emblem of the Red Cross on white ground and the words ‘red cross’ or ‘cross of Geneva’ can only be used in time of peace or in time of war, in order to protect or designate the sanitary units or establishments the personnel and the material protected by the convention”
4. รัฐบาลของประเทศผู้ลงนามสัญญา จะต้องออกกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่กาชาด สภากาชาด ผู้ใช้สัญลักษณ์กาชาด ตามสัญญากากะบาทแดง
“Article 27 - The signatory Governments, the legislation of which should not at this moment be sufficient, engage themselves to take or to propose to their Legislators the necessary measures to prevent at all times the employment by private persons or societies others than those being entitled to this employment in virtue of the present convention, of the emblem or the designation of red cross or cross of Geneva, more particularly for a commercial objectly means of manufacture or commercial marks.
The prohibition
of the employment of the emblem or of the said designation will take effect
from the late fixed by each legislation and not latter the five years after the
present convention has been in force. From this moment it will not be licit to
take a manufacturing or trade mark contrary to the interdiction.”
672 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
5. ต้องออกกฎหมายทหารและบัญญัติบทลงโทษทหาร ที่ละเมิดสัญญาต่อการกระทำต่อเชลยศึกผู้บาดเจ็บหรือป่วยไข้
“Article 28 - The Signatory Governments engage themselves also to take or to propose to their legislators, in case of insufficiency of their penal military laws, the necessary measures to suppress, in time of war, the individual acts of pillage and ill - treatment against the wounded and sick of the armies, as well as punish as usurpation of military ensigns, the improper use of flag, and of armlet of the red cross by military and civil persons, not protected by the present convention.
They will communicate to each other, by the intermediary of the Swiss federal council, the provisions bearing on that repressions, not later than five years after the ratification of the present convention.”
วันที่ 29 มกราคม ร.ศ. 125 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรม-ราชานุญาตให้ประเทศสยามให้สัตยาบัน (Ratifying) อนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 ปรากฏในคำปรารภของพระราชบัญญัติห้ามใช้เครื่องหมายกากะบาดแดง ร.ศ. 130
วันที่ 4 - 11 กันยายน ร.ศ. 125 รัฐบาลสยามส่งนายแพทย์ทรัมป์ หัวหน้าแพทย์ในกรมทหารบก (Chief - Surgeon of the Siamese Army) ไปประชุมแพทย์นานาประเทศที่เมืองเยนิวา (Second International Congress)
อนุสัญญาเจนีวา
ร.ศ. 125
อนุสัญญาฉบับนี้จัดทำเมื่อวันที่
6 กรกฎาคม ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) มีชื่อเต็มว่า “Convention
for the Amelioration of the Condition of the Wounded and Sick in Armies in the
Field. Geneva, 6 July 1906” เกิดขึ้นจากหลังการจัดทำอนุสัญญาเจนีวา
ฉบับที่ 1 ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) มีการจัดประชุมระหว่างประเทศของโดยรัฐบาลสวิสในฐานะผู้รับอนุสัญญา
(Depositary) เพื่อปรับปรุงแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 1 จำนวน 2
ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นการเพิ่มบทบัญญัติ (The adoption of the Additional
Articles of 1868) ในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) และครั้งที่ 2
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงครามทางทะเล (The Convention of 1899
concerning maritime warfare) เมื่อปี ค.ศ.
1899 (พ.ศ. 2442) ตามผลผูกพันของอนุสัญญากรุงเฮก 1899 ฉบับที่ 3
ชื่อ Hague Convention of 1899 : Convention for the Adaptation to
Maritime Warfare of the Principles of the Geneva Convention of 22 August 1864 ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮก (The Hague Peace
Conference
673 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
of 1899) ซึ่งที่ประชุมต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 จึงเป็นผลให้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 Geneva Convention 1906 ชื่อเต็มคือ Convention for the Amelioration of the Condition of the Wounded and Sick in Armies in the Field. Geneva, 6 July 1906
โดยรัฐบาลสวิสได้เชิญ 35 ประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1864 และจัดทำเป็นอนุสัญญาฉบับใหม่ คือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1906 ซึ่งไทยเรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา ร.ศ. 125 ประกอบด้วย 8 หมวด 33 มาตรา มีรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ต่อมาอนุสัญญาฉบับนี้ถูกแทนที่โดยอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) (The Geneva Convention of 1929) แต่อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1906 มีการประกาศต่ออายุจึงมีผลบังคับใช้ร่วมกับอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1929 ต่อมาจึงมีการปรับปรุงอนุสัญญาเจนีวาทุกฉบับรวมกันเป็นฉบับเดียว คือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อ (พ.ศ. 2492) ทำให้ยกเลิกอนุสัญญาเจนีวาฉบับ ค.ศ. 1906 และ ค.ศ. 1929 ไป
2449 - 4 สภากาชาดสเปนขอรูปต่าง ๆ ของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม
ไปพิมพ์เป็นหนังสือสภากาชาดสเปน
วันที่ 12 มิถุนายน ร.ศ. 125 กรมหลวงเทวะวงษวโรประการมีหนังสือ ที่ 117/2613 กราบทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า
...ด้วยเมื่อวานนี้แฮร์ฟอนโปรเลียส ราชทูตเยอรมันมาหาหม่อมฉัน
นำสมุดตัวอย่างเรื่องเรดครอสโซไซตี เมืองสเปญ
คิดแต่งว่าด้วยการพยาบาลทหารแลคนเจ็บในสงครามของประเทศทั้งปวง แลในเล่มต้นนี้
มีว่าด้วยประเทศเยอรมัน, ออสเตรีย, อาเยนไตน์
เบลเยียม, และบัลแกเรีย 5 ประเทศ
เรียงตามอักขรานุกรมภาษาฝรั่ง แต่หนังสือแต่งเปนภาษาเยอรมัน
สมุดนี้พระเจ้าแผ่นดินแทบทุกประเทศรับลงพระนาม
ดังความแจ้งอยู่ในปรอสเปกตัสที่ติดอยู่กับจดหมายของผู้แต่ง ๆ ขอรูปต่าง ๆ
ในกรุงสยาม
มีความแจ้งอยู่ในหนังสือแลคำแปลภาษาอังกฤษที่ถวายมาพร้อมกับสมุดตัวอย่างนั้นด้วยแล้ว
ราชทูตเยอรมันว่าในกรุงสยามคงจะมีพนักงานพยาบาลคล้าย ๆ กับเรดครอสนั้น
ซึ่งหม่อมฉันต้องรับว่ามีสภาอุณาโลมแดงอยู่จริง
แลหม่อมฉันเหนว่าสมุดนี้เปนทางที่จะให้เหนรูปทหารของประเทศต่าง ๆ
ให้เปนการอวดกันได้ดีอยู่ กับทั้งจะได้พิมพ์พระบรมรูปและรูปต่าง ๆ
ที่ควรจะพิมพ์ให้เหนการในกรุงสยามได้ดีบ้าง ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กรมยุทธนาธิการแลกรมทหารเรือคิดฉายรูปที่ควรจะส่งกับทั้งข้อความซึ่งควรจะลงพิมพ์ได้ให้แก่ราชทูตเยอรมันไปแล้ว
จะเปนการดีที่จะเชิดชูพระเกียรติยศได้สืบไป เพราะหนังสือนี้คงจะมีอยู่ในชั้นสูง ๆ
ทุกประเทศ
674 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ขอได้โปรดกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท การจะควรประการใด สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ...
วันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 125 พลตรีพระยาสีหราชเดโชชัย (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) แทนผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ มีหนังสือกรมทหารบก ที่ 9/5292 กราบทูลกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่า
...ลายพระหัตถ์ ที่ 10/582 ลงวันที่ 25 มิถุนายนศกนี้ ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการ พระราชทานหนังสือเรื่องเรดครอสโซไซตีเมืองสเปญ ตามที่ราชทูตเยอรมันส่งมาขอพระราชทานรูปต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาอุณาโลมแดง และให้กรมยุทธนาธิการตรวจพิจารณาว่าจะควรอย่างไรนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลหารือนายพันเอกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานารถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ทรงเห็นว่า การที่จะส่งรูปและคำชี้แจงให้ตามที่ราชทูตเยอรมันขอพระราชทานนั้น เปนทางที่ดีที่จะได้เปนที่เชิดชูพระเกียรติยศและราชการทหาร ทั้งการแพนกนี้ที่เปนส่วนทหารบกตามที่กรมยุทธนาธิการได้กำลังจัดอยู่แล้ว ก็เปนการพอกับที่ควรจะเรียบเรียงทำส่งได้ ตามที่เห็นด้วยเกล้าฯ ดังนี้จึงได้รับพระราชทานให้กรมเสนาธิการทหารบกจัดการถ่ายรูปและเรียงคำอธิบายอยู่แล้ว เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้นำทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
แต่การที่จะส่งไปให้นั้น ก็คงจะต้องให้เปนการเรียบร้อยสมควรประกอบทั้งทหารบกทหารเรือและทั้งส่วนสภาอุณาโลมนั้นด้วย แม้ส่วนใดยังบกพร่องที่จะต้องดำริห์อย่างใด ซึ่งจะไม่ให้มีทางเสื่อมเสียได้
จึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าในส่วนที่ทหารบกได้จัดทำอยู่นี้ คงจะพอดีกับที่นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอฯ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการเสด็จถึงกรุงเทพฯ ที่จะได้ทรงพระดำริห์การนี้ให้เปนการเรียบร้อยตลอด จึงขอพระราชทานกราบทูลเพื่อได้ทรงทราบที่ได้จัดอยู่แล้วนี้ขั้นหนึ่งก่อน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ...
วันที่ 10 กันยายน ร.ศ. 125 นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช มีหนังสือกรมทหารบก ที่ 10/8595 กราบบังคมทูล ความว่า
ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาท
ด้วยตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้กรมยุทธนาธิการจัดหารูป กองพยาบาล กองทหารต่าง ๆ
เวลาฝึกหัดสำหรับส่งไปในสมุดที่สโมสรกากะบาทแดงสเปญ
แต่งออกว่าด้วยเรื่องสโมสรกากบาทแดง
675 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ในประเทศต่าง ๆ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ จัดการเลือกรูปอันสมควร พร้อมด้วยพระบรมรูป พระรูปสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ แลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร รวบรวมเข้าแล้ว และสั่งให้เรียบเรียงคำชี้แจงถึง วิธีการจัดราชการทหารบกในประเทศสยาม และ การพยาบาล ทั้งเรื่อง สภาอุณาโลมแดงด้วย เพื่อจะได้เปนเรื่องส่งลงในสมุดพร้อมกับรูป บัดนี้การที่ได้สั่งให้กระทำทั้งปวง สำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้รับพระราชทานส่งพระบรมรูป พระรูป แลรูป รวม 16 แผ่นพร้อมด้วยบาญชีรูปเหล่านั้น กับคำชี้แจงเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว
กับสมุดที่สโมสรกากะบาทแดงสเปญแต่งพิมพ์ฉบับ 1 ที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาให้ดูเปนตัวอย่างนั้น ก็ได้รับพระราชทานส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า จิระประวัติ
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
(สำเนา)
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
4. รูปหมู่นายทหารชั้นหัวน่า กรมยุทธนาธิการ
5. ด้านน่าที่ว่าการของกรมแพทย์ทหารบก มณฑลกรุงเทพฯ
6. กรมทหารม้าที่ 1 เวลาฝึกหัด มณฑลกรุงเทพฯ
7. กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 เวลาฝึกหัด มณฑลกรุงเทพฯ
8. กองร้อยกรมทหารราบที่ 3 ขยายแถว มณฑลกรุงเทพฯ
9. ด้านน่าโรงเรียนนายร้อยทหารบก กรุงเทพฯ
10. กรมยุทธนาธิการ กรุงเทพฯ
11. ทหารพักเวลาเลิกซ้อมรบ มณฑลราชบุรี
12. พวกพยาบาลบรรทุกคนเจ็บใส่เกวียนมาจากสนามรบ มณฑลนครราชสีมา
13. การผ่าตัดในสนาม มณฑลนครราชสีมา
14. กองพยาบาลทำน่าที่ในสนาม มณฑลนครราชสีมา
15. กองร้อยกรมทหารราบที่ 5 ฝึกหัดเข้าสนามยุทธ มณฑลนครราชสีมา
16. กรมทหารปืนใหญ่ กำลังเตรียมรบ มณฑลนครราชสีมา
มีเอกสารภาษาอังกฤษแนบท้ายหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้
เป็นรายงานสรุปของกรมยุทธนาธิการอย่างเป็นทางการ ได้แก่
676 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
1) SIAM : Army Organization - คำชี้แจงถึงวิธีการจัดราชการทหารบกในประเทศสยาม 4 แผ่น
2) Organization of Army Medical Corp - คำชี้แจงถึงวิธีการจัดราชการแพทย์ทหาร 1 แผ่น
3) Organization of Red Cross Society - คำชี้แจงเรื่องสภาอุณาโลมแดง 1 แผ่น ในบทความนี้คัดมาเฉพาะเรื่องที่ 2 และ 3 ส่วนเรื่องที่ 1 สามารถสืบค้นต้นฉบับได้จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
Organization of Army Medical Corp
In each province an ambulance corps has been created for the purpose of tending to the ill and wounded. In the matter of conveyance, bullock carts are mostly used, they being the only kind of conveyance, best adopted to topographical conditions prevailing in the most part of the country. There are certain number of the doctors attached to every regiment. All the ambulance corps and doctors mentioned are directed in their profressional work by Central Medical Department of the army working in the capital. Attached to this department there is spacious military hospitals, constructed and kept in the best style up to all requirements of modern science. There is also the medical school attached to the said department.
Organization of Red Cross Society
A Red Cross
Society was founded in 1893, at the time when Siam joined the Geneva convention
and this society was recognized by the powers. A committee was formed under the
immediate patronage of His Majesty the King, Her Majesty the Queen, herself
talking the duty of lady - president, while the persons of committee consists
of Princesses of Royal Blood and wives of noblilities. The committee has its
chief duty in collecting and keeping a Red Cross fund, raised by subscription,
the list of which was headed by big sum from His Majesty the King. From this
fund the committee took a portion in order to raise store of medicine and
others necessary objects in the way of helping the ill and wounded. These
stores supply all articles mentioned to the army and navy according to need,
while the rest of the fund remains as capital to be used in case of great
emergencies.
677 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
2449 - 5 ประชุมแพทย์หลวงและหมอมิชชันนารีทั่วประเทศเป็นครั้งแรก
วันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ. 125 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำกระทรวงธรรมการว่า ในการที่จะพัฒนาสาธารณะพยาบาลป้องกันโรคภัยไข้เจ็บตามหัวเมืองให้แพร่หลายนั้น ควรจะเรียกแพทย์ที่รับราชการตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ รวมทั้งหมอมิชชันนารี มาประชุมปรึกษากันในกรุงเทพฯ สักครั้งหนึ่ง โดยให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ คือ การปลูกฝี การจำหน่ายยา และการจำหน่ายสมุดอธิบายวิธีป้องกันและรักษาพยาบาลโรคสำคัญต่าง ๆ จึงมีการจัดประชุมแพทย์ทั่วประเทศ มีแพทย์มาประชุม 6 คน หมอมิชชันนารี 6 คน แพทย์หัวเมือง 39 คน จาก 37 เมืองทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 51 คน
2449 - 6 ทำพันธุ์บุพโพสำหรับปลูกทรพิษสำเร็จที่พระปฐมเจดีย์
วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการมีหนังสือกราบบังคมทูล ที่ 279/6865 ความว่า
...ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งที่ทำพันธุ์ซีรัมที่พระปถมเจดีย์นั้นบัดนี้ หมอปอลอี. วูลลี ผู้จัดการได้ทำพันธุ์บุพโพสำหรับปลูกทรพิษสำเร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า ควรจะขายโดยราคาย่อมเยา พอช่วยคืนทุนบ้างตามสมควร จึงตั้งราคาเป็น 2 อย่าง คือ หลอดใหญ่ ปลูกได้หลอดละ 10 คน ราคาหลอดละ 40 อัฐ หลอดเล็ก ปลูกได้หลอดละ 5 คน ราคาหลอดละ 20 อัฐ และให้จำหน่ายที่ทำการพระปฐมเจดีย์แห่งหนึ่ง กับที่โอสถศาลารัฐบาลแห่งหนึ่ง...
2449 - 7 พระพิศนุประสาทเวชตั้งโรงเรียนเวชสโมสร
โรงเรียนสอนวิชาแพทย์แผนไทย
วันที่ 17 ธันวาคม ร.ศ. 125 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 36/1307 ถึงกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ ความว่า
...ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ลงวันที่ 15 เดือนนี้ เรื่องพระพิศนุประสาทเวชได้จัดการเรี่ยรายสร้างโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ให้นามว่า โรงเรียนเวชสโมสร แลได้เปิดการสอนนักเรียนแล้ว ขอถวายพระราชกุศลนั้นทราบแล้ว
การที่ตั้งขึ้นได้ล่วงมาแล้วนั้น
อนุโมทนา แต่อยากทราบวิธีสอนว่าสอนอย่างไร พระพิศนุสอนเองคนเดียว ฤๅมีครูใครสอนอีก
พวกนักเรียนที่ไปเรียน กินของตัวเอง ฤๅกินกงสี ถ้ากินของตัวเองเงินที่ให้เพียงแต่
6 บาท ทำไมจึงจะพอกิน ออกรักษาไข้ที่อื่น ฤๅเอาไปรักษาแต่ที่โรงพยาบาล ถ้า
678 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
รักษาไข้แล้ว เรียกเงินค่ารักษาหรือไม่ ถ้าเรียกเงินได้มาเปนของกงสีฤๅของใคร ๆ ก็ได้ ตั้งแต่เปิดมานักเรียนคงอยู่ตามเดิม ฤๅผลัดเปลี่ยนกันไปอย่างไรบ้าง คนที่จะรับเข้าโรงเรียนมีความรู้เปนชั้นใด คนที่จะออกความรู้เพียงชั้นใดจึงจะออก เอาอะไรเปนหลักสูตร์สอน การเรื่องนี้พระพิศนุได้ไปบอกที่กระทรวงธรรมการนำความขึ้นกราบบังคมทูลครั้งหนึ่งแล้ว ทำนองเหมือนอย่างที่จะต้องการให้รัฐบาลอุดหนุน แต่เมื่อไล่เลียงข้อความเหล่านี้ ก็เลยหายเงียบไป ให้นึกวิตกกลัวจะตั้งอยู่ไม่ได้ ด้วยโรงเรียนนี้ตั้งด้วยอาศรัยเงินที่คนทำทานนั้นอย่างเดียว จะถือเอาเปนแน่นอนว่าจะได้เสมอก็ไม่ได้ ถ้าเปนโรงเรียนที่ไม่มีทุนเช่นนี้ จะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยกำลังพระพิศนุวิ่งเต้น ถ้าเงินขาดมือ ฤๅพระพิศนุล้มซวนไป โรงเรียนนี้ก็จะล้มตามไปโดยง่าย ยังไม่แลเห็นหลักถานอะไรดังที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ระงับอยู่ ไม่ได้อุดหนุนอันใด ถ้าได้ความคิดตั้งโรงเรียนนี้เปนหลักถาน จึงจะได้พิจารณาต่อไป
(พระบรมนามาภิธัย) สยามินทร์
พระพิศนุประสาทเวช (คง)
เห็นกระเป๋าล่วมยา อุปกรณ์สำคัญ ของแพทย์แผนไทยเวลาไปตรวจรักษา
679 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2450
2450-1 สยามส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมสภาอุณาโลมแดงที่ประเทศอังกฤษ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราช-หัตถเลขา ที่ 40/1656 ถึงพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรี-สุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหาร ความว่า
...ด้วยกระทรวงต่างประเทศมีหนังสือมาว่า รัฐบาลอังกฤษจะมีการประชุมอุณาโลมแดงที่กรุงลอนดอน อรรคราชทูตอังกฤษส่งหนังสือเชิญของสภาอุณาโลมแดงมาว่า ถ้ารัฐบาลสยามจะส่งผู้แทนไปประชุมด้วยแล้ว ขอทราบนามและยศผู้ที่จะไป การที่เขามีหนังสือบอกเล่ามาเช่นนี้ เห็นว่าเราควรจะต้องเข้าที่ประชุมด้วย แต่สภาอุณาโลมแดงในกรุงนี้สงบหายไปเสียแล้ว ในการที่จะจัดให้คงคืนดีขึ้นประการใด ให้กรมยุทธนาธิการคิดจัดทั้งที่จะให้การเดินไป แลที่จะแต่งผู้แทนไปประชุมเรื่องนี้ด้วย...
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระ-ประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช มีหนังสือศาลายุทธนาธิการ ที่ 51/17291 ความว่า
...เรื่องสภาอุณาโลมแดงตามที่โปรดเกล้าฯ ให้กรมยุทธนาธิการเปนน่าที่ คือ
1. จัดผู้แทนไปประชุม ตามซึ่งอรรคราชทูตอังกฤษส่งหนังสือเชิญของสภาอุณาโลมแดงมาเชิญ
2. เรื่องที่จะจัดสภาอุณาโลมแดงของไทยให้ดำเนินดีขึ้น...
ส่วนที่จะจัดผู้แทนไปประชุมนั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เวลานี้นายพันเอกพระสารสาส์นพลขันธ์อยู่ที่ประเทศยุโรปแล้ว และเปนผู้ที่สมควรจะเปนผู้แทน...
แต่ส่วนที่จะจัดสภาอุณาโลมแดงให้ดำเนินดีขึ้นตามข้อ 2 นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รับพระราชทานสอบสวนการที่เปนมาแล้วเดิม ที่จะได้ดำริห์การนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อไปภายหลัง...
วันที่ 27 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปตามกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำของดอกเตอร์โบเมอร์ผู้ถวายพระโอสถ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร
วันที่
23 พฤษภาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) เรื่องการจัดการสภาอุณาโลมแดง
นำเสนอในรายงานวาระที่ 1 ประชุมเสนาบดีสภา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติ
680 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการทหาร กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ประธานที่ประชุมเสนาบดีสภา ความโดยย่อดังนี้
...ด้วยเมื่อก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรปครั้งนี้ มีพระราช-หัตถ์เลขา ที่ 40/1656 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 พระราชทานกระแสพระบรมราชโองการไว้ให้กรมยุทธนาธิการ ดำริห์จัดการเรื่องสภาอุณาโลมแดงเพื่อไม่ให้เสื่อมสูญไปเสีย และจัดตั้งขึ้นให้ดีตามสมัยเวลาที่ควรเป็นอยู่ในเวลานี้ การเรื่องนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตริตรองแลไต่สวนทางที่เป็นมาเดิมตลอดทั้งที่เป็นอยู่ในเวลานี้ด้วย ดังจะกราบทูลต่อไป คือ
- สภาอุณาโลมแดงนั้นตั้งขึ้นเมื่อ ร.ศ. 112 ในเวลาฉุกเฉิน โดยเหตุไภยที่บังเกิดขึ้นในการที่ต้องส่งทหารไปราชการสมัยนั้น และโดยความปรีดีพร้อมกันในฝ่ายบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายในตลอดถึงข้าราชการฝ่ายหญิง จัดตั้งการบำรุงการพยาบาลเข้าในสมาคมกากะบาทแดงแห่งเมืองเยนิวานั้นขึ้น ได้เรี่ยรายเงินมาในการที่จะจัดยาและเครื่องพยาบาลแก่เหล่าทหารที่ต้องไปราชการ และได้กระทำการนี้มาโดยถานกรุณาเพื่อความเชิดชูจงรักษ์ภักดีต่อแผ่นดิน ครั้นต่อมา เมื่อเป็นการสงบราบคาบลงแล้ว ก็ได้จัดการพยาบาลทหารบก ทหารเรือ โดยทุนและสิ่งของที่เรี่ยรายได้ไว้ในครั้งนั้น ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อราชการทหารเป็นอันมาก ภายหลังบังเกิดข้อขัดข้องโดยสภาอุณาโลมแดงนี้ไม่มีสำนักนี้อันแน่นอน แลไม่มีที่ซึ่งจะเก็บรักษาสิ่งของและเครื่องยาต่าง ๆ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานที่ซึ่งจะตั้งเป็นโรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงนั้นโดยเฉภาะ การทั้งนี้ก็ไม่สำเร็จไปได้เพราะมีข้อขัดข้องต่าง ๆ...จึงต้องเที่ยวอาไศรยร่อนเร่อยู่ เป็นทางยากที่สภาอุณาโลมแดงจะทำการไปได้โดยตลอด
อิกประการหนึ่ง กรรมการของสภาอุณาโลมนี้ก็เป็นพระบรม-วงษานุวงษ์ฝ่ายในโดยมาก ย่อมทรงหาโอกาสได้ยากที่จะทอดพระเนตรทางการพยาบาลซึ่งโดยมากที่เกี่ยวกับการฝ่ายน่านั้น แม้มีหม่อมเจ้านายและภรรยาข้าราชการคอยช่วยอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นทางยากที่จะจัดการไปได้ให้ตลอด...เพราะฉนั้น แม้มีสมาชิกและกรรมการินีจะทรงเพ่งเล็งในการกุศลและเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินปานใด ก็ไปติดอยู่ในทางที่ยังไม่มีที่ซึ่งจะเปนสำนักนี้แน่นอนแห่งสภาอุณาโลมได้ และขัดข้องด้วยการที่จะทรงตรวจเห็นและวางการให้เจริญต่อ ๆ มาเปนลำดับนั้น
โดยเหตุนี้
ในเวลานี้จึงเห็นเป็นไปได้ว่า สภาอุณาโลมแดงนั้นสงบเงียบไปเสียแล้ว
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ยังทรงพระกรุณาอุปถัมภ์การของสภาอุณาโลมแดงนี้
681 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
อยู่เสมอ แต่หากมีข้อขัดข้องซึ่งจะไม่ให้การสำเร็จไปได้ดังกล่าวมาแล้ว จึงยังเป็นการเสื่อมถอยอยู่...
เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดำริห์ในการที่จะจัดฟื้นสภาอุณาโลมนี้ขึ้นนั้น พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้กระทำการนี้โดยน้ำใจสุจริตยินดี เพราะเห็นคุณประโยชน์ที่จะมีบังเกิดในการสภาอุณาโลมแดงนี้เป็นอันมาก จึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในที่จะจัดสภาอุณาโลมนี้ต่อไปภายน่านั้น มีทางที่จะทำได้ให้เป็นการถาวรมั่นคง คือ
1. หาที่ตั้งขึ้นเป็นโรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดงนี้เสียก่อน...
2. การปกครองสภาอุณาโลมนี้ก็คงอยู่ในความอำนวยการของสภานายิกาและกรรมการินีนั้นทุกประการ แต่มีเจ้าน่าที่ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเสียเงินเดือนให้ไปทำการดูแลการในโรงพยาบาลนี้ตลอดทั้งพนักงานแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในที่นี้ ก็ให้เป็นส่วนของรัฐบาลเหมือนกัน ซึ่งจะได้เบิกเงินเดือนจากกรมยุทธนาธิการนั้น...
ขอพระราชานุญาตที่ได้จัดการต่อไป คือ
1. สำรวจทุนของสภาอุณาโลมที่มีอยู่
2. จัดสร้างที่พยาบาล ณ สถานที่สระปทุมวันซึ่งตกเป็นของทหารบกแล้วนั้น โดยทุนของสภาอุณาโลมแดง...
3. กำหนดงบประมาณและจัดการที่จะให้มีข้าราชการฝ่ายทหารไปเป็นผู้จัดการในโรงพยาบาลตลอดทั้งการอื่น ๆ ที่จะมีเกี่ยวในการนี้พร้อมด้วยกรรมการินีของสภาอุณาโลมแดงนั้น
ตามซึ่งได้ดำริห์จะจัดการเช่นนี้ ก็โดยประสงค์ที่จะให้มีเจ้าน่าที่โดยฉเภาะประจำการรับราชการอยู่สำหรับสภาอุณาโลม และผู้ที่รับราชการประจำอยู่นี้จะต้องรับราชการตามวิธีระเบียบการปกครองอย่างทหารทุกประการ เช่นเดียวกับที่เปนอยู่ในบางประเทศนั้น...
ในบันทึกการประชุมมีการแสดงความคิดเห็น ดังนี้
พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงดำรงราชานุภาพ รับสั่งว่า...ปัญหาในเรื่องสภาอุณาโลมแดงที่จะต้องคิดกันคราวนี้
ตามพระราชประสงค์ไม่ใช่จะให้จัดแต่มีเพียงโรงพยาบาลอย่างเดียว
มีพระราชประสงค์จะให้จัดขึ้นไว้ให้มั่นคงสำหรับบ้านเมืองตามธรรมเนียม
ที่บ้านเมืองเปนศิวิไลซ์มีทหารสำหรับบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องมีสภานี้ขึ้นสำหรับกัน
ตามที่กรมหมื่นนครไชยศรีทรงพระดำริห์มานี้เปนการดีแล้ว
แต่เปนแต่ตอนปลายหาครอบทั่วไปได้ไม่
จึงเห็นควรคืนให้กรมหมื่นนครไชยศรีทรงคิดมาใหม่ให้ตลอด
682 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
...การจัดสภาอุณาโลมแดงนี้ เราก็เอาอย่างของต่างประเทศเขามา แลเหตุที่จะให้มีพระกระแสในเรื่องนี้ก็เนื่องมาจากต่างประเทศที่เขาถามมา เพราะชนั้นข้อที่เราจะคิดจัดนี้ คือการของเรายังไม่เหมือนกับของต่างประเทศ ควรจะจัดให้เหมือนต่างประเทศทั้งกฎหมายแลข้อบังคับทั้งปวง ข้อที่ปฤกษากันนี้ ต้องปฤกษาตั้งแต่กฎหมายแลข้อบังคับเป็นต้นไป
กรมหมื่นนครไชยศรีรับสั่งว่า กฎหมายแลข้อบังคับนั้นก็ได้ร่างไว้แล้ว แต่ยังไม่ควรจัดเปลี่ยนแปลง เปนแต่จะคิดอุดหนุนการเดิมให้ดีขึ้น เพราะในเวลานี้ ถึงจะจัดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็คงต้องบกพร่อง...จึงคิดจะจัดแต่เพียงให้มีที่สำนักแลมีเจ้าพนักงานขึ้น ส่วนวิธีนั้นควรคงไปตามเดิมก่อน เมื่อเปนรูปขึ้นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าวิธีเดิมจะใช้ได้ฤๅไม่ การเปลี่ยนแปลงจะมาในภายหลัง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทันทีแล้ว เกรงจะเปนที่กระทบกระเทือนบ้าง
กรมหลวงดำรงรับสั่งว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแล้วไม่เห็นด้วย เพราะวิธีเดิมนั้นเห็นว่าจัดไม่ได้แล้ว จึงต้องคิดจัดให้การเดินได้ ที่กรมหมื่นนครไชยศรีรับสั่งว่ากฎหมายแลข้อบังคับได้ร่างไว้แล้วนั้น ขอให้นำเข้ามาปฤกษา เพราะที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาภายน่านั้น เปนแต่กรมหมื่นนครไชยศรีรู้อยู่ผู้เดียวว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ที่ประชุมนี้ไม่มีผู้ใดทราบ จะปฤกษาอย่างไรได้ เมื่อได้ทราบวิธีที่จะจัดต่อไปอย่างไรแล้วจึงจะได้ปฤกษาได้ว่าอย่างใดจะดี แลเมื่อตกลงตลอดแล้วจึงปฤกษาว่าจะทำดังนี้ ๆ ก่อน ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
กรมหมื่นนครไชยศรีรับสั่งว่า ถ้า ที่ประชุมขอให้เอาร่างกฎหมายแลข้อบังคับมาปฤกษาแล้ว ก็นำมาได้
เรื่องเป็นอันตกลงว่า กรมหมื่นนครไชยศรีจะได้นำร่างกฏหมายแลข้อบังคับมาปฤกษาต่อไป...
วันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ. 126 ลายพระหัตถ์พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นนครไชยศรี เรื่องสภาอุณาโลมแดง ความว่า
...เมื่อก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรป ได้มีพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้าฯ
ให้กรมยุทธนาธิการดำริห์จัดการเรื่องสภาอุณาโลมแดง...โดยความปรีดีพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงษ์ฝ่ายในตลอดถึงข้าราชการฝ่ายหญิง
จัดตั้งการบำรุงพยาบาลเข้าในสมาคมกากะบาทแดงแห่งเมืองเจนีวา...
683 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
วันที่ 30 พฤษภาคม ร.ศ. 126 ประชุมเสนาบดีสภา
...กรมหมื่นนครไชยศรีรับสั่งว่า ร่างกฎหมายสภาอุณาโลมแดงได้ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายตามที่ที่ประชุมขอให้ส่งนั้นแล้ว แต่ตามร่างนี้ยังมีทางที่จะพิจารณาอีกหลายทาง เพราะเปนทางของความมุ่งหมายในภายน่า ส่วนที่กราบบังคมทูลมาในหนังสือฉบับก่อนนั้น เป็นหนทางที่จะให้ดำเนินเปนไปเฉพาะสมัยนี้ ต่อเมื่อมีโอกาศที่จะดำนินการให้สมความมุ่งหมายเมื่อใด จึงจะได้ดำเนินการต่อไปเมื่อนั้น ส่วนเจ้าน่าที่นั้นจำเป็นต้องปฤกษาอีกคราวหนึ่งก่อนที่จะได้กำหนดเรื่องนี้ ยังจะต้องปฤกษากันต่อไป...
ร่างกฎข้อบังคับสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยามที่พระองค์เสนอที่ประชุมพิจารณา ประกอบด้วยหัวข้อ ดังนี้
(ย่อ) ร่างกฎข้อบังคับ สภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยาม ร.ศ. 126
คำนำ
พระราชปรารภ
หมวดที่ 1 ข้อบังคับการทั่วไป (ข้อ 1 - 5)
หมวดที่ 2 ความมุ่งหมายและน่าที่ของสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยาม (ข้อ 6 - 9)
หมวดที่ 3 ตำแหน่งที่ตั้งและวิธีจัดการสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยาม (ข้อ 10 - 12)
หมวดที่ 4 ทุนและสมบัติของสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยาม (ข้อ 13 - 14)
หมวดที่ 5 สมาชิกของสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยาม (ข้อ 15)
หมวดที่ 6 การประชุมสมาชิกและเครื่องหมายชั้นสมาชิก (ข้อ 16 - 20)
วันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ. 126 ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร
วาระ 2 มิสเตอ “ลอตซ์” ขอให้เงินแก่อินสติตูชัน (Institution) อันใดอันหนึ่ง
...พระราชหัตถเลขามาแต่ซานเมโร ลงวันที่ 13 พฤษภาคม ตอบรับพระราชหัตถ์แลรายงาน กับว่าด้วยเรื่องสัญญาฝรั่งเศส แลเรื่องมิสเตอลอตซ์ ห้างบีกริม ขอให้เงินแปดพันบาทแก่อินสติตูชันอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเปนประโยชน์แก่บ้านเมือง ทรงพระราชดำริห์ก็เห็นว่า ควรรับ จึงได้โปรดให้ตอบรับ แต่เงินนี้ควรจะใช้การอันใดนั้น โปรดมอบให้ที่ประชุมวินิจฉัยในกรุงเทพฯ
กรมหมื่นนครไชยศรีเห็นว่า
ควรใช้ในการสภาอุณาโลมแดง ผู้ให้คงจะมีความยินดี
เพราะชาวเยอรมันเข้าใจประโยชน์ของสภานี้ได้ดี
684 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
กรมหลวงดำรงเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การร้อนอันใด ควรคิดกันไว้หลาย ๆ อย่าง แล้วทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระราชทานวินิจฉัยต่อไป...
วันที่ 11 กรกฏาคม ร.ศ. 127 มองซิเออร์สวารต์ (Swarth) แห่งกรุงบรัสเซลส์ มีหนังสือสอบถามเรื่องโซไซตีสยามอุณาโลมแดง สำหรับพยาบาลคนถูกบาดเจ็บซึ่งมีอยู่ในกรุงสยาม มายังกระทรวงต่างประเทศ และกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ร.ศ. 127 มีหมายเหตุว่า “ไม่มีพระกระแส”
หมายเหตุ
การดำเนินการของสภาอุณาโลมแดงแห่งกรุงสยามในเวลานั้นได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม แต่ไม่ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาอุณาโลมแดง เพราะจากการประชุมเสนาบดีสภา 2 ครั้ง ในวันที่ 30 พฤษภาคม ร.ศ. 126 และวันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ. 126 มีผลการประชุม 2 เรื่องทำให้ต้องชะลอการฟื้นฟูสภาอุณาโลม ดังนี้
1. เรื่อง “ร่างกฎหมาย (จัดตั้ง) สภาอุณาโลมแดง และการสร้างโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง”
ผลการประชุม
การทั้ง 2 นี้ระงับไปจนกว่าจะ “มีโอกาสที่จะดำเนินการให้สมความมุ่งหมายเมื่อใด จึงจะได้ดำเนินการต่อไปเมื่อนั้น”
การดำเนินการในภายหลัง
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงรอ “โอกาสที่จะดำนินการให้สมความมุ่งหมาย” เพื่อสนองพระราชกระแสรับสั่ง “ให้ฟื้นคืนสภาอุณาโลมแดง” ตามพระราชหัตถเลขา ที่ 40/1656 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงทรงรวบรวมเงินพระราชโอรสพระราชธิดาทุกพระองค์และเงินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมกันจัดสร้างโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง ถวายเป็น “ราชานุสาวรีย์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จนการสำเร็จเจริญมาถึงปัจจุบัน
2. เรื่อง “เจ้าหน้าที่ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเสียเงินเดือนให้ไปทำการดูแลการในโรงพยาบาลนี้ตลอดทั้งพนักงานแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในที่นี้ก็ให้เป็นส่วนของรัฐบาลเหมือนกัน ซึ่งจะได้เบิกเงินจากกรมยุทธนาธิการ”
ผลการประชุม
ระงับไปพลางก่อน
การดำเนินการภายหลัง
แพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดสยาม เบิกจ่ายเงินเดือนจากกระทรวงกลาโหม ส่วนคนงานและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ เบิกจ่ายจากสภากาชาดสยาม
3. ผลสืบเนื่อง
ตามข้อบังคับผูกพันตามสัญญากากะบาทแดง ร.ศ. 125 ข้อ Article 23 ต้องออกกฎหมายว่าด้วยเครื่องกากะบาทแดง
เพื่อยอมรับการปฏิบัติร่วมกันต่อสัญลักษณ์กาชาด ในฐานะสัญลักษณ์
685 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
แห่งมนุษยธรรมสากล ซึ่งประเทศอื่นใช้ทั้งในยามสงบและยามสงคราม และข้อ chapter I - obligation 10 ต้องออกกฎหมายควบคุมกำกับองค์กรกาชาดของประเทศนั้น ๆ ให้ปฏิบัติงานกาชาดและการใช้สัญลักษณ์กาชาดตามสัญญา เนื่องจากสัญญามีผลบังคับหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยทรงยอมรับตามสัญญา สภาอุณาโลมแดงจึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ ต้องรอจนกระทั่งมีการออกกฎหมายจึงสามารถดำเนินการได้
อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ใช้มาตั้งแต่ฉบับแรก โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาจนถึงปัจจุบัน
1) “อนุสัญญาเจนีวา ฉบับแรก พ.ศ. 2407” กำหนดให้กองทัพต้องดูแลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทหารของฝ่ายใดก็ตาม และได้เริ่มต้นใช้สัญลักษณ์อันเป็นสากลสำหรับหน่วยแพทย์ คือ เครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว
2) “อนุสัญญาเจนีวาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2449” ได้เพิ่มข้อกำหนดในการคุ้มครองและการรักษาพยาบาลทหารที่ปฏิบัติการรบในทะเล และบังคับใช้สัญลักษณ์กากะบาทแดงบนพื้นขาวทุกประเทศสมาชิก
3) “อนุสัญญาเจนีวาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2472” กำหนดกฎระเบียบในการคุ้มครองและรักษาพยาบาลเชลยสงคราม โดย ICRC ได้ดำเนินการขยายขอบเขตการคุ้มครองของอนุสัญญาเจนีวาออกไปอีก เพื่อให้ครอบคลุมคุ้มครองพลเรือนในเขตพื้นที่ของปรปักษ์และในเขตพื้นที่ยึดครองของปรปักษ์
4) “การเพิ่มเติมและขยายการคุ้มครองของอนุสัญญาเจนีวาปี พ.ศ. 2492” การปรับปรุงและขยายขอบเขตการคุ้มครอง รวมทั้งประกาศใช้อนุสัญญาฉบับใหม่คุ้มครองพลเรือนในภาวะสงครามเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่ง
5) “ระเบียบปฏิบัติใหม่ปี พ.ศ. 2534” ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรม รวมทั้งหลักการและอุดมการณ์ของขบวนการกาชาด
พ.ศ.
2451
2451 - 1 กองจัดการพยาบาล กระทรวงธรรมการ
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2451 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องตำแหน่งราชการกระทรวงธรรมการ พบว่า “กองตรวจการพยาบาล” ในกรมธรรมการกลางไม่ได้ยุบรวมกับกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ยังคงในกระทรวงธรรมการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “กองจัดการพยาบาล” และมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่กองใหม่
กองจัดการพยาบาล กระทรวงธรรมการแบ่งเป็น
ก. กองตรวจการพยาบาลหัวเมือง
แพทย์ตรวจการ หมอปอล ยี วูลลี (ว่าที่)
ข. กองทำหนองฝีและซีรั่ม
แพทย์ผู้จัดการ หมอร๊าฟ ดี เอดวารดส
หัวหน้าแพทย์ทำหนองฝี มิสเตอร์อาร์ เรดฟิลด์
ค. โอสถศาลารัฐบาล
แพทย์ผสมยา
มิสเตอร์ฮูโกวิลเลมส์
686 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
ผู้ช่วยแพทย์ผสมยา มิสเตอร์เรกเฮาเซ็น
ผู้ช่วยฝ่ายฝรั่ง นายพองกีม
ผู้ช่วยฝ่ายไทย ขุนอุดมวิทยา
นายเวรบัญชี นายซุ่นใช้
ง. โอสถศาลาสะพานมอญ
ผู้จัดการ ขุนอาจวิทยาคม
แพทย์ทำยา นายกลิ่น
หมายเหตุ
แผนกโอสถศาลา เดิมอยู่ในสังกัดกรมพยาบาล เมื่อยุบกรมพยาบาลแล้วได้ย้ายมาขึ้นกับ “กองจัดการพยาบาล” ในกรมธรรมการกลางแทน ส่วนตำแหน่งแพทย์ตรวจการหัวเมืองได้โอนย้ายไปเป็น “แพทย์ประจำมณฑลเทศาภิบาล” ตามข้อ 2 ของใน “รูปแบบกรมพยาบาลตามที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดใหม่” ดังนั้น แพทย์ประจำหัวเมืองชุดแรกคือ แพทย์ตรวจการหัวเมือง 8 มณฑลของกระทรวงธรรมการ ต้องย้ายไปเป็นแพทย์ประจำมณฑลเทศาภิบาลทั้ง 8 มณฑล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
2451 - 2 พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2451 ประกาศพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 มีพระราชปรารภว่า การจัดการสุขาภิบาลที่ตำบลท่าฉลอมเป็นประโยชน์ดีและประชาชนในตำบลนั้นนิยมมาก จึงสมควรจะขยายไปที่อื่น ๆ ในประเทศ แต่เมืองสงขลาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จะจัดการสุขาภิบาลแบบตำบลท่าฉลอมซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็กไม่ได้ จึงทรงปรับปรุงวิธีการจัดการสุขาภิบาลหัวเมือง ดังนี้
1. หน้าที่การสุขาภิบาลหัวเมือง คือ (1) ให้ดูแลรักษาความสะอาด (2) การป้องกันและรักษาผู้ป่วยในท้องที่ และ (3) บำรุงรักษาถนนหนทางในชุมชน
2. ตามมาตรา 5 แบ่งวิธีจัดการสุขาภิบาลออกเป็น 2 อย่าง คือ (1) สุขาภิบาลสำหรับเมือง จัดในท้องที่ที่ตั้งเมือง (2) สุขาภิบาลสำหรับตำบล สำหรับจัดเฉพาะในท้องที่คนอยู่หนาแน่นของตำบล
3. การเลือกพื้นที่ชุมชนใดว่าควรจะจัดให้มีการสุขาภิบาลขึ้นนั้น ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลปรึกษากับกำนันผู้ใหญ่ในท้องที่นั้น แล้วให้มีใบบอก (หนังสือ) ขอพระราชทานจัดตั้งการสุขาภิบาลในท้องที่ และจะพระราชทานภาษีโรงร้านให้เป็นงบประมาณของเขตสุขาภิบาลนั้น
4. รูปแบบ คณะกรรมการจัดการสุขาภิบาลประจำเมือง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการเมือง เป็นประธาน ปลัดเมือง ฝ่ายสุขาภิบาล เป็นเลขานุการ นายอำเภอท้องที่นั้น 1 นายแพทย์สุขาภิบาล 1 นายช่างสุขาภิบาล 1 กำนันประจำตำบลในเขตสุขาภิบาลนั้น 4 คน
คณะกรรมการจัดการสุขาภิบาลประจำตำบล ประกอบด้วย กำนันนายตำบลเป็นประธาน และผู้ใหญ่บ้านในเขตท้องที่เป็นกรรมการ
โดยคณะกรรมการสุขาภิบาลสำหรับหัวเมืองและคณะกรรมการสุขาภิบาลสำหรับตำบล
อาจมีการแต่งตั้งพ่อค้าในท้องถิ่นเข้ามาร่วมบริหารงานได้
687 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
5. มาตรา 14 ได้กำหนดหน้าที่ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วย ว่า 1. ให้รักษาความสะอาดบ้านเรือนป้องกันโรค 2. ให้จัดการปลูกฝี และให้มีที่จำหน่ายยารักษาโรคให้แก่ประชาชนในท้องที่ นั้น 3. จัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับการบริโภค
หมายเหตุ
การจัดตั้งให้มีหน่วยงานสุขาภิบาลตามหัวเมือง ในเขตชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันมาก เพื่อดูแลโครงสร้างกายภาพของพื้นที่อาศัยรวมกัน และการดูแลรักษารวมทั้งป้องกันความป่วยไข้ของราษฎร ในการปกครองรูปแบบคณะกรรมการสุขาภิบาลโดยมีผู้แทนมหาดไทยร่วมกับผู้แทนราษฎรในพื้นที่ร่วมกันเป็นกรรมการโดยใช้งบประมาณจากภาษีโรงร้านดำเนินการด้านต่าง ๆ
ด้านการแพทย์นั้น สุขาภิบาลตามหัวเมืองได้จัดจ้าง “แพทย์” ประจำสุขาภิบาลหัวเมือง เรียกว่า “แพทย์สุขาภิบาล” หากสุขาภิบาลหัวเมืองใดเรี่ยไรทุนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลได้ เรียกว่า “โรงพยาบาลสุขาภิบาล” หากหัวเมืองใดเรี่ยไรทุนได้น้อย ก็จะจัดตั้งเป็น โอสถศาลา หรือ โอสถสภา ร้านจำหน่ายยา (ยาไทย ยาฝรั่ง) อย่างเดียว หรือร้านจำหน่าย (ยาไทย ยาฝรั่ง) และผลิตยา (ไทย) ไปก่อน อาจมีแพทย์ประจำเมืองหรือแพทย์สุขาภิบาลไปให้บริการตรวจรักษา ณ โอสถศาลาหรือโอสถสภานั้น ๆ ต่อมา ทั้ง “โรงพยาบาลสุขาภิบาล” “โอสถศาลาหรือโอสถสภาประจำเมือง” ยกขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น ๆ
กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีแพทย์ไปประจำหัวเมืองตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2451 เรียกว่า “แพทย์ประจำเมือง” เป็นข้าราชการมหาดไทยหัวเมืองขึ้นตรงผู้ว่าราชการเมือง ให้การดูแลรักษาป้องกันความไข้เจ็บของประชาชน โดยใช้เรือนที่พักอาศัยเป็นที่ทำการ ผู้ว่าราชการเมืองของบางหัวเมืองอาจเรี่ยไรทุนจัดสร้าง “โรงพยาบาลประจำเมือง” ไว้เป็นที่ทำการ โดยเบิกจ่ายงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย หากหัวเมืองใดจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองแล้ว โรงพยาบาลประจำเมืองอาจโอนไปไว้ที่สุขาภิบาลหัวเมือง เป็น “โรงพยาบาลสุขาภิบาล” เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณจากภาษีโรงร้านได้
สุขาภิบาลหัวเมืองภายใต้ระบบการปกครองท้องที่จึงเป็นระบบการแพทย์และสาธารณสุขระบบที่ 2 ถัดจากระบบแพทย์ประจำมณฑล / เมือง ที่กระจายไปสู่ต่างจังหวัดและได้เจริญเติบโตก้าวหน้าทั่วประเทศ จนกลายเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการจัดตั้งกรมสาธารณสุขในสมัยรัชกาลที่ 6
2451 - 3
โรงเรียนราชแพทยาลัยและศิริราชพยาบาล
ในปีนี้โรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงศิริราชพยาบาลได้ควบรวมเป็นโครงสร้างเดียวชื่อ “โรงเรียนราชแพทยาลัยและศิริราชพยาบาล”
ขึ้นกับแผนกศึกษาธิการ มีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย
มาลากุล) เป็นอธิบดีแผนกฯ
688 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย
พ.ศ.
2452
2452 - 1 พระราชดำริเรื่องหานามต่าง ๆ มาใช้แทนคำฝรั่ง - คำว่า “ประปา”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวโรรส มีพระราชประสงค์ให้ช่วยหาคำไทยมาใช้แทนคำฝรั่ง อย่างคำว่า วอเตอร์สัปไปล ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงคิดคำขึ้นถวาย
วันที่
10 กรกฎาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
กรมหลวงวชิรญาณประทานพระดำริห์เรื่องวอเตอร์สับไปลว่า ของเก่าเรียกตามภาษามคธว่า ปะปา เช่นมีมาในคาถาที่ถวายเทศน์ในปฎิสังขรณ์ทานว่า ปะปัญจะอุทะปานัญจ คำสันสกฤตเรียกประปา...คือเหนควรเรียกว่า ประปา ฤๅจะเรียกให้สั้นว่า ปรบ ฤๅ ปรบน้ำ ฤๅจะเรียกให้ยาวหน่อยว่า ประปาการ ถ้าจะใกล้กับปราการที่แปลว่ากำแพง จะเรียกประปากรรมก็ได้...ข้าพระพุทธเจ้าให้คัดดิกชันนารีทูลเกล้าถวายมาด้วยแล้ว...
วันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) กรมราชเลขานุการมีหนังสือถวายกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ว่า “คำว่าวอเตอสัปไปลนั้น โปรดเรียก ประปา อยู่ข้างโปรดมาก ทรงชมว่าฝ่าบาททรงเลือกมาเหมาะนัก”
พ.ศ.
2453
วันที่
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
689 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย